จิตพร้อม? รับภัยพิบัติ

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย ภูภู, 6 เมษายน 2012.

  1. watjojoj

    watjojoj เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 มิถุนายน 2012
    โพสต์:
    562
    ค่าพลัง:
    +9,793
    ๏ เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน คำเวทนานี้แปลว่า การเสวยอารมณ์ พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้ กถญฺจ ภิกฺขเวภิกฺขุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งอื่นยังมีอยู่อีก เวทฺนาสุ เวทฺนานุปสฺสี วิหรติ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนา คำว่าเวทนานี้ ท่านแปลว่าอย่างนั้น ท่านแปลว่า ความเสวยอารมณ์ ถ้าพูดกันแบบไทยๆ ไอ้คำว่าเสวยนี่ ก็แปลว่ากิน คนก็เลยกินอารมณ์เข้าไป ไม่ต้องกินข้าวแล้ว คำว่าเสวยอารมณ์ ก็หมายความว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจเรา มันมีอยู่เป็นปกติ

    ท่านบอกว่าย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ คือว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ท่านว่ายังไง ดูตามของท่านไป ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อเสวยสุขเวทนาก็รู้ชัดอยู่ว่าบัดนี้เราเสวยสุขเวทนา เมื่อเสวยทุกขเวทนาก็รู้ชัดอยู่ว่าบัดนี้เราเสวยทุกขเวทนา เมื่อเสวย อทุกฺขมสุขํ เวทนํ เวทิยมาโน เพื่อนก็เลยแปลบอกว่า เมื่อเสวย อทุกขมสุขเวทนา เป็นอันว่า เมื่อเราไม่ได้เสวยทุกข์หรือเสวยสุขเวทนา อันเป็นอุเบกขา คืออารมณ์เฉยเราก็รู้ชัดอยู่ว่าเวลานี้อารมณ์ของเราเฉยๆ ไม่มีสุขหรือมีทุกข์ใดๆ

    ต่อไป เมื่อเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส คำว่า อามิส แปลว่าสิ่งของ คือมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามาเจือ เช่น กามคุณ ก็รู้ชัดว่า เวลานี้เราเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส หรือว่าเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดอยู่ว่า เวลานี้เราเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส หรือว่าเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส หรือว่าเมื่อเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดอยู่ว่าเราเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส หรือเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็หมายความว่า จิตใจมันเฉยๆ ไม่มีสุขหรือไม่มีทุกข์ เพราะมีอามิสหรือว่าไม่มีอามิส ก็รู้อยู่ว่า เวลานี้เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิสหรือว่าไม่มีอามิส ท่านว่ายังงั้น

    ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาทั้งภายในและภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง นี่พอบอกว่าเห็นเวทนาเป็นธรรมดา นี่จัดเป็นวิปัสสนาญาณ ตอนต้นเป็นสมถะ อันนี้มหาสติปัฏฐาน นี่พระพุทธเจ้าควบวิปัสสนาญาณอยู่ตลอดเวลา ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือความเสื่อมไปบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปบ้าง ก็หรือว่าสติมีเวทนา มีอยู่ ก็ไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักแต่ว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ ย่อมไม่ยึดถืออะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ นี้แล้ว

    คือตามใจความตามมหาสติปัฏฐานสูตรในเวทนานุปัสสนานี้ พระพุทธเจ้าให้ทรงพิจารณาว่า เวลานี้จิตของเรามีความสุขหรือว่ามีความทุกข์ เวทนานี้ก็คืออารมณ์ ตามบาลีท่านแปลว่า ความเสวยอารมณ์ คำว่าเสวยอารมณ์นี่มันฟังไม่ชัด นี้คำว่าอารมณ์ หมายถึงอะไร คำว่าอารมณ์นี่ก็หมายถึงว่า ความรู้สึกของใจ คือความรู้สึกของเรานี้ มันมีความสุข หรือว่ามีความทุกข์ หรือว่าเวลานี้ใจของเราหดหู่ประกอบไปด้วยความทุกข์ หมายความว่า มีความปรารถนาไม่สมหวังบ้าง สิ่งที่ตั้งใจไว้ไม่ปรากฏบ้าง สิ่งที่ตั้งใจไว้ไม่เป็นไปตามตั้งใจบ้าง อย่างนี้เป็นอาการของความทุกข์ อย่างนี้เรียกกันว่า ทุกขเวทนา

    ทีนี้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านบอกชัดไว้ว่ามหาสติปัฏฐาน คือ ให้พยายามเอาจิตของเราเข้าไปตั้งในสติสัมปชัญญะตลอดเวลา นี้เรียกว่าตามนึกรู้อารมณ์ จงรู้อารมณ์ของเราว่าเวลานี้อารมณ์เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าอารมณ์มีความสุขก็รู้อยู่ว่าอารมณ์เรามีความสุข อารมณ์ของเรามีความสุขเพราะอาศัยอะไรเป็นปัจจัย อารมณ์ของเรามีความสุขเพราะมีอามิสเป็นปัจจัย คำว่าอามิส หมายว่าสิ่งของ เราจะเรียกกันว่าวัตถุก็ได้ จะเป็นสิ่งที่มีชีวิตก็ตาม หรือว่าไม่มีชีวิตก็ตาม ถ้ามันมีสิ่งใดปรากฏขึ้น เป็นอะไรก็ตามเป็นเครื่องปรากฏเฉพาะหน้า และเป็นเหตุให้เราได้สุข เราได้ทุกข์ อย่างนั้นเราเรียกว่าอามิส อย่างพบคนที่ไม่ชอบใจ ใจมันก็เริ่มไม่สบาย นี้ถือว่าคนเป็นอามิส เป็นเหตุให้เราเกิดความทุกข์ เพราะไม่สบายแปลว่าทุกข์ ความไม่สบายกายก็ดี ความไม่สบายใจก็ดี จัดเป็นทุกข์ อันนี้เราต้องรู้ตัวทุกข์ด้วยนะ

    หรือว่าพบสิ่งของสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่เป็นที่ไม่ชอบใจของเรา จิตมันก็เป็นทุกข์ หรือว่าพบคนที่หน้าตา ไม่เกลียด ไม่โกรธ ไม่เป็นศัตรู แต่กลับมาพูดในสิ่งที่เราไม่ปรารถนา เราไม่ต้องการจะฟัง ใจเราไม่ชอบใจ อย่างนี้ก็ทุกข์ เรียกว่าทุกขเวทนา ทีนี้พระพุทธเจ้าให้พิจารณาจิตของตนว่าเวลานี้จิตของเรามีอารมณ์เป็นอย่างไร มีอารมณ์เป็นสุขหรือทุกข์ มาอีกตอนหนึ่งท่านพูดถึงสุขเวทนา เวลานี้จิตของเราเป็นสุข มันเป็นสุขเพราะว่าอะไร เป็นสุขเพราะว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากระทบ หรือว่าเป็นสุขอยู่เฉยๆ ไม่มีสิ่งอื่นเข้ามากระทบ

