บทความให้กำลังใจ(พร้อมตายจึงพ้นตาย)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,433
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    วางลงบ้าง
    พระไพศาล วิสาโล
    “เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร”

    นี้เป็นพุทธภาษิตบทหนึ่งที่ชาวพุทธไทยคุ้นหูมาก น่าสนใจก็ตรงที่พระพุทธองค์มิได้ตรัสภาษิตนี้ด้วยเหตุที่ฆราวาสอาฆาตพยาบาทต่อกันเท่านั้น หากยังทรงปรารภเหตุมาจากการที่ภิกษุสงฆ์ทะเลาะเบาะแว้งกันด้วย ดังมีปรากฏในโกสัมพิยชาดก อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภิกษุกรุงโกสัมพีที่แตกแยกกันเป็นฝักฝ่ายในสมัยพุทธกาล

    เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งพระธรรมกถึก (ผู้แสดงธรรม)ซึ่งมีลูกศิษย์หลายร้อย ได้เข้าไปปลดทุกข์ในส้วม เมื่อเสร็จกิจแล้วเหลือน้ำชำระไว้ในภาชนะ ต่อมาพระวินัยธร (ผู้ชำนาญวินัย) ซึ่งมีลูกศิษย์หลายร้อยเช่นกัน เข้าไปใช้ส้วมนั้น ครั้นเห็นน้ำชำระนั้น ก็ออกมาถามพระธรรมกถึกว่า “ท่านไม่รู้หรือว่าการเหลือน้ำทิ้งไว้นั้นเป็นอาบัติ” เมื่อพระธรรมกถึกยอมรับว่าไม่ทราบ และขอปลงอาบัติ แต่พระวินัยธรตอบว่า “ในเมื่อท่านไม่ได้ตั้งใจ ก็ไม่เป็นอาบัติ”

    เรื่องน่าจะจบเพียงเท่านี้ แต่หลังจากนั้นพระวินัยธรได้กล่าวกับศิษย์ของตนทำนองตำหนิพระธรรมกถึกว่า แม้ต้องอาบัติก็ยังไม่รู้ ศิษย์พระวินัยธรจึงเอาคำพูดดังกล่าวไปพูดเยาะเย้ยให้ศิษย์พระธรรมกถึกฟัง เมื่อรู้ถึงหูพระธรรมกถึก ก็ไม่พอใจ พูดขึ้นมาว่า “พระวินัยธรรูปนี้ เมื่อก่อนบอกว่า ไม่เป็นอาบัติ แต่ตอนนี้บอกว่าเป็นอาบัติแล้ว อย่างนี้ก็พูดมุสาสิ” เมื่อได้ยินเช่นนี้ศิษย์ของพระธรรมกถึกก็ไปพูดข่มศิษย์พระวินัยธร ว่า “อาจารย์ของพวกท่านพูดมุสา” ผลก็คือเกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างศิษย์ของสองอาจารย์ ลามไปถึงครูบาอาจารย์ กลายเป็นปฏิปักษ์กัน เท่านั้นยังไม่พอ ญาติโยมและอุปัฏฐากของทั้งสองท่านก็แตกแยกกันเป็นสองฝ่าย ต่างทุ่มเถียงกล่าวโทษกันจนเสียงอื้ออึง พระไตรปิฎกบรรยายว่า แม้กระทั่งเทวดาอารักขาทั้งสองฝ่ายก็แตกกันเป็นสองพวกไปจนถึงพรหมโลก

    เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบความ ก็เสด็จไปเตือนสติภิกษุทั้งสองฝ่าย ทรงชี้ให้เห็นโทษของความแตกสามัคคี และชักชวนให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกัน ทรงแสดงอานิสงส์ของความสามัคคี พร้อมกับชี้แจงแสดงเหตุผลนานัปการ รวมทั้งนำชาดกต่าง ๆ มาเล่าเป็นคติเตือนใจ

    แม้กระนั้นภิกษุทั้งสองฝ่ายก็ยังดื้อรั้น ไม่ยอมฟังคำของพระองค์แม้แต่น้อย กลับกราบทูลพระองค์ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่าได้มายุ่งเกี่ยวให้ลำบากพระองค์เลย โปรดอยู่สบายแต่พระองค์เดียวเถิด ปล่อยให้พวกข้าพระองค์ทะเลาะวิวาทกันต่อไปเถิด”

    เมื่อเป็นเช่นนี้ วันรุ่งขึ้นพระองค์ได้เสด็จไปบิณฑบาตเพียงพระองค์เดียว กลับจากบิณฑบาต ทรงเก็บเสนาสนะ ก่อนเสด็จออกจากกรุงโกสัมพี ได้ตรัสคาถา ตอนหนึ่งมีความว่า “ชนเหล่าใดเข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่อาจระงับได้ ... แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้ เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร แต่ยอมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า”

    จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปยังป่าปาลิเลยกะ และจำพรรษาที่นั่น ฝ่ายชาวโกสัมพีเมื่อไม่เห็นพระองค์ และรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ก็ไม่กราบไหว้ ไม่ถวายภัตตาหารแก่ภิกษุเหล่านั้น จนซูบผอมเพราะขาดอาหาร ในที่สุดภิกษุทั้งสองฝ่ายสำนึกตัวว่าผิด ยอมสามัคคีกัน และไปขอขมาโทษต่อพระพุทธองค์

    เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า คนที่ดื้อรั้นไม่ฟังคำสอนของพระพุทธองค์นั้น บางครั้งไม่ใช่คนที่ไกลวัดไกลธรรมหากได้แก่ภิกษุผู้อยู่ใกล้พระพุทธองค์นั้นเอง อีกทั้งไม่ใช่พระอลัชชีที่ติดในลาภสักการะ ไม่ใส่ใจในพระธรรมวินัย หากเป็นถึงครูบาอาจารย์ เป็นผู้มีความรู้มีการศึกษาทางธรรมวินัย มีลูกศิษย์และญาติโยมให้ความเคารพนับถือมากมาย อีกทั้งยังมีเทวดาอารักขาอีกด้วย หากไม่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าว ท่านเหล่านั้นสามารถเรียกว่าเป็น “พระดี”ได้ด้วยซ้ำไป
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,433
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    คำถามก็คือ อะไรทำให้ท่านเหล่านั้นดื้อรั้นจนทำผิดพลาดได้ถึงขนาดนั้น คำตอบก็คือ ความยึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตน ซึ่งทำให้ปักใจเชื่อว่าอีกฝ่ายผิดเต็มที่ เมื่อหมกมุนอยู่กับความเชื่อว่าฉันถูก แกผิด ใจก็ปิดสนิท ไม่ยอมรับฟังความเห็นของใครทั้งนั้นที่ต่างไปจากตน ไม่เว้นแม้กระทั่งคำสอนของพระศาสดา เดาได้ไม่ยากว่าขณะที่พระองค์แสดงธรรมให้ภิกษุโกสัมพีฟัง ในใจของท่านเหล่านั้นอื้ออึงดังระงมด้วยคำกล่าวโทษอีกฝ่าย และปรารถนาให้ฝ่ายตรงข้ามมาขอโทษตนเอง แม้หูจะฟังแต่ก็ไม่ได้ยินคำสอนของพระพุทธองค์ กลับจะรู้สึกรำคาญด้วยซ้ำ ถึงกับทูลขอให้พระองค์ทรง “อยู่เฉย ๆ”

    ใช่แต่เท่านั้นความเชื่อมั่นว่าตนเองถูกเต็มร้อย ยังทำให้ไม่สามารถมองเห็นความผิดของตน หรือยอมรับได้ว่าตนเองก็มีส่วนผิดที่ทำให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย จนวุ่นวายทั้งวัดและลามไปถึงฆราวาสญาติโยม(รวมทั้งเทวดาในสวรรค์) แม้ถึงเพียงนั้นแล้วก็ยังมองไม่เห็นว่าเกิดโทษภัยอะไรบ้าง เพราะใจจดจ่ออยู่แต่ความถูกของตนและความผิดของอีกฝ่าย

    ไม่มีอะไรทำให้ใจปิดและสติปัญญาคับแคบ มองเห็นแค่ปลายจมูก ได้มากเท่ากับความยึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตน ผลก็คือทำผิดโดยไม่รู้ตัว และทั้ง ๆ ที่ทำผิดก็ยังเชื่อว่าตนเองทำถูก ซึ่งก็หนุนส่งให้ทำผิดมากขึ้น โดยยากที่จะยอมรับผิด ดังกรณีภิกษุโกสัมพี ทั้ง ๆ ที่พระพุทธองค์ทรงปลีกพระองค์ไปจำพรรษาในป่าแต่พระองค์เดียว ก็ยังไม่รู้สำนึก ทุ่มเถียงกันต่อไป ต่อเมื่อถูกชาวบ้านประท้วงด้วยการไม่กราบไหว้ ไม่ถวายอาหาร ร่างกายซูบผอม จึงยอมลดทิฐิมานะ ยอมรับผิด กลับมาสามัคคีกัน แม้กระนั้นก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการสำนึกผิดอย่างแท้จริง เนื่องจากทำไปเพราะถูกแรงกดดันจากญาติโยม นั่นเป็นเหตุผลเดียวกับที่พากันไปขอขมาโทษจากพระพุทธองค์ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากญาติโยมอีกต่อไป

    นี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับ “คนดี” เพราะยิ่งทำดีมากเท่าใด ก็ยิ่งยึดติดในความดีหรือความถูกต้องของตนได้ง่ายเท่านั้น สามารถทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้โดยไม่รู้ตัว ความขัดแย้งที่ลุกลามจนกลายเป็นการทะเลาะวิวาทถึงกับฆ่าฟันห้ำหั่นกันกลายเป็นสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า จำนวนไม่น้อยเป็นเพราะความยึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตน จนไม่สนใจว่ามีความพินาศเกิดขึ้นกับตนและผู้อื่นมากมายเพียงใด ขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะก็พอ

