*ทิพยนิยาย*

ในห้อง 'Black Hole' ตั้งกระทู้โดย เกตุวดี, 27 กุมภาพันธ์ 2014.

  1. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    อุตตรกุรุทวีป

    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

    ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์พระสมณโคดม

    “...จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์และพระอาทิตย์โคจรทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์ โลก (โลกธาตุ) มีอยู่พันจักรวาลก่อน ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์มากพันดวง มีพระอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอมรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพเทหทวีปพันหนึ่ง มีมหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดุสิตพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตดีพันหนึ่ง มีพรหมโลกพันหนึ่ง...นี้ เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล

    ...พันเท่าแห่งโลกธาตุอย่างเล็กซึ่งมีพันจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างกลางมีล้านจักรวาล
    ...พันเท่าแห่งโลกธาตุอย่างกลางซึ่งมีล้านจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่มีประมาณแสนโกฎิจักรวาล...”

    “สาธุ...สาธุ...สาธุ”

    ขอนอบน้อมกระทำสาธุการเห็นชอบ ชื่นชม ยกย่องสรรเสริญในสัพพัญญุตญาณแห่งพระพุทธองค์ พระผู้ทรงพระปรีชาญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวงนำความกระจ่างแจ้งละเอียดประณีตของธรรมชาติโลกภพโลกธาตุให้ปรากฏแด่มนุษยชาติเพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลกธาตุทั้งหลายให้รำลึกได้ถึงมหากุศลยิ่งๆ ขึ้นไป
    “สาธุ”
    “อุตตรกุรุทวีป” เป็นภูมิหนึ่งของมนุษย์ในแต่ละจักรวาลแห่งโลกธาตุ”
    “มนุษยภูมิ ได้แก่ ภูมิของมนุษย์ทั้งหลายมี 4 ภพ คือ มนุษย์ชมพูทวีป มนุษย์อุตตรกุรุทวีป มนุษย์อมรโคยานทวีป และ มนุษย์ปุพพริเทหทวีป”

    อุตตรกุรุทวีปเฉพาะจักรวาลนี้ที่ซึ่งสมณจิตตัง แม่ชีสุดคนึง และสามเณรน้อย ได้ร่วมกันกระทำอภิญญาสมาบัติ นำสังขารหลีกเร้นจากโลกภพชมพูทวีปล่วงเข้ามาพำนักเพื่อปฏิบัติกิจกุศลปวารณาเป็นการชั่วคราวตามอธิษฐาน

    “ในภพภูมินี้ พระพุทธเจ้า ก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ดี พระอรรคสาวกเจ้าก็ดี และ พระอรหันตขีณาสพเจ้าก็ดี พระโพธิสัตว์อันจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ดี พระยาจักรพรรดิราชก็ดี จะไม่มาบังเกิดในภพภูมินี้เลยเพราะในแดนซึ่งคนครบถ้วนด้วยปัญจศีลทุกเมื่อมิขาดล้วนแต่เป็นมหาเศรษฐี เปี่ยมด้วยทิพยสมบัติพร้อมมูลด้วยกันทุกคน หาผู้ยากผู้จนกุศลสมบัติที่พระผู้มีบุญดังกล่าวจะอนุเคราะห์มิได้เลย ตรงข้ามกับโลกภพชมพูทวีปโลกหยาบซึ่งผู้คนล้วนยากไร้ทุกข์ยากเข็ญใจในกุศลสมบัติแทบทั้งสิ้นทั้งโลก พระผู้ปรารถนาอนุเคราะห์ผู้ยากไร้จึงจะไปบังเกิดชาติสุดท้ายในชมพูทวีปอันมีผู้ยากไร้ให้อนุเคราะห์ได้มากเป็นอเนกอนันต์เท่านั้น”

    สมณจิตตัง พึงธรรมกถาแด่ผู้ร่วมกุศลกิจปวารณาทั้งสอง เมื่อหลีกเร้นเข้ามาในภพนี้วาระแรก
    “ทั้งอาตมา แม่ชี และสามเณร เพียงแต่หลีกเร้นนำสังขารล่วงภพเข้ามาด้วยบารมีพุทธานุญาตเฉพาะกาล”
    กถาธิบายเพื่อทราบฐานะและกิจกุศลอันพึงกระทำในแดนนี้

    “มนุษย์ในแดนนี้มีพฤติกรรมเป็นเทพเบื้องต้นแห่งจาตุมหาราชิกาเป็นวิสัย ย่อมติดสุขติดภพเป็นธรรมดา ฉะนั้นการจักแสดงธรรมตามควรแก่กุศล พึงจักแสดงเทียบเคียงได้กับการแสดงแด่เทพเทวดาแห่งทิพยสถาน”

    “สาธุ...เจริญกุศลเถิดหลวงพ่อ ที่กรุณากถาธิบายอนุเคราะห์”
    แม่ชี และสามเณร ต่างกระทำอภิวาทอัญชลี
    “คงจะเป็นกุศลมหาศาล ถ้าจักได้แสดงธรรมอันประณีตในแดนซึ่งพระผู้มีบุญญาธิการเบื้องสูงมิได้มาบังเกิดเลย”
    แม่ชีแสดงธรรมทัศนะ
    “ธรรมอันใดจักควรแสดงแด่ผู้มีกุศลเล่า”
    สมณะปรารภเชิงถามสามเณรบ้าง
    “...ก็ข้อนี้แล เรากล่าวสำหรับบุคคลผู้มีศีล ไม่ใช่สำหรับบุคคลผู้ทุศีล...”
    ด้วยปฏิภาณซึ่งสามเณรเคยรำพึงจนเป็นทิพยสำเนียงธรรมเทศนาบนจาตุมหาราชิกามาแล้วนั้น สามเณรรำลึกฉับพลันโดยทิพยจิตแล้วแจ้งตอบสมณะตามพุทธพจน์ดังกล่าวนั้น
    “ชอบแล้ว ธรรมในลักษณะนั้นจะเป็นกุศลมหาศาลในแดนนี้”
    “สาธุ...สาธุ...สาธุ”

    บนแผ่นดินที่ปูด้วยพรมหญ้าเขียวขจีอ่อนนุ่ม ราบเรียบเรียงเคียงเสมอกันงามหนักหนาหาที่ลุ่มดอนสักนิดก็หามิได้ แผ่นดินอันเรียบปูลาดไปจรดน้ำสีครามใสเป็นผิวพื้นคล้ายแผ่นกระจกต่อเนื่องเสมอกันกับแผ่นดินเป็นแผ่นทะเลในมหาสมุทรใหญ่ ถัดฝั่งออกไปเล็กน้อยแค่เอื้อมเป็นภูเขามอแก้วรัตนะขนาดย่อมโผล่พ้นเป็นเนินกลมขึ้นมาจากแผ่นน้ำ ประดับด้วยพันธุ์ไม้ใหญ่ไม้พุ่มพฤกษ์อันมีใบดอกผลเป็นเพชรนิลจินดาเปล่งประกายวูบวาบ แม้จะมีรัศมีแสงกระจ่างน้อยกว่าบนสวรรค์เป็นอันมากก็กระจ่างกว่ารัศมีของเพชรนิลจินดาแห่งโลกหยาบชมพูทวีปมากมายนัก

    “พึงพิจารณาได้หรือยังว่า สังขารครึ่งละเอียดครึ่งหยาบของเรานี้ได้ล่วงพ้นเข้ามาจากสถานที่ใดถึงสถานที่ใด”
    “พึงพิจารณาทราบแล้วหลวงพ่อท่าน...เป็นแผ่นดินนับเนื่องจากเขตขัณฑสีมาวัดเมืองปราณมาสู่ชายทะเลในอ่าวสามร้อยยอดถึงกระท่อมยมโดย และเบื้องหน้าอันเป็นที่ปรากฏเขามอแก้วรัตนะนั้นคือเกาะนมสาว มีเทวาคารสวยงามของเทพธิดายมโดยหรือเจ้าแม่นมสาวสถิตอยู่นั่นเอง”
    แม่ชีสุดคนึงพึงแจ้งด้วยปีติ
    “แล้วภูเขาสามร้อยยอดก็ดี ภูเขาตาโลก็ดี ภูเขานาห้วยก็ดี อันเป็นภูเขาในโลกภพที่เคยมีในเส้นทางจากวัดเมืองมาสู่ชายทะเลเบื้องนี้เหตุใดจึงมิปรากฏในภพนี้เล่าครับหลวงพ่อ”
    สามเณรผู้เคยชินในภูมิประเทศซักถามด้วยความสงสัย
    “สามเณรจงพิจารณาวิมานปราสาทสีมรกตใหญ่น้อยมากมายใหญ่สูงบนแผ่นดินเรียบสองข้างทางที่ผ่านมา นั่นเป็นสิ่งใดในโลกภพ”

    สามเณรพึงรำลึกด้วยปฏิภาณย้อนกลับพิจารณาสถานวิมานปราสาทเหล่านั้น เป็นวิมานปราสาทล้วนปรากฏด้วยสีเขียวใบไม้อ่อนแก่เป็นส่วนสำคัญ นั่นคือวิมานปราสาทแห่งพฤกษ์พันธุ์มากมายสุดประมาณที่ประกอบเป็นแถวแนวสูงใหญ่คดโค้งเป็นรูปลักษณ์ของภูเขาสามร้อยยอด ภูเขาตาโล ภูเขานาห้วยต่างๆ เหล่านั้นแห่งโลกภพนั่นเอง
    “กระผมพึงพิจารณาเห็นแล้วครับหลวงพ่อ”
    “อุตตรกุรุทวีปซ้อนอยู่ในทุกส่วนสัดของชมพูทวีป (โลกหยาบ) นี่แหละในมิติที่ละเอียดประณีตและงดงามด้วยกุศลของผู้ถือปัญจศีลทั้งแม่ชีและสามเณรยังจะทราบแล้วหรือยังว่าในวิมานปราสาทมรกตอันมากมายนั้นมีคนมนุษยธรรมชาวอุตตรกุรุทวีปอยู่ทุกวิมานปราสาท ยังจะพึงทราบแล้วใช่ไหมว่าผู้คนในแดนนี้มีมากมายกว่ามนุษย์ชมพูทวีปในส่วนนี้มากมายนัก”
    “พึงพิจารณาได้แล้วเจ้าค่ะ...ครับกระผม หลวงพ่อ”
    แม่ชีสุดคนึงและสามเณรตอบพร้อมกันเมื่อได้รับการชี้แนะ
    “แล้วบ้านเรือนมนุษย์ที่มีอยู่ประปรายบ้างในส่วนนี้แห่งโลกภพไปอยู่ไหนเสียละคะหลวงพ่อ”
    แม่ชียังสงสัยอยู่บ้างถาม
    “อยู่ที่เดิมนั่นแหละ แต่ถูกปกคลุมด้วยความละเอียดประณีตแห่งอุตตรกุรุทวีปครอบคลุมเสียจึงมิปรากฏในมิตินี้”
    “ที่กล่าวว่าอุตตรกุรุทวีปเป็นภพมนุษย์ที่อยู่เหนือนั้น เป็นประการใดเจ้าคะ”
    “ในความหมายหนึ่งคือเหนือขึ้นมาจากความหยาบแห่งโลกภพเหนือขึ้นมาทางภูเขาสิเนรุอันเป็นที่ตั้งแห่งภาคพื้นสวรรค์ ซึ่งจะหมายให้ชัดแจ้งก็คือเป็นภพที่ละเอียดประณีตมากกว่าโลกภพมากใกล้เคียงเข้ามาในแดนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาดังได้กล่าวแล้วนั่นแหละ”
    “เข้าใจแล้วเจ้าค่ะ ขอนมัสการหลวงพ่อเป็นที่ยิ่ง”
     
  2. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    ปฐมเทศนาแดนคนทิพย์

    “นิมนต์สมณะผู้ถึงกุศลทั้งสามได้โปรดพำนัก ณ สถานที่แห่งนี้เถิดเจ้าค่ะ”
    เสียงระฆังเงินพลิ้วพรายมาจากเทวาคารวิมานปราสาทบนเกาะแก้วรัตนะในทะเลริมฝั่งนั้น เทพธิดายมโดยหรือเจ้าแม่นมสาวนั่นเองเป็นผู้กล่าวนิมนต์

    “เจริญกุศลเถิดท่านผู้มีอายุ”
    สมณะจิตตังก้าวกายละเอียดเข้าสู่เกาะย่างเดินเหยียบน้ำทะเลอันราบเรียบครามกระจ่างไปอย่างแผ่วเบา ติดตามด้วยสามเณรและแม่ชีตามลำดับ วิสัยสมณะผู้จาริกทั้งสามจะเดินตามเป็นแถวตอนโดยเรียงตามฐานศีลแห่งฐานะสมมุติ นับแต่พระสมณะผู้รักษาศีล 227 สามเณรผู้รักษาศีล 10 และแม่ชีผู้รักษาศีล 8 เป็นสำคัญ

    บนหาดทรายแก้วเนินละอองเงินอันนุ่มนวลเป็นบริเวณหาดต่อเนื่องจากพื้นน้ำสู่ตัววิมานปราสาท ซุ้มกระบองเพชร เป็นเพชรทั้งซุ้มที่ชายหาดเบื้องข้าง มะขามใบละเอียดด้วยแก้วมรกตเจียระไนกรุ๊งกริ๊งซาบซ่าด้วยสายลมอ่อน ทั้งเกดเขาใบเขื่องขึ้นด้วยนิลน้ำเงินแกมเขียวประสานเสียงอยู่หน้าเทวาคารปานดนตรีสวรรค์ บัวทะเลสีรุ้งจากบาดาลพิภพซึ่งสมณะกำนัลไว้แก่เทพเธอยังลอยอยู่ในสระโบกขรณีเพิ่มประกายสดสวยด้วยสีสัน

    “เหนือเทวาคารขึ้นไปที่ชะง่อนหินเบื้องสูงนั้น เป็นอาศรมวิเวกใกล้เบื้องพระสุเมรุเหมาะสำหรับพระคุณเจ้าจะพำนักบำเพ็ญศีลเจ้าค่ะ ดีฉันขอถวายเป็นธรรมอาศรมแด่ท่านด้วยอัธยาศัยเถิดเจ้าค่ะ”
    เทพธิดาปวารณาถวายธรรมศาลาอันวิเวกสงบสงัด

    “ลดลงมาเบื้องทิศเหนือของเกาะนี้ที่เชิงผามีถ้ำน้อยเหมาะสำหรับสามเณร ดีฉันขอถวายเป็นธรรมอาศรมแด่สมณสามเณรพำนักตามอัธยาศัยเถิดเจ้าค่ะ...และสถานอันลดหลั่นลงมาที่เบื้องทิศใต้ใกล้กับเทวาคารของดีฉันเข้ามา เป็นชะง่อนหินดาดขนาดพอเหมาะมีศาลาพฤกษชาติอันควรแก่บรรพชิตแม่ชี ดีฉันขอถวายเป็นสถานปฏิบัติธรรมตามอัธยาศัยเถิดเจ้าค่ะ”

    เทพธิดาเตรียมสถานอันสมควรแด่สมณะทั้งสามไว้พร้อมแล้วด้วยกุศลนิมิต
    สมณะผู้ล่วงภพรับนิมนต์ในเจตนาอันบริสุทธิ์แห่งเทพเธอเจริญพรแล้วอุทิศมหากุศลเป็นอานิสงส์ตอบแทนด้วยปีติซึ่งกันและกันในค่อนคืนที่มิได้มืดมิดแห่งนาครอุตตระ

    อุษาโยคในอุตตรกุรุภพ...
    ประกายรำไรสีเงินยวงเริ่มปรากฏอยู่ที่ขอบฟ้าเบื้องตะวันออกเช่นเดียวกับในชมพูทวีปแต่กระจ่างสดใสกว่ามากเพราะเป็นบรรยากาศที่ประณีตกว่า แสงเงินกระจ่างมิต้องอาศัยละอองอากาศเป็นสื่อนำแสง เป็นความกระจ่างอยู่ในตัวของมันเองซึ่งปรากฏในมิติทิพย์
    เป็นอุษาโยควาระแรกสมณะทั้งสามได้สัมผัส

    “พุทธกิจประจำวัน 5 ประการ ที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งภิกษุสงฆ์ควรปฏิบัติมิให้ขาด ไม่ว่าจะอยู่ในสถานใดภพใด นั่นคือเวลาเช้าออกบิณฑบาตโปรดสัตว์...สมณะหมู่เราควรปฏิบัติเป็นวิสัยตามเบื้องรอยยุคลบาทแห่งพระพุทธองค์แม้จะอยู่ในแดนนี้ก็ตาม”

    สมณะจิตตัง ส่งกระแสถึงแม่ชีและสามเณรเพื่อเตรียมตนบิณฑบาต
    เมื่อแสงเงินกระจ่างขึ้น บรรพชิตในพระพุทธศาสนาทั้งสามองค์ก็ย่างเหยียบจงกรมเดินตามกันตามลำดับด้วยบาตรนิมิตแห่งเจ้าแม่นมสาวซึ่งเตรียมไว้ให้อุ้มไปด้วยทั้งสามองค์

    “นิมนต์โปรดสัตว์ทางนี้ก่อนเจ้าค่ะ”
    เสียงกังวานแจ่มใสนิมนต์มาทางเทวาคาร เจ้าแม่นมสาวกำลังทำนมัสการน้อมกายเตรียมใส่บาตรด้วยเครื่องถาดเงินโถทองซึ่งบรรจุไทยธรรมของควรทำบุญอันเป็นทิพย์
    “เจริญพร เจริญทิพย์ เจริญกุศลยิ่งขึ้นไปเถิด ปฐมเทพธิดาองค์แรกผู้ถวายบิณฑบาตแด่หมู่อาตมาในอุตตรกุรุทวีป”
    เป็นมหากุศลแด่เทพเธอยิ่งนักที่ได้รับโปรดสัตว์จากสมณะในพระพุทธศาสนาเป็นปฐมกาล
    ฉับพลันพัสตราภรณ์อันเคยขาวล้วนบริสุทธิ์ก็เปล่งประกายออกสีเหลืองเรืองเลื่อมพรายเป็นแวววับรับแสงทองอุษาโยคซึ่งกำลังเปลี่ยนสีจากเงินยวง ณ บัดนี้

    รุ่งอรุณแล้ว...แสงสีทองปลั่งฉายฉาบไปทั่วแคว้นอุตตรกุรุภพเบื้องนั้น เกาะแก้วรัตนะแห่งเทพธิดายมโดย ภูเขาตาโล และเทือกเขาสามร้อยยอดอันปรากฏเป็นหมู่วิมานปราสาทประกายแก้วมรกตแห่งประชากรมนุษย์ในเมืองนี้ส่องรัศมีสีเขียววาบวับล้อเล่นกับแสงสีทองระยิบระยับตัดกันเป็นประกายเขียวเหลืองเรืองอร่ามตา

    สมณะเดินตามกันจากแผ่นน้ำแผ่นดินที่ราบเรียบก้าวย่างไปช้าๆ ตามกันเหมือนในโลกภพมุ่งสู่ทิพยวิมานพันธุ์พฤกษ์อันลดหลั่นชันสูงไปตามรูปขุนเขายอดสูงยอดเตี้ยนับร้อยพันหมื่นยอดในเมืองนั้น ชาวนาครอุตตระแห่งฟากฝั่งทะเลสามร้อยยอดมิเคยเห็นสมณะชีพราหมณ์ล่วงเข้ามาในภพเขามาก่อนนานนักแล้วพากันประหลาดใจต่างเรียกร้องพ้องพวกออกมายืนดูอยู่ข้างหน้าสถานวิมานเป็นทิวแถว

    “พระโพธิสัตว์...พระโพธิสัตว์ลงมาโปรด”
    ผู้เห็นก่อนรำพึงและบอกกล่าวเช่นนั้น ต่างประนมมือน้อมกายไหว้อัญชลีย่อลงแล้วพลิ้วขึ้นเป็นคลื่นคนทิพย์พลิ้วระลอกตามแนวแถวที่สมณะย่างเยื้องผ่านไป
    ไม่มีผู้ใดรำลึกได้หรือคิดถึงเรื่องการถวายบาตรเนื่องจากไม่เคย ไม่ทราบ ไม่เข้าใจ ด้วยไม่เคยมีพระสมณะเข้ามาโปรด

    วิสัยสมณะในพระพุทธศาสนาคงได้แต่เดินจงกรมผ่านไปเรื่อยๆ ถึงบางตอนอันสมควรก็หยุดยืนหันหน้าสู่ชาวเมืองนิ่งสมถะเป็นช่วงๆ เป็นการเตือนรับภิกขาจาร แต่ชาวเมืองหาตระหนักไม่ กลับคิดว่าเป็นการยืนโปรดสัตว์ให้ชมให้ดูให้เห็นตลอดสาย จนได้เวลาอันสมควรสมณะทั้งสามก็วกวนย้อนกลับสู่อาศรมบนเกาะแก้วรัตนะแห่งเจ้าแม่โดยมิได้รับภิกขาจารจากชาวเมืองอุตตรกุรุทวีปในเช้าวันนั้นเลย คงมีแต่ทิพยโภชน์ซึ่งเจ้าแม่นมสาวได้ถวายไว้แล้วเมื่อเช้าตรู่

    สายแล้วแดดจัดจ้าขึ้นแต่ไม่ร้อนเลยในแดนนี้ เป็นแดดเย็นชุ่มชื่นสบายๆ ไม่ร้อนไม่หนาว เป็นทิพยบรรยากาศที่ปรับไว้พอเหมาะพอสบายด้วยธรรมชาติแห่งกุศล กอปรกับความร้อนที่สะท้อนขึ้นจากภพหยาบเข้ามาถึงได้น้อยมาก จึงมีแต่ความเย็นชื่นรื่นรมย์ใจอยู่โดยทั่วไปทุกเวลาและสถานที่
    “ในแดนซึ่งผู้คนประชากรทั่วไปมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความสำนึกในการปลงสังเวชจึงปรากฏได้น้อยในแดนนี้ ฉะนี้เล่าพระโพธิสัตว์จึงไม่ลงมาบังเกิดเช่นเดียวกับในยุคที่มนุษย์มีอายุยืนยาวมากหรือหดสั้นเกิน พระโพธิสัตว์ก็จะไม่บังเกิดเป็นพระพุทธเจ้าเพราะผู้คนจะไม่มีความเข้าใจในลักษณะแห่งความสังเวชทั้งสามนั้นเลย”

    สมณะจิตตัง พึงพิจารณาแล้วธรรมกถาธิบายเพื่อรำลึกแด่หมู่สมณะที่ร่วมอยู่เพื่อฟังธรรมในตอนกลางวัน นอกจากสมณสามเณร แม่ชี อันเป็นหมู่สมณะดังกล่าวแล้ว เทพธิดายมโดย หรือเจ้าแม่นมสาวก็ได้เข้ามานมัสการน้อมรับฟังธรรมจากหลวงพ่อยู่ด้วย

    “ความทุกข์ ความสุข จึงเป็นสิ่งเลวพอๆ กัน สมกับที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้สำหรับผู้มีศีลว่า การน้อมจิตไปติดสุขเช่นพวกที่ทำบุญทำทานปรารถนาสวรรค์สมบัติเพียงเท่านั้น เขาเหล่านั้นได้น้อมใจไปในสิ่งที่เลว เพราะความสุขก็คือกิเลสตัวโตตัวหนึ่งอันเกิดจากกุศลกรรม แต่ก็เป็นกิเลสด้วยกันทั้งสิ้น พระพุทธองค์จึงตรัสบอกแด่ผู้สร้างกุศลว่า อย่าติดสุข อย่าติดสุข จงละเว้นปล่อยมันไปแล้วเดินทางไปสู่แดนเกษมคือพระนิพพานยังสถานเกษมสันติที่ไม่มีกิเลสให้ติดเลยดีกว่า”

    ปฐมเทศนาอันละเอียดประณีตสูงล้ำขึ้นมาจากโลกภพแดนหยาบของสมณะจิตตัง ไพเราะเพราะพริ้งจับใจเทพธิดายมโดยยิ่งนัก ทั้งสามเณรและแม่ชีก็ได้รับย้ำซ้ำกระแสธรรมอันยิ่งยวดให้สูงส่งขึ้นในอิฏฐารมณ์เพิ่มมหากุศลนับอเนกอนันต์

    จากอาศรมวิเวกซึ่งตั้งอยู่บนชะง่อนหินเบื้องสูงเหนือเทวาคารเทพธิดายมโดย เกือบถึงยอดเกาะแก้วรัตนะอันเจ้าแม่ได้ถวายเป็นธรรมศาลาแด่พระสมณะนั้น องค์เทศนาคือสมณะจิตตัง กล่าวธรรมกถาแด่สามเณรผู้นั่งพนมมืออยู่เบื้องขวามือ แม่ชีอยู่เบื้องซ้าย เจ้าแม่อยู่ในส่วนกลาง ถัดลงไปนับเนื่องจากหาดละอองเงินหน้าเทวาคารไปตลอดแผ่นน้ำถึงแผ่นพื้นดินอันราบเรียบเสมอกันเป็นลานกว้างใหญ่ไพศาลเบื้องทิศตะวันตกจากเกาะ เหล่าชาวนาครอุตตระทั้งหญิงทั้งชายล้วนอยู่ในวัยหนุ่มสาวเท่ากัน เหล่าคนธรรพ์ วิชาธร เทพนาค เทพครุฑ และเทพยักษ์บางจำพวกจากเบื้องมหาราชิกาซึ่งลงมาเที่ยวเริงระบำทำฟ้อนในแดนนี้ชั่วคราว หลายจำพวกต่างนั่งประนมมือฟังธรรมกันเป็นทิวแถวเต็มลานน้ำลานหญ้าท่ามกลางแสงแดดเย็นชื่นยามบ่ายมีจำนวนมากมายเกินคณานับ

    “สาธุ...สาธุ...สาธุ...พระคุณเจ้า เป็นบุญมหากุศลยิ่งนักแล้วที่พวกเราชาวนาครทั้งเหล่าอาคันตุกะจากมหาราชิกาผู้ใฝ่อยู่ในพระพุทธศาสนาได้ฟังธรรมอันไพเราะของสมณะ ต่างมานั่งน้อมจิตฟังธรรมของพระคุณเจ้ากันสลอนถ้วนทั่วบริเวณ เพราะนานนักจะมีองค์ธรรมเทศนาผู้ถึงกุศลมากล่าวธรรมอันล้ำเลิศในประการเช่นนี้ ขอพระคุณเจ้าได้โปรดรับอาราธนาจากดีฉันและชาวพุทธทั้งหลายในที่นี้แสดงธรรมเทศนาต่อไปเถิดเจ้าค่ะ”

    เจ้าแม่นมสาวเทพผู้เป็นใหญ่แห่งชาวนาครอุตตรกุรุทวีปในภาคพื้นนี้ เกิดปีติซาบซ่านด้วยกาลมหามงคลอย่างมิได้คาดหมายมาก่อน ปีติและมุทิตาที่เห็นชาวเมืองพากันมารับฟังธรรมเองอย่างมิเคยปรากฏ เจ้าแม่ผู้เปรียบเสมือนแม่เมืองจึงน้อมจิตอ้อนวอนนิมนต์พระสมณะเพื่อแสดงธรรมต่อไป

    สมณะจิตตัง รับอาราธนาธรรมจักแสดงธรรมเทศนาแด่เทพทั้งหลาย
    “...ด้วยความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์พระสมณโคดม อาตมาสมณะในพระศาสนาของพระพุทธองค์มีความยินดีปรีดาที่เห็นธรรมอันประณีตล้ำลึกในส่วนนี้ของบรมศาสดาเป็นสัจธรรมอันไพเราะซาบซึ้งเข้าในกุศลจิตของท่านผู้มีอายุทั้งหลายทั้งปวง ทั้งชาวนาครและอาคันตุกะจากเบื้องสูง จิตอันเป็นกุศลของเหล่าเทพท่านต่างหากที่ประณีตละเอียดอ่อนเหมือนทิพยโสตแห่งพระอรหันต์ซึ่งรับฟังธรรมในส่วนนิพพานว่าเป็นธรรมที่ไพเราะเพราะพริ้งเกินพรรณนา ซาบซ่านเข้าไปในอิฏฐารมณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมาภิสมัย บรรลุแจ้งแห่งธรรม ซึ้งในสุนทรียรสแห่งเสียงพระนิพพานอย่างแท้จริง บุคคลใดๆ ก็พร้อมที่จะกล่าวคำว่านิพพานได้เช่นเดียวกับอาตมภาพ แต่บุคคลบางหมู่บางเหล่าเท่านั้นที่ฟังแล้วรู้สึกเป็นความสุขเกษม เป็นความเยือกเย็นใจ เป็นความสงบสงัดที่น่าไขว่คว้า เพราะบุคคลหมู่นั้นเหล่านั้นชาตินั้นภพนั้นเปี่ยมด้วยบุญญาธิการอยู่ในกมลวิสัยเฉกเช่นท่านทั้งหลายในหมู่นี้เหล่านี้ชาตินี้ภพนี้ ดังปรากฏแล้ว”

    “...อาตมภาพเปรียบเหมือนคนธรรพ์ผู้ดีดพิณซึ่งขึ้นสายกลางไว้ ไม่ตึงเกิน ไม่หย่อนเกิน เมื่อดีดออกไปก็ย่อมเป็นเสียงกลางตามธรรมชาติ คนบางหมู่ฟังว่าไม่ไพเราะเพราะไม่มีเสียงสูง บางหมู่ว่าไม่ไพเราะเพราะไม่มีเสียงต่ำ...เฉพาะหมู่ที่เข้าซึ้งสุนทรียรสในเสียงพิณสายมัชฌิมาอันเป็นกลางของพระพุทธองค์เท่านั้นที่จะกล่าวว่าไพเราะมาก ไพเราะมาก ฉะนั้นธรรมอันใดที่จักแสดงต่อไป ถ้าบุญญาธิการของอาตมภาพซึ่งมีอยู่บ้างเพียงน้อยนิดช่วยส่งเสริมอาตมาให้นำสัจธรรมอันควรแก่ท่านผู้มั่นอยู่ในศีลทั้งหลายแล้ว ธรรมต่อไปนี้จักเป็นเสียงแห่งความเกษมที่ไพเราะเพราะพริ้งทั้งสิ้น...โปรดสดับ...”
     
