เรื่องเด่น การปฏิบัติยิ่งรู้เห็นมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องระวังมากเท่านั้น

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย Apinya Smabut, 24 เมษายน 2019.

  1. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,397
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,628
    557000010330601-1.JPEG


    พระอาจารย์กล่าวถึงเรื่องการปฏิบัติให้ฟังว่า "เรื่องของการปฏิบัติธรรมให้ระมัดระวังไว้อย่างหนึ่ง เรื่องของภาพหลอกภาพหลอน การทดสอบกำลังใจต่าง ๆ

    บางรายรู้สึกว่าหลวงพ่อมาสั่ง พระมาสั่งให้ทำนั่นทำนี่ เสร็จแล้วก็มาปรึกษาอาตมาว่า ควรจะทำอย่างไร ? ปฏิบัติตามดีไหม ? ก็บอกวิธีพิจารณาแบบง่าย ๆ ว่า ถ้าหากไม่เกินวิสัยหรือความสามารถของเรา ไม่ต้องทำให้เราลำบากมากนักก็ทำไป แต่ถ้าอันไหนถึงขนาดให้เราลำบากมากก็ไม่ต้องทำ รับทราบไว้ด้วยความเคารพและก็ตั้งบูชาไว้บนหิ้งตรงนั้นแหละ

    อย่างเช่น เราเป็นฆราวาสแล้วท่านบอกให้สร้างโบสถ์สักหลังหนึ่ง เราพิจารณาแล้วว่าเกินกำลัง ก็รับไว้ด้วยความเคารพแล้วขึ้นหิ้งไว้ ถึงวาระอันควรแล้วค่อยว่ากัน

    อาตมาเองไปสร้างเกาะพระฤๅษีใหม่ ๆ ท่านมาสั่งให้ทำอาคารตรงนั้นตรงนี้ รวม ๆ แล้ว ๑๓ หลังด้วยกัน มีกระทั่งอาคารใช้แทนโบสถ์ ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลมาก จึงได้กราบเรียนหลวงพ่อไปว่า "จะให้ผมทำก็ได้ แต่นิสัยผมไม่ชอบขอเงินใคร ถ้าต้องขอใครแม้แต่บาทเดียวผมจะไม่ทำเลย"
    หลวงพ่อท่านก็หัวเราะว่า "แกจะเอาอย่างนั้นแน่หรือ ?"
    "แน่ครับ"
    "เออ..ถ้าอย่างนั้นก็ได้"

    อาตมาก็รอดูว่าท่านจะทำอย่างไร หลังจากนั้นประมาณสองอาทิตย์ มีเพื่อนของหัวหน้าป่าไม้เขาขึ้นไป หลังจากที่เขาพาไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่ ท่านหัวหน้าก็บอกเพื่อนว่า มีพระมาอยู่ใกล้ ๆ หน่วย เลยพากันเข้ามาหา

    เขาเดินดูรอบเกาะพระฤๅษีแล้ว จึงได้มากราบชวนคุยว่า "ที่สวยดีนะครับ"
    "เออ..สวย"
    "แล้วจะไม่สร้างอะไรบ้างหรือครับ ?"
    "อยากจะสร้าง แต่เงินไม่มีว่ะ..!"
    "จะสร้างอะไรบ้างครับ ?"
    "อยากได้ศาลาสักหลัง"

    "เขาหายไปประมาณสองชั่วโมง เดินกลับมาพร้อมกับแปลนศาลา ที่แท้เขาไปนั่งเขียนแปลน จริง ๆ แล้วเขาเป็นนายช่างรับเหมาก่อสร้าง "หลังขนาดนี้ดีไหมครับ ?"
    "ดี..แต่เงินไม่มีว่ะ"
    "ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวผมทำให้ก่อน"

    ว่าแล้วเขาก็ขนช่าง ขนของ มาตั้งหน้าตั้งตาทำเอง คราวนี้เดือดร้อนพวกเราสิ..คนนั้นไปเห็น "อ้าว..ท่านก่อสร้างนี่" คนนี้ไปก็เห็น "อ้าว..หลวงพี่ก่อสร้างทำไมไม่บอกกันบ้าง ?" ต่างคนต่างควักเงินให้ ปรากฏว่าจำนวนเงินพอให้เขา จึงได้รู้ว่าหลวงพ่อท่านทำได้จริง ๆ ไม่ต้องขอใครแม้แต่บาทเดียวก็ได้ ท่านหาของท่านมาเอง