    ถ้าเรายึดติดถือมั่นในความถูกต้องของตนให้น้อยลง เปิดใจฟังผู้อื่นมากขึ้น รวมทั้งเปิดตามองเห็นโทษภัยที่เกิดจากความยึดติดดังกล่าวบ้าง อย่าคิดแต่จะเอาชนะกัน ความวิวาทบางหมางและการทำลายล้างกันจะน้อยลง ชีวิตจะผาสุกและบ้านเมืองจะมีความสงบกว่านี้มาก
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255701.html

     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,433
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    “สติ” ที่ถูกมองข้าม
    พระไพศาล วิสาโล
    การฝึกสติกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกา สิ่งซึ่งครั้งหนึ่งจำกัดวงอยู่ในสำนักปฏิบัติธรรมของชาวพุทธกลุ่มเล็ก ๆ บัดนี้ได้แพร่หลายไปตามโรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย องค์กรธุรกิจ หน่วยงานราชการ ไม่เว้นกระทั่งเรือนจำ ไม่ผิดหากจะกล่าวว่าการฝึกสติได้เข้าสู่กระแสหลักของสังคมอเมริกันไปแล้ว

    บริษัทชั้นนำของอเมริกาเป็นอันมากได้จัดคอร์สเจริญสติให้แก่ผู้บริหารและพนักงานอย่างจริงจัง กูเกิลมีโครงการฝึกสติชื่อ “แสวงหาด้านในของคุณ” (Search Inside Yourself) ปีละ ๔ ครั้ง ๆ ละ ๗ สัปดาห์สำหรับเจ้าหน้าที่ของตน ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ในสำนักงานของกูเกิลยังมีทางเดินจงกรมซึ่งทำเป็นรูปเขาวงกต ขณะที่อีเบย์จัดห้องสมาธิที่มีบรรยากาศชวนนั่งเจริญสติ ส่วนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คก็ไม่ยอมน้อยหน้า มีการจัดคอร์สเจริญสติแก่พนักงานเช่นกัน ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์คนหนึ่ง แม้แยกตัวมาตั้งบริษัทใหม่ แต่ก็ยังจัดให้มีการฝึกสติเป็นประจำ

    ล่าสุดท่านติช นัท ฮันห์ ได้รับนิมนต์ให้ไปนำการเจริญสติที่สำนักงานของกูเกิล โดยมีผู้บริหารของบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีมาร่วมปฏิบัติด้วย ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้นธนาคารโลกเป็นเจ้าภาพอาราธนาท่านติช นัท ฮันห์ไปบรรยายเรื่องพลังแห่งสติ ซึ่งได้รับความสนใจจากพนักงานอย่างล้นหลามจนห้องประชุมแน่นขนัด

    กิจกรรมหนึ่งที่ดึงดูดให้ผู้นำด้านเทคโนโลยีมีร่วมอย่างคับคั่ง คือ Wisdom 2.0 ซึ่งเป็นเสมือนมหกรรมประจำปีด้านการเจริญสติ ปีนี้มีคนเข้าร่วมกว่า ๒,๐๐๐ คน (ปีแรกที่จัดคือ ๒๕๕๒ มีคนร่วมเพียง ๓๒๕ คน) มีองค์กรมากมายผุดขึ้นเพื่อรับจัดคอร์สฝึกสติให้แก่บริษัทต่าง ๆ โดยมีรูปแบบและจุดเน้นจุดขายที่หลากหลาย ใช่แต่เท่านั้นอุปกรณ์ส่งเสริมการเจริญสติก็ขายดีมาก นอกจากเบาะรองนั่ง เสื่อ ระฆัง ธูป แล้ว ปัจจุบันมีแอปส์( apps)นับร้อย ๆ ที่เกี่ยวกับการฝึกสติและทำสมาธิ ยิ่งหนังสือด้วยแล้ว ไม่ยากเลยที่จะหาหนังสือที่มีชื่อผูกกับคำว่า “สติ” หรือ mindfulness เช่น การเลี้ยงลูกอย่างมีสติ การกินอย่างมีสติ การสอนอย่างมีสติ การบำบัดด้วยสติ การเรียนรู้อย่างมีสติ การเมืองแห่งสติ (Mindful Politics) สมองกับสติ (The Mindful Brain) ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่นิตยสารไทม์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขึ้นปกด้วยภาพหญิงสาวในชุดขาวกำลังหลับตาทำสมาธิอย่างสงบ พร้อมกับพาดข้อความว่า “The Mindful Revolution” เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกา

    อะไรทำให้การฝึกสติได้รับความนิยมอย่างมากมายเช่นนี้ เหตุผลสำคัญก็คือ ความเครียดที่มากขึ้น อันเนื่องจากชีวิตที่เร่งรีบและข้อมูลที่ท่วมท้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น อีกส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีด้านสารสนเทศที่ทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกับโลกแห่งข้อมูลอันมากมายมหาศาล ทำให้ผู้คนแทบไม่มีเวลาเป็นของตนเอง ยังไม่ต้องพูดถึงการงานที่สามารถแทรกเข้ามาในช่วงเวลาที่ควรจะเป็นส่วนตัว (เช่น เวลาพักผ่อน อยู่กับครอบครัว หรือเวลานอน) ความเครียดเหล่านี้ผู้คนพบว่าไม่อาจบรรเทาได้ด้วยวิธีการที่คุ้นเคย เช่น กิน เที่ยว เล่น เพราะให้ผลเพียงชั่วคราว อีกทั้งยังมีโทษตามมาโดยเฉพาะการเสพติดยาหรืออบายมุข

    หลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยมากมายที่ชี้ว่า การเจริญสตินั้นช่วยลดความเครียดได้ อีกทั้งยังมีผลดีต่อสุขภาพ แถมยังช่วยให้มีสมาธิดีขึ้นด้วย ผลดีที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้เชื้อเชิญให้ผู้คนเข้าหาการเจริญสติ ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจก็เห็นว่ามันเป็นผลดีต่อหน่วยงานของตนด้วย เพราะช่วยให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประการหลังนี้เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดใจผู้บริหารองค์กรธุรกิจมากเพราะเชื่อว่ามันจะทำให้หน่วยงานของตนมี “ข้อได้เปรียบในการแข่งขัน” นี้คือเหตุผลประการหนึ่งที่มีการนำการเจริญสติเข้าไปในคณะธุรกิจ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) ใช่แต่เท่านั้นมันยังเป็นจุดขายขององค์กรที่รับจัดทำคอร์สเจริญสติให้แก่องค์กรธุรกิจด้วย
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,433
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    สภาพการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องดีเสมอไป หลายคนเป็นห่วงว่า การเจริญสติกำลังกลายเป็นธุรกิจทำกำไร ซึ่งทำให้ “สติ”กลายเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่ง นั่นหมายความว่า ความหมายและคุณค่าของสติย่อมแปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไป คุณค่าของสติไม่ได้อยู่ที่การลดความเครียดหรือการมีสมาธิกับงานเท่านั้น ที่สำคัญก็คือสติช่วยให้เรารู้เท่าทันกิเลสตัณหาของตนและไม่ตกอยู่ในอำนาจของมัน รวมทั้งช่วยให้เห็นกายและใจตามเป็นจริง ไม่เห็นผิดหรือหลงในมายาภาพที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา สติอย่างนี้แหละที่เรียกว่าสัมมาสติ ตราบใดที่การเจริญสติยังอยู่ในระดับที่ช่วยให้จิตหายฟุ้งซ่านเท่านั้น ความเครียดหรือความสงบที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นของชั่วคราว เนื่องจากกิเลสตัณหายังมีอยู่เท่าเดิม พอมีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้อยาก หรือประสบกับความไม่สมอยาก หรือเห็นคนอื่นได้รับความสำเร็จมากกว่าตน จิตใจก็จะรุ่มร้อน เครียดและเป็นทุกข์อีก

    การใช้สติเพื่อช่วยให้จิตสงบและเป็นสมาธิ จะได้ทำกำไรยิ่งกว่าเดิมนั้น จะไม่ช่วยให้เราพบกับความสงบเย็นและผ่อนคลายอย่างแท้จริง กลับทำให้รากเหง้าของความทุกข์และความเครียดมั่นคงแข็งแรงขึ้น เพราะเป็นการส่งเสริมกิเลสตัณหาให้มากขึ้น การเจริญสติที่แท้ไม่เพียงบรรเทาความฟุ้งซ่านเท่านั้น หากยังช่วยให้เราเห็นความจริงว่า ความสุขที่แท้มิได้อยู่ที่เงินทอง ชื่อเสียง และความสำเร็จ หากอยู่ที่ใจซึ่งสงบจากกิเลส ตัณหาเบาบาง ไม่คับแคบเพราะความเห็นแก่ตัว แม้จะทำงานเต็มที่ แต่ก็มิได้มุ่งหมายเอาชนะผู้อื่นหรือตักตวงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แทนที่จะเอาเข้าตัว สติช่วยเปิดใจให้กว้าง มีเมตตาเกื้อกูลผู้อื่น ซึ่งยิ่งทำก็ยิ่งช่วยให้ใจสงบเย็น