    คำว่าสิ่งอื่นก็คืออามิส จะเป็นคนหรือเป็นวัตถุก็ตาม หรือว่าหาคนไม่ได้ หาวัตถุไม่ได้ แต่ปรากฏเป็นเสียงหรือเป็นแสง ถ้าเป็นแสงก็เป็นวัตถุ ถ้าเป็นเสียงก็เป็นวัตถุเหมือนกัน จัดเป็นกาย แต่ว่าเป็นอนุปาทายรูป ทีนี้เรากระทบกับเสียง กระทบกับแสง กระทบวัตถุ กระทบกับคน ทำให้เราเกิดความสุขหรือว่าความทุกข์

    แต่ความสุขหรือความทุกข์นี้ พระพุทธเจ้าท่านขมวดท้ายไว้ว่า เนื่องด้วยกามารมณ์ ไอ้คำว่ากามารมณ์นี่ไม่ใช่อามรณ์อยากมีผัวมีเมียเฉยๆ ตีความแบบนั้นไม่ถูก คือ กามารมณ์ กามะแปลว่า ความใคร่ อารมณ์คือความรู้สึกของเรา เกิดความใคร่อยากจะได้สิ่งนั้น อยากจะได้สิ่งนี้ หรือว่าเราไม่อยากได้สิ่งนั้น ไม่อยากได้สิ่งนี้ เพราะเราไม่ชอบใจ สิ่งที่เราอยากได้เป็นอาการของความชอบใจ อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างนี้ท่านเรียกว่า กามารมณ์ คืออารมณ์ที่มีความอยากเกิดขึ้น

    นี่อารมณ์ที่มีความอยากเกิดขึ้นมันเป็นอารมณ์ที่ทำให้เราสุขใจ หรือว่าทุกข์ใจ อันนี้พระพุทธเจ้าให้ใช้สติคิดไว้เสมอ สิ่งเหล่านี้มันมีอยู่เป็นธรรมดา แต่เราจะมานั่งคิดดูว่าพระพุทธเจ้านี่มานั่งสอนเราทำไม ไอ้เรื่องนี้มันเป็นเรื่องธรรมดาของใจ แต่ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเราก็เพราะว่า พวกเราลืมคิด ไม่ได้ใช้สติเข้าไปควบคุมอารมณ์ เราปล่อยไปตามเรื่อง มันจะสุขหรือมันจะทุกข์ก็ไม่ได้หาเหตุ ไม่ได้หาผล ไม่ได้ค้นคว้าตามความเป็นจริง

    ทีนี้การที่พระพุทธเจ้าให้รู้อารมณ์ของเรา ว่าอารมณ์ของเรานี่มันเป็นสุขหรือว่ามันเป็นทุกข์ เวลาที่มันมีความสุขหรือว่ามีความทุกข์ มีอะไรที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยหรือเปล่า คือมีอามิส วัตถุ หรือบุคคลเป็นเหตุหรือเปล่า หรือว่าไม่มีอามิส วัตถุ หรือบุคคล เป็นเหตุ จึงเกิดความสุขหรือความทุกข์ ให้ใคร่ครวญ อย่างนี้เรียกว่า พิจารณาเวทนาในเวทนา กำหนดรู้เวทนาในเวทนา หมายความว่า อารมณ์ความสุข หรือความทุกข์น่ะเป็นเวทนา ถ้าตัวสุขเป็นสุขเวทนา ที่เราชอบใจนะ ความทุกข์เป็นทุกขเวทนา เป็นเวทนาตัวนอก ตอนนี้เราก็ไปหาเวทนาในเวทนาอีกทีหนึ่ง คืออารมณ์ในอารมณ์อีกทีหนึ่งว่าอะไรนี่มันสร้างความสุขความทุกข์ใจให้เกิดแก่เรา

    เมื่อเราคิดไปเราก็คิดได้ว่า นี่เราไม่สบายใจ นี่แสดงว่าท่านให้หาเหตุหาผล มีความสุขและความทุกข์เพราะอะไร ท่านให้คิดแบบนี้ทำไม จะได้รู้ว่าแม้แต่อารมณ์ใจของเรานี่ที่เราเกิดมานี่ ความจริงความสุขความทุกข์มันเกิดจากกายก็จริง แต่ทว่าไอ้ทุกข์จริงๆ ใจเป็นตัวรับ

    จะว่ากายมันเกิด แล้วมันแก่ มันเจ็บ มันตาย และไอ้เจ้าใจนี่ล่ะ กายเกิดมาแล้วมันเกิดแก่ลงมา เราไม่ชอบแก่ มันเกิดป่วยไข้ไม่สบาย เราไม่ชอบป่วยไข้ไม่สบาย มันตายเราไม่ปรารถนาให้มันตาย เรานึกว่ากายเป็นทุกข์ แต่ความจริงกายไม่ได้เป็นทุกข์ ใจมันทุกข์ เพราะกายมันมีสภาพเป็นปกติ ถ้ามันทุกข์จริงๆ มันก็ไม่แก่

    อย่างตาเรานี่ถ้ามันรู้ว่ามองอะไรไม่ถนัด ก็จะต้องซื้อแว่นมาใส่ ถ้ามันรู้มันจะต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ มันไม่ฝ้า มันไม่ฟาง นี่ความจริงอาการของตามันไม่รู้เรื่อง มันถือกฎธรรมดาของมัน เมื่ออายุมากเข้าแล้วประสาทมันก็เสื่อมโทรมลงไป ไอ้การต้องการในการเห็น การต้องการในการได้ยินจากหู เห็นจากตา รับการสัมผัสจากกาย ได้กลิ่นจากจมูก รู้รสจากกลิ่น อย่างนี้เป็นต้น นี่มันเป็นเรื่องของใจ ไอ้ความสุขความทุกข์นี่มันอยู่ที่ใจ ความจริงมันไม่มีอยู่ในกาย ตามลำพังกายอย่างเดียวตัวนั้นมันไม่ได้สุข มันไม่ได้ทุกข์

    เราจะเห็นว่าคนถ้าตายแล้วนี่ ใครจะเอาไฟไปเผา จะเอามีดไปสับไปฟันก็ไม่เคยโกรธ แต่ทว่าเวลาที่ยังไม่ตาย อย่าว่าแต่เอามีดมาฟันเลย เอาเล็บมาสะกิดหน่อยเดียว บอกว่าเจ็บฉันไม่ชอบใจ ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะใจมันเป็นเครื่องรับรู้ นี้ถ้ากายเราเจ็บเพราะเล็บจิก ไอ้อย่างนี้เรียกว่า ทุกขเวทนา เกิดจากอามิส อามิสคือของ ของคือเล็บที่มาหยิกเรา หรือว่าวัตถุอะไรเข้ามากระทบ ตานี้ความสุขที่เกิดขึ้นมา กำลังใจอยากได้ขนม อยากกินขนม อยากนี่ได้ขนมแบบนี้เรามีความสุข เราชอบใจ หรือว่าต้องการวัตถุแบบนี้ เราชอบใจ เกิดความสุข อย่างนี้เขาก็เรียกว่าเกิดความสุขเกิดจากอามิสเหมือนกัน นี่พระพุทธเจ้าให้พิจารณาว่า กำลังใจของเรานี่ ความจริงมันไม่ใช่แม้แต่อารมณ์ ไม่ใช่กาย เพราะอารมณ์นี่ก็ไม่มีสภาพคงที่ มันก็เป็นสุขเป็นทุกข์เหมือนกัน