  3. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    ผู้ชนะความตาย

    เพียงเริ่มต้นธรรมกถา เทพเทวาทั้งชาวนาครแดนเหนือก็ปีติซาบซ่านสงบนิ่งอยู่ในสมาธิจดจ่อรับเสียงธรรมอันพิสุทธิ์ต่อไป กายทิพย์ของเทพทั้งประณีตมากประณีตน้อยทุกกายต่างพองโตเบาบางด้วยทิพยจิตวิชชาที่สรรเสริญในเหตุแห่งความจริง ภาคพื้นอากาศเบื้องบนแห่งสุริยเทพที่ส่งแสงเจิดจ้าในยามบ่ายคล้ายจะรับฟังซาบซึ้งด้วยจึงลดแสงลงเกินครึ่งด้วยทรงกลดกั้นเป็นร่มไม้เฉพาะอาณาบริเวณภาคพื้นนั้น

    ...เหตุแห่งธรรมกถาที่อาตมาได้กล่าวในเบื้องแรกคราวนี้ เนื่องจากอาตมาเพิ่งล่วงภพเข้าสู่แดนนี้ พึงพิจารณาแสงแดด สายลมแผ่นน้ำเป็นสำคัญ พิจารณาเห็นว่าแสงแดดจากดวงอาทิตย์ในแดนนี้ไม่ร้อนเลย มีแต่ความเย็นสบาย สายลมก็เพียงแผ่วลูบไล้ให้เย็นนุ่มนวล แผ่นน้ำอันละเอียดกว่าแผ่นดินก็เอื้ออำนวยความสุขสบายให้ผู้คนเดินผ่านได้อย่างนุ่มนิ่ม มิปรารถนาให้เปียกก็ไม่เปียก ถ้าปรารถนาให้ชุ่มชื่นก็ลงเล่นแหวกว่ายได้ น้ำทะเลทั้งมหาสมุทรก็ใสสะอาดบริสุทธิ์จืดสนิทมิเค็มสักนิดเลย เพียงเท่านี้ก็พึงทราบได้แน่แท้ว่า ณ ที่นี้เป็นดินแดนที่ครบถ้วนด้วยความสุขสบายไปทุกอย่างอีกมากมายด้วยประการทั้งปวงในความอยู่สุขสบายทั้งภายในภายนอก ทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งเริ่มต้นและบั้นปลายเช่นนี้ยังจะมีอะไรอีกเล่าที่จะทำให้ผู้คนที่นี่เป็นทุกข์...

    อาตมาจะพึงหยุดธรรมเทศนาไว้สักครู่หนึ่งแล้วขอตั้งคำถามแก่ท่านทั้งหลายว่า...ความทุกข์เป็นเช่นไร

    ทุกผู้นับหมื่นนับแสนในที่นั้นเงียบสนิทไม่มีผู้ใดตอบได้เพราะไม่เคยรู้จักเจ้าตัวความทุกข์ สักครู่หนึ่ง เจ้าแม่นมสาวก็แจ้งเป็นเชิงตอบและอธิบายเพื่อชาวนาคร

    “ดีฉัน มั่นใจว่าอดีตชาติเคยเป็นพุทธบริษัท ทั้งในปัจจุบันชาติก็ได้ช่วยเหลืออนุเคราะห์ชาวชมพูทวีปในภาคพื้นนี้ซึ่งส่วนมากล้วนแต่เป็นพุทธบริษัทในสยามประเทศ ดีฉันมีความน้อมจิตซาบซ่านใจอยู่กับพระสมณะที่เคยผ่านไปผ่านมาในมิติหยาบบ่อยๆ กระแสความรู้สึกของดีฉันจึงเข้าใจว่าความทุกข์น่าจะหมายถึงสิ่งที่ตรงข้ามกับศีลของปัญจศีลอันเป็นวิสัยของพวกเราประการหนึ่งเจ้าค่ะ”

    “เจริญกุศล...เทพเธอตอบชอบแล้ว ถูกแล้ว ตรงแล้ว ตรงกับศีลเบื้องต้นของพระบรมศาสดาที่ได้บัญญัติสิกขาบทศีล 5 หรือเบญจศีล หรือปัญจศีลอันเป็นวิสัยของพวกท่านทั้งหลายไว้ในโลกเบื้องหยาบเพื่อให้มนุษย์ในชมพูทวีปหลีกเลี่ยงละเว้นที่จะทำความทุกข์เช่นนั้นเสีย พระพุทธองค์ทรงห้าม ทรงสั่งสอน ทรงแนะนำมิให้ชาวโลกหยาบกระทำการดังกล่าว ผิดกับมนุษย์ในแดนของท่านซึ่งห้ามด้วยวิสัยของตนเองเป็นธรรมชาติ ถูกแล้วปัญจศีลถ้าผู้ใดละเมิดย่อมเป็นทุกข์ ผู้ใดฆ่าผู้ฆ่าและผู้ถูกฆ่าก็เป็นทุกข์ ผู้ใดลักขโมยทั้งผู้ลักและถูกลักก็เป็นทุกข์ ผู้ใดเสพอสัทธรรมผิดลูกเมียเขาก็เป็นทุกข์ด้วยกัน ผู้ใดโป้ปดมดเท็จหรือเสพเครื่องดองของเมาก็จะมีแต่ความทุกข์หม่นหมองอยู่ทั่วไปทั้งนั้น นั่นเป็นประการหนึ่งคือต้นตอแห่งความทุกข์ พวกท่านทั้งหลายได้ละเว้นแล้วโดยสิ้นเชิงมิมีใครเคยละเมิดเลยทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงไม่รู้จักว่าความทุกข์เป็นเช่นไร ท่านรู้จักแต่ความสุขแต่เพียงอย่างเดียว ความสุขของท่านแต่ละท่านทั้งในอดีตและปัจจุบันจะมีวันหมดไปบ้างหรือไม่

    อายุของพวกท่านในแดนนี้นับถึง 1,000 ปีมนุษย์หยาบเป็นประมาณ เมื่อสิ้นอายุขัยวัยพันปีพวกท่านก็ต้องตาย แน่นอนผู้ที่ประพฤติอยู่ในปัญจศีลตลอดชาตินี้ย่อมไปสู่สุคติภพยิ่งขึ้นเมื่อสังขารตายไปแล้ว จิตและวิญญาณของท่านแม้จะแตกตายไปด้วยก็จริงอยู่ แต่เชื้อแห่งกรรมดีย่อมน้อมนำไปสู่จิตวิญญาณใหม่ในสวรรค์ พรหม ได้ แต่ท่านทราบบ้างไหมว่าในอดีตชาติก่อนๆ โน้น ที่นับเนื่องเวียนว่ายตายเกิดกันมานานหลายครั้งหลายหนเป็นวัฏจักร ชาติใดภพใดท่านเคยประพฤติผิดหรือละเมิดปัญจศีลมาบ้างหรือไม่ ถ้ามีอยู่อกุศลกรรมเช่นนั้นเมื่อยังมิได้ชดใช้หมดไปอาจตามมาถึงทันในชาตินี้หรือชาติที่กำลังจะไปต่อไป อกุศลกรรมเหล่านั้นจะชักนำจิตวิญญาณของท่านไปสู่อบายภูมิได้ จึงกล่าวได้ว่า เมื่อท่านตายไปจากแดนนี้จึงเป็นการไม่แน่เสมอไปว่าทุกจิตวิญญาณจะได้ไปสู่สุคติภพด้วยกันทั้งสิ้น อาตมากล่าวเช่นนี้ ท่านทั้งหลายได้พึงพิจารณาให้ถ่องแท้ด้วยกุศลจิตของท่านเถิด เมื่อพิจารณาแล้ว ท่านจะเห็นได้หรือยังว่า ในอนาคตอันไกลอันใกล้เมื่อเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ไม่มีผู้ใดพึงรู้ได้ชัดแจ้งว่าจะไปสู่สุคติภพแต่สถานเดียว การไม่รู้ไม่แน่ใจเช่นนั้นจะทำให้ท่านเป็นทุกข์หรือไม่...”

    สมณะจิตตัง พึงหยุดธรรมเทศนาไว้ขณะหนึ่งเพื่อพิจารณา
    “สาธุ...สาธุ...สาธุ”
    พร้อมกันเป็นเสียงกังวานกระหึ่มสะท้อนก้องกลับไปกลับมาจากวิมานปราสาทที่ขอบลานรอบด้าน อาทิตย์ยังทรงกลดอยู่ เสียงฟ้าคำรามก้องขึ้นหนึ่งครั้ง แล้วฝนสีชมพูก็โปรยปรายตกลงมาทั่วลานกว้างเป็นครู่ใหญ่
    ฝนชมพูมิได้เปียกผู้ใดเลย คงเป็นเพียงกลิ่นหอมเย็นประพรมพร่างให้บริเวณนั้นหอมเย็นสดชื่นขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ
    “เป็นมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งพระเจ้าข้า...ที่พวกเราหลงติดอยู่กับความสุขแต่เพียงอย่างเดียวมาตลอดกาล แม้ความตายของพวกเรา แต่ไหนแต่ไรมาพวกเราก็มิเคยเศร้าโศกเสียใจหรือเป็นทุกข์กันมาก่อนแต่ประการใดเพราะเราคิดอยู่ในด้านเดียวว่าเมื่อตายไปแล้วพวกเราจะไปสู่สุคติยิ่งขึ้นๆ แต่เพียงสถานเดียว พวกเรามิเคยฉุกคิดถึงกรรมเก่าในอดีตชาติที่เวียนว่ายตายเกิดมานับไม่ถ้วนนั้นเลยว่าจะมีอกุศลกรรมอยู่บ้างหรือไม่ ต่อเมื่อพระคุณเจ้าในพระพุทธศาสนาได้เทศนาเตือนสติพวกเราก็รำลึกได้ในบัดนี้ นับเป็นมหากรุณาอย่างสูงที่ได้เป็นกระจกส่องให้เราได้สติในการไม่ประมาท มิให้หลงติดสุขอยู่เหมือนแต่ก่อนแต่เพียงอย่างเดียว”

    เสียงสาธุการแซ่ซ้องยอมรับกระหึ่มขึ้นอีกวาระหนึ่ง
    “อาตมากำลังเทศนาให้ท่านทั้งหลายเห็นความทุกข์บางประการที่ท่านไม่เคยรู้จักแต่ที่จริงมีปรากฏอยู่ดังท่านพึงเข้าใจแล้ว เป็นการให้เห็นความทุกข์เพื่อรู้จักตัวทุกข์ อันเป็นลักษณ์หนึ่งในไตรลักษณ์ตามสัจธรรมของพระพุทธองค์ที่เรียกว่า ทุกขัง คือสิ่งที่ตรงข้ามกับความสุข พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่าเมื่อมีสุขย่อมมีทุกข์ เมื่อมีทุกข์ย่อมมีสุขเป็นของคู่กัน

    พวกท่านทั้งหลาย พวกท่านรู้จักแต่การเกิด ไม่รู้จักการแก่เพราะไม่เคยมีใครแก่ชราเลยในแดนนี้ ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ของธรรมชาติอันเป็นสัจธรรมอีกลักษณ์หนึ่ง ท่านก็ไม่ค่อยได้รู้จักความไม่เที่ยงไม่คงที่ สภาพที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับล่วงไป ท่านรู้แต่ในคำหลังเท่านั้นคือการตาย การดับล่วงไป ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนนี้ที่เรียกว่าอนิจจัง เป็นธรรมอีกข้อหนึ่งที่ควรพิจารณาว่ามีเกิด มีดับ มีดับมีเกิดเวียนว่ายอยู่เช่นนี้ไม่รู้จบ

    “อนัตตา” คือการไม่มีตัวตนจริงแท้แน่นอนเสมอไป สังขารร่างกายอันงดงามจะมีอยู่แค่พันปีก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนไปตามกรรมตามกาลเดี๋ยวเป็นโน่นเป็นนี่ล้วนแต่กรรมเป็นผู้จัดสรรปั้นแต่งทั้งนั้น นอกจากกรรมแล้วไม่มีใครบังคับบัญชาให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ จึงไม่ใช่ตัวตนของเราเลย เป็นตัวตนของกรรมทั้งสิ้น จึงเป็นธรรมอีกข้อหนึ่งพึงพิจารณา

    “ไตรลักษณ์” คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่อาตมาหยิบยกขึ้นมากล่าวก็เพื่อให้พึงพิจารณาให้เห็นความจริงว่าในโลกธาตุทั้งหลายไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น ไม่มีตัวตนแท้จริงของเราเลย เกิด แก่ เจ็บ ตาย กี่ชาติกี่ชาติมันก็เป็นอยู่อย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุดพึงพิจารณาให้เกิดความสังเวช เกิดความเบื่อหน่ายเกิดความคิดที่จะเอาชนะการเกิดแก่เจ็บตาย เอาชนะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    ท่านทั้งหลาย ณ ที่นี้ย่อมรู้จักดีกับการเกิดและตาย แม้จะไม่รู้จักการแก่และเจ็บ การเกิดไม่ต้องกล่าวถึง เอาเหลือแต่การตายอย่างเดียวก็ได้ เมื่อท่านรำลึกได้เมื่อแต่กี้ว่าความตายที่ยังไม่รู้แน่ว่าเราจะไปเกิดใหม่เป็นสุขหรือทุกข์กันแน่ นั่นเป็นทุกข์ที่รำลึกได้แล้ว เมื่อรำลึกความจริงเช่นนี้ได้ท่านทั้งหลายปรารถนาจะชนะความตายไหม คือไม่ต้องมีการตายกันเลย...”

    ทุกคนประสานเสียงแสดงความปีติปรารถนาวิธีเอาชนะความตาย
    “นิพพาน...นิพพาน...นิพพาน...เป็นวิธีเดียวที่พระพุทธองค์เท่านั้นทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง เป็นวิธีที่เอาชนะความตายได้อย่างเด็ดขาด ได้จารึกได้จำหลักได้ทรงแสดงสั่งสอนแด่มนุษยชาติ เทวดาพรหมมาตลอด แม้กระทั่งในอุตตรกุรุทวีปนี้สมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ก็เคยทรงเข้ามาปรากฏ แต่เป็นยุคก่อนที่พวกท่านจะมาบังเกิด พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนวิธีที่จะถึงนิพพานไว้เป็นอย่างดี อาตมาสมณะจากโลกภพจะได้นำมาแสดงแจ้งให้ปรากฏแด่ท่านทั้งหลายต่อไปในโอกาสอันเป็นมงคลคราวหน้า คราวนี้ได้เวลาอันสมควรแล้วจึงขอจบธรรมกถาเทศนาไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน ขอท่านทั้งหลายจงได้รับกุศลเนื่องในการฟังธรรมเทศนายิ่งๆ ขึ้นไปเทอญ”

    เมื่อสมควรแก่เวลา สมณะจิตตังจึงจบการเทศนาโปรดแก่ชาวนาครอุตตรกุรุทวีป ในครั้งปฐมเทศนาไว้แต่เพียงเท่านั้น ชาวนาครอุตตระและเทพชั้นมหาราชิกาทั้งหลายกระทำอภิวาทน้อมกายอัญชลีกันถ้วนทั่วด้วยความปีติซาบซ่านและอิ่มเอมในรสพระธรรมเป็นครั้งแรก ทุกคนต่างแยกย้ายกันเข้าสู่วิมานปราสาทมรกตในพริบตา

    สุริยะเจ้าเลิกทรงกลดเช่นกัน แสงตะวันยามบ่ายคล้อยยังจัดจ้าอยู่ แต่เยือกเย็นสดชื่นเพิ่มโสมนัสมุทิตาแด่สมณะและเทพธิดายมโดยบนเกาะแก้วรัตนะเป็นที่ยิ่ง
     
  4. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    บิณฑบาตทิพย์

    การเที่ยวไปเพื่อขออาหารเป็นวัตรสำคัญในประการหนึ่งของสมณะในพระพุทธศาสนา ถือเป็นการภิกขาจารบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์แด่เวไนยสัตว์ เป็นการขัดเกลามนุษยชาติให้รู้จักวิสัยการเผื่อแผ่ให้ทานแด่ผู้ที่สมควรจะให้ เพราะการให้ทานถือว่ามีอานิสงส์กุศลสูงมาก รองจากการปฏิบัติประพฤติพรหมจรรย์

    เช้าตรู่วันที่สอง สมณะทั้งสามเมื่อบิณฑบาตโปรดสัตว์แด่เทพธิดายมโดยเป็นเบื้องต้นแล้วก็จงกรมเดินตามสู่วิมานปราสาทแห่งนาครอุตตระในเส้นทางสายเดิมอีกเพื่อภิกขาจารบิณฑบาตโปรดสัตว์ชาวนาครออกมาต้อนรับเป็นทิวแถวเช่นเมื่อวาน แต่วันนี้ทุกคนล้วนแสดงอภิวาทนอบน้อมด้วยกุศลศรัทธามากกว่าเมื่อวานมาก

    “พระโพธิสัตว์ผู้มีวิธีชนะความตาย...พระโพธิสัตว์ผู้มีวิธีชนะความตาย”
    ชาวนาครส่วนใหญ่ กล่าวสรรเสริญแซ่ซ้องตามทางที่ผ่านไป แต่ไม่มีผู้ใดรำลึกได้ถึงการถวายบาตรเช่นเคย เดินไปจนได้เวลาอันสมควรก็วกกลับ ไม่มีผู้ใดใส่บาตรเลยแม้แต่ผู้เดียวนอกจากทิพยโภชน์ของเจ้าแม่นมสาวเมื่อเช้าตรู่เท่านั้น

    ทิพยโภชน์ที่สมณะทั้งสามรับบาตรจากเจ้าแม่วันนี้ มีข้าวสุกสีขาวนวลเมล็ดยาวทัพพีหนึ่งมีกลิ่นหอมอวลยิ่งนัก และผลเกดเขาเขื่องกว่าผลหว้าแต่สีเหลืองสุกอร่ามอีกบาตรละสามผล อาหารทิพย์เพียงเท่านั้นก็ซาบซ่านอิ่มเอมเป็นสมควรแด่สมณะ การที่สมณะเที่ยวไปเพื่อภิกขาจารชาวนาครมิได้หวังภัตตาหารเป็นสำคัญ หวังที่จริงใจคือการโปรดสัตว์แด่เวไนยสัตว์ตามเบื้องรอยยุคลบาทแห่งพระพุทธองค์

    แม้ชาวเมืองจะยังไม่รำลึกได้ถึงการใส่บาตรให้ทานแต่การที่พากันออกมากระทำอัญชลีน้อมอภิวาทกันถ้วนทั่วรำลึกถึงพระโพธิสัตว์ก็ถือเป็นการน้อมจิตชาวอุตตกุรุทวีปให้รำลึกถึงพระผู้มีบุญญาธิการเป็นกุศล จึงถือได้เป็นการโปรดสัตว์อีกประการหนึ่ง จิตที่น้อมเป็นกุศลเช่นนี้แน่นอนชาวนาครผู้ไม่เคยปฏิบัติจะรำลึกได้ด้วยกุศลเองต่อไปภายหน้า

    “การขอ เพื่อให้เขาให้ จะเป็นปฏิปทาที่มีอานิสงส์น้อย ถ้าเราเจตนาแจ้งให้เขารู้ว่านี้เป็นการขอ...แต่จะเป็นมหาผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ถ้าเขาพึงรำลึกได้เองโดยกุศล”
    สมณะจิตตังพึงแจ้งกระแสแด่หมู่สมณะ
    เมื่อเข้าเที่ยงวัน ชาวนาครก็มานั่งกันสลอนเต็มลานน้ำลานดินเพื่อฟังธรรมเทศนาเหมือนเช่นเคยเป็นวันที่สอง ทุกคนมีจิตใจจดจ่อที่จะมาฟังธรรมสำคัญ คือวิธีที่จะเอาชนะความตาย

    นับแต่ปฐมเทศนาเมื่อวันแรก สมณะจิตตังได้เริ่มต้นธรรมเทศนาด้วยไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และทิ้งท้ายขมวดไว้ด้วยพระนิพพาน วิธีที่จะชนะความตาย
    “เมื่อวานนี้ อาตมาได้แสดงธรรมเทศนาแด่ท่านทั้งหลายให้พึงรำลึกได้ถึงพระบรมศาสดาพระพุทธเจ้า พระผู้เป็นองค์ตรัสรู้ถึงวิธีการเอาชนะความตายที่เรียกว่านิพพานนั้นพอสมควร

    ท่านทั้งหลายได้รู้จักคำว่านิพพานเป็นเบื้องแรกได้รู้จักพระพุทธองค์ ผู้ตรัสรู้นิพพานในลำดับต่อมา วันนี้อาตมาจักได้แสดงธรรมกถาเทศนาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าองค์พระสมณโคดมพระองค์นั้นซึ่งเคยเสด็จมาในภพอุตตรกุรุทวีป สมัยพุทธกาลในบางประการ

    เมื่อสองช่วงครึ่งของอายุคนในแดนนี้ ประมาณสองพันห้าร้อยปีเศษที่ผ่านมา หลังจากที่พระสมณโคดมบรรลุอนุตรสัมโพธิญาณใหม่ๆ ขณะพำนักอยู่ในไพรสณฑ์โปรดสัตว์แสดงธรรมธรรมดา และธรรมอันล้ำเลิศบางอย่างเพื่อคลายทิฏฐิชฎิลสามพี่น้องให้บรรลุธรรมวันหนึ่งในกาลนั้น พระพุทธองค์แสดงธรรมอันยิ่งยวดล่วงเข้ามาในอุตตรกุรุทวีป

    วันนั้นเป็นวันที่ห้า นับแต่พระสมณโคดมประทับโปรดสัตว์แด่ชฎิลสามพี่น้องผู้มีชื่อว่าอุรุเวลกัสสป นทีกัสสป และคยากัสสป ในตำบลอุรุเวลา เสนานิคม ชมพูทวีป ชฎิลอุรุเวลกัสสปผู้พี่ใหญ่มีทิฏฐิมากมิจฉาในจิตบดบังมิให้ยอมรับว่าพระพุทธองค์เป็นอรหันต์แล้วในขณะนั้น ทั้งๆ ที่ใจตัวเองรู้อยู่ด้วยเหตุหลายประการมาถึงสี่วันแล้วว่าพระพุทธองค์คือพระอรหันต์แน่...

    ...เห็นไหมท่านทั้งหลาย ไอ้ตัวจิต กับตัวใจ ในสังขารเดียวกันมันยังไม่เหมือนกัน ในชมพูทวีปโลกหยาบ มนุษย์ที่นั่นมีสรีระหยาบไม่เหมือนในแดนนี้มีสรีระละเอียดมาก ใจของชาวชมพูทวีปอยู่ในหัวใจที่หน้าอกเบื้องซ้ายภายในสังขารมีหน้าที่ทำการหายใจสูบฉีดโลหิตให้ไหลวนเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายคนที่นั่นหัวใจจึงถือเป็นอวัยวะสำคัญยิ่ง ผิดกับที่นี่มีหัวใจเป็นแต่เพียงส่วนประกอบสังขารเท่านั้น ชาวชมพูทวีปถือว่าใจเป็นใหญ่กว่าจิต เขาเชื่อเขาเห็นเขารู้เพราะใจเป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรมมีตัวตนมีความรู้สึกนึกคิดก็เพราะใจที่ว่า ส่วนจิตหรือวิญญาณนั้นเขาไม่ค่อยเชื่อกันว่ามีจริงเพราะเขาไม่รู้ไม่เห็น แต่สำหรับที่นี่ทุกท่านย่อมสำคัญว่าจิตเป็นใหญ่กว่าใจ เพราะที่รู้ รู้สึก รู้สึก ก็เพราะจิตของท่านรู้ทั้งสิ้น ส่วนใจซึ่งเป็นสรีระเบาบางปรากฏในสังขารนั้นมิได้ทำหน้าที่แต่ประการใดเพราะท่านเป็นกายละเอียดเป็นรูปปรากฏเท่านั้นไม่มีเลือดเนื้อดินน้ำลมไฟหยาบอยู่ในนั้นเลย

    ที่จริงมนุษย์ชมพูทวีปมีทั้งจิตและใจอยู่ในสังขาร ดังที่อาตมากล่าวว่า ชฎิลอุรุเวลาผู้พี่มีทิฏฐิมาก มิจฉาในจิตบดบังมิให้ยอมรับว่าพระพุทธองค์เป็นอรหันต์แล้ว ทั้งๆ ที่ใจตัวเองรู้อยู่ด้วยเหตุหลายประการมาถึงสี่วันแล้วว่าพระพุทธองค์คือพระอรหันต์แน่ นั่นเป็นมิจฉาทิฏฐิของชฎิลซึ่งครอบงำจิตอยู่

    ในวันที่ห้าดังกล่าว ในวันนั้นเนื่องจากชฎิลอุรุเวลกัสสป ได้เตรียมการบูชายัญเป็นการใหญ่ ซึ่งชาวเมืองอังคะ มคธทั้งสิ้นต่างบ่ายหน้ามุ่งมาในงานพิธีสำคัญนี้ ชฎิลอุรุเวลาได้คิดวิตกอยู่ในใจตนเองว่าวันนี้เป็นวันพิธีใหญ่ของเราประชาชนชาวอังคะและมคธทั้งสิ้นได้นำของบริโภคเป็นอันมากมาให้เรา ถ้าองค์พระสมณโคดมอยู่ในที่นี้จักทำอิทธิปาฎิหาริย์ในหมู่มหาชน ลาภสักการะจักเจริญยิ่งแก่พระมหาสมณะลาภสักการะของเราจักเสื่อม โอ...จะทำไฉนจึงจะไม่ให้พระสมณะอยู่ในงานพิธีนี้

    ชฎิลคิดวิตกกังวลใจอยู่เช่นนั้น
    พระพุทธองค์ทรงทราบความวิตกในใจของชฎิลด้วยเจโตปริยญาณ เมื่อถึงกำหนดเวลาภัตตาหารที่ชฎิลได้นิมนต์ไว้อันเป็นเวลาในงานพิธีบูชายัญจึงหลีกเลี่ยงเร้นกายเสด็จมายังอุตตรกุรุทวีปแดนนี้ ทรงบิณฑบาตรับถวายภัตตาหารจากชาวอุตตรกุรุทวีปแล้วกลับไปนั่งเสวยอยู่ที่สระอโนดาดห่างไกลงานพิธีของชฎิล เมื่อเสร็จพิธีในตอนเย็นแล้วจึงเสด็จกลับไป

    ในเวลาอันสมควร ชฎิลอุรุเวลาได้ทูลถามต่อพระผู้มีพระภาคว่า...
    “เมื่อเช้านี้เวลาภัตตาหารซึ่งได้เตรียมไว้เสด็จตามนิมนต์ เพราะเหตุไรหนอท่านจึงไม่มาฉันอาหารที่พวกข้าพเจ้าได้จัดไว้ถวาย”

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
    “ดูกรกัสสป ท่านได้ดำริอย่างนี้มิใช่หรือว่า บัดนี้เราได้เตรียมการบูชายัญเป็นการใหญ่และประชาชนชาวอังคะและมคธทั้งสิ้นได้นำของขบเคี้ยวของบริโภคเป็นอันมากมายบ่ายหน้ามุ่งมาหา ถ้าพระสมณะจัดทำอิทธิปาฎิหาริย์ในหมู่มหาชน ลาภสักการะจักเจริญยิ่งแก่พระมหาสมณะ ลาภสักการะของเราจักเสื่อม โอ...ทำไฉนพระมหาสมณะจึงจะไม่มาฉันภัตตาหาร ดูกรกัสสป เรานั้นแลทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านด้วยใจของเรา จึงไปอุตตรกุรุทวีป นำบิณฑบาตมาจากอุตตรกุรุทวีปนั้นมาฉันที่ริมสระอโนดาตแล้วได้พักกลางวันอยู่ ณ ที่นั่นแหละ”

    ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้ฟังก็ดำริด้วยใจว่าพระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ จึงได้ทราบความคิดนึกแม้ด้วยใจได้ แต่ในจิตที่มีมิจฉาก็ดำริว่า แต่พระสมณะก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่
    สมณะจิตตัง หยุดพักเทศนาลงขณะหนึ่ง
    ชาวนาครต่างกระทำสาธุการ ปีติยินดีในการเคยเสด็จมาของพระพุทธองค์เมื่อกาลก่อน
    ฝนสีเหลืองเรืองก็โปรยปรายชโลมลงมา มิเปียกผู้ใดเลย คงประพรมน้ำทิพย์อันหอมอวลให้ชุ่มชื่นขึ้นในหมู่สาธุชนแห่งอุตตรกุรุทวีปครานี้

    “พระพุทธองค์เสด็จมายังอุตตรกุรุทวีป ทรงบิณฑบาตรับภัตตาหารจากชาวอุตตรกุรุทวีป...ทรงบิณฑบาตหมายความว่าประการใดพระคุณเจ้า”
    ชาวนาครมอบหมายให้ผู้หนึ่งนมัสการซักถาม

    “บิณฑบาตหมายความถึงการรับของใส่บาตร คือการที่สมณะในพระพุทธศาสนาได้เดินไปยามเช้า ถือบาตรไปยังบ้านผู้คนเพื่อรับสิ่งของภัตตาหารตามสมควร ถือเป็นการโปรดสัตว์ของสมณะซึ่งน้อมนำให้มนุษย์โน้มจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่บริจาคทรัพย์สิ่งของหรืออาหารตามสมควรเป็นการทำทานแด่สมณะ อันจะทำให้สมณะยังชีพตามอัตภาพเพื่อปฏิบัติสมณวัตรนำคำสั่งสอนคือธรรมะของพระพุทธองค์มาเผยแผ่อนุเคราะห์แก่มนุษยชาติได้ต่อไป การโปรดสัตว์เช่นนี้พระพุทธองค์ถือเป็นวัตรสำคัญประการหนึ่งที่ทรงปฏิบัติมิได้ขาดอานิสงส์แห่งการโปรดสัตว์นี้มีอานิสงส์สูงมากทั้งผู้โปรดสัตว์และผู้ได้รับการโปรดสัตว์

    ชาวนาครอุตตระได้ฟังกถาธิบายต่างนิ่งเงียบกริบ แต่ละคนหันไปมองหน้ามองตากันอยู่ในแต่ละกลุ่ม รำลึกถึงตอนเช้าของวันที่ผ่านมาทั้งสองวัน รำลึกถึงสมณะทั้งสามที่อุ้มบาตรเดินผ่านเพื่อโปรดสัตว์แต่ไม่มีผู้ใดล่วงรู้ ไม่มีผู้ใดเข้าใจ ทุกคนรำลึกตำหนิตนเองเป็นครั้งแรกในชีวิตว่า...
    “โอ้กรรมแท้...โอ้กรรมแท้...ทำไมพวกเราจึงไม่มีใครรำลึกเฉลียวใจบ้างเลย”

    ทุกคนต่างตระหนักสำนึกถึงบาปกรรมได้ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยมีอยู่ในความรู้สึกผู้ใดเลย ต่างก้มลงกราบกับพื้นลานพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย เป็นการขอขมาและกล่าวปฏิญาณพร้อมกันเป็นเสียงเดียวกันว่า...