    จะว่าไปแล้วสัมมาสติดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ย่อมอาศัยกุศลธรรมอื่น ๆ เป็นตัวรองรับสนับสนุน เช่น ความเห็นชอบ การคิดชอบ การพูดชอบ การกระทำชอบ(คือ มีศีล ) และการเลี้ยงชีพชอบ เป็นต้น ดังนั้นการรักษากาย วาจา ใจให้ดีงาม จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเจริญสติด้วย เพียงแค่นั่งในห้องสมาธิหรือเดินอย่างสงบบนทางจงกรม ยังไม่พอ หากจำต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้องทั้งภายในและภายนอกอย่างกลมกลืนกับชีวิตประจำวัน รวมทั้งในการทำงานด้วย

    สติจึงไม่ใช่แค่เทคนิคการฝึกจิตเท่านั้น แต่สัมพันธ์กับโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตทั้งหมดด้วย หากแยกการเจริญสติออกมาจากการดำเนินชีวิต หรือเอามาใช้เฉพาะเรื่องเฉพาะกิจ มันก็อาจกลายเป็นมิจฉาสติได้ เพราะอย่าลืมว่าแม้แต่โจรหรือขโมยก็ต้องใช้สติในการประกอบมิจฉาชีพเช่นกัน แต่สติอย่างนั้นย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากมิจฉาสติ เพราะนอกจากจะปล่อยให้กิเลสตัณหาครอบงำจิตแล้ว ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทำความชั่วอีกด้วย

    สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกานั้น จะว่าไปก็ไม่ต่างกับที่กำลังเกิดในเมืองไทย ดังทุกวันนี้แทบทุกวงการพากันพูดถึงการเจริญสติ ทำสมาธิ และปฏิบัติธรรม ขณะที่หนังสือธรรมะก็ขายดี แต่หากการปฏิบัติธรรมยังไม่ช่วยให้กิเลสของเราลดลง ยังมีความเห็นแก่ตัว อยากได้ใคร่ดี หรือไร้น้ำใจเหมือนเดิม ก็แน่ใจได้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่การเจริญสัมมาสติอย่างแน่นอน
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255705.html
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,433
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    พร้อมตายจึงพ้นตาย
    พระไพศาล วิสาโล
    ในการธุดงค์คราวหนึ่งพระอาจารย์ลี ธัมมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม ได้พบผู้เฒ่าสองสามีภรรยา ซึ่งมีอาชีพหาของป่า ทั้งสองได้เล่าประสบการณ์เฉียดตายให้ท่านฟังว่า ขณะที่กำลังเก็บน้ำมันยางกลางดงใหญ่ ทั้งสองได้ประจันหน้ากับหมีกลางป่า แม่เฒ่าวิ่งหนีขึ้นต้นไม้ทัน ส่วนพ่อเฒ่าหนีไม่ทันจึงถูกหมีทำร้าย เขาพยายามต่อสู้แต่สู้ไม่ไหว ทำท่าว่าจะไม่รอด เพราะหมีตัวใหญ่และดุร้ายมาก ขณะนั้นเองก็ได้ยินแม่เฒ่าตะโกนว่า ให้นอนหงายเหมือนคนตาย อย่ากระดุกกระดิก พ่อเฒ่าจึงล้มตัวลงนอนแผ่ ไม่ไหวติงเหมือนคนตาย หมีเห็นเช่นนั้นก็หยุดตะปบ แล้วสำรวจร่างพ่อเฒ่า ทั้งดึงขาและหัวของเขา กับเอาปากดุนตัว พ่อเฒ่าก็ทำตัวอ่อนไปมา ขณะเดียวกันก็คุมสติให้มั่นด้วยการบริกรรม “พุทโธ”

    หมีเห็นพ่อเฒ่าไม่กระดุกกระดิก นึกว่าตายจริงจึงเดินจากไป ด้วยอุบายดังกล่าวพ่อเฒ่าจึงรอดตาย เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าดังกล่าวพระอาจารย์ลี จึงได้ข้อคิดว่า “คนที่จะพ้นตายต้องทำตนเหมือนคนตาย”

    หลายคนมีประสบการณ์คล้ายพ่อเฒ่าผู้นี้คือรอดตายเพราะทำตัวแน่นิ่งเหมือนคนตาย โจรหรือผู้ร้ายจึงตายใจและเดินจากไป อย่างไรก็ตามการ “ทำตนเหมือนคนตาย”นั้น ไม่ได้หมายความถึงการแกล้งตายหรือทำตัวแน่นิ่งอย่างเดียว แม้คนที่ทำใจสงบนิ่งเมื่อภัยมาถึงตัว พร้อมรับความตายเต็มที่ ก็สามารถ “พ้นตาย”ได้เหมือนกัน

