เส้นทางชีวิต สตีเฟน คิง ราชานิยายสยองขวัญแห่งดาวโลก

ในห้อง 'บันเทิงและศิลปวัฒนธรรม' ตั้งกระทู้โดย mahamettayai, 14 พฤศจิกายน 2012.

  1. mahamettayai

    mahamettayai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2012
    โพสต์:
    1,199
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +10,670
    เส้นทางชีวิต สตีเฟน คิง ราชานิยายสยองขวัญแห่งดาวโลก​


    :boo::boo::boo:​

    ใครที่ชื่นชอบนวนิยายสยองขวัญสั่นประสาท (รวมทั้ง จขกท.)คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก สตีเฟน คิง เนื่องจาก เขาเป็นนักเขียนนิยายเขย่าขวัญ ชาวอเมริกัน ผู้โด่งดัง สตีเฟน คิง เคยใช้นามปากกาว่า ริชาร์ด บาร์คแมน (Richard Bachman) และ จอห์น สวิเธน (John Swithen) เขียนนวนิยายเรื่องแรกคือ Carrie ในปี พ.ศ. 2516 นอกจากนี้ เขายังได้รับจัดอันดับเป็นนักเขียนผู้มีรายได้จากงานเขียนเป็นอันดับต้นๆของโลก เป็นรองเพียง เจ.เค.โรว์ลิง กับเจมส์ แพตเตอร์สัน เท่านั้น แต่ ในอนาคตเขาน่าจะไต่อันดับได้ไม่ยากนัก เพราะนับวันงานเขียนของเขาขายดิบขายดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงอย่างไรในวงการนักเขียนนิยายสยองขวัญ เขาคือมือหนึ่งของโลกที่ไม่มีใครกล้าปะมือด้วย

    สตีเฟน คิง เกิดเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2490 ที่เมืองพอร์ตแลนด์ ในรัฐเมน เป็นบุตรคนที่ 2 ของเอ็ดวิน คิง และ เนลลี รูธ พิลส์บูรี เขาเสียพ่อตั้งแต่วัยเด็ก ในปี 2509 ได้เข้าเรียนในภาควิชาภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเมน ที่เมืองออรอโน หลังจบการศึกษาเขาได้สอนวิชาภาษาอังกฤษในเมืองแฮมปเดน ในรัฐเมน ปัจจุบัน อาศัยในเมืองบังกอร์ มลรัฐเมน กับ ทาบิธา คิงก์ มีบุตร 3 คน คือ นาโอมิ ราเชล คิง,โจ คิง และ โอเว่น คิง โดยที่ 2 คนสุดท้ายนี้มีอาชีพเป็นนักเขียนเช่นเดียวกับบิดา มารดาของพวกเขาเอง

    หากย้อนดูเส้นทางนักเขียนของสตีเฟน คิงเหตุผลที่เขาประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ ส่วนหนึ่งมาจากชีวิตวัยเด็กที่ผลักดันให้เขาเข้าสู่โลกหนังสือ ทั้งครอบครัวของเขารักการอ่าน และการค้นคว้า เห็นได้จากตอนเด็กเขากับพี่ชายพยายามทดลองอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ส่งผลให้ไฟฟ้าดับไปทั้งเมือง แต่พี่น้องหาได้เข็ดหลาบไม่ ยังคงผลิตสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆอีกหลายชิ้น และพยายามทดลองผลงานของตนอยู่เสมอ นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ครอบครัวของเขาต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้งในช่วงแรกของชีวิต เพราะเพื่อนบ้านมักได้รับความเดือดร้อนจากนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ทั้งสองคน

    ตอนเด็กเขาเป็นคนขี้โรค ต้องพักการเรียนเพื่อพักอยู่ที่บ้านเสมอ ช่วงนี้เองที่เขาพบกันโลกแห่งความฝัน กับกองหนังสือของแม่ สตีเฟน คิงอ่านหนังสือข้ามวันข้ามคืน และพยายามเขียนแก้ประโยคในหนังสือที่เขาคิดว่าสำนวนไม่ได้เรื่อง พอเขียนเสร็จเขาก็เอาไปให้แม่อ่าน แม่ชื่นชมกับความพยายามของเขา แต่ก็กระตุ้นลูกด้วยการให้กำลังใจทำนองว่า หากสตีเฟน คิงเขียนเรื่องของตนและด้วยความคิดของตนได้สำเร็จเมื่อไร เมื่อนั้นแม่จะดีใจกว่านี้หลายเท่า ต่อมาแม่ของเขาเห็นแววนักเขียนในตัวลูกชาย จึงซื้อพิมพ์ดีดเป็นของขวัญคริสต์มาสให้ กล่าวได้ว่าชายผู้นี้เกิดมาเพื่อเขียนหนังสือโดยเฉพาะ เห็นได้จากการที่เขาขายต้นฉบับได้ตั้งแต่เป็นเด็กเรียนชั้นประถม พออายุ 14 ปี เขาเข้าทำงานในสำนักพิมพ์ท้องถิ่น มีหน้าที่เขียนข่าวกีฬา