    “โปรดยกกรรมให้พวกข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิดที่มิได้ถวายบาตรสมณะท่านในสองวันที่ผ่านมาเพราะพวกข้าพเจ้าไม่ทราบ ไม่เคยประพฤติ ไม่เคยปฏิบัติ เนื่องจากในยุคของพวกข้าพเจ้ายังไม่เคยมีพระสมณะในพระพุทธศาสนาเข้ามาโปรดสัตว์เลย กาลต่อไปนี้เป็นมหากุศลอย่างยิ่งยวด พวกเราทั้งหลายทราบแล้ว เข้าใจแล้ว ขอนิมนต์พระสมณะทั้งสามได้ออกบิณฑบาตโปรดสัตว์แด่พวกเราทุกเช้าเถิด พวกเราปีติยินดีเป็นอย่างที่สุด ที่มีพระสมณะผู้ถึงบุญญาธิการได้มาอนุเคราะห์พวกเราให้ถึงกุศลคุณเบื้องสูงๆ ขึ้นไป ขอได้โปรดพระคุณเจ้า”

    แล้วทุกคนก็กราบลงกับพื้นลานพร้อมกันอีกวาระหนึ่ง
     
  5. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    มนุษย์จำลอง – เทพจำแลง

    สามเณรน้อยปรับกายและจิตเข้ากับวิสัยบรรยากาศของคนและภพภูมิในแดนมนุษย์กึ่งเทพกึ่งคนได้ตามสมควร คนที่นี่มีหัวใจและอวัยวะต่างๆ ทั้งภายนอกภายในเป็นเพียงรูปจำหลักมาจากมนุษย์ในโลกภพ เป็นอุปกรณ์ส่วนประกอบในรูปลักษณ์ให้รำลึกได้ว่าเป็นคนเท่านั้น อวัยวะต่างๆ เหล่านั้นไม่มีหน้าที่สำคัญในการดำเนินชีวิตแต่อย่างใด จิตและรูปต่างหากเป็นสังขารรับรู้ความรู้สึกในผัสสะทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    เป็นคนในลักษณะที่มีอวัยวะครบถ้วนทุกประการในรูปปรากฏแต่รู้สึกด้วยจิตแห่งรูปละเอียดนั้น
    “มนุษย์จำลอง เทพจำแลง”
    จะเรียกเช่นนั้นก็ไม่ผิด สามเณรรำพึงในใจ
    “ผิดกับเทพเบื้องสูงที่ว่าเทพเป็นกายทิพย์มีสังขารรูปลักษณ์ภายนอกปรากฏตัวตนเช่นมนุษย์แต่หามีสรีระภายในไม่”

    เปรียบเทียบเพื่อให้พิจารณาชัดขึ้นแล้วพึงพิจารณาเข้ามาในตัวเองซึ่งกำลังอยู่ในสภาพเดียวกับมนุษย์จำลอง เทพจำแลงนั้น
    “พิจารณาลมหายใจมีหรือไม่...จะว่ามีก็พอมีแต่เบาบางเหมือนไม่มี จะว่าไม่มีก็ไม่มีเพราะไม่ต้องหายใจเลยก็อยู่ในสภาพนั้นได้ ไอ้ที่ว่ามีคงจะเป็นความรู้สึกเคยชินติดมาจากภพหยาบ แท้ที่จริงคงไม่มี เพราะรูปปรากฏหัวใจไม่มีหน้าที่ทำงานแล้วจะว่ามีลมหายใจมาจากที่ใดกัน

    ...พิจารณาอาหารเป็นอย่างไร...เป็นอาหารทิพย์ซาบซ่านเข้าไปอิ่มเอมอยู่ที่จิต ไม่ต้องเคี้ยว ไม่ต้องกลืน ไม่มีเนื้อไม่มีน้ำ...พิจารณาดูมูตรคูถ...ไม่มีแน่ เพราะอาหารไม่มีเนื้อไม่มีน้ำจึงไม่มีเศษให้เหลือเป็นมูตรคูถปรากฏ เหงื่อไคลก็ย่อมไม่มีตามไปด้วยเพราะนั่นเป็นส่วนเศษของเนื้อของน้ำในรูปหยาบของมนุษย์ คนในอุตตรกุรุทวีปก็คือกายทิพย์อย่างหยาบของเทพเทวดาที่มีรูปลักษณ์ทั้งภายนอกภายในของมนุษย์ปรากฏนั่นเอง”

    สามเณรสรุปจำกัดความ
    “คนในอุตตรกุรุทวีปก็คือกายทิพย์อย่างหยาบของเทพเทวดาที่มีรูปลักษณ์ทั้งภายนอกภายในของมนุษย์ปรากฏนั่นเอง”
    ทบทวนด้วยความมั่นใจในคำจำกัดความอีกครั้งหนึ่ง

    “มนุษย์เหล่านี้น่าจะเป็นมนุษย์ในลักษณะจำพวกสว่างมา แล้วสว่างไป คือเคยทำดีมีกุศลมาในอดีตชาติและชาตินี้ก็รักษาศีลประพฤติดีอีกย่อมจะไปสู่ภพที่ดีต่อไปข้างหน้า แต่...แต่...ความดีและกุศลในชาตินี้พวกเขารู้จักและประพฤติอยู่ในวงจำกัด คือปัญจศีลเท่านั้นเป็นที่ตั้ง เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ปฏิบัติในวงเฉพาะ แต่ไม่รู้จักการให้ทาน ที่เขาไม่รู้จักไม่ใช่เพราะตระหนี่ในขันธสันดาน แต่เขาไม่รู้จะให้ใคร ให้ทำไม เพราะทุกคนที่นี่มีทุกสิ่งทุกอย่างพอเพียงเท่ากัน ไม่ต้องการการให้อีกแล้ว คนที่นี่ไม่ฆ่าสัตว์แต่ก็ไม่รู้จักเลี้ยงสัตว์เพราะมิได้ประโยชน์อันใดจากการเลี้ยงสัตว์แต่อย่างใด การทำดีปฏิบัติชอบเพียงเท่านี้จึงทำให้พวกเขามักจะเวียนว่ายกลับมาเกิดที่นี่อีกชาติแล้วชาติเล่าหรืออย่างมากก็มักจะบังเกิดเพียงสวรรค์เบื้องสูงขึ้นไปนิดหน่อย”

    สามเณรพึงพิจารณาด้วยปัญญาที่ละเอียดเพื่อกิจอนุเคราะห์แด่เขาต่อไป
    “เมื่อเราอยู่ในภพหยาบ แล้วมองละเอียดเข้ามาในภพประณีตนี้เคยรู้สึกเบื้องต้นว่าคนที่นี่เป็นผู้วิเศษเหนือมนุษย์เพราะเขามีกายละเอียด เหาะเหินเดินอากาศได้ กินของทิพย์ มีวิมานปราสาทอยู่ คนที่นี่เป็นเทพเทวดาสูงยิ่งกว่ามนุษย์เรา...ครั้นมาพิจารณาโดยธรรมะจะเห็นว่าเขาด้อยกว่ามนุษย์ในโลกภพในส่วนที่จะมีโอกาสสร้างกุศลเบื้องสูงได้ยากกว่ามนุษย์มาก ที่นี่ไม่มีวัด ไม่มีพระมาโปรด ไม่รู้จักการใส่บาตร ไม่รู้จักการให้ทาน ไม่มีคนยากจนคนช่วยตัวเองไม่ได้ให้อนุเคราะห์ ไม่มีคนชั่วให้อบรม ไม่มีสมณะมาเทศนา ไม่มีพระผู้มีบุญญาธิการมาช่วยแนะนำอริยธรรม ไม่มีผู้ใดนำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ว่าด้วยนิพพานมาบอกกล่าวกันเลย...”

    พึงพิจารณาด้วยพรหมวิหารธรรมก็เห็นความน่าสงสารของคนเหล่านี้มากขึ้น
    “สงสารเพราะเขามีโอกาสด้อยกว่ามนุษย์โลกหยาบมากนัก แต่สิ่งที่เขาเหนือกว่าก็คือขันธสันดานอันสันโดษที่ปฏิบัติยึดมั่นอยู่ในปัญจศีลอย่างมิขาดตกบกพร่องสืบต่อกันมามิรู้จบนั่นเอง จึงทำให้คนที่นี่มีคุณวิเศษเหนือกว่ามนุษย์ในโลกภพ”

    เมื่อหวนย้อนคำนึงถึงโลกภพ สามเณรก็ได้แต่เสียดายว่า เมื่อก่อนหน้านี้ไม่สามารถจะนำสัจธรรมเปรียบเทียบระหว่างแดนนี้ดังที่ได้พิจารณาได้ไปเป็นสติเตือนใจมนุษย์ด้วยกันได้เพราะยังมิทราบ ยังไม่ได้สัมผัสละเอียด เมื่อได้สัมผัสเช่นนี้ ถ้าจะนำไปให้กำลังใจแด่เพื่อนมนุษย์บ้างว่าโอกาสทองของมนุษย์มีมากกว่าที่นี่เป็นไหนๆ ก็น่าจะเป็นกำลังใจ เตือนใจ เร่งให้ผู้มีจิตเป็นกุศลรีบตักตวงคุณธรรมเบื้องสูงยิ่งขึ้นไปก็จะเป็นกุศล

    หวนย้อนคิดถึงโยมดอกบัวผู้ถ่ายทอดต่อ
    “จะมีวิธีใดบ้างไหมหนอที่จะขยายถ่ายทอดให้โยมดอกบัวได้ในลักษณะที่สมควร”
    สามเณรนิ่งคิด
    พลันบัวทะเลสีรุ้งในสระโบกขรณีหน้าวิมานเจ้าแม่ก็เปล่งประกายเจ็ดสีเป็นลำแสงพุ่งเข้ามาจ่ออยู่หน้าถ้ำบนเพิงผาที่พำนักของสามเณร
    “สักวันหนึ่งโยมดอกบัวจะเข้ามาสัมผัสถึงที่นี่”
    กระแสทิพย์จากรัศมีสีรุ้งแจ้งชัดในเจตสิก แล้วลำแสงนั้นก็อันตรธานไป
    “สักวันหนึ่งโยมดอกบัวจะเข้ามาสัมผัสถึงที่นี่...จริงสินะ โยมดอกบัวเป็นผู้หนึ่งที่ปฏิบัติกุศลกิจเช่นเดียวกับกิจปวารณาของเราตามที่เทพธิดาวิลาสินีเคยแจ้ง”

    เมื่อรำลึกได้เช่นนั้นก็ทำให้เกิดความปีติเพิ่มขึ้นแก่สามเณร ที่จะได้มีโอกาสนำคุณธรรมเบื้องนี้สู่มนุษย์โลกภพได้บ้างตามปณิธานในโอกาสอันสมควร

    บนแผ่นน้ำในทะเลเรียบอันเป็นทะเลในมหานทีทิพย์แห่งมหาสมุทรใหญ่ในฟากเหนือของจักรวาลที่ตั้งแห่งอุตตรกุรุทวีปโดยภูมิกึ่งสวรรค์ บนแผ่นพื้นน้ำสีครามกระจ่างใสกว้างใหญ่ไพศาลอันใครใคร่เดินก็เดินได้ ใครใคร่แหวกว่ายก็ว่ายได้ เบื้องหน้าด้านทิศเหนือจากฟากเกาะแก้วรัตนะบริเวณใกล้เคียงกับเพิงผาถ้ำที่พำนักของสามเณรเป็นเกาะยาวใหญ่กว่าเกาะแก้วนมสาวแห่งนี้พอประมาณคู่กันอยู่บนพื้นน้ำแผ่นนี้ ช่วงทะเลช่องว่างระหว่างกลางเกาะทั้งสองกว้างใหญ่พอสมควร เปรียบเสมือนเป็นประตูสู่ทิพยสถานเบื้องสูงขึ้นไป ซึ่งหลวงพ่อเคยอธิษฐานสู่บาดาลพิภพคราวช่วยแก้กรรมเทวปุตมาร

    เกาะเบื้องหน้าอันอยู่ใกล้สายตาของสามเณร สามเณรพึงรู้จักในภพหยาบมีนามว่าเกาะโครำ แต่ปรากฏในภพนี้เป็นเกาะทองคำอร่ามเรืองประดับด้วยพฤกษาสวรรค์เสลาตะแบกอันมีดอกด้วยแก้วอินทนิลส่องประกายสีม่วงชมพู ม่วงแดง ม่วงเข้มอ่อนแก่สลับขลับประกายทองกับตัวเกาะเป็นสีสันอันสุกใสตระการตาทั่วทั้งเกาะ เป็นที่พำนักของแพะทองคำขนนิลอันมีนามหลายนามว่า โครำ หรือเลียงผาจำนวนมาก บนยอดเกาะนั้นมีคาคบไม้ใหญ่ประเภทจันทน์ขาว จันทน์แดง จันทน์หอมหลายพันธุ์ เป็นที่อยู่ของนกหัสดีลิงค์ ท่อนบนเป็นนกท่อนล่างเป็นสิงห์มีปีกแสนสวย เคยไปปรากฏในป่าหิมพานต์ชมพูทวีปซึ่งมนุษย์เรียกว่าสัตว์หิมพานต์ประเภทหนึ่ง

    ฟากทะเลแห่งมหานทีทิพย์แห่งนี้จึงมีเกาะสำคัญคู่กันในมิติอุตตระอันมีนามว่า เกาะแก้วเกาะทอง คือเกาะแก้วรัตนะหรือเกาะนมสาว และเกาะทองหรือเกาะโครำที่ปรากฏในโลกภพนั่นเอง
    สามเณรน้อยผู้ล่วงภพ ปลีกตัวขึ้นเที่ยวเกาะทองคำในยามเย็นวันว่างวาระหนึ่ง
    เกสรเสลาและตะแบกดาษดื่นส่งกลิ่นหอมเย็นรื่นรมณีย์ แพะทองคำกายละเอียดตัดด้วยขนนิลดำงามหนักหนาฝูงใหญ่แวะเวียนเที่ยวเล่นเลาะเล็มหญ้าอ่อนดุจปุยสำลีกินละลายหายซาบซ่านเข้าไปในกายทิพย์ เป็นนิมิตหมายแห่งสัตว์ประณีต

    “เบื้องสวรรค์นับเนื่องจากทิพยสถานมหาราชิกาเบื้องสูงขึ้นไปจะมีสัตว์เดรัจฉานขึ้นไปบังเกิดเป็นเดรัจฉานอีกหาได้ไม่ เดรัจฉานชาติจากภพหยาบซึ่งถึงบุญด้วยกุศลกรรมจะบังเกิดเป็นเทพเทวดาเท่านั้น แต่ถ้าจักสำแดงแปลงร่างเป็นรูปลักษณ์เดรัจฉาน เช่น ช้างเอราวัณของจอมเทพท้าวสักกะซึ่งเทพบุตรเอราวัณองค์ผู้เคยเกิดเป็นช้างในโลกมนุษย์สมัยท้าวสักกะเป็นมนุษย์ชื่อมาฆะหรือมฆะ ได้ร่วมกันสร้างกุศลช่วยชักลากไม้สร้างศาลาที่พักแก่มหาชนคราวนั้นพร้อมทั้งผู้ร่วมกุศลกิจอีก 33 คน เมื่อสิ้นอายุขัยไปบังเกิดเป็นจอมเทพท้าวสักกะ ณ ดาวดึงส์ปัจจุบันสมัย เพื่อนอีก 33 คน เกิดเป็นเทพมนตรีที่ปรึกษาทั้ง 33 องค์ ช่างไม้เกิดเป็นเทพวิสสุกรรม ช้างเชือกนั้นเกิดเป็นเทพเอราวัณ เป็นต้น แต่เมื่อถึงคราวปวารณาตนรับใช้จอมเทพและเทพมนตรีก็เนรมิตตนเป็นช้างเอราวัณในรูปเดรัจฉานชาติดังปรากฏเสมอนั้น ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าภาพเดรัจฉานบนสวรรค์จะเป็นภาพเนรมิตจากเทพเทวดาในเบื้องบนเนรมิตขึ้นทั้งสิ้นตามกิจปวารณา

    ส่วนในแดนอุตตรกุรุทวีปกล่าวกันว่าเป็นภูมิมนุษย์ เดรัจฉานชาติซึ่งปรากฏแม้จะเป็นกายละเอียดเช่นแพะทองคำหรือสุวรรณโครำเฉพาะหน้าเรานี้น่าจะเป็นชาติเดรัจฉานอันแท้จริงหรือไม่”

    สามเณรพึงพิจารณา
    “กรรมอันใดที่ชักจูงส่งผลทำให้จิตวิญญาณใหม่เกิดเป็นเดรัจฉานชาติ...เป็นอกุศลกรรมต่างๆ ที่จิตวิญญาณใหม่ไปบังเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกายนั่นเอง เมื่อเหลือเศษกรรมสุดท้ายจากอบายเบื้องต่ำสุดเหล่านั้นจะทำให้มาเกิดเป็นเดรัจฉานชาติอีก เดรัจฉานภูมิอยู่ที่ไหน...ก็อยู่ร่วมกับมนุษย์ภูมินี่ และในแดนอุตตรกุรุทวีปซึ่งคล้ายเมืองแมนแดนสรวงอยู่แต่ก็เป็นภูมิมนุษย์ตามที่กล่าวไว้ในหมู่บัณฑิตมากมาย ฉะนั้นสัตว์ละเอียดอันปรากฏเป็นเดรัจฉานในแดนอุตตระที่กำลังปรากฏแก่เราเฉพาะหน้าอยู่นี้ เข้าใจว่าเป็นเดรัจฉานชาติอันแท้จริงเช่นนกหัสดีลิงค์มิใช่เทพจำแลงแปลงกายเหมือนในสุคติภูมิขึ้นไป”

    สามเณรพิจารณาในหลักวิปัสสนาเพื่อจำแนก
    “แล้วเจ้าแพะทองคำหรือสุวรรณโครำเหล่านี้มีบุญอะไรหนักหนาจึงมาบังเกิดในสังขารทองคำอร่ามเรือง ยากนักที่มนุษย์ธรรมดาจะบังเกิดได้”
    พึงพิจารณาต่อไปอีก
    ขณะนั้นหลวงแม่ชีก็ปรากฏขึ้นเบื้องข้าง
     
  6. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    สุวรรณโครำ

    “ขอคารวะ หลวงแม่”
    สามเณรทำท่าจะยกมือขึ้นประนมก่อนด้วยเผลอจิต แม่ชีรำลึกได้รีบห้ามไว้
    “ด้วยฐานศีลปัจจุบัน ดิฉันต่างหากต้องให้คารวะสามเณร”
    “แม่ชีเคยเป็นเทพมารดาเบื้องมหาราชิกา”
    “นั่นเป็นอดีต แต่ปัจจุบันดิฉันเป็นอุบาสิกาฐานศีล 8 ท่านเป็นสามเณรฐานศีล 10”
    “แต่แม่ชีพึงอธิษฐานศีล 311”
    “แม้จะมากกว่าศีล 227 ของพระภิกษุ ก็ต้องเป็นผู้ให้คารวะแก่พระภิกษุด้วยฐานสมณเพศ”
    พึงปุจฉาวิสัชนาเพื่อแยกแยะธรรมอันประณีตกันและกัน มิใช่โต้เถียงเพื่อโต้แย้งดังในโลกหยาบ
    “ครับ หลวงแม่”
    สามเณรพึงพิจารณาแล้วคล้อยความเห็น

    “ดิฉันใคร่จะร่วมพิจารณาด้วยในความสงสัยเกี่ยวกับสุวรรณโครำในแดนนี้ ทำไมสัตว์เดรัจฉานซึ่งมีอกุศลกรรมโดยภูมิจึงมีสังขารงดงามเป็นทองคำอร่ามเรืองวิเศษเหนือมนุษย์เป็นเพราะกุศลกรรมอย่างใดประกอบมาแต่อดีตชาติฤา...”

    แม่ชีแจ้งความจำนงซึ่งเคยมีความรู้สึกวิกิจฉาอยู่เช่นกัน
    ทั้งคู่ต่างทอดสายตาลงสู่เบื้องแผ่นน้ำในทะเลเรียบ ขณะนี้เริ่มมีคลื่นน้อยๆ ทยอยไล่เลียงด้วยสายลมรำเพยอ่อนๆ เป็นหย่อมๆ ในยามเย็น

    โลมาทองคำตัวหนึ่งค่อยๆ แหวกว่ายสะบัดหางโบกโบยเล่นน้ำมุ่งหน้าตรงมายังสองผู้ทรงศีล มาหยุดอยู่ที่ผืนแผ่นน้ำเบื้องล่างข้างหน้าว่ายวนเวียนจ้องมองด้วยสายตามีมิตรจิตเหมือนเป็นนิมิตจะแจ้งสิ่งใด ชั่วระยะเวลาอันสมควรแล้วก็หลีกลี้ผุดน้ำดำหายไป

    ในกระแสธารแห่งห้วงมหาสมุทรใหญ่ที่โลมาทองคำมุดน้ำดำหายไปก็กระจายคลื่นเป็นวงรอบขยายใหญ่ขึ้น กระแสธารประสานประสมเข้ากับกระแสจิตของผู้ทรงศีลทั้งสองคละเคล้าเป็นกระแสเดียวกันในมโนมยิทธิ ฉับพลันฤทธิ์ทางใจก็บังเกิดเนรมิตกายไปอยู่ในภาพสัจธรรมในอดีตกาลอันล่วงพ้นมาแล้ว

    “...สุพรรณมัจฉาโลมาทองคำที่ปรากฏเมื่อกี้ได้นำสามเณรและแม่ชีพุ่งตรงดิ่งไปยังเกษียรสมุทร ณ ที่นั่น สุพรรณมัจฉาก็กลายร่างเป็นภิกษุสงฆ์ ย้อนอดีตกาลเข้าสู่พุทธสมัยแห่งพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า กาลนั้นองค์พระกัสสปะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วคงดำรงอยู่แต่พระบวรพุทธศาสนาดังกล่าว มาณพสองพี่น้องคู่หนึ่งได้บวชเป็นภิกษุ คนพี่มีนามว่า โสธนภิกษุ ผู้น้องมีนามว่า กปิลภิกษุ ทั้งสองน้อมใจบวชเพื่อปรารถนาปฏิบัติธรรมและได้ทราบว่าธุระสำคัญในพระศาสนามี 2 ประการ คือ คันถธุระประการหนึ่ง และวิปัสสนาธุระอีกประการหนึ่ง

    คันถธุระ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะของพระพุทธองค์เปรียบภาคทฤษฎี
    วิปัสสนาธุระ ได้แก่การพิจารณากองสังขารเพื่อให้หลุดพ้นจากกองกิเลส เปรียบภาคปฏิบัติ ทั้งสองอย่างเป็นหน้าที่สำคัญสุดยอดโดยตรงที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาพึงกระทำ

    โสธน ภิกษุผู้พี่ น้อมจิตเข้าบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ ได้เริ่มเรียนพระกรรมฐานในสำนักพระอุปัชฌายะ ปฏิบัติพระอุปัชฌายะอาจารย์ได้เวลาอันสมควรก็กราบลาเข้าสู่ป่า พยายามบำเพ็ญวิปัสสนาธุระอย่างอุกฤษฏ์มิได้อาลัยชีวิตร่างกายจนบรรลุถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์

    กปิลภิกษุผู้น้อง น้อมจิตศึกษาทางคันถธุระเล่าเรียนค้นคว้าพระพุทธวจนะจนจบพระไตรปิฎกมีชื่อเสียงปรากฏเลื่องลือ มีพระภิกษุสามเณรเข้าเป็นศิษยานุศิษย์มากมาย ลาภสักการะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ในไม่ช้าก็ถูกโลกธรรมเข้าครอบงำจนทำให้กลายเป็นผู้มัวเมาในความรู้ สำคัญตนว่าเป็นยอดบัณฑิตแต่ผู้เดียว สำคัญผิดคิดว่าเป็นผู้รู้ผู้แจ้งผู้ถูกต้องโดยตนเองเป็นใหญ่ ภายหลังจากนั้นมาการสั่งสอนแสดงธรรมก็มักจะไม่คำนึงถึงหลักฐานบาลีเป็นหลักมั่น คิดเอง สอนเอง ตีความธรรมะของสมเด็จพระบรมศาสดาเองด้วยปุถุชนปัญญา แล้วสรุปเอาเองโดยมิได้ค้นคว้าเทียบเคียงหรือตรวจตราให้ถูกต้องตรงตามสัจธรรมแห่งพระพุทธองค์

    เมื่อมีพระภิกษุผู้รู้ตรงรู้ถูกตามครรลองพระสัจธรรมคัดค้านทักท้วง กปิลภิกษุผู้อาวุโสก็โมหะโทสะขู่ตะคอกด่าทอเสียดสีตำหนิผู้ทักท้วงต่างๆ นานา โดยอ้างอวดอาวุโสแห่งตนขึ้นข่มอยู่เสมอมาเป็นวิสัย

    อันว่าธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ทุกพระองค์ ย่อมทรงไว้ซึ่งภาวะมหัศจรรย์และประณีตลึกซึ้งหนักหนายากที่ปัญญาชนจะตีความเอาด้วยสุตมยปัญญาคือการร่ำเรียนจากตำราครูบาอาจารย์ด้วยจินตามยปัญญาคือการใคร่ครวญพิจารณาด้วยภายนอกให้ถูกต้องครบถ้วนได้ นอกเสียจากบำเพ็ญเพียรประกอบด้วยภาวนามยปัญญาคือวิปัสสนากรรมฐาน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันประณีตด้วยเท่านั้นจึงจักได้ความถูกต้องที่แท้จริงอย่างเด็ดขาดได้

    แต่กปิลภิกษุมิได้ปฏิบัติภาวนามยปัญญาในประการสำคัญนั้น
    ทิฏฐิแห่งตนด้วยความเมาในโรคโลกธรรมครอบงำ เมื่อนำธรรมะอันไม่ตรงกับสัจธรรมของบรมศาสดาไปสั่งสอนก็จักเป็นเหตุหนึ่งที่นำความเสื่อมเสียมาสู่พระพุทธศาสนา ภิกษุผู้หวังดีจำนวนหนึ่งจึงพากันเข้าไปกราบเรียนแจ้งให้อรหันตโสธนผู้พี่ซึ่งอยู่ป่าทราบ

    “ดูกร อาวุโสกปิล ผู้มีความรู้เช่นตัวเธอ หากว่ามีการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็จะเป็นผู้สืบต่ออายุ เป็นกำลังแห่งพระศาสนาได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นขอเธอจงอย่าละเว้นสัมมาปฏิบัติ อย่าด่าว่าพระภิกษุสงฆ์ผู้ตักเตือนเธอด้วยความหวังดีเสียเลย” พระโสธนเถระรีบเข้ามาให้สติพระผู้น้องถึงในเมือง

    แทนที่จะบังเกิดผลกลับได้รับการเย้ยหยันอยู่ในใจพระผู้น้องในทำนองว่าเถระผู้พี่มัวอยู่แต่ในป่าหามีความรู้แตกฉานในพระคัมภีร์ไม่ ยังมีน้ำหน้าจะมาสั่งสอนผู้รู้ เป็นเช่นนั้นอีกสองสามครั้ง เมื่อภิกษุผู้พี่เป็นธุระมาตักเตือนเป็นครั้งที่สุดไม่ได้ผลดีขึ้นจึงแสดงปัจฉิมโอวาทสอนน้องเพื่อให้รำลึก

    “ดูกรอาวุโส (ยกย่องทั้งเป็นน้องทั้งยังมัวเมาในกิเลส) เมื่อเธอไม่เชื่อฟังคำของเราตัวเธอจักปรากฏด้วยกรรมแห่งเธอเอง”

    กปิลภิกษุผู้หลงตัวก็หาได้สำนึกไม่ คงประพฤติปฏิบัติเช่นวิสัยเดิม ยังพระปริยัติศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เศร้าหมองเสื่อมไปเพราะความเมาในลาภยศและมานะทิฏฐิของพระภิกษุกปิลด้วยประการฉะนั้น

    ครั้นถึงกาลอันสมควร เมื่อสิ้นอายุขัยต่างก็ต้องไปตามกรรม พระโสธนเถระผู้พี่ชายดับขันธ์เข้าสู่พระอมฤตมหานิพพาน ส่วนพระกปิลภิกษุได้ไปเกิดในมหานรกขุมที่ 8 ชื่ออเวจีมหานรก ทนทุกข์เวทนาแสนสาหัสเพราะอกุศลกรรมที่ได้ก่อเป็นเวลานานนักสิ้นกาลนับพุทธันดรหนึ่ง คือช่วงเวลานานหนักหนานับจากช่วงว่างของพระพุทธศาสนาหนึ่งถึงอีกพระพุทธศาสนาหนึ่ง เมื่อสิ้นกรรมจากมหานรกอเวจีเศษบาปยังไม่หมดจึงได้มาถือกำเนิดเป็นเดรัจฉานชาติในติรัจฉานภูมิ เป็นสุพรรณมัจฉามีสีสันวรรณะสวยดุจทองคำเดียวดายอยู่ในแม่น้ำอจิรวดี ต่อมามีผู้จับปลาสุพรรณมัจฉาได้และนำไปถวายพระราชาในสมัยพุทธกาลแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมพระองค์นี้

    พระราชาทรงเห็นเป็นปลาประหลาด รับสั่งให้นำปลาสีทองไปยังสำนักแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทูลถามความสงสัย
    ปรากฏกรรมแห่งปลาสีทองก็บังเกิดขึ้นเมื่อนำปลาไปถึงพระเชตวันมหาวิหาร ปลานั้นก็อ้าปากขึ้นทำให้บริเวณพระเชตวันมหาวิหารทั้งสิ้นปรากฏกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว

    พระราชาจึงทูลถามพระพุทธองค์ว่า เหตุไฉนปลานี้จึงมีสีกายคล้ายทองคำผิดไปจากปลาธรรมดาทั้งหลาย และเหตุไฉนจึงมีกลิ่นปากเหม็นอย่างร้ายกาจพระเจ้าข้า

    พระพุทธองค์พระสมณโคดมจึงเล่ากรรมแห่งปลาทองถึงความเป็นมาแต่หนหลังดังได้กล่าวถึงพระกปิลภิกษุผู้เป็นพหูสูตรเรียนจบพระไตรปิฎกมีศิษยานุศิษย์มากแต่ถูกลาภยศเข้าครอบงำได้ด่าว่าพระภิกษุผู้มีศีลทั้งหลายทำให้พระศาสนาของพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมถอยเศร้าหมอง ตายไปจึงไปเกิดในอเวจีมหานรกสิ้นกรรมจากนรกแล้วยังเหลือเศษบาปจึงมาเกิดเป็นปลา แต่เพราะตนเรียนพระพุทธวจนะ สอนพระพุทธวจนะ กล่าวสรรเสริญคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานานจึงมีสรีระเป็นสีทองคำสวยงามแต่กรรมที่ด่าพระภิกษุผู้มีศีลจึงมีกลิ่นปากเหม็นอย่างร้ายกาจ...”