    ทีนี้มาอีกบทหนึ่งท่านบอกว่า หรือว่ามีความรู้สึกว่าอทุกขมสุข หรือว่าจิตของเราเสวยอารมณ์ที่ไม่มีสุขและไม่มีทุกข์ ไอ้การไม่มีสุขหรือไม่มีทุกข์มันอาศัยอามิสเป็นต้นเหตุ หรือว่าไม่มีอามิสเป็นต้นเหตุ คำว่าอามิสเป็นต้นเหตุ ก็สมมติว่าเราไปนั่งดูพระพุทธรูป เห็นพระพุทธรูปมีความสดสวยงาม ยิ้มอยู่ตลอดเวลา ลักษณะท่าทางของท่านน่าเคารพนับถือ น่าไหว้ น่าบูชา

    แล้วก็พิจารณาไว้ พระพุทธรูปนี้ ความจริงเป็นรูปเปรียบของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงมีความดีมาก เวลานี้สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานไปแล้ว ความจริงองค์สมเด็จพระประทีปแก้วมีพระองค์เดียว แต่เมื่อพระองค์ทรงนิพพานไปแล้ว กลับหล่อรูปขึ้นมามากทั้งนี้เพราะอะไร เพราะความดีของพระองค์ ความดีสูงสุดที่พระองค์ทรงมีก็คืออะไร คือ พระองค์สามารถตัดกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน

    ในเมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารพระองค์ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงสั่งสอนเราโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อย ความยาก ความลำบากอะไรทั้งสิ้น จะต้องนอนกลางดินกินกลางทราย นอนกลางเขา กลางป่า เปียกปอนไปด้วยฝนและน้ำค้าง ฝ่าอันตรายทุกอย่าง ความจริงพระองค์เป็นลูกของพระมหากษัตริย์ และก็จะทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิภายใน ๗ วัน แต่ถึงกระนั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรมก็ยังทรงสละความสุขมาสอนพวกเรา

    เมื่อเห็นรูปของพระพุทธเจ้า ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงยิ้มแย้มแจ่มใส ก็คิดในใจ ว่าการทำใจให้มีจิตสงบอย่างนี้เป็นของดี รูปขององค์สมเด็จพระชินสีห์นี่ ใครจะจับไปโยนน้ำ ไปเผาไฟ ไปจมดิน จมทราย สักเท่าใดก็ตาม เมื่อกลับขึ้นมา ก็ปรากฏว่าหน้าของพระองค์นี้ยิ้มอยู่ตลอดเวลา น่าชื่นใจ ทีนี้อารมณ์ใจเห็นพระพุทธเจ้าก็นึกถึงความดีของพระองค์ นึกถึงพระมหากรุณาของพระองค์ ความสุขเกิดขึ้น เหล่านี้เรียกว่าสุขเวทนา เกิดจากอามิส

    ตอนนี้เราก็คิดต่อไปว่า องค์สมเด็จพระจอมไตร เดิมทีพระองค์มีชีวิตอย่างเรา แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงยึดถือในโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ ใครจะนินทา ใครจะด่า จะว่า จะสรรเสริญ เป็นประการใด จะมีลาภสักการมากน้อยเพียงใด ลาภไม่มีเพียงใด พระองค์ไม่เคยวิตก เรื่องยศบรรดาศักดิ์เพียงใดพระองค์ไม่เคยปรารถนา เป็นอันว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดามีขนตกอยู่เสมอ คำว่าขนตก ถ้าไปอ่านในบาลีจะมี ขนตกอยู่เสมอ เป็นอันว่าไม่มีขนลุก ขนชัน ไปไหนก็มีจิตใจเป็นปกติ ไม่มีอาการหวาดหวั่นหรือยินดียินร้ายอะไร เราก็ชอบทำใจแบบพระพุทธรูปเสียบ้าง

    เมื่อมีใจก็ทำเหมือนคนไม่มีใจ มีความรู้สึกก็แกล้งทำเหมือนคนไม่มีความรู้สึก มันจะหนาว มันจะร้อน มันจะหิว มันจะกระหาย มันจะมีทุกขเวทนา จะมีสุขเวทนา อย่างไรก็ตาม ถือว่าช่างมัน มันไม่ปรารถนา ชื่อว่าร่างกายไม่มีความสำคัญ ร่างกายนี้มีแล้วก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษอย่างเดียว ใจก็เกิดอารมณ์สบาย ไม่ยึดถือวัตถุ หรือว่าอามิส เรียกว่า สี เสียง แสง ใดๆ ทั้งหมด ทำจิตตกมีอารมณ์ปลอดโปร่ง เพราะว่ามีสุขที่ไม่จริง อามิส หรือว่าไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ คำว่าไม่มีทั้งสุขและก็ไม่มีทั้งทุกข์ คำว่าสุขกายเพราะอาศัยกามคุณ คือว่าวัตถุที่เราพึงปรารถนาหรือว่าอารมณ์ที่เราพึงปรารถนา

    อย่าคิดว่านี่เป็นพระนี่ได้เปรียบนะ ไม่ต้องทำมาหากินอะไรมาก เช้าก็ถือหม้อออกจากวัดชาวบ้านก็ใส่มาให้ กลับมาแล้วก็สบาย กินแล้วก็นอน นี่คิดอย่างพระนรกนะ ไม่ใช่พระสวรรค์ แต่คิดอย่างนี้ ใจเกิดสบายขึ้นมา อย่างนี้กล่าวว่าจิตตกอยู่มีความสุข เพราะอาศัยกามคุณ คืออารมณ์มีความใคร่ ความทุกข์ใจเพราะอาศัยวัตถุก็เหมือนกัน ทีนี้ความสุขใจที่ไม่ประกอบด้วยวัตถุก็เหมือนกัน ทีนี้ความสุขใจที่ไม่ประกอบด้วยวัตถุหรือไม่ประกอบด้วยอารมณ์อื่นมันเกิดมีความแช่มชื่น มีอารมณ์โปร่งเฉยๆ อะไรจะไป อะไรจะมาก็มีความรู้สึกอย่างเดียวว่า ช่างมัน

    ใครเขาจะด่า ใครเขาจะว่าก็ช่างมัน เราดีของเราเอง เราไม่ได้ดี หรือเราไม่ได้ชั่วเพราะวาจาของเขาพูด มันจะมีของใช้มาก มันจะมีของใช้น้อย ก็ช่างมัน มีมากก็ใช้มาก มีน้อยก็ใช้น้อย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเราไม่สนใจกับมัน มันก็ไม่มีประโยชน์ ร่างกายของเรามันจะสวยไม่สวยก็ช่างมัน เสียงจะเพราะหรือไม่เพราะก็ช่างมัน มันจะแก่หรือมันจะป่วยอะไรก็ช่างหัวมัน เพราะธรรมดาของมันเป็นอย่างนั้น ในที่สุดถึงแม้ว่ามันจะตายก็ช่างมัน เรียกว่าไม่ยอมยึดทั้งอารมณ์ซ้ายและอารมณ์ขวา อารมณ์ความสุข หรืออารมณ์ความทุกข์ เราก็ไม่ยึด ปล่อยใจสบาย อย่างนี้ท่านเรียกว่า อทุกขมสุข คือจิตทรงอุเบกขา