    เพราะฉะนั้น..ในเรื่องของการปฏิบัติ รู้อะไรอย่าไปเชื่อเสียทุกเรื่อง เพราะจะมีการหลอก มีการทดสอบกำลังใจกันได้ ถ้าเชื่อไปเสียทุกเรื่องเดี๋ยวจะเป๋ โดยเฉพาะพวกเราขาดวิจารณญาณมาก โอกาสโดนต้มมีสูง

    เรื่องที่หนึ่งรู้มาอย่างถูกต้อง อย่าเพิ่งเชื่อว่าเรื่องที่สองจะถูก เรื่องที่หนึ่งที่สองถูกต้อง อย่าเพิ่งเชื่อว่าเรื่องที่สามจะถูก เรื่องที่หนึ่งที่สองที่สามถูกต้อง ก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าเรื่องที่สี่จะถูก ให้ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่ายังไม่เชื่อ จนกว่าจะเป็นไปตามนั้นก่อน"

    "ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือท่านชาติชาย พระรุ่นน้องของอาตมา บวชที่วัดท่าซุงเหมือนกัน ออกจากวัดมาอยู่กับอาตมาที่เกาะพระฤๅษี ท่านเองเดินจงกรมภาวนา ไม่กินไม่นอนอยู่สองเดือนเต็ม ๆ อยู่ได้อย่างไรก็ไม่รู้ ? ถ้าไม่ได้มีกำลังสมาธิหนุนเอาไว้ก็คงตายไปแล้ว..!

    ภายหลังร่างกายไม่ไหวก็เกิดอาการกรรมฐานแตก ที่เขาเรียกว่า สติแตก อาตมาต้องเอาตัวเข้าโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ตอนที่ไปเก็บข้าวของให้พี่น้องของท่านเอาไป ไปเจอสมุดบันทึกของท่าน พออ่านดูจึงรู้ว่า เวลามารเขาหลอก เขาจะบอกความจริงเราประมาณ ๘๐ - ๙๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็หลอกไว้นิดหนึ่ง ถ้าวิจารณญาณไม่ดีจะเชื่อเขาหมดเลย

    อย่างเช่นในการปฏิบัติ มีวันหนึ่งท่านบันทึกว่า "วันนี้พระมาบอกว่า ช่วงเวลาแห่งมรรคผลมาถึงแล้ว นักปฏิบัติที่ดีต้องกินน้อย พูดน้อย นอนน้อย ปฏิบัติให้มาก ยิ่งทุ่มเทมากเท่าไรยิ่งมีผลเร็วเท่านั้น"

    มีตรงไหนผิดบ้างไหม ? ไม่มีเลยใช่ไหม ? แต่ผิด..! "นักปฏิบัติที่ดีต้องกินน้อย พูดน้อย นอนน้อย ปฏิบัติให้มาก" ชัดเลย นี่เป็นพระพุทธวจนะ แต่ "ยิ่งทุ่มเทเท่าไรยิ่งมีผลเร็วเท่านั้น" ตรงนี้ไม่ใช่

    เพราะการปฏิบัติจะมีวาระมีเวลาของเขา ถ้าเราทำไม่ถึง ทำไม่พอ อย่าหวังเลยว่าผลจะเกิด ทีนี้ท่านอยากได้ ก็ไปทุ่มเทเดินจงกรมภาวนา ต่อเนื่องกันทั้งวันทั้งคืน สองเดือนเต็ม ๆ ไม่รู้อยู่ได้อย่างไร ? พอร่างกายไม่ไหวก็เรียบร้อย..!"

    "เพราะฉะนั้น..เราเองวิจารณญาณยังไม่พอ ปัญญายังไม่พอ ไม่รู้ว่าเขาหลอกเราตรงจุดไหน ก็ยิ่งต้องระมัดระวังให้มาก เสียดายท่านที่ปฏิบัติดี มีการรู้เห็นที่ชัดเจน และเสียหายไป


    ที่มา วัดท่าขนุน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 29 เมษายน 2019

แชร์หน้านี้

Loading...