    กระแสสัมผัสกุศลนิมิตที่ปรากฏขึ้นในกระแสน้ำกระแสจิตคละเคล้ากันก็อันตรธานหายไป
    ทั้งสามเณรและแม่ชีประนมมือขึ้นเหนือหัวกระทำอภิวาทน้อมจิตรำลึกพระพุทธคุณบารมีแห่งพระพุทธกัสสปะและพระพุทธโคดมทั้งสององค์ที่ทรงกรุณาชี้แนะความกระจ่างเปรียบเทียบการกำเนิดของสัตว์เดรัจฉานอันทรงคุณผิดแผกไปจากสัตว์ธรรมดาด้วยเหตุฉะนี้กลับเข้ากายเดิมในปัจจุบันชาติ

    แพะทองคำหรือสุวรรณโครำฝูงใหญ่ ยังคงเลาะเล็มหญ้าทิพย์กลืนกินซาบซ่านสลายหายเข้าไปในกายละเอียดอย่างมิมีความอนาทรร้อนใจแต่ประการใด
    “คงเป็นหมู่ภิกษุสงฆ์หมู่ใดหมู่หนึ่งที่ร่วมกันสร้างกุศลกรรมในพระศาสนาไว้ในอดีตชาติและประสบความคลาดเคลื่อนผิดพลาดเผลอเพี้ยนลงไปบ้างจึงเกิดกรรม แต่ไม่หนักหนานัก แม้จะมาเกิดเป็นเดรัจฉานชาติในภพนี้ก็เป็นชาติที่ละเอียดประณีตกว่าเดรัจฉานธรรมดาล้วนแต่มีสีกายอร่ามเรืองเป็นทองทิพย์ร่วมกันเลาะเล็มหญ้าทิพย์อยู่อย่างสุขสบายไม่อนาทรร้อนใจถึงภยันตรายใดๆ เพราะเป็นแดนของมนุษยธรรมผู้ไม่เป็นภัยแด่สัตว์ทั้งปวง ไม่นานนักจักไม่เกินพันปีสัตว์อันมีลหุกรรมเป็นปัจจัยเหล่านี้ถ้าไม่มีกรรมเก่ากรรมใหม่แทรกซ้อนก็จะไปบังเกิดในสุคติภพที่สูงขึ้นอย่างแน่แท้”

    สามเณรและแม่ชี ผู้ปวารณาสร้างมหากุศลแด่มนุษยชาติก็ได้บันทึกจารึกจำหลักถึงกรรมของแพะทองคำหรือสุวรรณโครำไว้ในทิพยจิตเพื่อรอโอกาสอันสมควรที่จะนำถ่ายทอดสู่มนุษยชาติทั้งภพหยาบและภพละเอียดประณีตเพื่อกุศลต่อไป
     
  7. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    อาทิตย์เดียว...เพื่อเสพเมถุนธรรม

    ถัดแผ่นน้ำจากทะเลกว้างอันเป็นที่ตั้งเกาะแก้วเกาะทองใกล้แผ่นดินราบเรียบไปทางด้านตะวันตกสู่วิมานปราสาทสีมรกตกลุ่มชาวนาครอุตตระสามร้อยยอด ที่เบื้องหน้าเขตนาครเป็นสระโบกขรณีใหญ่รื่นรมณียสถาน ดาษดื่นไปด้วยดอกบัวแดง บัวขาว บัวเขียว บัวหลวง กมุทอุบลจงกลนี บัวเผื่อน บัวขาบอยู่เต็มสระ ลมโชยชายเขาพัดกลิ่นหอมขจรเย็นใจมิได้ขาด เป็นกลิ่นทิพย์จากเกสรบัวจรุงกรุ่นภาคพื้นนาครทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่เช่นนั้น

    สามเณรออกท่องเที่ยวพึงพิจารณาในเวลาอันควร
    หนุ่มสาวชาวเมืองนิยมมาแหวกว่ายดอมดมบัวดอกโน้นดอกนี้เป็นที่สำราญจิต บัวทิพย์เหล่านั้นมิมีโรย มิเหี่ยวเฉาและชอกช้ำ แต่มีบัวดอกใหม่สลับสีสลับที่เปลี่ยนแปลงสลับความงดงามแตกต่างไปทุกวัน น้ำในสระโบกขรณีใสสะอาดมิหม่นหมองด้วยเหงื่อไคลของชาวเมืองที่แหวกว่ายเพราะหามีมูตรคูถปฏิกูลในกายทิพย์เหล่านั้นไม่ บางคนก็อาบกินเหมือนดังน้ำอมฤตรสอร่อยอันชุ่มชื่น บางคนก็ดำผุดดำว่ายแต่หยาดน้ำมิเปียกปอนให้ชุ่มโชกรำคาญใจ ผู้ใดจะลงสรงสนานทั้งเครื่องพัสตราภรณ์ถนิมสร้อยสังวาลก็ย่อมได้ตามอัธยาศัย ผู้ใดจะเปลื้องเครื่องทรงกายแต่บางส่วนออกวางไว้ที่ริมสระก็มิเป็นกังวล สร้อยสายสังวาลอลังการเหล่านั้นมีค่ายิ่งนัก แต่หามีใครหวงแหนถือเป็นของตัวของตนไม่ ของใครวางไว้เมื่อใครขึ้นจากสระก่อนจะหยิบของใครใส่สวมก็ไม่มีใครว่าใครเนื่องจากไม่มีใครหวงแหนเป็นสมบัติส่วนตนเลย

    “กิเลสในส่วนนี้จึงหามีไม่”
    สามเณรรำพึง
    “ตัณหา อุปาทานคือ ความอยากความยึดมั่นในสมบัติจึงเบาบางในแดนนี้”
    พิจารณาต่อไป
    “น่าจะเรียกได้ว่าแดนสุขาวดีแห่งโลกภพ”
    ย้อนเจตสิกกลับเข้าสู่ในโลกหยาบอีก
    “มนุษย์แดนนั้น แดนแห่งภพหยาบมีความหวงแหนสมมุติสมบัติจนกลายเป็นกิเลสพอกพูนทุกวาระอยู่เช่นนั้น หวงทำไม หลงทำไม ติดทำไม กับสมมุติสมบัติอันเป็นสิ่งของธรรมดาๆ หยาบกระด้าง แข็งสกปรก มิใกล้เคียงกับประณีตสมบัติในแดนนี้สักนิดหนึ่งเลย คนในแดนนี้เขายังไม่หวงแหนประณีตสมบัติอันล้ำค่าเหล่านี้เลย...”

    เปรียบเทียบกลับไปกลับมาเพื่อหาสัจธรรม
    “ก็เพราะคนที่นี่ไม่มีความหวง ความอยากได้จึงไม่มี การให้หรือให้ทานจึงไม่มีความจำเป็น การอนุเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกันจึงไม่ค่อยปรากฏ อย่างนี้เป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศล”
    “เป็นกุศลเสมอตัว”
    คิดเองถามเองตอบเองแต่ผู้เดียว
    “เป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่สว่างมา...ถ้ารำลึกได้ถึงคุณธรรมเบื้องสูงยิ่งๆ ขึ้นไปได้จะไปสว่างแจ้งได้ง่ายๆ ทีเดียว”

    หนุ่มสาวเหล่านั้นยังคงพากันแหวกว่ายเล่นน้ำเป็นคู่ๆ หยอกเย้ากระเซ้าแหย่ เพ่งพิศประสบกันด้วยตาต่อตาด้วยจิตต่อจิต ด้วยความรู้สึกต่อความรู้สึก
    “จึงทึกทักได้ว่าเป็นหนุ่มสาว...เพราะคนที่นี่หนุ่มสาวเท่ากันทั้งนั้นตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยใกล้พันปี ผู้เลยวัยหนุ่มสาวจะไม่นิยมมาแหวกว่ายหยอกล้อกันเช่นนี้เลย”
    นึกเอาเองพิจารณาเอาเอง คิดว่าคงไม่ผิด

    “พึงสดับมาว่า...ฝูงคนทั้งหลายผู้ชายผู้หญิงในแผ่นดินนี้เมื่อยังหนุ่มสาวจะรักเป็นผัวเมียกันนั้นมิพักเสียสิ่งอันหนึ่งอันใดเลย ใจเขารักใคร่กันเขาก็อยู่ด้วยกันเองแล ครั้นว่าเขาเห็นกันเมื่อใดใจเขาผูกพันกันเข้า หากโสดตาแลหากันเข้าก็รักกันแล...เมื่อเขาจะแรกรักใคร่กันก็ดี เมื่อเขาแรกได้กันเป็นผัวเป็นเมียก็ดี เขาอยู่ด้วยกันแลเสพเมถุนกันแต่ 7 วันนั้นแล พ้นกว่านั้นไปเขามิได้เสพเมถุนกันอีกเลย...”

    เมื่อย้อนรำลึกถึงสัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่า...
    “การเสพเมถุนของมนุษย์เป็นการเสพอสัทธรรม”
    ก็ต้องสรรเสริญคนที่นี่ได้อีกว่า เป็นผู้รู้เท่าทันสัจธรรมข้อนี้ยิ่งกว่ามนุษย์หยาบ เพราะถ้ามีโอกาสตามควร มนุษย์หยาบมักจะเสพเมถุนกันถึงค่อนชีวิตร้อยปีทีเดียว
    “ยิ่งแก่ยิ่งยักแย่ยักยันเสพ”
    เมื่อมีสิ่งเปรียบเทียบให้สรรเสริญก็ย่อมนินทาบ้างเป็นธรรมดา
    สามเณรผู้ล่วงภพจำต้องรีบอุเบกขายกจิตขึ้นมาจากภพหยาบเสียเมื่อรู้ตัวว่าได้นินทามาตุภพของตนเองเข้าไปบ้างแล้ว
    “อโหสิกรรม”

    เมื่อหยอกเย้าเล้าโลมว่ายเวียนเล่นน้ำในสระโบกขรณีเป็นที่สุขสำราญก็พากันขึ้นไปสวมใส่พัสตราภรณ์สร้อยถนิมอลังการของใครก็ได้ที่วางไว้ตามอัธยาศัยดังกล่าว บ้างก็เด็ดดอกบัวสีสันต่างๆ ที่สะสวยทัดหู ทัดผมประดับประดาแล้ววิ่งเล่นเริงระบำรำฟ้อนในท่วงท่าวิจิตรศิลป์ที่ริมสระ พวกที่เป็นลูกคู่กองเชียร์ก็ดีดสีตีเป่าเครื่องเสียงเครื่องสายเครื่องตีเครื่องเป่าเป็นทำนองไพเราะเสนาะหูคล้ายดนตรีไทยเดิมเป็นส่วนใหญ่ ฟังไพเราะเพราะพริ้งเฉกทิพยสังคีตมโหรีขับกล่อมน่าหลงใหล

    “จึงจำต้องยกจิตอุเบกขาอีกครั้งหนึ่ง”
    สามเณรน้อยผู้เอกาแต่ไม่เดียวดายเพราะเป็นจิตของสมณะที่ต้องควบคุมให้เบิกบานด้วยกุศลธรรมอยู่เป็นเนืองนิตย์
    “ในขณะที่เหล่าคนทิพย์กำลังเบิกบานอยู่ด้วยทิพยกามารมณ์เราจำต้องเบิกบานอยู่ด้วยกุศลธรรมารมณ์”
    ผู้รู้เท่าทันที่แตกฉานมักจะใช้กุศโลบายเพื่อกุศลเช่นนี้
    “พึงทราบแล้วเปลี่ยนดีกว่า”

    แล้วสมณะก็หลีกเร้นจากรมณียสถานแห่งนั้นท่องเที่ยวไปยังสวนผลไม้ใกล้ชานเมือง ณ ที่นั้น ขนุนสีทองลูกใหญ่เท่าไหหาม คือไหใหญ่ๆ ที่ต้องช่วยกันหามจึงจะยกขึ้น ห้อยระย้าอยู่เต็มต้นใหญ่ๆ มะพร้าวลูกเท่าโอ่งยักษ์ มะม่วงเป็นช่อเป็นพวงลูกขนาดสับปะรดใหญ่ในชมพูทวีป ผลไม้ทิพยนิมิตเหล่านั้นล้วนใหญ่โตมโหฬารทั้งสิ้นทั้งปวง ทั้งๆ ที่คนที่นี่ก็รูปร่างเท่ามนุษย์โลกหยาบธรรมดาๆ คงจะเป็นเพราะเป็นผลไม้พันปีไม่เน่าไม่หล่น ใครนึกอยากจะกินอะไรก็จะซาบซ่านละลายอร่อยลิ้นนิมิตผ่านเข้าไปอิ่มเอมในอารมณ์

    “ขณะนี้ยามวิกาลเลยเที่ยงวัน นอกเวลาอาหารของสมณะ”
    สามเณรรำลึกเพื่อไม่ประมาท ด้วยเกรงว่าตนจะเผลอนึกอยากจะลิ้มลองผลไม้ใดเข้าไป ประเดี๋ยวก็ต้องกลับไปปลงอาบัติกันย่ำแย่
    “อยู่ในภพที่ประณีตจะนึกลามกแบบในภพหยาบไม่ได้เพราะเมื่อนึกแล้วสิ่งที่นึกมันจะปรากฏให้เห็นจริง เป็นจริง ต้องระวังข้อนี้เป็นสำคัญ”
    พยายามเตือนตนอีกเพื่อจะจำเป็นวิสัย

    สามเณรเที่ยวเล่นไปเป็นที่เบิกบานสำราญใจ คือสำราญในการพิจารณาธรรมเพื่อกุศลมิให้เสียเวลาเปล่าประโยชน์ไปเลย ธรรมเช่นนี้ในแดนนี้มีปรากฏอยู่น้อยมากในพระคัมภีร์ ถ้าจะพึงพิจารณาเทียบเคียงให้สมเหตุด้วยภาวนามยปัญญาอันพอมีก็จะได้จารึกจำหลักไว้ในจิตเพื่อนำไปทดสอบตรวจตรากับหลวงพ่อหลวงแม่หมู่สมณะพเนจรจักได้ธรรมอันถูกต้องตรงกับพระสัจธรรมของพระพุทธองค์เป็นที่สุด เมื่อนั้นถ้าได้นำออกเผยแพร่เป็นธรรมกถาเตือนจิตผู้มีกุศลศีลในแดนประณีตได้บ้างก็จะเป็นมหานิสงส์ไม่น้อยทีเดียว

    “ณ แดนนี้นอกจากพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายไม่มาบังเกิดแล้วพระจักรพรรดิแก้วก็ไม่มาบังเกิดเช่นกัน เปรียบเสมือนแดนทิพย์ที่อาภัพ แต่ในครั้งจักรพรรดิแก้วเมื่อเริ่มโลก พระจักรพรรดิผู้ทรงธรรมแห่งกัป ทรงพระนามว่าทัลหเนมิ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินชมพูทวีปได้ทรงเสด็จมาด้วยจักรแก้วอันเป็นทิพย์นำสัจธรรมแห่งปัญจศีลมาจารึกจำหลักเน้นย้ำเพื่อวิสัยขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งการดำรงชีวิตเพื่อชาวอุตตรกุรุทวีป ได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ แม้ครั้งกระนั้นนางแก้วผู้มีบุญญาธิการจากแดนอุตตระก็เคยกระทำสังขารล่วงภพไปเป็นมเหสีแห่งพระจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ณ ชมพูทวีป ดังเรื่องที่เคยปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก

    ถ้าสมณะหมู่เราพึงแจ้งจากภาวนามยปัญญาได้บ้างถึงสัจธรรมแห่งองค์พระบรมศาสดาอันควรจักแสดงแก่ชาวอุตตรกุรุทวีปนี้ก็จะเป็นการอนุเคราะห์ที่ยิ่งใหญ่แด่ชนหมู่มากไม่น้อยกว่าชาวชมพูทวีปเลย อันเปรียบเสมือนแดนลับแลซ่อนเร้นอยู่ระหว่างกึ่งสวรรค์กึ่งโลกภพมาตลอด จำเราจะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้ยิ่งขึ้น เพื่อค้นสัจธรรมแห่งพระพุทธองค์อันควรที่จะนำมาแสดงแก่ชาวอุตตรกุรุทวีป ให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเท่าที่บุญกุศลและแรงอธิษฐานจากกิจปวารณาแห่งมหาราชิกาจะเอื้ออำนวยให้เราและหมู่สมณะทั้งสามจะพึงกระทำ”

    สามเณรประนมมือน้อมมนสิการรำลึกพระบารมีพระพุทธองค์ทรงเมตตาอนุเคราะห์เพื่อรู้ธรรมอันควรเพื่อพิภพประณีตแห่งนี้ด้วยเถิด
    “ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา”
    องค์ตถาคตเคยตรัสพุทธวจนะทำนองเช่นนั้น
    “น่าจะนิรมิตทิพยพระพุทธรูปประดิษฐ์ในสถานอันควรแห่งใดแห่งหนึ่งในแดนอุตตระนี้เพื่อจะเป็นสิ่งน้อมนำจิตละเอียดของคนที่นี่เข้าถึงธรรมเบื้องสูงของพระพุทธองค์ต่อไป”
    เป็นความดำริซึ่งเกิดขึ้นในใจของสามเณรน้อยในวาระนั้น
     
  8. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    อุตตราวิมาน

    “ในเทวโลกเช่นดาวดึงส์ภูมิยังเป็นที่สถิตของพระจุฬาโมลีและพระทาฐธาตุ คือพระมวยผม และพระเขี้ยวแก้วองค์บนขวาของพระพุทธเจ้า ณ มหาจุฬามณีเจดีย์ ที่นาคพิภพก็เป็นที่สถิตของพระเขี้ยวแก้วองค์ล่างซ้ายอยู่บนยอดเขามอ ทิพยรัตนะในอาณาจักรจาตุมหาราชิกาเป็นต้น ในชมพูทวีปภพหยาบมีรูปสักการะแห่งพระพุทธองค์มากมายดังปรากฏ...ฉะนั้น ณ แดนอุตตรกุรุทวีปแห่งนี้ ถ้าจักมีทิพยปฏิมากรพระพุทธรูปนิรมิตขึ้นเพื่อน้อมจิตชาวเมืองให้เห็นธรรมของพระบรมศาสดายิ่งขึ้นไปก็น่าจะพึงกระทำเพื่อเสริมกุศล”

    พระสมณะจิตตัง กถาธิบายความเห็นชอบตามที่ได้พิจารณาหลังจากสามเณรได้นำความดำริในความรู้สึกมาปรึกษารับคำแนะนำ
    “คุณของพระพุทธเจ้าประการหนึ่ง คือ สตฺถา เทวมนุสสานํ กล่าวคือ พระพุทธองค์ทรงเป็นบรมศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็มนุษย์ในแดนนี้พึงชอบที่จะน้อมจิตเข้าเป็นศิษย์แห่งตถาคตด้วยการประพฤติธรรมของพระองค์ให้ยิ่งขึ้น การนำธรรมเช่นนี้มาสู่พวกเขาก็พึงเป็นกิจอันอยู่ในกิจปวารณาแห่งหมู่เรา”
    สมณะเสริมต่อ

    “...แต่...แต่...สมควรที่จักต้องเกิดขึ้นจากกุศลศรัทธาเป็นสำคัญสำหรับชาวอุตตระเอง มิเป็นการสมควรที่หมู่เราจะพึงเป็นผู้ยัดเยียดชี้นำเขา”
    หลวงพ่อให้ข้อไขไว้เป็นปริศนาในที่สุด
    สามเณรผู้มีปฏิภาณฉับพลันด้วยมโนยิทธิ ก็พึงทราบกิจอันควรปฏิบัติอันเนื่องจากปริศนาที่จะให้ชาวเมืองร่วมกันน้อมนิรมิตทิพยรูปลักษณ์จำลองพระสมณโคดมขึ้นในอุตตรกุรุทวีปแดนนี้เป็นสำคัญ

    จึงในวารสมัยแห่งการฟังธรรมของชาวนาครนับเนื่องจากเวลาเที่ยงวันไปถึงยามเย็นอีกวาระหนึ่ง สามเณรน้อยได้รับอนุญาตจากหลวงพ่อให้เป็นองค์แสดงธรรมแด่อุบาสกอุบาสิกานับแสนในสถานนั้น
    บนแท่นหินใต้ร่มเกดใหญ่ เบื้องข้างสระโบกขรณีน้อยหน้าเทวาคารแห่งเจ้าแม่นมสาว เป็นแท่นธรรมาสน์ซึ่งสามเณรเลือกเป็นที่นั่งแสดงธรรม บัวทะเลสีรุ้งจากนาคพิภพมหาราชิกายังคงลอยเปล่งประกายรัศมีสดใสอยู่ในสระนั้น เปรียบประดุจบัวทิพย์บูชาพระพุทธองค์ เมื่อสามเณรขึ้นบทนมัสการนอบน้อมพระผู้มีพระภาคในบทนะโมสามจบ บัวสีรุ้งก็เปล่งประกายรับสว่างไสวขึ้นเป็นทวีคูณทั้งสามจบเป็นอัศจรรย์ในแดนทิพย์

    “ต่อจากนี้อาตมาจักได้นำธรรมของพระพุทธองค์ในบางประการมาแสดงธรรมเทศนาให้เป็นที่รื่นรมย์ด้วยกุศลเกษมแด่ท่านผู้มีจิตละเอียดทั้งหลาย...อันว่าธรรมะของพระพุทธองค์นั้นเป็นธรรมสภาวะมหัศจรรย์และประณีตล้ำลึกหนักหนา ผู้ที่จะปรารถนาฟังให้ไพเราะเพราะพริ้งสัมผัสชัดแจ้งเหมือนกับตัวตนของท่านได้สัมผัสเองฉะนั้น ท่านผู้มีจิตละเอียดแจ่มใสดีอยู่แล้ว โปรดน้อมจิตประดุจแก้วโปร่งใสของท่านให้นิ่งสนิทเป็นสมาธิ ด้วยรำลึกปัญจศีลอันเป็นวิสัยช่วยเสริมความนิ่งนั้น แล้วพึงพิจารณาด้วยจิตที่ละเอียดยิ่งขึ้นในธรรมที่อาตมาจะพึงแสดงต่อไป ในสภาวะเช่นนี้เมื่อปฏิบัติแล้วพึงเรียกว่า ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาซึ่งเกิดจากศีลสมาธิจะนำท่านไปสู่ความชัดแจ้งแน่แท้ในสัจธรรมอย่างยิ่งยวดด้วยตนเองตามที่อาตมาจะได้พรรณนา ณ บัดนี้...

    ...ณ แดนดาวดึงส์สวรรค์ ทิพยสถานชั้นละเอียดประณีตเป็นที่ยิ่งขึ้นไปจากมหาราชิกาซึ่งมีจอมเทพท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่ แวดล้อมด้วยเทพสำคัญอีก 33 องค์ มีวิมานมหาปราสาทไพชยันต์ สูงตระหง่านนับพันโยชน์ ประดับด้วยธงทิวธงทิพย์งามหนักหนา มีเทวสุธรรมาสภา มีต้นมหาปาริฉัตรกะอันร่มรื่นริมอุทยานบุณฑริกวันสระบัวขาวบัวเพชรดารดาษ มีสวนขวัญจิตลดาวัน สระโบกขรณีนันทาและแท่นทิพย์บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์

    ณ แดนนั้นยังมีวิมานสถานหนึ่งปรากฏนามว่าอุตตราวิมานอันแสนงาม มีเทวีอุตตราเทพธิดาสถิตอยู่ อุตตราเทพธิดา ผู้มีนามเดียวกับทวีปอุตตระนี้ แต่เดิมเป็นมนุษย์ชมพูทวีป มารดาก็ชื่ออุตตรา ตนเองก็ชื่ออุตตราธิดา พึงสันนิษฐานคาดคะเนด้วยกฎแห่งกรรมใดว่าในอดีตชาติก่อนเป็นมนุษย์ชมพูทวีปคงจะเป็นมนุษย์อยู่ในอุตตรทวีปทั้งสองคน แต่ด้วยกรรมเก่าตามมาจากชาติหนหลังก่อนๆ เมื่อตายไปจากอุตตรกุรุทวีปแล้วมิได้ไปบังเกิดในสุคติภูมิที่ยิ่งขึ้นไป กลับไปบังเกิดรับกรรมเป็นเมียและลูกบุรุษเข็ญใจชื่อปุณณะ อาศัยราชคฤหเศรษฐีเลี้ยงชีพอยู่ไปมื้อๆ หนึ่งในชมพูทวีป

    เป็นอุทาหรณ์สำคัญในประการจำแนกธรรมให้เห็นไตรลักษณ์หนึ่งที่ว่า ทุกขัง ความทุกข์อันเกิดจากความตายดังที่หลวงพ่อพระสมณะจิตตังเคยธรรมเทศนา

    แม้จะเป็นชาติที่รับเคราะห์ชดใช้กรรม แต่ก็ยังโชคดีที่เกิดในชาติเดียวกับพระสมณโคดมผู้บำเพ็ญจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาตินั้น ทั้งมารดาและธิดาอุตตราทั้งสอง น้อมจิตน้อมกายใกล้ชิดปฏิบัติศีลทำบุญให้ทาน โดยเฉพาะอุตตราผู้ธิดาน้อมกายใจเป็นธิดาแห่งธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยศรัทธายิ่ง เมื่อถึงกาลกิริยาจึงได้บังเกิดเป็นเทพธิดาเสวยสุขอยู่ในวิมานอุตตราวิมานดังกล่าว

    ...ครั้งกระนั้นเมื่ออุตตราเทพธิดาได้บังเกิดในภพดาวดึงส์แล้วพระพุทธองค์และสาวกทั้งหลายยังคงโปรดสัตว์อนุเคราะห์ชาวมนุษย์ชมพูทวีปอยู่ คราวหนึ่งท่านพระโมคคัลลานะเถระ พระอัครสาวกผู้ทรงฤทธิ์แห่งพระพุทธองค์ทรงขอพุทธานุญาต เข้าจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญาจาริกไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบอุตตราวิมานและเทพธิดาผู้งดงามมาก จึงถามว่า...

    ดูก่อนเทวดา ท่านมีวรรณะงาม ส่องแสงสว่างไปทุกทิศเหมือนกับดาวประกายพรึก เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีวรรณะอย่างนี้ เพราะบุญอะไรผลนี้จึงสำเร็จแก่ท่านและโภคะทุกอย่างที่น่ารักจึงเกิดแก่ท่าน

    ดูก่อนเทพผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน ครั้งเป็นมนุษย์ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไรท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ อนึ่ง วรรณะของท่านจึงสว่างไสวไปทุกทิศ

    เทพธิดาได้รับคำชมจากพระเถระก็ปีติดีใจในการตอบกุศลกรรมแต่ครั้งเป็นมนุษย์ในโลกภพ ได้เล่ากรรมนอบน้อมตอบด้วยความยินดีว่า...