    หญิงผู้หนึ่งขับรถบนทางด่วนด้วยความเร็วสูง สักพักก็เห็นรถติดเป็นแพยาวเหยียดอยู่ข้างหน้า เธอจึงชะลอรถแต่ไกล แต่เมื่อรถใกล้ต่อท้ายคันหน้า เธอเหลือบมองกระจกหลัง ก็เห็นรถคันหนึ่งวิ่งมาด้วยความเร็วสูง ไม่มีทีท่าชะลอเลยทั้ง ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากรถของเธอ ชั่วขณะนั้นเองเธอรู้ว่ารถของเธอต้องถูกชนแน่ ซึ่งหมายความว่าเธอต้องถูกอัดกระแทกทั้งจากคันหน้าและคันหลัง และเธออาจไม่รอด

    วินาทีที่รู้ว่าเธอจะต้องตาย เธอก้มดูมือทั้งสองซึ่งกำพวงมาลัยไว้แน่น เห็นได้ชัดว่าใจของเธอกำลังเครียดเกร็ง เธอเพิ่งรู้ว่านี้คือสิ่งที่เธอเป็นมาตลอดชีวิต เธอตั้งใจว่าถ้าจะต้องตายก็ต้องไม่ตายในอาการแบบนี้ เธอจึงหลับตา หายใจเข้าลึก ๆ และปล่อยมือลงข้างตัว ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น วินาทีต่อมารถคันหลังก็พุ่งชนรถของเธออย่างแรง ส่งเสียงดังสนั่น

    รถทั้งสองคันพังยับเยิน แต่เธอกลับไม่เป็นอะไรเลย ตำรวจบอกว่าเธอโชคดีที่ปล่อยตัวตามสบาย ถ้าเธอเกร็งตัว ก็อาจบาดเจ็บสาหัสหรือถึงกับคอหักตายได้เพราะแรงกระแทก

    อีกรายหนึ่งเล่าว่าครั้งหนึ่งได้ไปว่ายน้ำที่เกาะสมุย จู่ ๆ ก็สังเกตว่ากระแสน้ำพัดเธอออกห่างจากฝั่งไกลขึ้นเรื่อย ๆ เธอพยายามว่ายเข้าฝั่ง แต่ยิ่งว่ายก็ยิ่งเหนื่อย เพราะไม่อาจทานกระแสน้ำที่พัดออกจากฝั่งได้ เพื่อน ๆ พยายามว่ายมาช่วยเธอ แต่พอรู้ว่าสู้กระแสน้ำไม่ได้ ก็ว่ายกลับเข้าฝั่ง เธอตกใจมากพยายามรวบรวมกำลังว่ายเข้าฝั่งแต่ไม่เป็นผล จนใกล้จะหมดแรง เธอรู้ว่าเธออาจจะไม่รอด ชั่ววินาทีนั้นเธอรวบรวมสติ คุมใจให้หายตื่นตระหนก พร้อมรับความตายที่จะมาถึง แทนที่จะว่ายต่อ เธอเลือกที่จะลอยตัวอยู่ในน้ำนิ่ง ๆ เธอพบว่าช่วงนั้นจิตใจสงบเป็นอย่างมาก ไม่มีความอาลัยหรือห่วงใยสิ่งใดทั้งสิ้น

    เวลาผ่านไปครู่ใหญ่เธอก็สังเกตว่าคลื่นค่อย ๆ ซัดตัวเธอเข้าหาฝั่ง ถึงตอนนี้เพื่อน ๆ ก็ว่ายมาช่วยพาเธอเข้าฝั่ง เธอเล่าว่าที่รอดตายได้ก็เพราะลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ ในทะเล จนมาถึงบริเวณที่ปลอดกระแสน้ำดังกล่าว หากเธอกระเสือกกระสนว่ายเข้าฝั่งตั้งแต่ทีแรก ก็คงหมดแรงและจมน้ำในที่สุด

    ทั้งสองกรณีเป็นตัวอย่างของคนที่รอดตายเพราะทำใจพร้อมรับความตาย โดยไม่ขัดขืนดิ้นรน เพราะรู้ว่าภัยมาถึงตัวแน่แล้ว ป่วยการที่จะต่อสู้ มีอย่างเดียวที่จะทำได้คือทำใจนิ่ง ยอมรับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อใจนิ่ง กายก็นิ่งและผ่อนคลาย และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ทั้งสองรอดตายได้

    เป็นธรรมชาติของคนเรา เมื่อมีภัยมาประชิดตัว ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทันทีคือ “สู้” หรือ “หนี”
    ปฏิกิริยาทั้งสองประการจะได้ผลก็ต่อเมื่อมีกำลังสู้ไหว หรือหนีได้ แต่หากสู้ไม่ได้หนีไม่พ้น ไม่มีอะไรดีกว่าการยอมรับมันโดยดุษณี อย่างน้อยก็ทำให้ใจไม่ทุกข์ ดีกว่าทุกข์ทั้งกายและใจ และหาก “โชคดี” ก็อาจรอดพ้นจากอันตรายได้ ดังตัวอย่างทั้งสามกรณี