    นี่ที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาให้กำหนดไว้อย่างนี้เพื่อให้อารมณ์ของเราเวลานี้มีความสุขหรือมีความทุกข์ ถ้ามีความสุขเราก็รู้อยู่ว่ามีความสุข มีความทุกข์เราก็รู้อยู่ว่ามีความทุกข์ มีความสุขเพราะว่าอาศัยสิ่งอื่นเป็นปัจจัย หรือไม่ได้อาศัยสิ่งอื่นเป็นปัจจัยเราก็รู้อยู่ อาการของความทุกข์ก็เหมือนกัน ตานี้อาการวางเฉยก็เหมือนกัน วางเฉยเพราะว่าเราห้ามสิ่งนั้นเราห้ามสิ่งนี้ไม่ได้ เมื่อห้ามมันไม่ได้ก็เลยไม่ห้าม ปล่อยตามใจมัน อันนี้ว่าวางเฉยเพราะมีอามิส หรือว่าวางเฉยเพราะไม่มีอามิส เฉยขึ้นมาเฉยๆ หรือว่าวางเฉยเพราะจิตตั้งอยู่ในอุเบกขา คือกฎธรรมดาเป็นสำคัญ

    นี่องค์สมเด็จพระทรงธรรมให้รู้ตอนนี้เป็นอารมณ์ของสมถภาวนา นี่รู้ไว้ด้วยนะ ว่าตอนนี้เป็นอารมณ์ของสมถภาวนา รู้ทำไม การตั้งสติเข้าไว้ การรู้ตัวเข้าไว้มันจะได้รู้ว่า เวลานี้มีสุขหรือมีทุกข์ จะได้รู้ชัดว่าคนเราเกิดมานี่ไม่ใช่ว่ามันจะอยู่เฉยๆ ได้ มันจะต้องมีสุขและจะต้องมีทุกข์ และมีอารมณ์เฉยๆ ในบางขณะ เป็นอันว่าแม้แต่อารมณ์ก็หาความแน่นอนไม่ได้

    ในตอนท้ายองค์สมเด็จพระจอมไตรให้ถือว่า ความสุขหรือความทุกข์นี่เป็นธรรมดา ธรรมดาของคนที่เกิดมา เราจะไปยอมยึดถือมันเพื่อประโยชน์อะไร อารมณ์ใจที่มีความสุขก็ดี อารมณ์ใจที่มีความทุกข์ก็ดี มันไม่มีสภาวะที่ทรงความแน่นอนได้เลย เราจะมาสุขจริงๆ ก็ไม่ได้ เดี๋ยวมันก็กลับทุกข์ เวลามันทุกข์คิดว่าจะหาความสุขไม่ได้ มันก็ไม่แน่นอนเดี๋ยวมันก็กลับมามีความสุขใหม่ เป็นอันว่าเอาอะไรแน่นอนไม่ได้

    เหตุฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงเตือนว่า เมื่อเราพิจารณาแล้ว จงพิจารณาสักแต่เพียงว่ารู้ ที่เรารู้แล้ว คำว่ารู้แล้วนี่ สักแต่เพียงว่ารู้ ก็เพียงว่ารู้แล้ว จงอย่ายึดถือว่านี่เป็นความสุข หรือว่าเป็นความทุกข์ที่เราควรจะยึดถือเข้าไว้ แล้วเธอทั้งหลายจงเห็นอาการเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของบุคคลที่เกิดมาแล้วย่อมมีอารมณ์อย่างนี้ เมื่อมันหาสภาวะความแน่นอนไม่ได้อย่างนี้ เราก็ไม่ควรยึดถือมันไว้เลย
    คำว่าไม่ยึดถือมันไว้เลยก็หมายความว่าไม่ควรจะยึดถือว่าเราจะทรงมันไว้ต่อไป และเมื่อไม่ยึดถืออารมณ์ แล้วท่านก็เลยสั่งต่อไปว่า ไม่ว่าอะไรทั้งหมดในโลกจงอย่ายึดถือเอา จงอย่าถือแม้แต่อารมณ์นี้ว่ามันเป็นเราเป็นของเรา เรามีในอารมณ์ อารมณ์มีในเรา

    ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้มันมีแล้วไม่นานเพียงไม่สักกี่วัน มันก็ถึงอาการดับชีพของมัน คือความตายของร่างกาย เมื่อร่างกายตายเมื่อไรแล้ว อารมณ์เหล่านี้มันก็สลายตัวไป

    นี่เป็นอันว่าการเจริญเวทนานุปัสสนาในมหาสติปัฏฐานสูตร องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ใช้สติสัมปชัญญะเข้าคุมอารมณ์ ความจริงมันต้องใช้อารมณ์เอาสติสัมปชัญญะหนักหน่อยนะ ที่หนักก็ไม่เห็นว่าเป็นของแปลก มันเป็นสิ่งที่เราควรจะรู้ ถ้าเราคุมอารมณ์ของเราได้ โดยใช้สติสัมปชัญญะควบคุมอารมณ์ของเราตลอดเวลา เป็นอันว่า ชาตินี้พวกเราทุกองค์ มีหวังได้ในฐานะความเป็นอรหัตผล เพราะอะไรเพราะพระอริยบุคคลขั้นพระอรหันต์นี่ไม่มีอารมณ์เผลอในเรื่องขันธ์ ๕ เป็นอันว่าการพูดเรื่องเวทนาก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

    จบเวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน

    จากหนังสือ ธรรมะปกิณกะ ๒ (แนวมหาสติปัฏฐานสูตรโดยละเอียด) พระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
     
  2. มาลินี UK

    มาลินี UK เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 พฤศจิกายน 2012
    โพสต์:
    807
    ค่าพลัง:
    +12,713
    วันนี้ชีวิตไม่ขาดทุน

    คือวันที่ทำบุญและให้อภัย

    วันนี้ชีวิตได้กำไร

    คือวันที่เราตั้งใจทำความดี

    จากสภายุวพุทธรรมจารึก.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 มกราคม 2013
  3. มาลินี UK

    มาลินี UK เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 พฤศจิกายน 2012
    โพสต์:
    807
    ค่าพลัง:
    +12,713
    ทำความดีนะยากต้องใช้เวลามาก

    ทำความดีนั้นต้องมีอุปสรรค

    คือมีศัตรูในใจ มันมาปิดบังอำพราง

    บุญมีแต่กรรมบัง มันไม่อยากให้สร้างความดี

    มันมาแย้งกับเรา คือศัตรูในใจ

    มันไม่อยากให้สร้างความดี ตรงนี้แหละน่าคิดมาก.