    “ครั้งเป็นมนุษย์ดีฉันเป็นบุตรสาวของมารดานามอุตตรา ดีฉันก็มีนามอุตตราธิดาเช่นเดียวกัน บิดาเป็นบุรุษเข็ญใจชื่อปุณณะ ยากจนข้นแค้นไม่ค่อยจะมีอาหาร อาศัยราชคฤหเศรษฐีเลี้ยงชีพอยู่ กาลหนึ่งมีงานเทศกาล 7 วัน 7 คืน ผู้คนในกรุงราชคฤห์ก็หยุดทำงาน เที่ยวเล่นในงานมหกรรมนักษัตรกันทั้งสิ้น แต่ครอบครัวเราไม่มีจะกิน บิดาจึงต้องออกไปรับจ้างในนาเพื่อหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัว ไม่มีโอกาสเล่นสนุกสนานเช่นคนอื่นเขา ส่วนมารดาและดีฉันมีหน้าที่ทำอาหารเอาไปส่งบิดาในนาที่รับจ้าง

    เช้าวันนั้นพ่อเล่าว่าขณะทำงานอยู่ในนา เห็นพระเถระองค์หนึ่งเดินมาจึงกราบไหว้อย่างนอบน้อม เห็นยังเช้าตรู่น่าจะเป็นเวลาชำระแห่งพระธุดงค์จึงทำไม้ชำระฟันถวายพร้อมกับกรองน้ำเพื่อชำระนั้นและทราบภายหลังว่าพระเถระท่านนั้นคือพระสารีบุตรเถระ ซึ่งกำลังออกจากนิโรธสมาบัติ มารดาซึ่งนำอาหารไปส่งพ่อ เล่าต่อมาว่าได้พบพระเถระองค์นั้นระหว่างทางก็คิดว่าบางคราวเมื่อมีอาหารเราก็ไม่พบพระ บางคราวเมื่อพบพระก็ไม่มีอาหาร คราวนี้เรามีอาหารอยู่แม้จะไม่ดีนักเพราะเป็นอาหารคนจน แต่มีจิตปรารถนาถวายอาหารแด่พระเถระ จึงนิมนต์รับอาหารที่จะนำไปส่งสามี เมื่อพระเถระรับบาตรอาหารเพียงครึ่งหนึ่ง ท่านก็ปิดบาตรบอกว่า พอละ แต่มารดาขออ้อนวอนให้รับอาหารให้หมดโดยกล่าวว่าโปรดสงเคราะห์ยังโลกหน้าด้วย พระเถระสารีบุตรรับอาหารทั้งหมดแล้วก็ให้พรว่าจงสมปรารถนาเถิด แล้วทำอนุโมทนา มารดาจึงกลับมาทำอาหารใหม่นำไปให้บิดาเมื่อตอนสายก็เกรงว่าพ่อจะโกรธเพราะมาสาย จึงเล่าเรื่องถวายอาหารพระเถระให้ฟัง แทนที่พ่อจะโกรธพ่อกลับชมเชยว่าทำดีแล้ว แม้เราก็ได้ถวายไม้ชำระฟันและน้ำบ้วนปากแก่ท่านเมื่อเช้าตรู่ ทั้งสองจึงพากันผ่องแผ้วแจ่มใสที่ได้ทำบุญด้วยความปลื้มปีติ เมื่อกินอาหารตอนสายแล้วพ่อก็นอนหนุนตักแม่แล้วหลับไปครู่หนึ่ง

    เมื่อตื่นขึ้นมาปรากฏว่าท้องนาที่พ่อรับจ้างไถเมื่อตอนเช้านั้นกลายเป็นทองคำเหลืองอร่ามไปหมดจึงแปลกใจถามแม่ว่าเป็นเพราะฉันกินอาหารสายไปหรือเปล่าจึงตาลายเห็นแผ่นดินเป็นทองคำ เมื่อหยิบดินมาทุบกับหัวไถก็รู้ว่าเป็นทองคำจริงๆ จึงรำลึกได้ว่าคงจะเป็นเพราะได้ผลทานในการทำบุญกับพระเถระเมื่อเช้านี้ พ่อแม่ดีใจจึงนำทองใส่ภาชนะที่ใส่ข้าวไปนำมากราบทูลให้พระราชาทราบ พระราชาก็ยืนยันในผลแห่งอานิสงส์นั้น ส่งเกวียนไปมากมายให้ไปขนทองมาในพระราชวัง พวกราชบุรุษขณะขนทองขึ้นเกวียนต่างกล่าวว่าเป็นสมบัติของพระราชา เมื่อกล่าวเช่นนั้นทองคำก็กลายเป็นดินตามเดิม ราชบุรุษจึงกลับมากราบทูลพระราชาเช่นนั้น พระราชาจึงให้ราชบุรุษกลับไปและพูดใหม่ว่าเป็นสมบัติของปุณณะ ทองก็กลายเป็นทองคำตามเดิมอีกจึงพากันขนทองคำจำนวนมากมากองไว้ที่พระลานหลวงกองสูงถึง 80 ศอก แล้วพระราชาก็ได้พระราชทานฉัตรตำแหน่งเศรษฐีแก่ปุณณะและโภคทรัพย์อีกมากมายแล้วฉลองตำแหน่งมหาเศรษฐีครอบครัวปุณณะได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขอยู่ 7 วัน พระบรมศาสดาเมื่อทรงอนุโมทนาทาน ตรัสอนุปุพพีกถา คือเทศนาแสดงอานิสงส์แห่งทาน พรรณนาศีล พรรณนาสวรรค์ พรรณนาโทษของกาม และพรรณนาอานิสงส์แห่งการออกจากกามแก่พ่อแม่แลดีฉันจนจบธรรมกถา พวกเราทั้งสามได้บรรลุเป็นโสดาบันด้วยกุศลอนุเคราะห์แห่งพระพุทธองค์ในขณะนั้นเจ้าค่ะ

    ต่อมา ราชคฤหเศรษฐีได้สู่ขอดีฉันซึ่งเป็นธิดาปุณณะเศรษฐีให้บุตรของตน แต่แรกปุณณะเศรษฐีไม่ยอมเพราะรู้เช่นเห็นชาติในราชคฤหเศรษฐีว่าเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิมิได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่ทนความรบเร้าอ้อนวอนและสนับสนุนจากพวกเศรษฐีทั้งหลายไม่ได้ ในที่สุดก็ใจอ่อนยินยอมยกดีฉันให้เป็นภริยาบุตรของราชคฤหเศรษฐีจนได้

    นับแต่เป็นภริยาสะใภ้ในเรือนราชคฤหเศรษฐีเป็นเวลา 2 เดือนครึ่งเต็ม ดีฉันก็ไม่ได้ถวายทานทำบุญกับภิกษุหรือภิกษุณีเลย ดีฉันเสียใจส่งข่าวไปบอกบิดาและตัดพ้อว่าไม่ควรยกดีฉันให้แก่สกุลมิจฉาทิฏฐิเช่นนี้ ดีฉันจะถูกเฆี่ยนตีหรือเป็นทาสของคนอื่นเสียดีกว่าที่จะมาเป็นสะใภ้พวกมิจฉาแล้วไม่มีโอกาสทำบุญถวายทานแก่พระภิกษุเลย ได้แต่ทำหน้าที่เป็นภริยาไม่ว่างเว้นในแต่ละวันคืน

    บิดามารดาของดีฉันก็ได้แต่ระทมทุกข์เช่นกัน จึงหาทางออกแก้ไขให้ดีฉันได้ทำบุญให้ทานบ้าง ได้ไปว่าจ้างหญิงนครโสเภณีรูปงามชื่อสิริมา วันละพันกหาปณะ จ้างนางสิริมามาปรนนิบัติทำหน้าที่ภริยาแทนดีฉัน สามีดีฉันเห็นนางสิริมาสวยน่าเสน่หาก็ยินยอมรับนางเป็นภริยารับจ้าง และรับคำว่าดีซิจ๊ะ ดีฉันจึงได้มีโอกาสทำบุญถวายทานและฟังธรรมตลอดกึ่งเดือน

    ดีฉันได้นิมนต์พระสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขรับถวายอาหารตลอดครึ่งเดือนที่มีโอกาส ถือเอาปฏิญญาของพระศาสดาดีใจว่าตั้งแต่บัดนี้ไปเราจักได้บำรุงพระศาสดาและฟังธรรมจนถึงวันมหาปวารณา โดยช่วยแม่ครัวทำอาหารคาวหวานอันประณีตอย่างดีถวายสงฆ์เป็นการใหญ่
     
  9. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    ทิพยพุทธปฏิมากร

    ขณะที่ดีฉันช่วยแม่ครัวทำครัวอยู่นั้น หน้าตาก็สกปรกมอมแมม สามีของดีฉันได้เข้ามาเลียบๆ เคียงๆ มองอย่างเหยียดหยามในการกระทำของดีฉันและหัวเราะเยาะพลางกล่าวรำพึงด่าทอถากถางเบาๆ ว่า...โอ...หญิงโง่เง่า มัวแต่ปลื้มใจว่าได้บำรุงเหล่าสมณะโล้น โง่เง่าแท้ๆ หัวเราะเยาะเย้ยแล้วก็เดินจากไป นางสิริมาภริยารับจ้างอยู่ใกล้ๆ เห็นสามีชั่วคราวหัวเราะเช่นนั้นจึงสอบถามได้ความว่าสามีหัวเราะเยาะนังคนครัวสกปรกมอมแมมนั่นน่ะเอง ด้วยไม่รู้ว่าดีฉันคือภริยาที่แท้ของเขา และคงคิดอิจฉาว่าดีฉันคงจะเป็นคนครัวที่สนิทชิดเชื้อของบุตรเศรษฐีเขาจึงได้เข้ามาใกล้ชิดแล้วหัวเราะด้วยท่าทีขำขันในความงี่เง่า

    คงจะต้องการประจบสามีดีฉันให้ยิ่งขึ้น นางสิริมาจึงกระทำซ้ำเติมแก่ดีฉันเพื่อเอาใจสามีของดีฉัน นางจึงหยิบกระบวยตักเนยใสที่กำลังเดือดตรงรี่เข้ามาทำท่าจะรดหน้าของดีฉัน ดีฉันรวบรวมสติอันเป็นกุศลพิจารณาแผ่เมตตาว่า...สิริมา...สหายของเราได้ทำอุปการะแก่เรา จักรวาลก็ยังแคบเกินไป พรหมโลกก็ยังต่ำเกินไป สหายของเรามีคุณยิ่งใหญ่ ถึงเราก็อาศัยนาง จึงได้มีโอกาสให้ทานฟังธรรมเช่นนี้ ถ้าเรามีความโกรธผู้มีพระคุณแก่เราก็ขอให้เนยใสอันเดือดพล่านจงลวกเราเถิด ถ้าเราไม่โกรธ ขอเนยใสอย่าได้ลวกเราเลย...เมื่อนางสิริมาราดเนยใสลงบนศีรษะของดีฉัน เนยนั้นก็เย็นประดุจน้ำอันชุ่มชื่นด้วยอานิสงส์แห่งการแผ่เมตตา นางสิริมาคิดว่าเนยเย็น จึงไปตักเนยที่กำลังร้อนเดือดปุดๆ จากกระทะทอดขนมจะมาราดรดดีฉันอีก พวกทาสทั้งหลายเห็นเข้าจึงช่วยกันรุมตบตีนางสิริมาและตะคอกว่าอีหญิงดื้อนางเอาเนยเดือดมารดเจ้านายของข้าทำไม...มิทันที่ดีฉันจะห้ามปรามได้ทันนางสิริมาก็ถูกประชาทัณฑ์จากข้าผู้จงรักของดีฉันจนล้มลุกคลุกคลานไป ดีฉันจึงห้ามปรามทาสีมิให้ทำนางอีก

    เมื่อนางสิริมาทราบความจริงว่าดีฉันเป็นใครก็เกิดสำนึกผิด ทั้งสำนึกได้ว่าเพียงสามีหัวเราะเท่านั้นนางได้สร้างกรรมหนักแก่ดีฉันเกินไป ครั้นเมื่อทาสีช่วยกันทำร้ายนาง ดีฉันก็ยังได้เข้าห้ามปรามช่วยเหลือนางอีก จึงหมอบลงใกล้เท้าดีฉันขอให้ยกโทษให้นางด้วยเถิด

    ดีฉันจึงกล่าวว่าเราเป็นธิดามีบิดา เมื่อบิดาของเราอดโทษให้ เราก็จะอดโทษให้ นางสิริมาจะไปกล่าวขออดโทษกับปุณณเศรษฐี ดีฉันจึงแจ้งว่าท่านปุณณเศรษฐีเป็นชนกบิดาในวัฏฏะ บิดาที่จะอดโทษแล้วดีฉันจะอดโทษให้ดังกล่าวจะต้องเป็นชนกบิดาในวิวัฏฏะเท่านั้น และชนกบิดาในวิวัฏฏะของดีฉันก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่พระองค์เดียว”

    สามเณรน้อยแสดงธรรมเทศนาเล่ากรรมจากอุตตราวิมานตามที่พระมหาโมคคัลลานะเถระได้สัมผัสจากดาวดึงส์ในพุทธกาล เน้นให้เห็นความศรัทธาของอุตตราธิดาที่มีต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยถวายตนเป็นธิดาในวิวัฏฏะแห่งพระพุทธองค์ ธิดาในวิวัฏฏะคือธิดาในห้วงแห่งพระนิพพานพ้นจากวัฏฏะการเวียนว่ายตายเกิด

    “เมื่อความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาตรัสชอบต่อเบื้องหน้าดีฉันว่า...

    ดีละ ดีละอุตตรา ชนะความโกรธอย่างนี้ก็สมควร...พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะผู้พูดเท็จด้วยคำจริง

    พระพุทธองค์ทรงกถาว่าด้วยสัจจะ 4 จบ สัจจะกระทำดีฉันให้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล เมื่อตายจึงมาบังเกิดในภพดาวดึงส์...ท่านพระเถระเจ้าขา ขอท่านได้กรุณานำความไปกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยว่า นางอุตตราอุบาสิกา ขอถวายบังคมพระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงพยากรณ์ดีฉันในสามัญผลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่น่าอัศจรรย์เลย เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ดีฉันไว้ในสกทาคามิผลนั้นแล้ว”

    องค์เทศน์จบธรรมเทศนาอรรถกถาอุตตราวิมานลง

    ชาวนาครอุตตระผู้น้อมจิตภาวนาติดตามสัมผัสไปตั้งแต่ต้นจนจบก็ซาบซึ้งแซ่ซ้องสาธุการ เห็นอานิสงส์แห่งเทพธิดาผู้มีนามเดียวกับทวีปตน ซาบซึ้งในพระมหาบารมีแห่งพระพุทธองค์ ทุกคนต่างปรารถนาจะถวายตนเป็นบุตรธิดาในวิวัฏฏะแห่งพระพุทธเจ้าบ้าง ด้วยปรารถนาจะใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทเฉกเช่นอุตตราธิดานางในครั้งกระนั้น

    “พวกเราผู้อยู่ไกลพระพุทธองค์ จะกระทำได้อย่างไรหรือที่จะใกล้พระพุทธองค์ได้บ้าง”
    ชาวนาครมอบหมายให้ผู้สมควรท่านหนึ่งแจ้งถาม
    “พระพุทธองค์ทรงกล่าวพุทธวจนะไว้ว่า ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”
    สามเณรแจ้งตอบ

    “เราเห็นพระพุทธองค์โดยญาณภาวนาแล้ว พระพุทธองค์ทรงเมตตากรุณาอนุเคราะห์ผู้ควรอนุเคราะห์ได้ทั่วไป เราเห็นธรรมของพระพุทธองค์แล้ว ธรรมที่ตรัสไว้ว่าพึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พวกเราไม่เคยรู้จักความตระหนี่คืออะไร ต่อเมื่อมิได้ให้ทานถวายอาหารแด่พระสมณะในวันแรกๆ นั้นแล้วมารำลึกได้ว่าเราไม่ได้เป็นผู้ให้ทานแก่สมณะ เราจึงรู้จักว่าพวกเราเป็นผู้ตระหนี่ด้วยความไม่รู้ พวกเรารู้แจ้งในธรรมข้อนี้ขึ้นมาเมื่อสามเณรหยิบยกขึ้นมากล่าวอีก เราจึงกระทำสาธุการ เห็นพระคุณพระพุทธองค์และสมณะที่กรุณาแจ้งให้เราเป็นผู้ไม่ตระหนี่ต่อไป...สำหรับธรรมข้ออื่นที่สามเณรหยิบยก พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ เราชนะแล้ว พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี เราชนะแล้ว พึงชนะผู้พูดเท็จด้วยคำจริง เราชนะแล้ว เราจึงเป็นผู้ชนะครบถ้วนโดยธรรมของพระพุทธองค์ที่ได้รับแจ้งจากธรรมเทศนาในวาระนี้ทุกประการแล้ว เราเห็นธรรมของพระพุทธองค์ เราเห็นพระพุทธองค์แล้ว...พวกเราจักปรารถนาให้พระพุทธองค์ปรากฏอยู่ในสถานที่นี้ชั่วกาลนาน เป็นองค์ปรากฏเพื่อเป็นที่สักการบูชาเพื่อเห็นธรรมของพระพุทธองค์สืบไป เราควรพึงกระทำเช่นใดท่านสมณะ”

    กุศลศรัทธาเกิดขึ้นจากชาวอุตตระเองตามที่หลวงพ่อได้ชี้แนะ
    ชาวนาครอุตตระประสงค์จะมีองค์ปรากฏของพระพุทธเจ้าขึ้นในสถานที่นี้ตรงกับดำริของสามเณรน้อยในการดำริเพื่อมหากุศล มโนมยิทธิและธรรมกถาจากสัจธรรมของบรมศาสดาบันดาลผลให้กิจพึงประสงค์ได้บังเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ สามเณรจึงชี้แนะด้วยความปีติ

    “ณ เบื้องข้างซ้ายมือของอาตมา เป็นสระโบกขรณีเล็กอันมีบัวทะเลสีรุ้งจากนาคพิภพมหาราชิกาลอยบูชาพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว นับเนื่องตรงจากบัวสวรรค์ขึ้นไปสุดยอดเกาะแก้วรัตนะแห่งเทพธิดายมโดยพระแม่เมืองของชาวนาคร บนหินดาดแท่นทองคำเบื้องไทรแก้วอันร่มรื่นสมควรเป็นแท่นประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรแห่งองค์พระพุทธเจ้า ถ้าเทพธิดายมโดยผู้ครองสถานที่และพระสมณะหลวงพ่อผู้อาวุโสเห็นสมควร อาตมาเห็นว่าสถานที่แห่งนั้นสมควรยิ่งนัก”

    สามเณรพึงกระทำนมัสการหลวงพ่อพระสมณะเบื้องอาศรมที่ชะง่อนหินเหนือเทวาคารเป็นเชิงขอรับความเห็น หลวงพ่อพระสมณะแจ้งกระแสลงมายังเจ้าแม่นมสาว ซึ่งนั่งฟังธรรมอยู่ ณ แท่นแก้วลดหลั่นลงมาจากองค์ธรรมาสน์ที่เบื้องซ้ายสระโบกขรณีน้อย
    “การอันควรย่อมขึ้นอยู่กับเทพเธอผู้ถึงกุศล ผู้ครองสถานอันประณีตนี้”
    เจ้าแม่นมสาว กระทำนมัสการกล่าวสาธุ
    “สาธุ...ดีฉันเห็นควรแก่การกุศลเป็นอย่างยิ่งเจ้าค่ะ”

    เมื่อกระแสทิพยจิตแต่ละดวงนับจากพระสมณะในพระพุทธศาสนา เทพธิดาพระแม่เมืองชาวนาครอุตตระนับแสนมีความเห็นพ้องต้องกันด้วยกุศลศรัทธาในพระพุทธองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า พลันรูปลักษณ์นิรมิตองค์พระทิพยพุทธปฏิมากรแก้วสัตตรัตนะปางนั่งสมาธิก็ปรากฏขึ้นเหนือแท่นทิพยทองคำเบื้องข้างไทรแก้วบนยอดสุดเกาะแก้วรัตนะอลังการแห่งเจ้าแม่นมสาว ณ บัดนี้

    อาทิตย์ยามบ่ายแห่งอุตตรกุรุทวีปก็จางแสงลงด้วยรัศมีรุ่งโรจน์อันปรากฏจากประกายรัศมีทั้งเจ็ดที่กระจ่างกว่าของดวงประทีปแห่งโลกธาตุ

    ธรรมะของพระพุทธองค์ให้ความกระจ่างทั้งภายนอกและภายในจิตมนุษยชาติ เทพเทวดา มหาพรหม แม้กระทั่งเดรัจฉาน อสุรกาย เปรต สัตว์นรกภูมิก็อาจพึงได้รับความสว่างในกาลอันควร เช่นในคราวที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์หลังจากจำพรรษาเทศน์โปรดพุทธมารดาแล้วทรงแสดงธรรมเปิดโลกทั้งสามตั้งแต่นรกภูมิ เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน มนุษย์ เทพเทวดาและพรหมมีผู้บรรลุคุณวิเศษเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

    อุตตรกุรุทวีป เมืองลับแลแต่ดั้งเดิมก็สว่างไสวชัดแจ้งขึ้นจากมิติเลือนรางด้วยบารมีแห่งพุทธคุณเป็นสรณะ เมื่อกระทำพิธีถวายนมัสการสักการะองค์พระทิพยพุทธปฏิมากรนิรมิตกันถ้วนทั่วแล้ว สามเณรก็กถาธิบายยืนยัน

    “ท่านทั้งหลายเห็นธรรม ท่านทั้งหลายจึงเห็นพระพุทธองค์ บัดนี้ท่านเห็นพระพุทธองค์แน่ชัดแล้ว จงเห็นธรรมของพระองค์ท่านให้ชัดแจ้งต่อไปเถิด”
    ทุกคนพากันปลื้มปีติเป็นล้นพ้น

    แดนคนทิพย์ที่เคยห่างไกลพระพุทธศาสนามาช้านานก็เริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคแห่งดวงประทีปของโลกธาตุสาดส่องแสงสว่างเข้ามาเพิ่มประกายรุ่งโรจน์ให้เด่นชัดขึ้น กายละเอียดพัสตราภรณ์และสร้อยสายถนิมพิมพาอันเคยจางแสงก็เปล่งประกายสดใสเรืองรองขึ้นกันทุกผู้ในพุทธบริษัทนั้น

    เทพธิดายมโดยในภาคคนทิพย์เจ้าแม่นมสาว แม่เมืองชาวนาครอุตตระสามร้อยยอด ผู้รำลึกจิตผูกพันอยู่ในธรรมะแห่งพระพุทธศาสนามาตลอด ก็พึงรำลึกได้เลือนรางถึงเทพธิดาอุตตราจากธรรมเทศนาของสามเณรนั้น ก็คืออุตตราอุบาสิกาผู้อัครปัฏฐายิกาผู้บำรุงอุปถัมภ์พระพุทธองค์และพระศาสนาในครั้งพุทธกาลนั่นเอง

    “แม้กระทั่งนางสิริมาที่กล่าวนาม...ดีฉันก็พอรำลึกได้แล้วว่าด้วยนางสำนึกได้แล้วหันเข้าน้อมจิตสร้างบุญกุศลมากในวาระต่อมาเมื่อตายไปได้บังเกิดเป็นเทพธิดาในชั้นนิมมานรดีเสวยสุขอยูในกาลปัจจุบัน”
    เจ้าแม่นมสาวรำพึงรำลึกเหมือนละเมอด้วยกระแสจิตที่ย้อนรำลึกสู่หนหลัง

    “เจ้าแม่น่าจะมีบทบาทร่วมในการบำรุงพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาลมาแล้วก็ได้”
    สามเณรพยากรณ์ด้วยคาดคะเนสันนิษฐานแล้วยิ้มน้อยๆ ด้วยความยินดี
     
  10. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    สามเณรมาร

    รัศมีสัตตรัตนประทีปแห่งองค์ทิพยพุทธปฏิมากร อันบังเกิดด้วยทิพยนิมิตของผู้ทรงศีลและชาวนาครอุตตรกุรุทวีปเบื้องนั้น ส่องประกายพวยพุ่งทะลุสวรรค์ถึงพรหมโลก

    พญาวสวัตดีมาร เทพผู้เป็นใหญ่ฝ่ายอธรรมในสวรรค์ชั้นสูงสุด สถิตสถานอยู่ในวิมานอลังการแห่งทิพยสถานปรนิมมิตวสวัตดี สวรรค์ชั้นที่ 6 สัมผัสรังสีทิพย์อันแปลกประหลาดซึ่งปรากฏใหม่ พวยพุ่งแลลอดผ่านขึ้นไปยังเบื้องสูงประดุจแสงฟ้าแลบซึ่งลอดทะลุหลืบเมฆโดยพลัน แต่แสงนั้นไม่จัดจ้าแม้สว่างกว่าก็มีอานุภาพเยือกเย็นตา นำด้วยรัศมีเหลืองเรืองรองกระจ่างเป็นตัวนำ

    “สีเหลืองเมลืองมีอานุภาพเยือกเย็นเช่นนี้ แน่แท้จะต้องเป็นรัศมีแห่งธรรมะแน่นอน”
    พญามารผู้หลงผิดติดสุขแต่ฝ่ายเดียวร้อนจิตรำพึงขึ้น
    “ธรรมะ...ธรรมะ...เจ้าตัวโง่เง่ามหาพาลที่คอยจะชักจูงสัตว์ในฉกามาพจรของเราไปเป็นสาวก”
    อกุศลทิพยจิตแห่งเทพมิจฉาคำรนอยู่ภายใน
    เมื่อเพ่งกระแสทิพยจักขุย้อนลอดลงในภพที่หยาบกว่าไปตามต้นแสงที่พวยพุ่งจนถึงต้นตอที่มาจากเบื้องหยาบนั้น ก็สัมผัส องค์พระพุทธรูปแก้วรัตนะบนยอดเขามอ จากอุตตรกุรุทวีปเบื้องตรีศตบรรพตวิมานขุนเขาสามร้อยยอดอันซ้อนภพชมพูทวีปอยู่
    “อาณาจักรอุตตระอันเคยเป็นที่เที่ยวเล่นได้ของเทวปุตมารฝ่ายอธรรม กำลังถูกรุกล้ำจากสาวกพระโคดมผู้สาบสูญ”
    แม้จะรำลึกได้อยู่บ้างว่าพระสมณโคดมเสด็จสู่ปรินิพพานในสถานเกษม พญามารก็ยังมิจฉาทิฏฐิกล้าไม่พึงกล่าวคำมงคลให้เป็นศรีแก่บรมศาสดา คงกล่าวสวนความจริงด้วยโมหะว่าสาบสูญสาปแช่งอยู่เสมอมา เป็นวิสัยธรรมดาธรรมชาติของสัตว์ที่ยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะห้วงแห่งความสงสารมิรู้จบ
    “สมณะโล้นทั้งสาม อันมีภิกษุ สามเณร และนักบวชชีนั่นเองเป็นต้นเหตุ”
    ล่วงเห็นด้วยจักษุเทพแล้วก็เนรมิตแผนอกุศลอยู่ในใจเพื่อกำจัด
    “สามเณรน้อยเจ้าปัญญาผู้หนึ่งคิด”
    พิจารณามาถึงผู้ต้นดำริเป็นเป้าหมายเบื้องต้น

    “สามเณรผู้ล่วงภพจากชมพูทวีปแดนคนหยาบ มนุษย์ชมพูทวีปแน่นอนด้วยขันธสันดานเดิมย่อมผูกพันคุกรุ่นเหนียวแน่นอยู่ด้วยราคะ โทสะ โมหะ ยากที่จะหลุดพ้นวิสัยเบื้องต่ำเช่นนี้ไปได้ โดยเฉพาะสามเณรผู้กำลังเจริญวัย ผู้กำลังเป็นเหยื่ออันโอชะของความกำหนัด จำเราจะป้อนเหยื่ออันโอชะคือความกำหนัดให้สามเณรก่อน เมื่อเณรน้อยได้ลิ้มรสเมื่อนั้นสามเณรก็จะต้องกลับกลายเป็นเหยื่อให้แก่ความกำหนัดแล้วธรรมะก็จะเพลี่ยงพล้ำแก่อธรรม”

    ยักษิณีตนหนึ่งผู้เป็นบริวารนอกแถวของท้าวเวสสวัณซึ่งยังมีมิจฉาอยู่ในฝ่ายอธรรม ไม่เคารพนับถือธรรมะและพระพุทธเจ้ามาแต่ครั้งพุทธกาลจึงเป็นตัวจักรสำคัญรับบัญชาจากเทวปุตมารผู้สถิตอยู่ในแดนจาตุมหาราชิกาให้ดำเนินการตามแผนอุบาทว์ทันที

    นางยักษิณีเทพผู้สถิตอยู่ในป่านอกเมืองเหนือแห่งจาตุมหาราชิกาสวรรค์จำแลงร่างเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนาซ่อนสัดส่วนอิตถีเพศรุ่นกำดัดไว้ภายใต้จีวรแห่งสามเณรนั้น เห็นเพียงภายนอกเป็นสามเณรน้อยรูปร่างสะโอดสะองหน้าตางดงามผิวพรรณผ่องใสในลักษณาการแห่งคนทิพย์แดนอุตตรกุรุทวีปดูน่ารักน่าพิสมัยยิ่งนัก

    “จงรำลึกทิพยจิตสู่อดีตกาลอันไกลโพ้นเข้าสู่สมัยของพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสี...ใช้อุบายแห่งพระราชธิดานฬินิกาโฉมงามทำลายตบะอิสิสิงคดาบสจนสิ้นฌาณ...จงตามจิตเรามาเราจะนำจิตของท่านไปสัมผัสกับอุบายแห่งความกำหนัดนั้น...”