    เมื่อเด็กเขาพบกับประสบการณ์หวาดกลัวและเจ็บปวดเสมอ จนความรู้สึกดังกล่าวฝังแน่นในจิตสำนึก ต่อมาเขาใช้ประสบการณ์ความกลัวหากินบนเส้นทางนักเขียน ยกตัวอย่างเช่น ถูกพี่เลี้ยงจับขังในตู้เสื้อผ้าเมื่อตอน 4 ขวบ ต้องเผชิญอยู่กับความมืดในตู้อับทึมตลอดทั้งวัน และตลอดเวลาที่อยู่กับพี่เลี้ยงก็มักจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อยู่เสมอ เขาถูกก้อนหินหล่นทับนิ้วเท้าจนแหลกละเอียด และความเจ็บปวดที่เขาจดจำขึ้นใจ คือเมื่อตอนที่เขาถูกหมอเอาเข็มทิ่มเข้าไปในรูหูเพื่อรักษาหูเป็นหนอง เวลาใกล้เคียงกันเขาก็ถูกหมอเอาเครื่องมือล้วงเข้าไปในลำคอเพื่อควานเอาเชื้อร้ายออกมา สิ่งเจ็บปวดเหล่านี้ซึมซับเข้าไปในจิตสำนึกของสตีเฟน คิง เขาค่อยๆเรียนรู้ความหวาดกลัวและความเจ็บปวด ทุกครั้งที่มีคนเล่าเรื่องสยดสยอง เขาจะกระตือรือร้นตั้งใจฟังเสมอ

    เมื่อสตีเฟน คิงจบมัธยม เขาปรารถนาจะเดินบนเส้นทางนักเขียน ด้วยการทำงานในโรงงาน และเอาเวลาส่วนหนึ่งมาเขียนหนังสือ แต่ผู้เป็นแม่ขอร้องให้เขาเรียนมหาวิทยาลัยและทำงานโรงงานไปด้วย ดีกว่ายึดอาชีพเขียนหนังสือที่มองไม่เห็นอนาคต สตีเฟน คิงเชื่อฟังแม่ แต่ก็ไม่ทิ้งความฝันของตน เมื่อช่วงที่เขาเรียนในมหาวิทยาลัย งานเขียนได้รับการตีพิมพ์สม่ำเสมอ ช่วงนี้เองที่เขาได้เข้าไปสู่วงการสมาคมนักเขียนของเมืองนั้น โดยได้ร่วมกิจกรรมที่สำคัญหลายครั้ง ต่อมาเขาได้ย้อนอดีตให้ฟังว่า มันเป็นช่วงที่เหลวไหลช่วงหนึ่งในชีวิต เพราะเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย นอกจากคำชมของบรรดาเพื่อนร่วมกลุ่ม ทำนองว่า ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน และชื่นชมกันเอง


    ในปี 2542 สตีเฟน คิง ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงด้วยการโดนรถชนระหว่างเดินออกกำลังกายตอนเช้าอยู่บนถนนใกล้บ้านในรัฐเมน เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและได้รับการผ่าตัด ระหว่างการพักฟื้นร่างกาย จึงเขียนหนังสือชื่อ On Writing ซึ่งกล่าวถึงที่มาของการเขียนหนังสือ และแรงบันดาลใจที่ทำให้เขียนหนังสือหลายๆ เล่ม เขาบอกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่เขาคุ้นชินแล้ว ที่ต้องพบกับความเจ็บปวดเช่นนี้


    เมื่อถูกถามถึงเคล็ดการเขียนสตีเฟน คิงตอบสั้นๆแบบทีเล่นทีจริงว่า “ห้ามเย็บด้วยลวดเย็บกระดาษ จัดเรียงหน้า เสียบด้วยลวดเสียบกระดาษ ถือเป็นวิธีที่ถูกต้องในการส่งต้นฉบับ” นักเขียนผีหน้าใหม่ที่อยากเดินตามนักเขียนผีระดับปรมาจารย์จะนำเอาเคล็ดลับสุดยอดข้อนี้ไปใช้ ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์ประการใด

    ติดตาม รายชื่อผลงานนวนิยายของ สตีเฟน คิง ได้ที่(สตีเฟน คิง - วิกิพีเดีย)
    และ Welcome to StephenKing.com

    เครดิตที่มา http://www.thainongkhai.thmy.com/นักเขียน-สตีเฟน-คิงก์.htm
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...