    การยอมรับความจริงด้วยใจสงบ มีประโยชน์ไม่เฉพาะในยามที่อันตรายจากภายนอกมาประชิดตัวเท่านั้น แม้ในยามที่เจ็บป่วย ใจที่ไม่ต่อสู้ขัดขืนก็ช่วยได้มากเช่นกัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ป่วยกายไม่มาก แต่เนื่องจากใจเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ยิ่งปรุงแต่งไปในทางร้าย ใจก็ยิ่งยอมรับความป่วยไม่ได้ ผลก็คือร่างกายทรุดหนัก นับประสาอะไรกับคนที่ป่วยหนักด้วยโรคร้าย ถ้าใจยอมรับความจริงไม่ได้ อาจตายเร็วกว่าที่หมอคาดการณ์ไว้เสียอีก ตรงข้ามกับคนที่ทำใจได้ พร้อมรับความตายทุกขณะ กลับมีชีวิตยืนยาวมากกว่า และบางคนสามารถเอาชนะโรคร้ายได้ด้วยซ้ำ

    ใจที่ดิ้นรนหรือต่อสู้ขัดขืนกับโรคร้าย อาจทำให้ความทุกข์ทางกายเพิ่มพูนขึ้นสองหรือสามเท่าตัวด้วยซ้ำ ซึ่งเท่ากับเร่งความตายให้มาถึงเร็วเข้า ถามว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ใจดิ้นรนหรือต่อสู้ขัดขืน คำตอบก็คือ ความกลัว เช่น กลัวตาย กลัวสูญเสีย กลัวเจ็บปวด ความจริงอย่างหนึ่งที่ดูเหมือนว่าโลกเล่นตลกก็คือ ยิ่งกลัวเจ็บปวด ก็กลับเจ็บปวดมากขึ้น มีคนทำวิจัยพบว่า คนที่กลัวเจ็บจากเข็มฉีดยา เมื่อถูกเข็มแทงเข้าจะรู้สึกเจ็บมากกว่าปกติถึงสามเท่า ส่วนคนที่ไม่กลัว ยอมให้ฉีดยาโดยดุษณี จะรู้สึกเจ็บน้อยมาก เรียกว่าความเจ็บหารสองหรือหารสามก็น่าจะได้
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,433
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,046
    (ต่อ)
    สำหรับคนทั่วไปไม่มีอะไรน่ากลัวเท่ากับความตาย แต่ความจริงแล้วสิ่งที่น่ากลัวกว่าความตายก็คือความกลัวตายต่างหาก คนเรากลัวตายด้วยหลายสาเหตุ เช่น กลัวพลัดพรากจากคนรัก ห่วงใยลูกเมียที่ยังอยู่ มีงานการที่ยังสะสางไม่เสร็จ กล่าวโดยสรุป ใจที่ยังยึดติดผูกพัน ปล่อยวางไม่ได้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรากลัวตาย ดังนั้นจึงต่อสู้ขัดขืนกับโรคร้ายและความตาย ยิ่งต่อสู้ขัดขืนใจก็ยิ่งทุกข์ เพราะโรคไม่ยอมหาย และยิ่งใจทุกข์ โรคก็ยิ่งกำเริบ ซึ่งก็ทำให้ทุกข์ใจมากขึ้น เป็นวงจรเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกายและใจทรุดหนักเกินกว่าที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้

    แต่สำหรับบางคน สาเหตุที่ต่อสู้ขัดขืนกับโรคภัยและความตายก็เพราะเป็นห่วงคนที่อยู่รอบตัว มีพระรูปหนึ่งป่วยเรื้อรังโดยหมอไม่พบสาเหตุ ระยะหลังท่านมีอาการอ่อนเพลียมากจนต้องนอนซมอยู่บนเตียงตลอดเวลา ทางวัดพยายามช่วยท่านทุกวิถีทาง ทั้งด้วยการรักษาแผนใหม่และการรักษาแบบทางเลือก แต่อาการของท่านก็ไม่ดีขึ้น เพื่อนพระจากวัดต่าง ๆ พากันมาให้กำลังใจ ท่านจึงพยายามรักษาตัวให้ดีขึ้น แต่ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด อาการของท่านมีแต่จะทรุดลง หลายคนเป็นห่วงว่าท่านจะไม่รอด แต่ท่านก็พยายามฝืนสู้โรคภัยไข้เจ็บ แต่ดูจะไม่ค่อยมีหวังเท่าใด