    เทวปุตมารผู้เป็นใหญ่ได้จูงจิตยักษิณีเทพท่องเที่ยวไปในกาลอดีตเพื่อสัมผัสอุบายอุบาทว์ดังกล่าวเคยให้ผลมาแล้วเพื่อจะนำมาเป็นตัวอย่างในการประกอบอกุศลกรรมตามแผนอุบาทว์ครั้งนี้ จนได้ประสบการณ์ชัดแจ้งตรงตามจุดแล้วจึงปล่อยร่างสามเณรจำแลงเข้าสู่อุตตรนครในภาคพื้นตรีศตบรรพตแผ่นดินและแผ่นน้ำมหาอาณาจักรขุนเขาสามร้อยยอด

    ยามเย็นวาระว่างอีกวันหนึ่ง ขณะสามเณรน้อยนั่งเหม่อสายตาเพลินอยู่กับธรรมชาติบนเกาะทองสุวรรณโครำ จากแท่นหินอันไม่กระด้างในแดนทิพย์บนเพิงผาหน้าถ้ำที่พำนัก สายตาที่ทอดไกลออกไปสุดขอบฟากฟ้ามหาสมุทรแล้ววกวนย้อนกลับมาสู่ยอดเกาะโครำเสลาตะแบกห้อยย้อยระย้าด้วยช่อดอกแก้วอินทนิลงดงามหนักหนาทำให้จิตคิดหวนย้อนกลับเข้าสู่ภพหยาบแผ่นดินมาตุภพ ที่หน้าบ้านดงตาลริมคันนามีเสลาปราณสองต้นออกดอกม่วงสดเต็มต้นทุกปีเมื่อถึงฤดูกาล ย้อนจิตคิดถึงพ่อแม่ขณะนี้คงอยู่กันตามลำพังด้วยสภาพที่คิดไม่ได้เลยว่าเคยมีลูกผู้ชายคนหนึ่งมาก่อน คิดถึงเพื่อนๆ เด็กๆ ผู้ชายสมัยยังเรียนหนังสือชั้นประถม แน่นอนบัดนี้ไม่มีไอ้น้อยอยู่ในความทรงจำของเพื่อนๆ ทั้งหลายอย่างสิ้นเชิง ไอ้น้อยของเพื่อนๆ กำลังมานั่งเปล่าเปลี่ยวเดียวดายอยู่ในภพซึ่งจะเป็นสวรรค์ก็ไม่ใช่เป็นแดนมนุษย์ก็ไม่เชิง เป็นแดนมหัศจรรย์ที่ละเอียดประณีตสะดวกสบายและเป็นสุข

    “ถ้ามีเพื่อนรุ่นเดียวกันสักคนมาด้วยก็คงจะสนุกและมีความสุขกว่านี้เป็นไหนๆ”
    คิดเรื่อยเปื่อยไปในอารมณ์นอกบรรพชิต เมื่อจิตกระเพื่อมเสื่อมตกก็เป็นโอกาสอันงามของอธรรมที่คอยจ้องฉวยจังหวะจะเข้าแทรกสิงในจิตเบื้องต่ำ

    สามเณรจำแลงก็ได้ช่องทันที แทรกกระแสอธรรมปรากฏนิมิตร่างในมิติครึ่งหยาบครึ่งละเอียดพอดีแก่อัตภาพในภพภูมินี้เป็นที่ตั้ง ปรากฏกายเป็นสามเณรวัยเดียวกันยืนกวักมืออยู่ฝั่งตรงข้ามเบื้องริมเกาะโครำ

    “เอ...นั่นสามเณรนี่ บนเกาะทองโครำโน่น เณรจริงๆ ด้วย มีเณรอยู่บนนั้น”
    ดีใจที่เห็นสามเณรรุ่นราวคราวเดียวกัน
    “แปลกแท้ๆ พอคิดอยากมีเพื่อนก็ได้เพื่อน”
    พลางยืนขึ้นและกวักมือตอบ
    “นิมนต์ฝั่งนี้เถิดท่านผู้อาวุโส”
    เสียงเรียกเชิญชวนจากเกาะทอง
    “ท่านเป็นใคร มาจากไหน เราเพิ่งเห็นท่านเดี๋ยวนี้”
    ถามไปตามวิสัยเด็กรุ่นซึ่งกำลังยินดีโดยมิได้พิจารณาพลางเหินเดินไปเหนือผิวน้ำทะเลตามคำเชิญชวน
    “เราเป็นสามเณรเช่นท่าน เราอยู่ที่เกาะนี้ เราเพิ่งออกมาจากถ้ำทองที่ริมเกาะด้านโน้น”
    สามเณรนอกพุทธศาสนาวิ่งมารับครึ่งทาง
    “ท่านเป็นชาวเกาะทองแห่งอุตตระ ท่านเป็นสามเณร ท่านบำเพ็ญธรรมของศาสนาใด”
    “เราเป็นสามเณรในพุทธศาสนาเช่นท่าน เราบำเพ็ญธรรมของพระพุทธเจ้าเช่นท่าน”
    “ที่แดนนี้มีพระภิกษุสงฆ์มาก่อนหรือ”
    “ไม่มีหรอกผู้อาวุโส มีแต่เราสามเณรแต่ผู้เดียวเท่านั้น”
    ถ้าสามเณรน้อยได้พิจารณาก็จะได้ธรรมอันผิดปกติ เพราะไม่มีภิกษุอันเป็นต้นกอ ย่อมจะมีสามเณรอันเป็นเหล่ากอมิได้ สามเณรน้อยชะงักใจอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ปล่อยเลยไปเสียเพราะเพิ่งมาพบมิตรใหม่จึงมิอยากหยิบยกสิ่งที่เป็นปัญหามาทักถาม
    “ท่านอยู่ในถ้ำทองแต่องค์เดียวหรือ”
    “เราอยู่แต่องค์เดียว เราเหงา เราอยากมีเพื่อน”
    ตอบตรงตามความรู้สึกในดวงจิตอันตกแล้วของสามเณรผู้เป็นเป้าหมาย
    “เราก็กำลังอยากได้เพื่อนอยู่เช่นเดียวกัน”
    “เราจงมาเป็นเพื่อนแก้เหงาด้วยกันเถิด”
    ทั้งสองผูกมิตรไมตรีกันและกันอย่างสนิทใจ โดยอีกฝ่ายหนึ่งพึงพอใจในผลงานเริ่มต้นที่ได้ประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย

    ภายในถ้ำทองที่เพิงผาด้านทิศเหนือของเกาะทองโครำ สามเณรน้อยเดินตามมิตรใหม่เข้าไปตามคำเชิญชวน แผ่นผนังเพดานหินงอกหินย้อยล้วนเป็นทองคำส่องประกายเหลืองเรืองรองอร่ามให้ความสว่างไสวในถ้ำดังประทีปโคมทองเล็กใหญ่อยู่ทั่วถ้ำ ผิวขาวนวลของสามเณรเจ้าของถ้ำผุดผ่องอยู่แล้วยิ่งเรืองรองยิ่งขึ้นด้วยการโลมไล้จากสุวรรณรัศมีเหล่านั้น

    “หนุ่มน้อยในจีวรสมณะผู้นี้ช่างงดงามยิ่งนัก งามกว่าหนุ่มรุ่นชาวอุตตระที่เคยพบผ่านมาแล้วทุกผู้คน คงจะเป็นด้วยอานิสงส์แห่งผ้ากาสาวพัสตร์ที่ช่วยขับผิวพรรณให้เปล่งปลั่งด้วยทิพยอลังการ”
    รำพึงชมอยู่ในใจด้วยสุจริต
    เมื่อเข้ามาถึงคูหากลางถ้ำ มีแท่นทองบุษบกอยู่ใกล้กันสองแท่น
    “นิมนต์ท่านอาวุโสนั่งพักตามสบายเถิด”
    แล้วเจ้าของถ้ำก็นั่งอีกแท่นหนึ่งเอนเอกเขนกในท่าสบายๆ มิเคร่งครัดสำรวมตามแบบนั่งของสมณะเท่าใดนัก
    “แผนนฬินิกาของเราจะเริ่ม ณ บัดนี้”
    นางยักษิณีเทพรำพึงภายในอย่างเร้นลับ แสร้งทำจีวรห่มท่อนบนให้หลุดเลื่อนจนเห็นทรวงอก แหวกจีวรเบื้องล่างขึ้นมาสูง แยกแยะออกจนเห็นส่วนลับที่มัชฌิมสังขาร

    ด้วยความไร้เดียงสาแห่งสามเณรน้อยผู้มิเคยเห็นรูปลักษณ์เบื้องในของอิตถีเพศมาก่อนเลย กอปรกับมั่นใจอย่างมั่นคงว่าสามเณรมิตรใหม่คือสามเณรเช่นเดียวกับตน เมื่อได้พิจารณาสังขารส่วนในที่เห็นนั้นแล้วก็มิได้มีความรู้สึกอกุศลแต่ประการใดนอกจากความพิศวงสงสัยอย่างบริสุทธิ์จึงเอ่ยถามด้วยมิตรจิต มิมีกำหนัดราคะแฝงอยู่ในอารมณ์เลย

    “อกท่านเป็นประการใดฤาจึงเบ่งบวมทั้งสองข้าง แมลงสัตว์มีพิษร้ายตัวใดกัดต่อยจนบวมเบ่งเช่นนั้น ท่านคงเจ็บคงปวดมาก เราอาจช่วยนิมิตยามาบำบัดท่านได้บ้าง”
     
  11. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    ตุ่มราคะ – แผลตัณหา

    “อาวุโส แมลงราคะต่อยเราเมื่อเริ่มรุ่น ความบวมเบ่งขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ทุเลาลง ความเจ็บปวดไม่ปรากฏ นอกจากความเสียวกระสันยามถูกสัมผัส เราทราบมาว่ายาอย่างใดไม่สามารถบำบัดได้นอกจากริมฝีปากของผู้มีเมตตาที่ช่วยดูดพิษให้ออกจากตุ่มไตทั้งสองข้าง”

    สามเณรจริงยังพาซื่อนึกสงสารมิตรใหม่ยิ่งนัก
    “ที่หว่างขาอ่อนของท่านเป็นอะไร มีสัณฐานเรียบร้อย อวัยวะส่วนยาวของท่านเข้าไปอยู่ในฝักหรือหนอ ท่านมีแผลลึกเป็นรอยยาว คงจะเจ็บแสบมากสินะ เราจะช่วยนิมิตยาบางอย่างอาจบำบัดท่านได้บ้าง”

    “อาวุโส สัตว์ตัณหากัดเนื้อของเราฉีกออกมานานแล้ว รักษาไม่หายกลายเป็นแผลเรื้อรังแต่แรกก็ไม่รู้สึกระคายเท่าใด ต่อเมื่อเริ่มรุ่นจึงรู้สึกมากขึ้นๆ ยาอย่างอื่นคงแก้ไม่ได้นอกจากผู้มีเมตตาที่จะช่วยให้หายระคายได้ เรารู้สึกมาเช่นนั้น”

    สามเณรปลอมพยายามหลอกล่อให้กระสัน สามเณรจริงก็พาซื่ออยู่มิเอะใจว่ามิใช่บุรุษเพศ มิได้เกิดตัณหาราคะแต่อย่างใด ด้วยไม่รู้เท่า ได้แต่รู้สึกเห็นใจและสงสารอยู่ในอารมณ์พลางรำพึงอย่างเร้นลับ

    “สามเณรมิตรเราคงจะมีกรรมเก่าเคยทำร้ายรังแกสัตว์มาก่อน ปัจจุบันจึงถูกทำร้ายทำลายตอบจนเป็นพิษเป็นแผลรักษาไม่ได้ เราจะช่วยเขาได้อย่างไรดี”

    เณรปลอมก็แสร้งปล่อยจีวรทั้งล่างบนให้หลุดลุ่ยส่ายกายบิดไปมาพลางส่งเสียงครวญครางเบาๆ อย่างน่าเวทนา
    สามเณรน้อยผู้มิเคยประสบเพศภายในของอิตถี มิเคยรำลึกเรื่องราวของพระราชธิดานฬินิกาในโบราณกาลมาก่อน ทั้งยังมิได้ใช้จิตพิจารณาในปัจจุบันเนื่องจากอธรรมจากยักษิณีเข้าแทรกแฝงเมื่อจิตตก ขณะนี้ก็ยังมิได้ยกขึ้นเป็นอุเบกขา จึงมีความรู้สึกสงสารและเห็นใจมิตรใหม่ด้วยอวิชชาครอบงำแต่ยังดีที่อานิสงส์แห่งกุศลยังติดตามจึงยังมิถูกตัวตัณหาผสมโรงได้

    “ท่านปรารถนาจะให้เราช่วยบำบัดให้ท่านหรือ...เราจะทำเช่นนั้นตามที่ท่านต้องการ แต่...แต่...การทำอย่างนั้นระหว่างชายต่อชายด้วยกันจะถือเป็นการกระทำที่ผิดวิสัยไหม ผิดธรรมชาติไหม เป็นสิ่งเลวทรามลามกไหม เป็นการกระทำต่อเพศเดียวกันน่ารังเกียจไหม...”
    กล่าวแผ่วเบาเป็นเชิงปรึกษา

    “การกระทำเพื่อช่วยบำบัดความเสียวกระสันแห่งมิตรอันเกิดจากความเมตตาเป็นการประกอบกุศลมิใช่หรือ และไม่เห็นจะเป็นการผิดธรรมชาติธรรมดาที่ตรงไหนเลยอาวุโสเพราะเรามิได้บอกกล่าวท่านสักคำหนึ่งว่าเราเป็นเพศเดียวกับท่าน”

    สามเณรปลอมอ่อยเหยื่อให้อารมณ์เข้ามาใกล้ เมื่อสามเณรรู้ว่าที่แท้ผู้ที่เปลือยกายอยู่ตรงหน้าเป็นสตรีเพศต่างหาก บางทีตัวตัณหาราคะที่จ้องตะครุบอยู่ก็กระโดดเข้าใส่ได้ทันที
    “หมายความว่ายังไง ท่านมิใช่เป็นเพศเดียวกับเรา”
    “อาวุโส...ก็เราเป็นสามเณร”
    “ท่านเป็นผู้หญิง”
    สามเณรน้อยเปล่งอุทานและผงะถอย
    “ท่านเป็นผู้หญิง...ท่านเป็นผู้หญิง...ท่านเป็นผู้หญิง...”
    เสียงอุทานดังสะท้อนผนังถ้ำกลับไปกลับมาและดังมากขึ้นเหมือนเสียงอสุรกายภูตผีปีศาจที่ตะโกนก้องหัวเราะเยาะเย้ยถากถางความประมาทโง่เง่าแห่งจิตบรรพชิตให้รำลึกได้

    “ท่านกำลังจะเสพอสัทธรรมกับสตรีเพศ...ท่านกำลังจะเสพอสัทธรรมกับสตรีเพศ...”
    เสียงใหม่แทรกซ้อนติดตามมาฟังคล้ายเสียงสัมภเวสีที่เคยอนุเคราะห์นั้น
    “ท่านกำลังจะกระทำเช่นคนชั้นต่ำ...ท่านกำลังจะกระทำเช่นคนชั้นต่ำ...”
    เสียงสุดท้ายนี้เป็นเสียงซึ่งทรงพุทธานุภาพเช่นเดียวกับที่พระพุทธองค์เคยกล่าวตำหนิพระภิกษุสุทินนังในครั้งพุทธกาล
    สามเณรลุกขึ้นยืนตัวตรง หลับตาพนมมือหว่างอกรำลึกพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ยกจิตขึ้นสู่อุเบกขาธรรมทันที
    นางยักษิณียังแอบอ้างอยู่ในสังขารสามเณร สะบัดจีวรออกจากกายหมดสิ้นเหลือแต่เรือนร่างเปลือยเปล่าผุดลุกขึ้นยืนตามเข้ามาโอบรัดก่ายกอดยั่วยวนด้วยกามกิเลสแห่งสรีระของอิตถีเพศเนรมิต

    “เจ้าไม่ใช่สามเณรผู้เป็นเหล่ากอแห่งสมณะ เพราะที่นี่ไม่มีสมณะจะบรรพชาให้เจ้าได้...เจ้าไม่ใช่สามเณรผู้เป็นเหล่ากอแห่งภิกษุณีเพราะปัจจุบันสมัยหามีภิกษุณีไม่...เจ้าไม่ใช่บรรพชิตชาวอุตตรกุรุทวีปเพราะที่นี่ไม่มีบรรพชิตมาแต่เดิม...เจ้าเป็นใครมาจากไหน ประสงค์สิ่งใดจึงมาหลอกล่อทำทีเป็นมิตรเรา”

    เมื่อจิตอุเบกขาแน่นิ่งมิคล้อยตามสัมผัสเย้ายวนรอบกายอยู่นั้นก็พิจารณาด้วยทิพยจิตถามด้วยทิพยจิตในขณะที่ยังคงพนมมือหว่างอกหลับตานิ่งอยู่
    “เราจะเป็นใครมาจากไหนไม่สำคัญแต่เราเป็นอิตถีเพศแน่นอน เราจะช่วยบำบัดความเหงาให้ท่านได้เพียงแต่ท่านช่วยบำบัดความกระสันให้เราเท่านั้น”

    “เราไม่เหงาแล้ว เราเบิกบานในเอกาของเราแล้ว เรายกจิตเข้าสู่ธรรมรสแห่งพระพุทธองค์เรียบร้อยแล้ว เราไม่ต้องการกามบำบัดจากท่านเลย”
    “แต่เรากำลังต้องการ เรากำลังต้องการ ท่านเป็นผู้เห็นใจและสงสารเราอยู่เมื่อตะกี้และยิ่งขณะนี้จิตของท่านสูงสู่ธรรมะแล้วทำไมไม่เผื่อแผ่ความเมตตาสงสารเราให้มากขึ้นเล่า”

    “ดูก่อนอิตถีเพศ เราเป็นสมณะในพระพุทธศาสนา เราประพฤติพรหมจรรย์เพื่อมุ่งสู่อริยมรรค ตัณหาราคะเป็นศัตรูอย่างยิ่งกับพรหมจารี ผู้ประพฤติจำต้องเว้นจากเมถุนอย่างสิ้นเชิง แม้เราจะเมตตาสงสารและเห็นใจท่านเพียงใดเรายิ่งเมตตาสงสารเห็นใจท่านมากขึ้นในยามนี้ เราจึงจะลดตนลงไปก่อกรรมร่วมกับท่านเพื่อให้ท่านร่วมจมดิ่งลงสู่อบายด้วยกันไม่ได้แน่ ท่านพึงพิจารณาเถิดเรามิได้ลดความเมตตาสงสารท่านลงเลย”

    “ท่านกำลังกล่าวว่าเมตตาสงสารเรามากขึ้นแต่ไม่ให้ความสุขสบายแก่เรา ท่านกำลังพูดอย่างหนึ่งแต่การกระทำอีกอย่างหนึ่งเช่นนี้เป็นบาปหรือบุญกันแน่”

    “ท่านเอ่ยถึงคำว่าบาปหรือบุญ ท่านคงเข้าใจความหมายแล้วนั้นอันว่าบาปหรือบุญที่แท้ย่อมส่งผลให้ความทุกข์หรือความสุขที่แท้ ความสุขที่แท้มิใช่เกิดจากกามกำหนัดเฉพาะครู่ แต่ความสุขที่แท้นั้นพระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่าคือการลดละกำหนัดราคะเสีย เรากำลังสร้างบุญแก่ท่านโดยละเว้นกำหนัดที่ท่านปรารถนาในยามนี้ แล้วท่านจะประสบความสุขอันแท้จริงในยามต่อไป ท่านจงได้พิจารณา”

    “เราไม่เข้าใจสิ่งที่ท่านกำลังกล่าว เมื่อท่านไม่สนองความสุขสบายแก่เรายามนี้แล้วท่านกล่าวว่าเราจะประสบความสุขยามต่อไปได้อย่างไร”

    “ดูก่อน...อิตถีเพศ ความเสียวกระสันอันเกิดจากสัตว์ร้ายราคะตัณหาที่ท่านสมมุติขึ้นนั้นเมื่อพึงมีผู้บำบัดให้หายในหนแรก ความเสียวกระสันจะเกิดขึ้นให้บำบัดในหนที่สองอีกหรือไม่”

    “ย่อมจะมีตามมาเป็นหนที่สามที่สี่ต่อไป ถ้าท่านเมตตาไม่ขาดตอนเสีย บำบัดให้อยู่เรื่อยๆ ความสุขสบายจากการได้รับการบำบัดก็จะมีอยู่เรื่อยๆ นั่นเป็นความสุขสบายที่ไม่รู้จักหมด”

    “สุขที่ท่านว่านี้เป็นความสุขที่เกิดจากการบำบัดความทุกข์ แสดงว่าสุขที่ท่านกล่าวถึงเป็นความสุขอันเกิดจากความทุกข์ใช่หรือไม่”

    “เป็นความสุขที่เกิดจากความทุกข์...ใช่แล้ว”

    “นั่นแหล่ะเป็นของคู่กัน ยามมีทุกข์เมื่อหายทุกข์ก็เป็นสุข ยามมีสุขเมื่อหายสุขก็เป็นทุกข์”
    “ตอนนี้เรามีทุกข์ ถ้าท่านทำให้เป็นสุขก็เป็นกุศล”
    “เรากำลังจะทำให้ท่านได้รับความสุขโดยที่ไม่มีทุกข์อยู่”
    “จงรีบทำเข้าเถิด เราพร้อมที่จะรับความสุขนั้นแล้ว”
    ร่างเปลือยเปล่าของดรุณีรุ่นกำดัดแอ่นผวา เปิดโอกาสให้สามเณรโถมเข้าตะครุบเหยื่อ โดยแสร้งแกล้งไม่รู้ความหมายในประโยควิสัชนาสุดท้ายของสามเณรเสีย ตัดบทจะกระทำอย่างเดียวคือให้สามเณรตกหลุมกำหนัดให้ได้

    “ถ้าท่านปรารถนาจะได้ความสุขอันไม่มีทุกข์ตามที่เราจะให้ ท่านต้องสวมใส่เครื่องนุ่งห่มสีเหลืองนั่นเสียก่อน”
    สามเณรผู้มีจิตเป็นอุเบกขาแล้วมิตกหลุมพราง
    “ขึ้นมาจากหลุมพรางที่กำลังขุดหลอกล่อเราเสียเถิด ยิ่งขุดท่านยิ่งลึกลงแต่ผู้เดียวแล้วท่านจะไม่ได้ความสุขอันแท้จริงที่เราจะแนะนำ”
    สำทับให้เห็นว่าอุบายของอิตถีไม่สามารถจะหลอกล่อได้สำเร็จ
    “หลอกล่อเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ยั่วยวนเท่าไรก็ไม่ได้ผล สามเณรในพระโคดมองค์นี้กลับตัวกลับใจได้เร็วและมั่นคงจริงๆ”
    ยักษิณีเทพ ท้อแท้อยู่ในใจ เห็นไม่เป็นผลแน่จึงก้มลงหยิบผ้าสีเหลืองนั้นขึ้นห่อร่างทั้งล่างและบนไว้มิดชิดตามเดิม

    “แม้เป็นอิตถีเพศเราก็เป็นมิตรกันได้”
    สามเณรให้กำลังใจต่อไป
    “ท่านมิใช่มิตรแท้แห่งเรา”
    สวนตอบด้วยความงอนแห่งอิสตรีซึ่งมิได้สิ่งที่สมใจ

    “จงฟังเถิดอิตถี ถึงอย่างไรท่านก็เป็นมิตรในยามที่เราต้องการมิตร ท่านเป็นผู้มีบุญคุณแก่เราก่อน การตอบแทนผู้มีพระคุณฉันมิตรเช่นนี้ไม่มีอะไรดีเท่าที่จะให้การเป็นมิตรแท้แก่ท่านด้วยความจริงใจ สิ่งที่จะให้เป็นของกำนัลแด่มิตรแท้ก็คือความสุขที่แท้ที่เรากล่าวค้างไว้เมื่อตะกี้ ถ้าท่านไม่รำคาญที่จะได้เสียก่อนเรากำลังจะนิมิตสิ่งนั้นให้เด่นชัดขึ้นมาจากความสงสัยของท่านต่อไป”

    “เมื่อไม่มีทางเลี่ยงเราก็จะฟัง ถึงจะรำคาญอยู่บ้างเราก็สนใจจะฟังดู ดีกว่าที่จะลาจากกันไปโดยมิได้รับแม้แต่ความรำคาญนั้นเลย”
    ถึงจะกระเง้ากระงอดแต่ก็ดูท่าทีอิตถีเธอพร้อมที่จะรับฟังจริงๆ
     
  12. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    ธรรมคลายกำหนัด

    “ดูก่อนอิตถี ท่านจะเป็นใครมาจากไหนก็แล้วแต่ แต่ท่านยังเป็นผู้ที่อยู่ในวัฏฏะ คืออยู่ในวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ชาตินี้ท่านเป็นเทพธิดา แม้จะอยู่ในสกุลยักษ์แต่ก็อยู่ในภพที่มีสุคติตามสมควร ทั้งนี้เนื่องจากท่านเคยสร้างกุศลกรรมไว้ในอดีตชาติ ชาตินี้ถ้าท่านประมาทสร้างอกุศลกรรมดังที่เกือบจะสร้างได้เมื่อแต่กี้ ชาติต่อๆ ไปท่านจะตกต่ำลง เป็นไปเช่นนี้วนเวียน เวียนวนไปตามบุญตามกรรมไม่จบสิ้น ถึงอย่างไรท่านก็ยังเป็นผู้มีอานิสงส์สูงที่กรรมชั่วซึ่งท่านกำลังจะกระทำไม่สำเร็จลงได้เพราะเราหายโง่รำลึกได้เสียก่อนจึงมิได้ร่วมถลำลงไปด้วยกัน

    ผู้ที่ยังอยู่ในวัฏฏะล้วนแต่ปรารถนาความสุขสบายด้วยกันทั้งสิ้น
    ผู้ปรารถนาสุขแล้วสร้างกุศลย่อมได้รับสุขสมใจปรารถนา แต่ความสุขในวัฏฏะเป็นความสุขที่คู่กับทุกข์ดังได้กล่าว ความสุขเช่นนี้มีวันหมดไป เมื่อหมดสุขก็เป็นทุกข์แน่นอน ความสุขเช่นนั้นไม่ดีเลย

    ยังมีความสุขอีกอย่างหนึ่ง เป็นความสุขในวิวัฏฏะ คือความสุขที่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอย่างสิ้นเชิง ความสุขเช่นนั้นไม่มีวันหมดไปเลยเป็นนิรันดร เป็นความสุขที่ดีจริงๆ เมื่อใครได้รับจะไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นอีก...”

    สามเณรพึงสัมผัสทิพยจิตผู้ที่กำลังฟัง รู้สึกเธอเริ่มคล้อยตามและสนใจมากขึ้น จึงเทศนาต่อไป
    “เรารู้ว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมิใช่เป็นการจงใจอันเกิดจากการกระทำของท่านเองโดยอิสระ ท่านทำตามคำบงการของผู้อื่น แต่เราจะไม่กล่าวก้าวล่วงไปถึง ผู้ดำริมิจฉาด้วยจิตแต่ยังมิได้ทำสำเร็จด้วยกาย ถ้าพึงกลับจิตเสียได้ อกุศลแห่งมโนกรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็จะคลายลง ยิ่งถ้าผู้ใดรำลึกขอขมาอโหสิกรรมต่อพระรัตนตรัยเนื่องจากเป็นกรรมที่ทำต่อสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ผู้นั้นก็จะได้รับอโหสิกรรมจากพระรัตนตรัยโดยผลธรรมชาติเป็นสัจธรรม เมื่อนั้นผู้นั้นพึงจะน้อมจิตเข้าใจธรรมะที่เราจะกล่าวต่อไปอันว่าด้วยความสุขในวัฏฏะได้ชัดแจ้งยิ่งขึ้น”

    ด้วยกุศโลบายขั้นปรมัตถ์ สามเณรผู้มีญาณดีแล้วทราบวาระจิตแห่งเทพธิดามารว่าจะเป็นผู้ที่ควรอนุเคราะห์ได้ต่อไป จึงปรารภเปรยขึ้น

    ทิพยจิตแห่งยักษิณีเทพเกิดศรัทธาเบื้องต้นแต่สามเณรกลับเข้าอุเบกขาได้ฉับพลันและมั่นคง ศรัทธาเพิ่มขึ้นเมื่อได้ยินกล่าวว่าตนเป็นเทพในสกุลยักษ์ ทั้งยังแจ้งต่อมาอีกถึงพฤติกรรมที่ตนได้รับบงการจากผู้อื่น

    “สามเณรในพุทธศาสนาผู้นี้ แม้จะมาจากภพหยาบแต่มีจิตละเอียดมากกว่าเทพมหาราชิกาเช่นเราเสียอีก ล่วงรู้ในสิ่งล้ำลึกและประณีต มุ่งมั่นอยู่ในธรรมะแห่งพระโคดมเป็นที่ตั้ง ธรรมในพระโคดมซึ่งเรามิได้เข้าใกล้เพื่อศรัทธามาแต่ต้นน่าจะมีสิ่งใดดีเป็นพิเศษอยู่ ถ้าเราไม่น้อมจิตรับฟังบ้างก็น่าเป็นการเสียดาย จำเราจะพึงขอขมาอโหสิกรรมต่อพระรัตนตรัยเพื่อจะรับฟังธรรมวิเศษอาจเป็นประโยชน์ต่อเรา”

    รำพึงภายในแล้วก็พนมมือหว่างอก แม้จะไม่ชิดอุระนักก็ถือได้เป็นการอัญชลีด้วยคารวะ
    “เราขออโหสิกรรมต่อพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เจ้าค่ะ”
    แม้จะกล่าวไม่เต็มเสียงก็หนักแน่นพอได้การ
    “สาธุ...สาธุ...สาธุ...อโหสิ เจริญพร”
    สามเณรพนมมือเห็นชอบในกุศล
    “เมื่อท่านน้อมจิตได้เช่นนี้แล้ว ความสุขในวิวัฏฏะจักเกิดกับท่านต่อไปแน่นอน...”

    ขณะนี้นางยักษิณีเทพ รู้สึกด้วยจิตของตนเองโดยอิสระ ทึ่งในสามเณรยิ่งขึ้น จิตอันอยู่ในร่างจำแลงดรุณีรุ่นกำดัดแห่งมิติอุตตรกุรุทวีป ครึ่งหยาบครึ่งละเอียด มีความกำหนัดเจือปน นางยักษ์รู้ว่าตนเองกำลังอยู่ในจิตปฏิพัทธ์สามเณรน้อยเข้าให้แล้ว แม้จะเป็นเทพแต่สกุลยักษ์และหยาบอยู่ในอุตตรมนุษย์ผู้ยังขวักไขว่กับการเสพอสัทธรรมในลักษณะเมถุน จิตอันเกิดจากการปฏิพัทธ์แห่งนางยักษ์จึงกระสันโดยอิสระอีกครั้งที่จะแจ้งความจริงต่อบุรุษเพศอันตนได้รักเข้าแล้วให้ทราบถึงอารมณ์ปรารถนาแห่งตนเพื่อขอรับความสุขสบายในวัฏฏะก่อน

    “ขออภัยก่อนท่านผู้อาวุโส เมื่อท่านแจ้งแล้วว่าเราคือเทพธิดามาร เราเป็นอิตถีเพศ เรายังเป็นผู้อยู่ในกามาวจร ในลักษณาการแห่งรูปสังขารครึ่งหยาบ มีสรีระภายในภายนอกอันเป็นเครื่องบ่งบอกความกำหนัดกำหนด ยามนี้เราขอแจ้งแก่อาวุโสว่าเรามีความจริงใจในความรักที่มีต่อท่านยิ่งขึ้น เรารักท่านประดุจภริยาที่มีต่อสามี เราปรารถนาความสุขสบายในวัฏฏะก่อน อาวุโสพึงจะกระทำเยี่ยงสามีพึงเสพอสัทธรรมต่อภริยาที่มีความรักแท้เกิดขึ้นแก่ท่านแล้วสักครั้งหนึ่งได้หรือไม่”

    วิสัยมาร แม้จะเป็นเทพก็ยังมีมิจฉามาก สิ่งอันควรละอายในสตรีเพศที่เอ่ยปากขอความสุขด้วยกำหนัดจากบุรุษก็มองข้ามไปเสีย เนื่องจากเป็นเทพนอกพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นเทพอันเกิดจากกุศลในพระพุทธองค์จะมิกล้าเอ่ยปากชวนสังวาสเช่นนั้นเพราะความควรอันเป็นอิสตรีเพศกำชับกำกับอยู่
    สามเณรได้แต่สังเวชอย่างจริงใจ

    “เทพธิดา...เราเป็นสมณะในพระพุทธศาสนา เรากล่าวแก่ท่านแล้ว เราเสพอสัทธรรมกับผู้ใดไม่ได้ เราเป็นสามีของผู้ใดไม่ได้...ความรักของท่านแม้จะเป็นรักแท้แต่ก็แฝงอยู่ด้วยความกำหนัด เราเห็นใจสงสารท่าน เราก็มีความรักแท้ในตัวท่านเช่นกัน ความรักของเราบริสุทธิ์ปรารถนาจะเห็นท่านมีความสุขโดยปราศจากทุกข์ดังกล่าว เราจึงจะแจ้งความสุขในวิวัฏฏะแก่ท่านอยู่”

    หมดอารมณ์อีกเช่นเคย ยักษิณีเทพได้แต่นั่งนิ่ง แต่ความกระสันยังมิได้ลดน้อยถอยลงไปเพราะความกำหนัดยังจับหนาแน่นอยู่
    สามเณรเพ่งพิจารณา
    “เทพธิดา...จงน้อมจิตสดับธรรมอันเป็นเครื่องคลายกำหนัดเสียก่อนเถิด...
    พระพุทธองค์ตรัสว่า...