    หล่วงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 มกราคม 2013
  4. Golden Sky

    Golden Sky เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤศจิกายน 2012
    โพสต์:
    575
    ค่าพลัง:
    +8,976
    ฉลาดจะเกิดขึ้นด้วยองค์ ๕
    ๑.ฟังผู้อื่นได้ มิใช่ให้ผู้อื่นฟังตัวข้างเดียวจึงเรียกว่าฉลาด
    ๒.สอนเจ้าของได้ มิใช่สอนแต่เขาเราทําเองอย่างนี้ไม่ฉลาด
    ๓.สั่งตัวเองได้ มิใช่สั่งแต่เขา เราเฉยไม่เอาไหนชื่อว่าไม่ฉลาด
    ๔.วิจัยตัวเอง ทําดีทั่ว เว้นชั่วหมดไหม?ชําระจิตใจขาวรอบ
    ๕.บริกรรมตัวเอง เกิดทุกข์ ตายทุกข์ ต้องรู้ชัด เห็นแจ้งตามนี้
    ฟัง สอน สั่ง วิจารณ์ บริการตัวเองให้ดีทั่วเท่าไร รูป เสียง สํารวมเมื่อพร้อมเป็นธรรม...เขาจะเกิดศรัทธา ก็จะประพฤติปฏิบัติตามเราเสมอไป...ที่มาหนังสือ ธรรมะสาระของชีวิต.
     
  5. มาลินี UK

    มาลินี UK เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 พฤศจิกายน 2012
    โพสต์:
    807
    ค่าพลัง:
    +12,713
    ควมคุมใจไว้ให้เหมือน ทะเลสงบ

    จะประสบผลดีเป็นที่ยิ่ง

    ต้องใจเย็นเข้าไว้ไม่ไหวติง

    เขาชนะกันเพราะนิ่งมีถมไป.


    แฟนคลับธรรมะ
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์

    571 เหตุที่คนทะเลาะวิวาทกัน

    ปัญหา เพราะเหตุไรคนประเภทต่าง ๆ เช่น กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และสมณะ ทะเลาะวิวาทกัน ?

    พระมหากัจจานะตอบ “ดูก่อนพราหมณ์ เพราะเหตุที่ยึดมั่นผูกพันในกามราคะ กำหนัดยินดีในกามราคะ ถูกกามราคะกลุ้มรุมท่วมทับ แม้กษัตริย์ ก็ทะเลาะกับกษัตริย์ แม้พราหมณ์ก็ทะเลาะกับพราหมณ์ แม้คฤหบดีก็ทะเลาะกับคฤหบดี
    “ดูก่อนพราหมณ์ เพราะเหตุที่ยึดมั่นผูกพันในทิฏฐิราคะ (ความยินดีในความเห็นของตน) กำหนัดยินดีในทิฏฐิราคะ ถูกทิฏฐิราคะกลุ้มรุมท่วมทับแม้สมณะก็ทะเลาะกับสมณะ....”

    ************************

    ป. ทุก. อํ. (๒๘๒)
    ตบ. ๒๐ : ๘๔ ตท. ๒๐ : ๗๕
    ตอ. G.S. ๑ : ๖๑

    -----------------------------------
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์

    601 คนปากเสีย และปากดี

    ปัญหา คนเช่นใด “ปากอุจจาระ” “ปากดอกไม้ และปากน้ำผึ้ง” คืออย่างไร ?

    พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลปากอุจจาระ คือ อย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปในที่ประชุมก็ดี ในฝูงชนก็ดี ไปในท่ามกลางเหล่าญาติก็ดี ไปในท่ามกลางเสนาก็ดี ไปในท่ามกลางราชาสกุลก็ดี ถูกเขาอ้างเป็นพยาน.... เขาไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ หรือรู้ก็ว่าไม่รู้ ไม่เห็นก็ว่าเห็น หรือไม่เห็นก็ว่าเห็น กล่าวแกล้งเท็จทั้งที่รู้ เพราะเห็นแก่ตนเอง เพราะเห็นแก่คนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย... นี้เรียกว่าคน “ปากอุจจาระ”
    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คน ปากดอกไม้ คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปในที่ประชุม.... ถูกเขาอ้างเป็นพยาน.... เมื่อเขาไม่รู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าเห็น ย่อมไม่แกล้งกล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเห็นแก่ตน เพราะเห็นแก่คนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย... นี้เรียกว่าคน “ปากดอกไม้”
    “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คน ปากน้ำผึ้ง คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ พูดแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสตเป็นที่รักจับหัวใจ เป็นวาจาของชาวเมือง เป็นที่รักที่ชอบในของคนมาก... นี้เรียกว่าคน “ปากน้ำผึ้ง”....



    คูถภาณิสูตร ติก. อํ. (๖๔๗)
    ตบ. ๒๐ : ๑๖๑-๑๖๒ ตท. ๒๐ : ๑๔๕
    ตอ. G.S. ๑ : ๑๑๐-๑๑๑

    ***************************
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์

    408 เหตุให้คนใจดี-ใจร้าย

    ปัญหา อะไรเป็นเหตุให้คนบางคนดุ ใจร้าย อะไรเป็นเหตุให้คนบางคนเป็นคนใจดี ?

    พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนนายคามณี คนบางคนในโลกนี้ยังละราคะไม่ได้ ยังละโทสะไม่ได้ ยังละโมหะไม่ได้ เพราะเป็นผู้ยังละราคา โทสะ โมหะ ไม่ได้ คนอื่นจึงทำให้โกรธได้ เมื่อถูกคนอื่นยั่วให้โกรธอยู่จึงแสดงความโกรธให้ปรากฏ ผู้นั้นจึงนับได้ว่าเป็นคนดุ
    “ดูก่อนนายคามณี ส่วนคนบางคนในโลกนี้ละราคะได้แล้ว ละโทสะ ได้ ละโมหะได้ เพราะละราคา โทสะ โมหะ ได้ คนอื่นจึงทำให้โกรธไม่ได้ คนที่ละราคา โทสะ โมหะ ได้แล้ว ถูกคนอื่นยั่วให้โกรธก็ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ”


    จัณฑสูตร ดามณิสังยุต สฬา. สํ. (๕๘๖-๕๘๗)
    ตบ. ๑๘ : ๓๗๖-๓๗๗ ตท. ๑๘ : ๓๓๕
    ตอ. K.S. ๔ : ๒๑๓-๒๑๔
    ***********************
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์

    241 โทษของความโกรธ

    ปัญหา ความโกรธมีโทษอย่างไรบ้าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ระงับกำจัดเสีย ?

    พุทธดำรัส ตอบ “.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะอาบน้ำ ไล้ทา ตัดผม โกนหนวด นุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วกตาม... ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม.....
    “.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะนอนบนบัลลังก์อันลาด้วยฝ้าขนสัตว์ ลาด้วยฝ้าขาวเนื้ออ่อน ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีผ้าดาดเพดาน มีหมอนหนุนศีรษะและหนุนเท้าแดงทั้งสองข้างก็ตาม ย่อมนอนเป็นทุกข์....
    “.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งเป็นประโยชน์ แม้จะถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้อันคนผู้โกรธ... ถือเอาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาล
    “.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะมีโภคะที่ตนหามาได้ด้วยความขยันขันแข็ง สั่งสมได้ด้วยกำลังแขนอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม พระราชาย่อมริบโภคะของคนขี้โกรธเข้าพระคลังหลวง....
    “.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้เขาจะมีมิตร อมาตย์ ญาติสายโลหิต เหล่านั้นก็เว้นเสียห่างไกล...
    “.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นแล้วเมื่อตายไปย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาตนรก....”