    แล้ววันหนึ่งพระอาจารย์ของท่านซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอีกวัดหนึ่งได้มาเยี่ยมท่าน ท่านเรียกชื่อของพระรูปนั้น แล้วพูดสั้น ๆ ว่า “ถ้าท่านจะตายก็ตายได้นะ ท่านไม่ต้องพยายามหายหรอก” ทันทีที่ได้ยิน ท่านถึงกับร้องไห้ ไม่ใช่ด้วยความเสียใจ แต่เพราะซาบซึ้งใจที่พระอาจารย์ได้ช่วยปลดเปลื้องภาระอันหนักอึ้งออกไปจากจิตใจของท่าน ที่ผ่านมาท่านรู้สึกผิดที่ทำให้เพื่อนผิดหวัง แต่ละคนอยากให้ท่านหาย แต่เมื่อท่านไม่หาย ท่านจึงมีความทุกข์ใจมาก และพยายามที่จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บเต็มที่ แต่ยิ่งปฏิเสธความเจ็บป่วย ใจก็ยิ่งทุกข์และซ้ำเติมความเจ็บป่วยให้หนักขึ้น แต่เมื่อพระอาจารย์อนุญาตให้ท่านตาย ท่านก็รู้สึกว่าท่านตายได้แล้วโดยไม่ต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป ใจจึงพร้อมที่จะตาย ไม่ต่อสู้ขัดขืน ปรากฏว่านับแต่วันนั้นอาการของท่านดีขึ้นเป็นลำดับจนหายเป็นปกติ เป็นที่อัศจรรย์ใจของผู้ติดตามอาการของท่าน กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าเมื่อใจพร้อมตายก็กลับรอดตายได้

    ในสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องคล้าย ๆ กันนี้ นกุลบิดาเป็นอุบาสกผู้ใฝ่ธรรม ต่อมาท่านป่วยหนักเจียนตาย นกุลมารดาซึ่งเป็นภรรยาเห็นสีหน้าของสามีก็รู้ว่าเป็นทุกข์มาก ไม่อยากให้สามีสิ้นลมด้วยใจที่ยังห่วงใย จึงพูดให้นกุลบิดาปล่อยวางด้วยการให้ความมั่นใจทีละอย่าง ๆ ว่า ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะเลี้ยงลูกและดูแลบ้านเรือนไม่ได้ ขอให้มั่นใจว่าเราจะดูแลลูกและบ้านเรือนได้ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไปหาชายอื่น ขอให้มั่นใจว่าเราจะไม่มีชายอื่นแน่นอน ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่ต้องการเห็นพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ขอให้มั่นใจว่าเราปรารถนาจะเห็นพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์อยู่เนือง ๆ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่รักษาศีลให้บริบูรณ์ ขอให้มั่นใจว่าเราจะรักษาศีลให้บริบูรณ์ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่มีความสงบใจ ขอให้มั่นใจว่าเราจะมีความสงบใจ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะมีความเคลือบแคลงสงสัยในพระธรรมวินัย ขอให้มั่นใจว่าเราจะพ้นจากความเคลือบแคลงสงสัยในพระธรรมวินัย

    พระไตรปิฎกกล่าวว่าเมื่อได้ฟังคำของภรรยาเช่นนี้ นกุลบิดาก็หายป่วยทันที ทั้งสองกรณีหลัง หากอธิบายอย่างสมัยใหม่ก็คือ ใจที่ปล่อยวาง ไร้ความวิตกกังวล ย่อมรู้สึกผ่อนคลาย นิ่งสงบ และเป็นสุข นอกจากจะช่วยบรรเทาความทุกข์ทางกายแล้ว ยังกระตุ้นกระบวนการเยียวยาตนเองจนร่างกายหายจากความเจ็บป่วยได้

    เมื่อใจพร้อมตาย ไม่ต่อสู้ขัดขืนความตาย ก็ไม่ต่างจากการ “ทำตนเหมือนคนตาย” และดังนั้นจึงอาจ “พ้นตาย”ดังคำของพระอาจารย์ลีได้ อย่างไรก็ตามประโยคข้างต้นของพระอาจารย์ลีมีความหมายลึกกว่าการอยู่นิ่ง ๆ ทำตัวเสมือนตายหรือทำใจนิ่งสงบพร้อมตาย ความหมายที่ลึกกว่านั้นก็คือ การอยู่อย่างปล่อยวางทุกสิ่ง ไม่อาลัยในชีวิต อีกทั้งไร้ความทะยานอยาก ไม่ยินดียินร้ายในโลกธรรม จะอยู่หรือตายก็มีความรู้สึกเท่ากัน ผู้ที่วางใจได้เช่นนี้ความตายย่อมทำอะไรไม่ได้

    ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ทำใจพร้อมตาย ก็อาจหนีความตายไม่พ้น แต่หากใครก็ตามสามารถทำใจถึงขั้นว่าไม่อาลัยในชีวิต และปล่อยวางทุกสิ่งแม้กระทั่งความยึดถือในตัวตน จน “ตัวกู”ไม่มีที่ตั้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ตายก่อนตาย” ดังคำของท่านอาจารย์พุทธทาส บุคคลเช่นนี้ย่อมอยู่เหนือความตาย เมื่อความตายมาถึงก็มีแต่นามรูปเท่านั้นที่แตกดับไป แต่หามี “ผู้ตาย”ไม่ นี้ใช่ไหมที่เป็นการ “พ้นตาย”อย่างแท้จริง
    :- https://visalo.org/article/jitvivat255109.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...