    รูปไม่เที่ยง...สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

    เวทนาไม่เที่ยง...สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นี่ไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

    สัญญาไม่เที่ยง...สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

    สังขารไม่เที่ยง...สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวของเรา

    วิญญาณไม่เที่ยง...
    สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

    เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบความเป็นจริงอย่างนี้ จิตย่อมคลายกำหนัดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น”

    เทพธิดามารมีแววตาแจ่มใสขึ้นแต่ยังมีความสับสนอยู่ในส่วนลึก
    “รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ...เราพอจะเข้าใจแต่ไม่แจ่มแจ้ง”
    กล่าวแผ่วเบาเป็นเชิงถาม

    “พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า...

    รูปเป็นอนัตตา แม้ปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปขึ้น (คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ) ก็เป็นอนัตตา รูปที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า

    เวทนาเป็นอนัตตา...แม้ปัจจัยที่ทำให้เกิดเวทนาขึ้น (ผัสสะ) ก็เป็นอนัตตา เวทนาที่เกิดจากสิ่งที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า

    สัญญาเป็นอนัตตา...แม้ปัจจัยที่ทำให้เกิดสัญญาขึ้น (ความรู้สึก) ก็เป็นอนัตตา สัญญาซึ่งเกิดจากสิ่งที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า

    สังขารเป็นอนัตตา...แม้ปัจจัยที่ทำให้เกิดสังขารขึ้น (อวิชชา) ก็เป็นอนัตตา สังขารที่เกิดจากสิ่งที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า...”

    เทพธิดามารมีแววตาแจ่มใสยิ่งขึ้น แต่ยังมีความสับสนอยู่ในส่วนลึก
    “นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา...เราพอเข้าใจแต่ไม่แจ่มแจ้งเพราะนี่เป็นเราในลักษณะดรุณีรุ่นกำดัดแห่งอุตตรกุรุทวีป จะว่าไม่ใช่ตัวตนดรุณีรุ่นกำดัดในมิตินี้ได้อย่างไร”

    “ดูก่อนเทพธิดา ความสับสนเช่นนี้เป็นความสับสนที่เป็นประโยชน์ยิ่งนัก มนุษยชาติก็ดี เทพเทวดาก็ดี แม้กระทั่งพรหมก็ดี มักจะมีความสับสนเช่นนี้ เพราะรู้สึกอยู่ในขณะนั้นว่าตัวตนเป็นมนุษย์ รูปตนเป็นเทพ รูปหรือรูปตนเป็นพรหม จะว่าไม่ใช่ตัวตนในลักษณะนั้นได้อย่างไร

    ธรรมที่ท่านกำลังปุจฉา เป็นธรรมในความหมายสูงสุด เป็นปรมัตถธรรม คือสิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด ตามหลักอภิธรรมมี 4 คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    คำถามอันเป็นประโยชน์ยิ่งของท่านข้อนี้เราจะต้องค้นหาคำตอบจากคำว่านิพพานอันเป็นธรรมสุดยอด และธรรมเดียวที่พระพุทธองค์ทรงปรารถนาแนะนำให้ผู้มีศีลเข้าถึงในที่สุด

    เทพธิดา...ท่านเป็นเทพอยู่ในเบื้องทิศเหนือของจาตุมหาราชิกาสวรรค์ ท่านเคยได้ยินคำว่านิพพานมาบ้างหรือไม่”


    [​IMG]
     
  13. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    มารกลับใจ

    “เราเป็นเทพสถิตอยู่ในวิมานเบื้องทิศเหนือของจาตุมหาราชิกา เราอยู่ในความปกครองดูแลของท่านท้าวมหาราชเวสสวัณ พระองค์ผู้น้อมจิตอยู่ในพระพุทธศาสนา เราเคยได้ยินเทพมนตรีที่ปรึกษาชั้นผู้ใหญ่ของมหาราชซึ่งมีนามชนวสภยักษ์กล่าวถึงคำคำนี้ คำว่านิพพาน แต่เราไม่สนใจจะน้อมจิตฟัง เพราะเราถือว่าเรามิใช่เป็นพวกของพระโคดม เราทราบจากเทวปุตมารหัวหน้ากลุ่มของเรากล่าวว่า คำว่านิพพานแปลว่าสาบสูญ พระโคดมพุทธเจ้าของท่านเป็นผู้สาบสูญไปแล้วอย่าไปสนใจใส่ใจเลย”
    นางยักษิณีเทพบอกกล่าวไปตามตรงถึงข้อความที่ได้รับการอบรมมาจากหัวหน้ากลุ่มมาร

    “ท่านเข้าใจคำว่า สาบสูญ หมายความว่าอะไร”
    สามเณรใช้วิธีการปุจฉาในแบบปรมัตถ์ชั้นสูงโดยไม่มีการคัดค้านและทักท้วง
    “สาบสูญก็หมายความว่า สูญหาย สูญพันธุ์ สูญสิ้น ไม่มีอะไรเหลือ”
    “ถูกแล้ว ไม่มีอะไรเหลือเลย อะไรที่ไม่เหลือเลยในความหมายของนิพพานก็คือกิเลสและกองทุกข์ นิพพานหมายถึงการดับสิ้นแห่งกิเลสและกองทุกข์ สิ่งที่เหลืออยู่อย่างเดียวคือความสุขอย่างล้วนๆ นั่นคือความหมายอันแท้จริงของนิพพาน”
    แววตาของเทพธิดาแจ่มใสยิ่งขึ้นอีก ดูเข้าใจยิ่งขึ้น
    “ท่านเคยกล่าวกับเราว่าจะแนะนำความสุขที่ไม่มีทุกข์เจือปน ท่านกำลังจะแนะนำเราให้เข้าถึงคำว่านิพพาน ดังที่ท่านท้าวเวสสวัณและมหาอำมาตย์ชนวสภยักษ์เคยแนะนำนั่นหรือ”
    “เทพธิดา ท่านกำลังจะเข้าใจแล้วถึงความหมายอันแท้จริงแห่งโลกุตรธรรมอันเป็นจุดหมายสูงสุดอย่างเดียวของพระพุทธองค์ ถ้าท่านน้อมจิตเช่นนี้ท่านจะเข้าใจไม่ยากเลย”
    “พระโคดมของท่านยังไม่สูญพันธุ์ไปหรือ”
    “นี่ไง...เราซึ่งท่านเห็นอยู่ต่อหน้าเป็นพืชพันธุ์แห่งพระพุทธองค์”
    “พระพุทธองค์ของท่านยังไม่สูญสิ้นสูญหายไปหรือ”
    “ท่านสูญหายจากกิเลสและกองทุกข์สิ้นเชิงปรากฏอยู่ในภาวะนิพพานเป็นนิรันดร์”
    “พระพุทธเจ้าของท่านอยู่ในภาวะที่มีแต่ความสุขอย่างเดียวเช่นนั้นหรือ”
    “พระพุทธองค์ทรงอยู่ในภาวะอันเกษมเช่นนั้นแน่แล้ว”
    “ผู้ที่จะเข้าไปในแดนเกษมเช่นว่านั้นจะต้องเป็นสาวกของพระพุทธองค์เท่านั้นหรือ”
    “ทุกคนเมื่อดับกิเลสและกองทุกข์สิ้นเชิงย่อมเข้าถึงแดนเกษมได้ทั้งนั้น แต่ไม่มีผู้ใดนอกจากบรมศาสดาในพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่แนะนำวิธีการดับกิเลสและกองทุกข์สิ้นเชิงเอาไว้”
    “ไม่มีศาสนาใดรู้จักแดนนิพพาน หรือว่าไม่มีแดนนิพพานให้ศาสดาต่างๆ พึงรู้จัก”
    “ภาวะนิพพานมีอยู่โดยธรรมชาติ ศาสดาใดๆ ถ้าพึงปรารถนาดับกิเลสและกองทุกข์สิ้นเชิงก็จะรู้จักด้วยกันทั้งนั้น”
    “ผู้นิพพานจะต้องตายทุกคนหรือ”

    “ทุกคนเมื่อเข้าสู่นิพพานธาตุจะต้องตายจากกิเลสและกองทุกข์ บางคนตายจากกิเลสและกองทุกข์แล้วแต่ยังมีชีวิตอยู่เช่นพระอรหันต์ผู้บรรลุแล้วไม่ดับขันธ์ เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานคือดับกิเลสหมดแล้วยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ บางคนตายจากกิเลสและกองทุกข์แล้วดับเบญจขันธ์ไม่มีเหลือคือพระอรหันต์ที่ดับขันธ์ดับสิ้นทั้งกิเลสและเบญจขันธ์เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน”

    “เราเคยสัมผัสอรหันมาแล้ว เป็นมนุษย์แต่มีปีกเหมือนนกบินได้”

    “นั่นเป็นผู้วิเศษที่บินได้ด้วยการบำเพ็ญตบะให้เกิดฤทธิ์ ติดอยู่แต่เพียงฤทธิ์ที่เนรมิตปีกและบินไปได้ในอากาศด้วยธรรมชั้นต้น ถ้าติดอยู่เพียงเท่านั้นจึงเรียกว่าอรหัน คือเป็นกงล้อที่จะหมุนอยู่ในวัฏสงสารไม่มีสิ้นรอบ เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบวนไปตามบุญตามกรรมดังกล่าวแล้ว ต่อเมื่อผู้ใดปฏิบัติธรรมบำเพ็ญญาณจนถึงขั้นดับกิเลสและกองทุกข์ได้สิ้นเชิงแล้วจึงจะเรียกว่าอรหันต์ตามที่เรากล่าวคำว่าอรหันต์มาจากอรหัต อร หมายถึง กงล้อที่หมุนเวียน หัต แปลว่า ทำลาย ทำให้สิ้น อรหัต จึงแปลว่า ผู้ดับแล้วซึ่งการหมุนเวียนในวัฏจักรแห่งชีวิต คือผู้ดับสิ้นกิเลสและกองทุกข์พ้นออกมาจากวงจรแห่งวัฏสงสาร ไม่เกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป นั่นคืออรหันต์ซึ่งเข้าถึงนิพพานธาตุดังกล่าว”

    “อิตถีเพศเช่นเราจะบรรลุอรหัตได้หรือ และถ้าบรรลุแล้วจะเรียกว่าอรหันต์หรือไม่”
    “ทั้งสตรีและบุรุษสามารถบรรลุอรหันต์ได้ทั้งสิ้น เมื่อเข้าสู่นิพพานธาตุแล้วย่อมมีความเป็น อรหัต อรหันต์ แต่เพียงสถานเดียว เพศหญิงเพศชายของอรหันต์ที่ยังเหลือเบญจขันธ์คือยังไม่ดับขันธ์จะปรากฏแต่เพียงเพศสมมุติเท่านั้น แต่ภาวะแห่งนิพพานเป็นภาวะเดียวกัน”

    เมื่อปุจฉาวิสัชนาธรรมมาถึงจุดสำคัญที่ยักษิณีเทพได้ตั้งเป็นคำถามไว้ว่า
    “นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา...เราพอเข้าใจแต่ไม่แจ่มแจ้งเพราะนี่เป็นเราในลักษณะดรุณีรุ่นกำดัดแห่งอุตตรกุรุทวีปจะว่าไม่ใช่ตัวตนดรุณีรุ่นกำดัดในมิตินี้ได้อย่างไร”

    สามเณรจึงเน้นเข้าสู่จุดแห่งการวิสัชนาปรมัตถธรรมอันสำคัญ

    “เทพธิดา...เมื่อท่านพึงเข้าใจความหมายของคำว่า นิพพาน อรหัต อรหันต์ แล้วเช่นนี้ท่านพึงเข้าใจแล้วใช่หรือไม่ว่า อรหันต์คือผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมนิพพานธาตุ ไม่มีแล้วอาสวกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้นทั้งปวง แม้บางพวกยังเหลือเบญจขันธ์เพราะยังไม่ได้ดับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นแต่เพียงรูปปรากฏ เวทนาปรากฏ สัญญาปรากฏ สังขารปรากฏ วิญญาณปรากฏ เป็นสมมุติฐานที่เป็นมาแล้วนั่นเอง หารวมเป็นอัตตาตัวตนที่จะน้อมความรู้สึกไปในทางทุกข์เหมือนเช่นเดิมไม่ ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงของพระอรหันต์จึงพิจารณาได้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา คือสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ ไม่เป็น ไม่ใช่ตัวตนของพระอรหันต์นั่นเอง”

    “คำว่าเรา ที่ปรากฏในประโยคเหล่านั้นก็หมายความถึง อรหันต์นะซีเจ้าคะ”
    เทพธิดาแสดงความเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น

    “สาธุ...สาธุ...สาธุ...เจริญพรชอบแล้ว เราในที่นั้นหมายถึงอรหันต์ถูกแล้วไม่ใช่หมายถึงมนุษย์ เทพ หรือ พรหม ซึ่งยังยึดมั่นถือมั่นในตัวตนอัตตาตามภาวะที่ปรากฏดังที่อีกหลายๆ ท่านทั้งไตรภพเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ จึงทำให้เกิดความสับสนวิจิกิจฉาในไตรลักษณ์สัจธรรมของพระพุทธองค์อยู่บ้าง”

    “สาธุ...สาธุ...สาธุ...ดีฉันเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วเจ้าค่ะพระคุณเจ้า จงเจริญกุศลเถิด”
    เทพธิดาสกุลยักษ์แห่งจาตุมหาราชิกาก็บรรลุความเข้าใจขึ้นมาทันที ความปีติซาบซ่านแห่งวิสัยเทพก็น้อมจิตเข้าสู่กุศลในธรรมะของพระพุทธองค์ มิจฉาเบื้องต้นหมดไป พลันกายครึ่งหยาบครึ่งละเอียดในแบบอุตตระมนุษย์ก็คืนเข้าสู่การประณีตยิ่งขึ้นเป็นกายทิพย์แห่งเทพในมหาราชิกาตามเดิม โปร่งใส สดสวย เปล่งปลั่งด้วยรัศมีเป็นประกายรอบด้าน จิตมิจฉาภาวะยักษ์มารก็เป็นแก้วแจ่มใสแห่งจิตเทพปรากฏแทนใสสะอาดหมดจดบริสุทธิ์ยิ่งนัก กายทิพย์นั้นน้อมนมัสการอัญชลีสามเณรด้วยความศรัทธาซาบซึ้งเป็นที่ยิ่ง

    “ดีฉันขออธิษฐานน้อมจิตเข้าปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาสืบไปด้วยเถิดเจ้าค่ะพระคุณเจ้า”
    เทพเธอปฏิญาณสัจอธิษฐานสามเณรกระทำสาธุการรับรองเห็นชอบด้วยปีติแล้วเข้าสู่อุเบกขา เหตุร้ายจึงกลายเป็นดี ธรรมะย่อมชนะอธรรมอีกวาระหนึ่ง

    ภายในถ้ำทิพย์ทองคำแห่งสุวรรณโครำก็สว่างไสวด้วยประกายเหลืองเรืองรองอลังการเป็นนิมิตแห่งกุศลอันทวีขึ้น ที่ปากถ้ำเบื้องนอกปรากฏร่างของหลวงพ่อจิตตัง แม่ชี และเทพธิดายมโดย ยืนอยู่ ณ เบื้องนั้นแสดงสาธุการยินดีด้วยให้เหตุการณ์ที่กลับกลายเป็นกุศลในครั้งนี้

    สามเณรน้อย และเทพธิดาแห่งมหาราชิกา ก้มลงกราบหลวงพ่ออย่างนอบน้อม
    “เจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้นไปเถิดทั้งสามเณรและเทพธิดาผู้มีโชค”
    “ขอนอบน้อมคารวะพระคุณเจ้า แม่ชี และเทพธิดาผู้เป็นใหญ่แห่งอุตตระเจ้าค่ะ”
    เทพธิดานบนอบด้วยสำนึกในฐานผู้บุกรุกที่รำลึกผิด
    “เราก็ขอคารวะนอบน้อมเทพเบื้องสูงผู้มีโชคแล้วเช่นกัน”
    เจ้าแม่นมสาวคารวะตอบ
    “พระคุณเจ้ากล่าวว่าดีฉันมีโชค เทพผู้เป็นใหญ่แห่งภาคพื้นก็กล่าวว่าดีฉันมีโชค...โชคอันใดหรือเล่าเพคะที่ดีฉันกำลังประสบอยู่”
    เทพธิดานอบน้อมถามพระคุณเจ้าอาวุโส

    “ดูก่อนเทพธิดา โชคอันดับแรกของเทพเธอคือการน้อมจิตเข้าสู่ธรรมะในพระพุทธศาสนา โชคอันดับรองคือ ในกาลต่อไปเทพเธอจะเข้าสู่ชาติภพที่สุคติขึ้นๆ จนเข้าถึงโลกุตรธรรมที่พึงเข้าใจแล้วในที่สุด ผิดกับพระราชธิดานฬินิกา ในกาลอดีตที่ไม่มีโอกาสสำนึกผิดได้ แม้ชาติต่อมาในสมัยพุทธกาลก็ยังมาบังเกิดเป็นปุราณทุติยิกา ภริยาก่อนบวชของอุกกัณฐิตภิกษุ สร้างกรรมให้ภิกษุในพระพุทธศาสนาเบื่อหน่ายพรหมจารี ด้วยชักจูงเพื่อเสพอสัทธรรมเหมือนเช่นเคย อาตมาภาพจึงกล่าวว่าเทพเธอเป็นผู้มีโชค”

    “สาธุ...พระคุณเจ้า ดีฉันปีติยิ่งที่โชคดีได้มาพบผู้ถึงกุศลทั้งสิ้นทั้งหลายเจ้าค่ะ”
    สามเณรได้ยินคำว่าพระราชธิดานฬินิกา ผู้มาบังเกิดเป็นปุราณทุติยิกา ภริยาเก่าผู้สร้างกรรมให้ภิกษุในพระพุทธศาสนา ก็เกิดความสนใจเพราะมิเคยทราบความเป็นมามาก่อน

    “นมัสการหลวงพ่อ กระผมเพิ่งเคยได้ยินหลวงพ่อกล่าวถึงพระราชธิดานฬินิกาในกาลอดีตเกี่ยวพันกับเหตุการณ์อกุศลซึ่งเป็นต้นเหตุให้เทพธิดาจากมหาราชิกากลายเป็นผู้มีโชคในที่สุด เรื่องราวความเป็นมาของพระราชธิดานามนั้นจักเป็นกุศลหรือไม่ถ้ากระผมผู้สงสัยจักพึงได้ทราบเป็นอุทาหรณ์”

    หลวงพ่อยิ้มน้อยๆ พลางชำเลืองไปทางเทพธิดาเบื้องสูง
    “เทพธิดา ทราบเรื่องนฬินิกาจากเทพผู้บงการมาบ้างแล้ว ยังจะยินดีได้รับฟังชาดกนั้นอีกหรือไม่ หรือว่าเทพเธอได้ทราบเรื่องทะลุกุศลแล้วไม่จำต้องพึงยินซ้ำในที่นี้อีก พึงแจ้งความประสงค์ของเทพเธอเถิด”

    “ดีฉันทราบเรื่องมาเป็นเลาๆ ไม่ทราบการเริ่มต้น และในที่สุด ถ้าพระคุณเจ้าโปรดเมตตาธรรมกถาโดยละเอียด และพระคุณเจ้าเห็นว่าจะช่วยเสริมกุศลแห่งหมู่เรามิถือเป็นเรื่องลามกเสื่อมทรามแล้ว คำแสดงธรรมของพระคุณเจ้าจะเป็นประโยชน์ต่อดีฉันเป็นอย่างยิ่งเจ้าค่ะ”

    “เป็นกรรมเก่าเสื่อมทรามของชายหญิงคู่หนึ่งที่ติดตามกันไปในวัฏฏะ ด้วยเรื่องเช่นนั้นเคยเกิดขึ้นแล้วแต่ในชาติอดีต ก็ยังมาบังเกิดซ้ำในอดีตสมัยพุทธกาลอีก แม้จะต่างวาระต่างบุคคลกันแต่ในกรรมเดียวกันนี้ก็เกือบจะบังเกิดขึ้นในปัจจุบันซึ่งผ่านมาแล้วเมื่อชั่วครู่ อาตมาภาพพึงเห็นว่าถ้าได้นำมาแสดงธรรมกถาด้วยเหตุอันสมควรในกาลนี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเทพเธอและสามเณรยิ่งขึ้น”
     
  14. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    ราชธิดานฬินิกา

    หลวงพ่อนั่งลงบนแท่นหินทองคำอันมิกระด้างกลางถ้ำใหญ่ แวดล้อมด้วยสามเณร แม่ชี เทพธิดายมโดย และเทพธิดาจากมหาราชิกาเพื่อฟังธรรม

    “จงสดับ...ชาดกขุททกนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยปัญญาสนิบาตชาดก เรื่อง นฬินิกาชาดก ราชธิดาทำลายตบะของดาบส จารึกจำหลักมาจากพุทธกาลสมัยพระบรมศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร วาระนั้นมีภิกษุรูปหนึ่งนามว่าอุกกัณฐิตภิกษุ เกิดความเบื่อหน่ายในการประพฤติพรหมจรรย์ พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า เธอถูกใครทำให้เบื่อหน่าย ภิกษุกราบทูลว่าถูกภริยาเก่าเป็นผู้ทำให้เบื่อหน่าย (ภริยาเก่าหมายถึงภริยาสมัยที่เป็นฆราวาส) พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ หญิงคนนี้แลเป็นผู้ทำความพินาศให้แก่เธอ แม้ในกาลก่อน เธออาศัยผู้หญิงคนนี้แล้วเสื่อมจากฌานเป็นผู้ถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวงมาครั้งหนึ่งแล้ว

    ...ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลชื่อ อุทิจจะ พอเจริญวัยได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะจนจบ บวชเป็นฤาษีทำฌานและอภิญญาให้บังเกิดขึ้นแล้ว เข้าไปอาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศกับบุตรชายน้อยผู้หนึ่งมีชื่อว่า อิสิสิงค บุตรน้อย อิสิสิงคเจริญวัยแล้วบวชศึกษาเล่าเรียนบริกรรมกสิณจนเป็นผู้มีตบะกล้าแข็งยอดเยี่ยมเป็นที่หวั่นไหวขึ้นไปถึงเทพเบื้องสูง ครั้งนั้นนัยว่าแผ่นดินอยู่ในระหว่างว่างพระศาสนา ดาบสผู้มีตบะกล้าแข็งเหนือมนุษย์ทั้งหลายมิมีธรรมะแห่งพระบรมศาสดาเป็นสรณะอาจเป็นภัยแด่มนุษยชาติด้วยมิจฉาแห่งดาบสได้ เทพผู้เป็นใหญ่ซึ่งคุ้มครองโลกบาลอยู่จึงวางอุบายเพื่อทำลายศีลของดาบสนี้เสีย ได้ห้ามฝนมิให้ตกในแว่นแคว้นจนเป็นที่เดือดร้อนของชาวเมืองอยู่ทั่วไป ร้อนถึงพระราชาจำต้องหาวิธีช่วยขจัดปัดเป่าทุกข์ภิกขภัยอันใหญ่หลวง ได้นิมิตทราบจากเทพผู้เป็นใหญ่ว่ามีสาเหตุมาจาก อิสิสิงคอันดาบสในป่าหิมวันต์ผู้นั้น จะมีวิธีแก้ไขได้อย่างเดียว คือส่งพระราชธิดาผู้เลอโฉมซึ่งมีนามว่า นฬินิกา ของพระองค์ไปทำลายตบะดาบสน้อยผู้นั้นเสีย ฝนฟ้าก็จะตกต้องตามฤดูกาลตามเดิม

    เพื่อพระราชกิจที่จะรักษาแว่นแคว้นบำบัดทุกข์ให้อาณาประชาราษฎร์ พระราชธิดาจึงต้องออกไปตามอุบายที่จะทำลายฌานของดาบสน้อยผู้นั้นเสียโดยถือโอกาสวันหนึ่งขณะที่พระโพธิสัตว์ผู้บิดาออกไปหาผลไม้ในป่าใหญ่ ปล่อยอิสิสิงคดาบสเฝ้าอาศรมอยู่ผู้เดียว พระราชธิดานฬินิกาก็ไปทำทีเล่นลูกข่างแสร้งอวดอวัยวะอันควรซ่อนเร้นอยู่หน้าพระอาศรม ดังกล่าวไว้...

    ...อิสิสิงคดาบสเห็นพระราชธิดาผู้สวมใส่กุณฑลแก้วมณีเสด็จมาอยู่ กลัวจึงเข้าไปสู่อาศรมที่มุงด้วยใบไม้ ส่วนพระราชธิดาแสดงอวัยวะอันควรซ่อนเร้นให้ปรากฏ เล่นลูกข่างอยู่ที่ประตูอาศรมของดาบสนั้น ฝ่ายดาบสผู้อยู่ในบรรณศาลาเห็นพระนางกำลังเล่นลูกข่างอยู่จึงออกจากอาศรมแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า...

    ดูก่อนท่านผู้เจริญ ต้นไม้ของท่านที่มีผลเป็นไปอย่างนี้มีชื่อว่าอะไร แม้ท่านขว้างไปไกลก็กลับมา มิได้ละท่านไป

    ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ต้นไม้ที่มีผลเป็นไปอย่างนี้นั้นมีอยู่มากที่เขาคันธมาทน์ ณ ที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า ผลไม้นั้นแม้ข้าพเจ้าขว้างไปไกลก็กลับมาไม่ละข้าพเจ้าไปเลย

    เชิญท่านผู้เจริญจงเข้ามาสู่อาศรมนี้ จงบริโภค จงรับน้ำมัน และภักษา เราจักให้ นี้อาสนะ เชิญท่านนั่งบนอาสนะนี้ เชิญบริโภคเหง้ามันและผลไม้แต่ที่นี่เถิด

    ที่หว่างขาอ่อนทั้งสองของท่านนี้เป็นอะไร มีสัณฐานเรียบร้อยปรากฏดุจสีดำ เราถามท่านแล้วขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า อวัยวะส่วนยาวของท่านเข้าไปอยู่ในฝักหรือหนอ

    ข้าพเจ้านี้เที่ยวแสวงหามูลผลาหารในป่า ได้พบหมีมีรูปร่างน่ากลัวยิ่งนัก มันวิ่งไล่ข้าพเจ้ามาโดยเร็ว มาทันเข้าแล้วทำให้ข้าพเจ้าล้มลงแล้วมันกัดอวัยวะส่วนยาวของข้าพเจ้า แผลนั้นก็เหวอะหวะและเกิดคันขึ้น ข้าพเจ้าไม่ได้ความสบายตลอดกาลทั้งปวง ท่านคงสามารถกำจัดความไม่สบายนี้ได้ ข้าพเจ้าวิงวอนแล้วขอท่านได้โปรดกระทำประโยชน์ให้แก่ข้าพเจ้าผู้เป็นพราหมณ์เถิด

    แผลของท่านลึก ไม่เน่าเปื่อย มีกลิ่นเหม็นและเป็นแผลใหญ่เราจะประกอบกระสายยาหน่อยหนึ่งให้ท่านตามที่ท่านจะพึงมีความสุขยิ่ง

    ดูก่อนท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ การประกอบมนต์ก็ดี การประกอบกระสายยาก็ดี โอสถก็ดี ย่อมแก้ไม่ได้ ขอท่านจงเอาอวัยวะส่วนยาวของท่านช่วยกำจัดความไม่สบายให้ข้าพเจ้าจะพึงมีความสุขอย่างยิ่งเถิด

    ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดาบสน้อยผู้ฌานแข็งกล้า แต่ยังไม่มีญาณอันประณีตแห่งบรมศาสดาเป็นเครื่องกำกับ อวิชชาครอบงำจนรำลึกไม่ได้ถึงธรรมชาติอันแท้จริง ก็หลงกลทำตามคำขอร้องแห่งพระราชธิดานฬินิกาในการช่วยบำบัดแผลคันคราวนั้น

    แม้กระทั่งพระราชธิดากระทำการสำเร็จเสร็จสมอารมณ์หมายตามอุบายเรียบร้อยแล้วก็หนีกลับไปยังกรุงพาราณสีตามเดิมปล่อยให้ดาบสน้อยเกิดความเร่าร้อนหวั่นไหวใจ เข้าไปยังบรรณศาลาเอาผ้าป่านคลุมร่างนอนเศร้าโศกอยู่

    เมื่อพระโพธิสัตว์กลับมาในยามเย็นเห็นบุตรนอนโศกเศร้าอยู่จึงถามว่า...
    ...ฟืนเจ้าก็ไม่หัก น้ำเจ้าก็ไม่ตัก แม้ไฟเจ้าก็ไม่ติด เจ้าอ่อนใจซบเซาอยู่ทำไมหนอ ดูก่อน...เจ้าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อก่อนฟืนเจ้าก็หัก ไฟเจ้าก็ติด แม้ไฟสำหรับผิงเจ้าก็จัดได้ ตั่งเจ้าก็ตั้ง น้ำเจ้าก็ตักไว้ให้เรา วันอื่นๆ เจ้าเป็นผู้ประเสริฐดีอยู่ วันนี้เจ้าไม่หักฟืน ไม่ตักน้ำ ไม่ติดไฟ ไม่จัดเครื่องบริโภคไว้ ไม่ทักทายเรา ของอะไรของเจ้าหายไปหรือ หรือว่าเจ้ามีทุกข์ในใจอะไร...