    โกธนาสูตร ส. อํ. (๖๑)
    ตบ. ๒๓ : ๙๖-๙๗ ตท. ๒๓ : ๘๙-๙๑
    ตอ. G.S. IV : ๕๙-๖๐
    *************************
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์

    049 ผู้ที่ไม่เถียงกับใคร ๆ

    ๔๗. ปัญหา คนเราที่ไม่รู้ความจริงแท้ ย่อมมีความเห็นแตกต่างกันและทะเลาะวิวาททุ่มเถียงกัน มีคนประเภทใดบ้างที่ไม่ทุ่มเถียงกับใคร ๆ ?

    พุทธดำรัส ตอบ “อัคคิเวสสนะ เวทนา ๓ อย่างนี้คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ อัคคิเวสสนะ สมัยใดได้เสวยสุขเวทนาในสมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวย อทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น ในสมัยใดได้เสวยทุกขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยไม่ได้เสวย อทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนา เท่านั้น ในสมัยใดได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยแต่ทุกขเวทนา ได้เสวย อทุกขมสุขเวทนา
    “อัคคิเวสสนะ สุขเวทนา...... ทุกขเวทนา....... อทุกขมสุขเวทนา.....ไม่เที่ยงอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้นอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คล้ายไปดับไปเป็นธรรมดา
    “อัคคิเวสสนะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งใน ทั้งสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา ทั้งอทุกขมสุขเวทนา เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใคร ๆ โวหารใดที่ชาวโลกพูดกันก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฐิ”

    ทีฆมขสูตร ม. ม. (๒๗๓)
    ตบ. ๑๓ : ๒๖๗-๒๖๘ ตท.๑๓ : ๒๒๖-๒๒๗
    ตอ. MLS. II : ๑๗๙-๑๘๐
    ************************
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์

    024 วิธีปฏิบัติเมื่อถูกด่าว่า

    ปัญหา เมื่อเราถูกด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย เราควรจะปฏิบัติอย่างไร?

    พุทธดำรัส ตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สามควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะภายในกล่าวก็ตาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายในเราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่งหาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทางซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้นดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายถึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แลฯ ”

    กกจูปมสูตร มู. ม. (๒๖๗)
    ตบ. ๑๒ : ๒๕๕-๒๕๖ ตท.๑๒ : ๒๐๖-๒๐๗
    ตอ. MLS. I : ๑๖๓-๑๖๔
    ************************
     
  12. ◎

    เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 กันยายน 2012
    โพสต์:
    428
    ค่าพลัง:
    +5,154
    สภาวะชั้นสูง "ของจริงนิ่งเป็นใบ้ ของพูดได้ไม่ใช่ของจริง" ☺

    พระลูกศิษย์เล่าถวายหลวงปู่ว่า : ได้สมาทานไม่พูดจากันตลอดพรรษา
    ไม่ให้มีเสียงเป็นคำพูด ออกมาจากปากใครเลย
    ยกเว้นการสวดมนต์ ทำวัตร หรือสวดปาติโมกข์เท่านั้น

    หลวงปู่ : ดี เหมือนกัน เมื่อไม่พูด ก็ไม่มีโทษทางวาจา
    แต่ที่ว่าหยุดพูดได้นั้น เป็นไปไม่ได้หรอก นอกจากพระอริยบุคคล
    ผู้เข้านิโรธสมาบัติชั้นละเอียด ดับสัญญาเวทนาเท่านั้น แหละที่ไม่พูด

    นอกนั้นพูดทั้งวันทั้งคืน ยิ่งพวกที่ตั้งปฏิญาณ ว่าจะไม่พูดนั่นแหละ
    ยิ่งพูดมากกว่าคนอื่น เพียงแต่ไม่ออกเสียง ให้คนอื่นได้ยินเท่านั้น

    สนทนาภาษาธรรม ตอน ๒
    (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล(พระราชวุฒาจารย์)
    วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์)
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์

    121 เมื่อถูกด่าควรทำอย่างไร

    ปัญหา เมื่อเราถูกโกรธก็ดี ถูกด่าก็ดี เราควรทำอย่างไร ควรจะโกรธตอบ ด่าตอบ หรือควรจะเฉยเสีย ?

    พุทธดำรัส ตอบ “ ดูก่อนพราหมณ์..... ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเราผู้ไม่หมายมั่นอยู่ เราไม่รับรู้เรื่องมีการด่าเป็นต้นของท่านนั้น ดูก่อนพราหมณ์ เรื่องมีการด่าของท่านผู้เดียว ดูก่อนพราหมณ์.... ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่.... ผู้นี้ เรากล่าวว่า ย่อมบริโภคร่วมกัน ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด ดูก่อนพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้น เป็นของท่านผู้เดียว”



    อักโกสกสูตรที่ ๒ ส. สํ. (๖๓๒)
    ตบ. ๑๕ : ๒๓๘ ตท. ๑๕ : ๒๒๕
    ตอ. K.S. I : ๒๐๒
    ***************************
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์

    600 คนที่ควรเฉยเมย

    ปัญหา คนชนิดไหนเป็นคนที่เราควรเฉยเสีย ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ?

    พุทธดำรัส ตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเจ้าโทสะ มากด้วยความแค้นใจ แม้ถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท...แสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏเปรียบเหมือนแผลเก่า ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมให้สิ่งหมักหมมกระจัดกระจายมากมาย.... เปรียบเหมือนถ่านไม้มะพลับ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมแตกเสียงดังจิจิ...เปรียบเหมือนหลุมอุจจาระ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งขึ้น... บุคคลเช่นนี้ ควรวางเฉย ไม่ควรคบ เพราะเหตุไร ? เพราะเขาถึงด่าบ้าง บริภาษบ้าง ทำความเสียหายให้เราบ้าง....”

    ชิคุจฉสูตร ติก. อํ. (๔๖๖)
    ตบ. ๒๐ : ๑๕๘-๑๕๙ ตท. ๒๐ : ๑๔๓
    ตอ. G.S. ๑ : ๑๐๙
    *************************
     
  15. ◎

    เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 กันยายน 2012
    โพสต์:
    428
    ค่าพลัง:
    +5,154
    ระหว่าง วิสาขอุบาสก กับ ธรรมทินนาภิกษุณี

    จูฬเวทัลลสูตร
    การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ


    เรื่องสมาธิและสังขาร​


    วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ธรรมอย่างไร เป็นสมาธิ ธรรมเหล่าใด เป็นนิมิตของสมาธิ
    ธรรมเหล่าใด เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ การทำให้สมาธิเจริญ เป็นอย่างไร?

    ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว เป็นสมาธิ สติปัฏฐาน ๔
    เป็นนิมิตของสมาธิ สัมมัปปธาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิความเสพคุ้น ความเจริญ ความ
    ทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ เป็นการทำให้สมาธิเจริญ.

    [๕๐๙] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สังขาร มีเท่าไร?

    ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ สังขารเหล่านี้ มี ๓ ประการคือ กายสังขาร วจีสังขาร
    จิตตสังขาร.


    วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็กายสังขาร เป็นอย่างไร วจีสังขารเป็นอย่างไร จิตตสังขารเป็น
    อย่างไร?

    ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เป็นกายสังขาร
    วิตกและวิจาร เป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนา เป็นจิตตสังขาร.


    วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เหตุไร ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า จึงเป็นกายสังขาร
    วิตกและวิจาร จึงเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนา จึงเป็นจิตตสังขาร?

    ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าเหล่านี้ เป็นธรรมมีในกาย
    เนื่องด้วยกาย ฉะนั้น ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า จึงเป็นกายสังขาร บุคคลย่อมตรึก
    ย่อมตรองก่อนแล้ว จึงเปล่งวาจา ฉะนั้น วิตกและวิจาร จึงเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนา
    เป็นธรรมมีในจิต เนื่องด้วยจิต ฉะนั้นสัญญาและเวทนา จึงเป็นจิตตสังขาร.

    เรื่องสัญญาเวทยิตนิโรธ​


    [๕๑๐] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นอย่างไร?

    ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เราจัก
    เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ว่าเรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ว่าเราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว
    ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วตั้งแต่แรก.

    วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ธรรม คือ กายสังขาร วจี
    สังขาร จิตตสังขาร อย่างไหน ย่อมดับไปก่อน?

    ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ วจีสังขารดับก่อน ต่อจากนั้น
    กายสังขารก็ดับ จิตตสังขารดับทีหลัง.


    วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นอย่างไร?

    ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มิได้มีความคิดอย่าง-
    *นี้ว่า เราจักออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ว่าเรากำลังออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติว่าเรา
    ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น อัน
    ท่านให้เกิดแล้วแต่แรก.

    วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรมคือกายสัง-
    *ขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร อย่างไหน เกิดขึ้นก่อน.

    ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จิตตสังขารเกิด
    ขึ้นก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารก็เกิดขึ้น วจีสังขารเกิดขึ้นทีหลัง.


    วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ผัสสะเท่าไร ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ?

    ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ผัสสะ ๓ ประการ คือ ผัสสะชื่อสุญญตะ (รู้สึกว่าว่าง)
    ผัสสะชื่ออนิมิตตะ (รู้สึกว่าไม่มีนิมิต) และผัสสะชื่ออัปปณิหิตะ (รู้สึกว่าไม่มีที่ตั้ง) ย่อม
    ถูกต้องภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ.

    วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ. มีจิตน้อมไปใน
    ธรรมอะไร โอนไปในธรรมอะไร เอนไปในธรรมอะไร?

    ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มีจิตน้อมไปใน
    วิเวก โอนไปในวิเวก เอนไปในวิเวก.

    http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=9420&Z=9601

    http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=505
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 30 มกราคม 2013
  16. ◎

    เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 กันยายน 2012
    โพสต์:
    428
    ค่าพลัง:
    +5,154
    องค์แห่งฌาน ธรรมเครื่องกำจัดกิเลสนิวรณ์
    รูปฌาน ๔ โดย จตุกกนัย (นับเป็น ๔ ฌาน)


    ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา
    ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข และเอกัคคตา (วิตกวิจารดับไป วจีสังขารระงับ)
    ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข และเอกัคคตา (ปีติดับไป)
    จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) มีองค์ฌาน ๒ คือ เอกัคคตา และอุเบกขา (สุขดับไป กลายเป็นอุเบกขา กายสังขารระงับ)
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์

    071 อันตรายของสมาธิ

    ปัญหา ในการเจริญสมาธิ บางครั้งเกิดนิมิตเห็นรูปแล้ว หรือเกิดโอภาสแสงสว่างแล้ว แต่ในไม่ช้าก็หายไป ทั้งนี้เพราะเหตุไร ?

    พุทธดำรัส ตอบ “.....ดูก่อนอนุรุท เมื่อก่อนตรัสรู้ ยังไม่รู้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ เราย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูปเหมือนกัน แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้ เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแลเป็นเหตุเห็นปัจจัยได้แสงสว่างและการเห็นรูปของเราหายไปได้ ดูก่อนอนุรุธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่าวิจิกิจฉา (ความสงสัยลังเล) แลเกิดขึ้นแล้วแก่เราก็วิจิกิจฉาเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้วิจิกิจฉาไม่เกิดขึ้นแก่เราได้อีก
    “.....ดูก่อนอนุรุธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่าอมนสิการ (การไม่ใส่ใจ) แลเกิดขึ้นแล้วแก่เราก็อมนสิการ เป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน ถีนมิทธะ (ความง่วงงุน) แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความหวาดเสียว...... แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความตื่นเต้น แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความชั่วหยาบ แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความเพียรที่ปรารภเกินไป แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความเพียรที่หย่อนเกินไป แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ตัณหาที่คอยกระซิบ แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไป แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา...... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...... เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้วิจิกิจฉาอมนสิการ ถีนมิทธะความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน และลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปขึ้นแก่เราได้อีก.....

    อุปีกกิเลสสูตร อุ. ม. (๔๕๒-๔๖๑)
    ตบ. ๑๔ : ๓๐๑-๓๐๖ ตท. ๑๔ : ๒๖๐-๒๖๓
    ตอ. MLS. III : ๒๐๒-๒๐๕
    ***********************
     
  18. ◎

    เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 กันยายน 2012
    โพสต์:
    428
    ค่าพลัง:
    +5,154
    พุทธพจน์กิเลสอ้าง

    แม้แต่สมาธิเขายังไม่รู้จัก เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เขาบอก ว่างๆ ว่างๆ สมาธิยังไม่รู้จักว่าเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ คำว่า ว่างๆว่างๆ ใครบอก แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เรามีครูอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์เราจะสอนไปมากกว่านั้นอีก

    นี่พุทธพจน์กิเลสมันอ้าง พอมันอ้างขึ้นมานะ มันน่าสังเวช ดูสิ ปากพูดพุทธพจน์ มือถือ สากปากถือศีล เวลามือถือสากปากถือศีลนะ “พุทธพจน์ พุทธพจน์” กิเลสมันถลอกไปสักตัวหนึ่งไหม นี่กิเลสมันอ้างนะ มันชักใยอยู่หลังม่าน กิเลสกับธรรมมันคนละเรื่องกัน

    เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่กิเลสมันเต็มหัว กิเลสมันเต็มหัวแล้วกิเลสมันทำอะไรล่ะ กิเลสมันก็อ้างพุทธพจน์ใช่ไหม กิริยามารยาทสังคมใช่ไหม เป็นผู้ที่มีศีลมีธรรม มีจรรยาบรรณ อย่าเผลอกิเลสนะ กิเลสมันขี่หัวเลย แล้วอ้างอิงกันอย่างนั้นมันเป็นประโยชน์อะไร พุทธพจน์กิเลสมันอ้าง พอกิเลสมันอ้างขึ้นมา ถือตัวถือตน ถือว่าเป็นความรู้ มีความรู้มาก มีขนาดไหน ยึดมั่นถือมั่นในความรู้ของเรา ยึดมั่นถือมั่นนั่นมันกิเลสทั้งนั้น เพราะมันยึดมั่นถือมั่น มันไม่เป็นความจริงหรอก

    แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านรื้อค้น ของท่านขึ้นมา ท่านรื้อของท่าน ท่านศึกษานะ ศึกษาค้นคว้าขนาดไหน ศึกษาแล้วตรวจสอบ ทดสอบ.. ตรวจสอบ ทดสอบ.. ท่านจะทำของท่านมาตลอดไป เพราะไม่มีครูมีอาจารย์คอยสอน ครูบาอาจารย์ก็ไม่รู้เท่าท่าน

    เวลาหลวงปู่มั่นนะ ครูบาอาจารย์มีอยู่ แต่ครูบาอาจารย์รู้อะไร? ครูบาอาจารย์ก็รู้พุทธพจน์นั่นแหละ แล้วกิเลสมันก็บังเงาอยู่นั่น มันก็ชักใยอยู่นั่น ต่างตรึก ต่างสงสัย ต่างพิจารณากันไป แล้วต่างค้นคว้ากันไป มีอะไรปรึกษากัน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านจะปรึกษากันตลอดเวลาว่า ไปทางไหนจะไปอย่างไร จะทำอย่างไรให้เป็นไปได้ จิตมันสงบขนาดไหน ทดสอบเข้ามาแล้วมันไม่ได้ชำระกิเลสอะไรเลย มันสงบเข้ามาขนาดไหน พิจารณาขนาดไหน มันเป็นไปไม่ได้ทั้งนั้น มันเป็นไปไม่ได้เลย ถ้ามันไม่ตรงกับสัจจะความจริง

    http://www.sa-ngob.com/content_show.php?content=527
     
  19. อุษาวดี

    อุษาวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 เมษายน 2012
    โพสต์:
    531
    ค่าพลัง:
    +12,151
    อย่าทะนงตนว่าเป็นคนดี ถ้าดีแล้ว ปากไม่เสีย กายไม่เสีย ถ้าปากเสีย กายเสีย ความเลวมันล้น มีความดีไม่ได้

    ● ธรรมโอวาทหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
     
  20. อุษาวดี

    อุษาวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 เมษายน 2012
    โพสต์:
    531
    ค่าพลัง:
    +12,151
    ...๓๐ มกราคม ๒๕๕๖ ครบรอบ ๒ ปี
    วันละสังขารพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงตามหาบัว...

    สื่งที่พระหลวงตามหาบัวสอนตอนท้ายๆ ก่อนจะละสังขาร

    ตอนนั้นวันที่ ๑ มกรา ปีนี้ ตอนนั้นท่านอยู่ที่ศิริราช เรียกว่าท่านอาพาธหนักแล้วล่ะ ทุกๆ คืนจะมีพระไปอยู่เป็นเพื่อนท่านแล้วก็จับท่าน ธรรดาของผู้สูงอายุถ้าเกิดเราได้จับมือคนไข้ไว้ก็จะเป็นความอบอุ่น เพราะว่ามือเท้าจะเย็น พระก็จับมือท่านทุกวันๆ มาจนวันที่ ๑ มกรา แทนที่พระจะจับท่าน ท่านเอามือท่านมาจับมือพระเอาไว้ ก็คือ ท่านอาจารย์สุดใจ ที่เป็นรองเจ้าวาส แล้วท่านก็พูดคำที่ชัดเจนได้ยินพร้อมๆ กันและจำกันมาได้ แล้วก็เอามาจดกันไว้...

    " มือของครูอาจารย์
    กับมือของลูกศิษย์ลูกหา
    ญาติมิตรเพื่อนฝูง
    เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
    ใช้แทนกันได้ ไว้ใจกันได้ "

    หลายความหมายมาก เป็นทั้งเรื่องของบ้านเมือง แต่ว่าตอนนั้นต่างคนต่างก็ช่วยกันเพื่อจะดูแลรักษาท่าน ต่างคนต่างก็นำสิ่งที่ดีที่สุดของตัวเองมาเพื่อใช้ในการรักษาท่าน ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการรักษา มันมีตำรับของการรักษา ที่เรียกว่า รักษาแผนปัจจุบัน รักษาทางเลือก ต่างใครต่างก็คิดว่าดีที่สุดเด่นที่สุดมีผลที่สุด ทุกคนจะมุ่งสู่ความเป็นใจเดียวกัน คือว่ารักษาหลวงตา

    อยากให้หลวงตาอยู่อายุมั่นขวัญยื่นอยากให้อยู่ผาสุก แต่ว่าบางครั้งแล้วมันต้องเลือกจริงๆ ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ได้อย่างเดียวผสมกันไม่ได้ บางอย่างอะไรที่ผสมกันได้ บางอย่างที่อะไรจะต้องหนึ่งต้องสอง บางอย่างอาจจะต้องเลือก อันนี้ต้องจับมือคุยกัน

    ถ้าเกิดจับมือคุยกันได้ มืออันนี้มันก็จะคุ้มครองรักษาครูบาอาจารย์ได้ หรือรวมไปถึงไม่ใช่เฉพาะแค่ใกล้ชิด แม้กระทั่งญาติมิตรเพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์จากไปแล้ว มือของลูกศิษย์ก็จะทำงานต่อจากครูบาอาจารย์ได้ มองมุมนี้ก็ได้ เพราะท่านทราบแล้วล่ะว่าอีกไม่นานล่ะ ท่านก็ฝากเอาไว้ ฝากมรดกทั้งหลายนี่แหละ ฝากบ้านฝากเมืองนี่แหละ ฝากจิตใจของแต่ละคนๆ ที่มีศีลมีธรรมนั่นแหละ มองเป็นความสามัคคีก็ได้ หรือมองว่าให้ทำต่อในสิ่งที่ครูบาอาจารย์ทำเอาไว้ด้วยมือได้และทำต่อได้

    ถ้าเกิดพูดถึงส่วนรวมทำคนเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกันทำ และต้องไว้ใจกัน ต้องฟังคนอื่น เสร็จแล้วผลสุดท้ายก็จะไว้ใจกัน เมื่อไว้ใจกันแล้ว ก็ใช้แทนกันได้ ทำแทนกันได้ แล้วได้ผลด้วย ให้พูดว่าต่างคนต่างทำ หรือว่าจนในที่สุดแข่งกันทำแย่งกันทำ ขอให้จับมือกันแล้วก็ตกลงกันว่าจะทำอะไร แล้วก็เป็นธรรมะด้วยนะ

    แน่นอนคนรุ่นหนึ่งก็จะต้องหมดไปละไป แล้วคนรุ่นใหม่ก็จะต้องมาทำแทน เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องเป็นเช่นนั้น

    ที่มา...รายการเจาะใจ ทางททบ.๕ ตอน มหาศรัทธาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ออกอากาศเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ถ่ายทอดโดย พระครูอรรถกิจนันทคุณ (พระอาจารย์นพดล นันทโน)
    ที่มา fb เครือข่ายกลุ่มพุทธธรรมกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
     

แชร์หน้านี้

Loading...