    ลำดับนั้น ดาบสเมื่อได้ฟังคำของบิดาแล้วจึงเล่าความจริงว่า...
    ...ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์มาในอาศรมนี้ มีรูปร่างน่าดูน่าชม เอวเล็กเอวบาง ไม่สูงนักไม่ต่ำนัก รัศมีสวยงาม มีศีรษะปกคลุมด้วยผมอันดำเป็นเงางาม ไม่มีหนวด บวชไม่นาน มีเครื่องประดับเป็นรูปเชิงบาตรอยู่ที่คอ มีปุ่มสองปุ่มงามปลั่งดังก้อนทองคำเกิดดีแล้วที่อก หน้าของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก มีกรรเจียกจอนห้อยอยู่ที่หูทั้งสองข้าง กรรเจียกจอนเหล่านั้นย่อมแวววาว เมื่อชฎิลนั้นเดินไปมาสายพันชฎาก็งามแพรวพราว เครื่องประดับเหล่าอื่นอีกสี่อย่างของชฎิลนั้นมีสีเขียว เหลือง แดง และขาว เมื่อชฎิลนั้นเดินไปมาเครื่องประดับนั้นย่อมดังกริ่งกร่างเหมือนฝูงนกติริฏิร้องในเวลาฝนตก ฉะนั้น...ชฎิลนั้นไม่ได้คาดเครื่องรัดเอวที่ทำด้วยหญ้าปล้อง ไม่ได้นุ่งผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้เหมือนของพวกเรา ผ้าเหล่านั้นพันอยู่ที่ระหว่างแข้งงามโชติช่วง ปลิวสะบัดดังสายฟ้าแลบอยู่ในอากาศ ข้าแต่ท่านพ่อ...ชฎิลนั้นมีผลไม้ไม่สุก ไม่มีขั้ว ติดอยู่ที่สะเอวภายใต้นาภี ไม่กระทบกันกระดกเล่นอยู่เป็นนิตย์ อนึ่ง ชฎิลนั้นมีชฎาน่าดูยิ่งนัก มีปลายงอนมากกว่าร้อย มีกลิ่นหอม ศีรษะอันแบ่งด้วยดีเป็นสองส่วน โอ...ขอให้ชฎาของเราจงเป็นเช่นนั้นเถิดหนอ และในคราวใดชฎิลนั้นขยายชฎาอันประกอบด้วยสีและกลิ่น ในคราวนั้นอาศรมก็หอมฟุ้งไปเหมือนดอกอุบลเขียวที่ถูกลมรำเพยพัด ฉะนั้นผิวพรรณของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก ไม่เป็นเช่นกับผิวพรรณที่กายของข้าพเจ้า ผิวกายของชฎิลนั้นถูกลมรำเพยพัดแล้วย่อมหอมฟุ้งไปดุจป่าไม้อันมีดอกบานในฤดูร้อนฉะนั้น ชฎิลนั้นมีผลไม้อันวิจิตรงามน่าดูลงบนพื้นดิน และผลไม้ที่ขว้างไปแล้วย่อมกลับมาสู่มือของเขาอีก ข้าแต่ท่านพ่อ...ผลไม้นั้นชื่อผลอะไรหนอ อนึ่ง...ฟันของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก ขาวสะอาดเรียบเสมอกันดังสังข์อันขัดดีแล้ว เมื่อชฎิลเปิดปากอยู่ย่อมยังใจให้ผ่องใส ชฎิลนั้นคงไม่ได้เคี้ยวผักด้วยฟันเหล่านั้นเป็นแน่ คำพูดของเขาไม่หยาบคายไม่เคลื่อนคลาด ไพเราะ อ่อนหวาน ตรง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คลอนแคลน เสียงของเขาเป็นเครื่องฟูใจ จับใจดังเสียงนกการะเวก นำใจของข้าพเจ้าให้กำหนัดยิ่งนัก เสียงของเขาหยดย้อย เป็นถ้อยคำไม่สะบัดสะบิ้ง ไม่ประกอบด้วยเสียงพึมพำ ข้าพเจ้าปรารถนาจะได้เห็นเขาอีกเพราะชฎิลนั้นเป็นมิตรของข้าพเจ้ามาก่อน แผลที่ต่อสนิทดี เกลี้ยงเกลาในที่ทั้งปวงใหญ่ เกิดดีแล้วคล้ายกับกลีบบัว ชฎิลนั้นให้ข้าพเจ้าคร่อมตรงแผลนั้น แหวกขาเอาแข้งบีบไว้ รัศมีซ่านออกจากกายของชฎิลนั้นย่อมเปล่งปลั่งสว่างไสวรุ่งเรืองดังสายฟ้าอันแลบแปลบปลาบอยู่ในอากาศ ฉะนั้น...อนึ่ง...แขนทั้งสองของชฎิลนั้นอ่อนนุ่ม มีขนเหมือนขนดอกอัญชัน แม้มือทั้งสองของชฎิลนั้นก็ประกอบด้วยนิ้วมืออันเรียววิจิตร งดงาม ชฎิลนั้นมีอวัยวะไม่ระคาย มีขนไม่ยาว เล็บยาวปลายเป็นสีแดง ชฎิลนั้นมีรูปงาม กอดรัดข้าพเจ้าด้วยแขนทั้งสองอันอ่อนนุ่ม บำเรอให้รื่นรมย์ ข้าแต่ท่านพ่อ...มือทั้งสองของชฎิลนั้นอ่อนนุ่มคล้ายสำลี งามเปล่งปลั่ง พื้นฝ่ามือเกลี้ยงเกลาเหมือนแว่นทอง ชฎิลนั้นกอดรัดข้าพเจ้าด้วยมือทั้งสองนั้นแล้วไปจากที่นี่ ย่อมทำให้ข้าพเจ้าเร่าร้อนด้วยสัมผัสนั้น ชฎิลนั้นมิได้นำหาบมา มิได้หักฟืนเอง มิได้ฟันต้นไม้เองด้วยขวาน แม้มือทั้งสองของชฎิลนั้นก็ไม่มีความกระด้าง หมีได้กัดชฎิลนั้นเป็นแผล เขาจึงกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่าขอท่านช่วยทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขเถิด ข้าพเจ้าจึงช่วยทำให้เขามีความสุข และความสุขก็เกิดมีแก่ข้าพเจ้าด้วย ข้าแต่ท่านผู้เป็นพรหม เขาได้บอกข้าพเจ้าว่าข้าพเจ้ามีความสุขแล้ว ก็ที่อันปูลาดด้วยใบเถาย่างทรายของท่านนี้กระจุยกระจายแล้วเพราะข้าพเจ้าและชฎิลนั้น เราทั้งสองเหน็ดเหนื่อยแล้วก็รื่นรมย์กันในน้ำ แล้วเข้าสู่กุฏิอันมุงด้วยใบไม้บ่อยๆ ข้าแต่ท่านพ่อ...วันนี้มนต์ทั้งหลายย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้าเลย การบูชาไฟข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย แม้การบูชายัญในที่นั้นข้าพเจ้าก็ไม่ชอบใจ ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังมิได้พบเห็นชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าจะไม่บริโภคมูลผลาหารของท่านพ่อเลย ข้าแต่ท่านพ่อ...แม้ท่านพ่อย่อมรู้เป็นแน่แท้ว่า ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ทิศใด ขอท่านพ่อจงพาข้าพเจ้าไปให้ถึงทิศนั้นโดยเร็วเถิด ข้าพเจ้าอย่าได้ตายเสียในอาศรมของท่านเลย ข้าแต่ท่านพ่อ...ข้าพเจ้าได้ฟังถึงป่าไม้อันวิจิตร มีดอกบาน กึกก้องไปด้วยเสียงนกร้อง มีฝูงนกอาศัยอยู่ ขอท่านพ่อช่วยพาข้าพเจ้าไปให้ถึงป่าไม้นั้นโดยเร็วเถิด ข้าพเจ้าจะต้องละชีวิตเสียก่อนในอาศรมของท่านพ่อเป็นแน่...

    อุทิจจะฤาษี ก็แจ้งใจว่าบุตรน้อยผู้ไร้เดียงสาต่ออิตถีเพศถูกหลอกล่อให้เสียพรหมจารีเรียบร้อยแล้ว ได้แต่รำพึงว่า...

    ...เราไม่ควรให้เจ้าผู้ยังเป็นเด็กเช่นนี้ถึงความกระสันในป่าเป็นโชติรสนี้ ที่หมู่คนธรรพ์และเทพอัปสรส้องเสพเป็นที่อยู่อาศัยแห่งฤาษีทั้งหลาย ในกาลก่อนพวกมิตรย่อมมีบ้างไม่มีบ้าง ชนทั้งหลายย่อมทำความรักในพวกญาติและพวกมิตร กุมารใดย่อมไม่รู้ว่าเราเป็นผู้มาแต่ไหน กุมารนี้เป็นผู้ลามกอยู่ในกลางวันเพราะเหตุอะไร มิตรสหายย่อมสนิทกันบ่อยๆ เพราะความอยู่ร่วมกัน มิตรนั่นแหละย่อมเสื่อมไปเพราะความไม่อยู่ร่วมของบุรุษที่ไม่สมาคม ถ้าเจ้าได้เห็นพรหมจารี ได้พูดกับพรหมจารีเจ้าจักละคุณคือตปธรรมนี้เร็วไว ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์แล้วเสียไปเพราะน้ำมากฉะนั้น หากเจ้าได้เห็นพรหมจารีอีก ได้พูดกับพรหมจารีอีก เจ้าจักละสมณเดชนี้เร็วไว ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์แล้วเสียไปเพราะน้ำมากฉะนั้น...

    โพธิสัตว์ฤาษีจึงแจ้งแก่ลูกรักให้เห็นพิษภัยในลามกกรรมแห่งอิตถีเพศนั้นว่า

    ...ดูก่อนลูกรัก พวกยักษ์นั้นย่อมเที่ยวไปในมนุษยโลกโดยรูปแปลกๆ นรชนผู้มีปัญญาไม่พึงคบพวกยักษ์นั้น พรหมจารีย่อมฉิบหายไปเพราะความเกาะเกี่ยวกัน...

    ดาบสน้อยได้ฟังถ้อยคำบิดาแล้วก็เกิดความกลัวเพราะทราบว่าหญิงนั้นคือนางยักษิณีจึงกลับใจขอขมาแล้วแจ้งว่าไม่ขอไปจากที่นี่แล้ว พระโพธิสัตว์ปลอบใจให้ลูกสบายใจตามสมควรแล้วจึงบอกวิธีการเจริญพรหมวิหารว่า จงเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เถิด ดาบสน้อย กระทำตามเช่นนั้นแล้ว ฌานและอภิญญาก็กลับบังเกิดขึ้นได้อีกตามเดิม

    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะทั้งหลายแล้ว ทรงประชุมชาดกในเวลาจบสัจจะ อุกกัณฐิตภิกษุดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลและตรัสแจ้งว่า พระราชธิดานฬินิกาในกาลนั้นได้เป็นปุราณทุติยิกา อิสิสิงคดาบส ได้เป็นอุกกัณฐิตภิกษุ ส่วนพระโพธิสัตว์ผู้เป็นบิดาก็คือเราตถาคตนั่นเอง



    ขึ้นสวรรค์ตามรอยพระพุทธเจ้า หน้า 99 - 106
    โดย บัญช์ บงกช
     
  15. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    แก้กรรมในปุพพเทหทวีป

    หลวงพ่อแสดงธรรมเทศนาชาดกจบลง ดวงปัญญาของผู้รับฟังก็สว่างไสวเพิ่มขึ้นในธรรมอันว่าด้วยกรรมผูกพันในการเวียนว่ายตายเกิด อิตถีเพศแม้จะมิใช่ยักษ์ถ้าสร้างลามกกรรมเพื่อทำความฉิบหายแก่พรหมจารีย่อมเป็นยักษ์เช่นกัน ยักษ์ถ้าคลายกรรมลามกนั้นได้ ย่อมเป็นเทพโดยสมบูรณ์

    “เทพธิดาผู้มีโชค พึงสดับ...อันวิสัยยักษ์เทพบริวารท้าวกุเวรหรือเวสสวัณ เป็นเทพแห่งจาตุมหาราชิกา มีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว มีเขี้ยวโง้ง มีฤทธิ์มากจำแลงตัวได้ เทพเธอพึงสำรวจตนเองอีกครั้ง บัดนี้...ท่านมีลักษณะดังกล่าวหรือไม่ จิตเทพเธอยังติดอารมณ์ยักษ์เบื้องหยาบใคร่จะกินมนุษย์ กินสัตว์ อยู่อีกหรือไม่ หยั่งทราบและศรัทธาในเบื้องต้นแล้วว่าพระสมณโคดมพระองค์นั้นมิได้สาบสูญสลายไปเปล่าเลยใช่หรือไม่ สถานนิพพานแดนเกษมมีจริงแล้วใช่หรือไม่ ข้อสำคัญที่สุดสำหรับเทพเธอ บัดนี้เทพเธออุบัติอยู่ในภาวะเช่นไร”

    เทพธิดาจากมหาราชิกาจึงรำลึกทิพยจิตตามคำแนะนำแห่งพระคุณเจ้า สำรวจธรรมดังกล่าวทุกข้อ ก็ทราบชัดว่าตนมิได้มีรูปร่างใหญ่โตมีเขี้ยวงอกโง้งน่ากลัวเหมือนแต่ก่อน ภายในดวงจิตอันเคยติดอารมณ์ปรารถนาเสพเนื้อมนุษย์และสัตว์ก็หมดไปสิ้น ทราบและเชื่อมั่นแล้วว่าพระสมณโคดมผู้ปรินิพพานแล้วมีภาวะเป็นดวงธรรมพิสุทธิ์สถิตในแดนเกษมวิสุทธิสถานแห่งนิพพานอันบรมสุขนั้นมีอยู่โดยธรรมชาติ

    ข้อสำคัญ...
    “บัดนี้เราเป็นเทพธิดาโดยสมบูรณ์พ้นจากภาวะเทพธิดามารอย่างสิ้นเชิง”
    เมื่อสำรวจได้เช่นนั้นเป็นมั่นแม่น จึงน้อมนมัสการหลวงพ่ออีกวาระหนึ่ง
    “ดีฉันโชคดีเหลือเกินแล้วเจ้าค่ะ...ดีฉันหยั่งทราบตนเองแล้วว่า ได้อุบัติเป็นเทพธิดาจริงๆ แล้ว มิได้เกิดจากการแสร้งจำแลงแต่ประการใด”

    “สาธุ”
    ทั้งหลวงพ่อ สามเณร และเทพธิดายมโดย ต่างกล่าวรับสาธุการขึ้นพร้อมกัน ปีติยินดีเป็นมุทิตาในผลานิสงส์ของเทพเธอผู้มีโชค

    “จริงสินะ...รูปธรรม นามธรรม เป็นอนัตตา...ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อชั่วครู่เรายังเป็นเทพยักษ์อยู่ มาบัดนี้เปลี่ยนเป็นเทพธิดาแล้ว ถ้าจิตเราน้อมไปในกุศลเบื้องสูงภาวะแห่งเทพธิดาก็จะไม่เป็นของเราอีกต่อไป”

    “พิจารณาชอบแล้วเทพธิดา จิตของผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในเบญจขันธ์ย่อมพิจารณาสัจธรรมในส่วนอนัตตาได้ชัดแจ้งขึ้น”
    หลวงพ่อวิสัชนาเสริมความเข้าใจให้ยิ่งขึ้น

    เมื่อได้เวลาอันสมควรเทพธิดาผู้ประสบโชคก็นมัสการอำลามุ่งสู่ปุพพเทหทวีปเพื่อรับกรรมและแก้กรรมที่ได้เกิดขึ้นแล้วในมโนกรรมช่วงเวลาหนึ่งก่อน เป็นการเตรียมพร้อมที่จะกลับขึ้นไปเสวยสุขบำเพ็ญธรรมในพระพุทธศาสนาดังที่ให้สัจจะปฏิญาณไว้ในวาระต่อไป

    “กล่าวกันว่า ณ แดนปุพพเทหทวีป เป็นภพมนุษย์หนึ่งซึ่งเป็นแดนของเทพที่เสื่อมมาจากเบื้องสูง หรือเทพที่ต้องแก้กรรมเพราะผิดอาญาสวรรค์มาอยู่อีกสถานหนึ่งด้วย”
    หลวงพ่อเปรยปรารภขึ้น ทำให้สามเณรรำลึกได้ถึงเทพพญานาคที่กำลังแก้กรรมเรื่องแสร้งปลัดอุทัยเมื่อคราวนั้น จึงกล่าวยืนยันขึ้น

    “ครับกระผมหลวงพ่อ กระผมเคยสัมผัสเทพพญานาคผู้กำลังแก้กรรมอยู่ ณ ปุพพเทหทวีป ในสมัยอยู่ในชมพูทวีปมาแล้วครับผม”
    “เทพพญานาคผู้อธิษฐานบวชใจแล้ว เช่นเดียวกับเทพเธอผู้โชคดีที่เพิ่งจากไปนั่นเอง”
    หลวงพ่อพยักหน้าช้าๆ ด้วยความยินดี

    แล้วทั้งหมดที่เหลืออยู่ก็เคลื่อนกายกลับมานมัสการองค์ทิพยพุทธปฏิมากรแก้วสัตตรัตนะก่อนที่จะแยกย้ายเข้าอาศรมธรรมในค่ำคืนนั้น

    นับเนื่องจากเกิดเหตุการณ์อกุศลคราวนั้น สามเณรได้จำไว้เป็นบทเรียนในการปฏิบัติจิตในแดนนี้ต้องเคร่งครัดและประมาทมิได้เลย เพราะศัตรูแห่งธรรมในนิมิตนี้ล้วนแต่เป็นผู้มีฤทธิ์ทั้งสิ้นจะมาผจญในรูปแบบอันละเอียดประณีตรู้เท่าทันยาก นอกจากดวงจิตที่วางไว้เป็นอุเบกขาแล้วเท่านั้นจึงจะรู้ได้ทันท่วงที

    “การอยู่ในภพที่ประณีตขึ้นเช่นนี้เป็นการอยู่ด้วยจิตเป็นเครื่องแสดง รูปสังขารเป็นส่วนประกอบ ผิดกับอยู่ในภพหยาบ รูปสังขารเป็นตัวแสดงนำ จิตเป็นส่วนประกอบภายใน”
    จึงบันทึกจารึกจำหลักไว้ในความรู้สึกอีกส่วนหนึ่ง

    พลางย้อนมโนภาพเข้าสู่สมัยเมื่อเป็นเด็กยังมิได้บรรพชา เรื่องเล่าประหลาดซึ่งเคยได้ยินถึงเหตุการณ์ที่มีคนหลงเข้ามาในแดนลับแล
    “ย้อนรำลึกเพียงเพื่อนำมาเปรียบเทียบเป็นกุศลธรรม...มิใช่คำนึงเพื่อความเพลิดเพลินหรือหมกมุ่นอยู่กับเรื่องในอดีต”

    ก่อนจะหวนคำนึงจึงต้องตั้งจิตในจุดหมายเสียก่อนเพื่อกำหนดมิให้เผลอเพลิดเพลินแต่เรื่องในหนหลังอันอาจนำมาซึ่งความประมาทได้

    “...มีผู้เคยเล่าให้ฟังว่าเคยพลัดหลงเข้ามาในแดนลับแล พบผู้คนบ้านเมืองสวยงาม ทุกคนถือศีลห้าเป็นนิจศีล คนที่หลงเข้ามาได้รับการต้อนรับให้กินอาหารแสนอร่อย หลับนอนอยู่ในบ้านเมืองหลายวัน ตอนสุดท้ายเมื่อเห็นเพชรพลอยอันมีอยู่ทั่วไปเพียงนึกในใจอยากได้โดยที่เจ้าของยังไม่อนุญาตเท่านั้นเองก็ต้องล่องลอยออกไปทันที มีพวกพ้องมาพบติดอยู่ในกอซอบ้าง หรืออยู่บนคาคบต้นไม้ใหญ่บ้าง ต้องช่วยกันนำออก หรือนำลงอย่างทุลักทุเล เพชรพลอยหรือทองคำซึ่งบางคนนำติดตัวไปก็กลับกลายเป็นขมิ้นอ้อยบ้าง เป็นก้อนกรวดก้อนหินบ้าง อะไรทำนองนั้น...”

    สามเณรเมื่อรำลึกแล้วก็เปรียบเทียบเสริมเหตุผลในเรื่องที่จิตเป็นตัวนำให้เด่นชัดขึ้นในแดนนี้
    “เพียงละเมิดศีลข้ออทินนาฯ อยู่ในใจก็บังเกิดผลขึ้นทันทีในแดนนี้ เช่นเดียวกับในแดนมนุษย์หยาบแม้ละเมิดในใจก็เกิดผลขึ้นแล้วทันที แต่มิได้ปรากฏให้เห็นเช่นที่นี่เท่านั้น จึงน่าเป็นห่วงมนุษย์หยาบเหลือเกินที่ยังไม่อาจทราบผลได้ถึงบาปกรรมอันเกิดขึ้นกับตนแล้วในขณะมีชีวิตอยู่เป็นจำนวนมาก”

    เมื่อเกิดความสงสารเป็นห่วงมนุษย์เมืองมาตุภพ รำลึกไว้เพื่อจะช่วยอนุเคราะห์เมื่อยามมีโอกาส แล้วจำต้องรีบนำจิตเข้าสู่อุเบกขาโดยเร็วเพื่อมิให้จิตตก

    “พระพุทธองค์ได้ทรงเตือนย้ำไว้เป็นจำนวนมากสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาให้ปฏิบัติจิตเป็นหลักโดยเสมอต้นเสมอปลาย ส่วนอื่นเป็นเครื่องประกอบเท่านั้น เพราะพระพุทธองค์พึงทราบ พึงเห็นแล้วเป็นสัจธรรมว่าจิตเป็นใหญ่เป็นตัวนำที่สำคัญที่สุดในวัฏสงสารจนกว่าจะแปรสภาพเป็นดวงธรรมอันพิสุทธิ์ในภาวะนิพพานเท่านั้น จิตของสัตว์จึงจะสิ้นสุดความสำคัญลงไปในลักษณะดังกล่าวแล้ว”

    สามเณรพิจารณาจารึกจำหลักมาถึงตอนนี้ก็เกิดปุจฉาแก่ตนเองว่า...
    “เมื่อจิตหมดความสำคัญลง หมดความคิดความรู้สึกในภาวะนิพพานแล้วจิตก็คงจะไม่รู้เรื่องอะไรต่อไปอีกเลย”
    เมื่อปุจฉาให้แก่ตนเองแล้วก็วิสัชนาให้ตนเองต่อไป
    “สมัยหนึ่งพระสารีบุตรผู้เป็นพระอรหันต์แล้ว อยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรกล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่า...
    “ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นิพพานนี้เป็นสุข”

    เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีขณะนั้นยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรว่า...
    “ดูก่อน...อาวุโสสารีบุตร นิพพานไม่มีเวทนา (ความรู้สึก) จะเป็นสุขได้อย่างไร”
    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า...
    “ดูก่อนอาวุโส นิพพานนี้ไม่มีเวทนา (ความรู้สึก) นั่นแหละเป็นสุข...”

    เมื่อวิสัชนาด้วยปุจฉาวิสัชนาของท่านพระสารีบุตรและพระอุทายีดังกล่าวแล้ว จิตอีกฝ่ายหนึ่งของผู้ยังไม่บรรลุก็จะเกิดวิจิกิจฉาได้ มีความเห็นเข้าข้างพระอุทายีว่าก็จริงซี เมื่อในนิพพานไม่มีจิตที่รู้สึกแล้วจะว่ามีความสุขซึ่งจะต้องเกิดจากความรู้สึกได้อย่างไร

    จิตอีกฝ่ายหนึ่งของพระอรหันต์ก็จะตอบว่า...

    “ความรู้สึกที่กล่าว (เวทนา) เป็นความรู้สึกในเบญจขันธ์ ความรู้สึกเช่นนั้นเป็นความรู้สึกที่มีความสุขคู่กับความทุกข์สลับกันไปในอารมณ์ของพระอรหันต์ย่อมไม่มี แต่ในอารมณ์ของพระอรหันต์มีความรู้สึกที่เกิดใหม่คือความรู้สึกในนิพพาน เป็นความรู้สึกที่มีความสุขแต่สถานเดียว จึงกล่าวว่านิพพานเป็นสุข”

    เมื่อปัญญาอันเกิดจากภาวนาได้ดังนี้ สามเณรน้อยก็รำลึกเปรียบเทียบตอบตนเองในที่สุดได้ว่า...
    “จิตซึ่งเป็นกุศลจิตแปรสภาพเป็นดวงธรรมพิสุทธิ์เรียบร้อยแล้วจะกลายเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์สุขเกษมแต่สถานเดียว มิใช่ไม่รู้เรื่องอะไรอีกต่อไปเลยตามที่ตั้งปุจฉามาข้างต้น”

    เมื่อบรรลุความรู้สึกด้วยตนเอง สามเณรรู้สึกอิ่มเอมเกษมใจยิ่งนักเพราะสิ้นความสงสัยในตัวเอง เป็นขณะเดียวกับที่ปรากฏเสียงสาธุการมารอบด้านแสดงความเข้าใจและเห็นชอบด้วยกับการพิจารณานั้น
    ชาวอุตตรกุรุทวีปนั่นเองที่มานั่งฟังธรรมอยู่โดยรอบในส่วนหน้าถ้ำในช่วงยามบ่ายของวันที่ได้พิจารณาธรรมแก่ตนเองอีกวันหนึ่ง

    “ถ้าคิดเป็นกุศลเช่นนี้ทีเดียว ทั้งตนเองและผู้อื่นที่ขวักไขว่กุศลดังปรากฏเฉพาะหน้า...นี่แหละแดนอุตตรกุรุทวีป ภพละเอียดประณีตซึ่งเหนือยิ่งขึ้นมาจากชมพูทวีปอันอยู่ในสถานแห่งเดียวกันโดยภูมิศาสตร์”

    รำพึงเบาๆ ทั้งๆ ที่มีความประสงค์จะให้ดังก้องทะลุเข้าไปในมนุษย์หยาบได้บ้าง เป็นความรู้สึกของสามเณรน้อยซึ่งยังห่วงมนุษย์ในแดนหยาบอยู่



    ขึ้นสวรรค์ตามรอยพระพุทธเจ้า หน้า 107 – 113
    โดย...บัญช์ บงกช
     
  16. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    ความฝันจากชมพูทวีป

    จิตรำพึงถึงมนุษย์หยาบอันเป็นกุศลมิทำให้จิตตก กลับจะทวีความสัมฤทธิ์ในความปรารถนาได้ยิ่งขึ้น มนุษย์หยาบที่สามเณรเป็นห่วงผูกพันคู่แรกก็คือแม่มีกับพ่อใหญ่ พ่อแม่ในปัจจุบันชาติ เพียงแวบเดียวที่สามเณรน้อยรำลึกถึงด้วยกตเวที ทั้งแม่มีและพ่อใหญ่ซึ่งกำลังนอนหลับสนิทเมื่อค่อนคืนอันเป็นเวลาตรงกันข้ามกับอุตตรกุรุทวีป ซึ่งอยู่ในกาลค่อนวันก็ฝันดีตรงกันทั้งคู่

    ทั้งคู่ฝันว่า ได้เหาะลอยละลิ่วขึ้นไปใกล้เชิงเขาพระสุเมรุบนสวรรค์ ได้พบเทวดาน้อยในรูปลักษณ์สามเณรท่านหนึ่งที่เชิงผาหน้าถ้ำเชิงเขานั้น สามเณรเทวดานั้นงดงามมากมีรัศมีเปล่งปลั่งเรืองรอง ร้องทักว่าเจริญกุศลเถิดโยมแม่ โยมพ่อ หมั่นประกอบอาชีพสุจริตคือการทำนาเลี้ยงตนต่อไปตามอัตภาพเถิด จัดสรรปันส่วนให้ทานทำบุญตามสมควรโดยสม่ำเสมอ กำหนดจิตให้อยู่ในศีลในธรรมเป็นประจำเช่นที่ประพฤติอยู่นั้นดีแล้ว อีกไม่นานนักหรอกสำหรับชีวิตมนุษย์ โยมพ่อ โยมแม่ จะได้ขึ้นมาเสวยสุขอยู่ในวิมานอันแสนงดงามบนสวรรค์...แล้วสามเณรเทวดาก็ชี้วิมานทองคำอร่ามเรืองงดงามมากเบื้องใกล้เชิงเขานั้นให้ดูคนละวิมานแล้วทั้งคู่ก็ตกใจตื่นขึ้นพร้อมกัน

    “พ่อใหญ่...ฉันฝันดี”
    “แม่มี...เราฝันดี”
    ทั้งคู่ละล่ำละลักบอกกล่าวกันและกันขึ้นพร้อมๆ กัน
    สามีภรรยาลุกขึ้นนั่งในมุ้งด้วยความปีติอิ่มเอม
    “ให้ฉันเล่าก่อนพ่อใหญ่”
    ผู้ภรรยาบังคับกลายๆ เมื่อสามีก็จะเล่าเช่นกัน เมื่อถูกบังคับจึงต้องเป็นผู้นิ่งฟัง แม่มีเล่าความฝันดังกล่าวซึ่งเพิ่งสัมผัสมาสดๆ มิขาดตกบกพร่องเลย เมื่อจบลง เห็นพ่อใหญ่นิ่งอยู่ ก็บอกให้พ่อใหญ่เล่าความฝันของตัวบ้าง
    “ก็แม่มีเล่าจบแล้วนี่”
    พ่อใหญ่บอกภรรยา
    “ที่ฉันเล่ามันเป็นความฝันของฉัน ของพ่อใหญ่เล่าฝันว่าอย่างไร”
    “ก็เหมือนกันกับที่แม่มีฝันนั่นแหละ”
    สามียืนยัน แม่มีนั่งงงอยู่ครู่หนึ่ง
    “มันคนละคนกันจะฝันเหมือนกันได้ยังไง”
    “จริงๆ นะแม่มี ความฝันของเราเหมือนที่แม่มีฝันทุกอย่างจริงๆ”
    “เออ...แปลกนะ”
    แล้วทั้งคู่ก็นิ่งเงียบเหมือนกำลังจะย้อนรำลึกอะไรอยู่ครู่ใหญ่

    “เราอยู่ด้วยกันมาจนจะแก่แล้วยังไม่เคยมีลูกสักคน แต่เมื่อฉันฝันเห็นสามเณรเทวดานั้นแล้วฉันชักจะมีความรู้สึกคลับคล้ายคลาว่าเหมือนเราจะเคยมีลูกผู้ชายคนหนึ่งนะ”
    แม่มีรำพึง พ่อใหญ่ก็พยักหน้าหงึกๆ รำพึงเช่นกัน

    “เราก็คิดอย่างนั้น เรารู้สึกเหมือนว่าเราเคยมีลูกผู้ชายคนหนึ่งแล้วบวชเป็นสามเณรหน้าตาเหมือนสามเณรเทวดาในฝันไม่มีผิด เอ...มันงงๆ ยังไงชอบกล”
    ทั้งคู่ยืนยันซึ่งกันและกัน แต่มันก็เป็นเพียงคลับคล้ายคลับคลาเท่านั้นเอง

    นับจากวันที่สองสามีภรรยาแห่งบ้านดงตาลฝันดีเป็นต้นมา ทั้งสองก็มีความรู้สึกฝังใจอยู่เช่นนั้น ฝังใจว่าเหมือนจะเคยมีลูกผู้ชายเล็กๆ คนหนึ่ง แต่พยายามช่วยกันนึกเท่าไรๆ ก็นึกไม่ออก เที่ยวไปถามใครต่อใครที่สนิทชิดชอบเมื่อสบโอกาส
    “ฉันเคยมีลูกผู้ชายคนหนึ่งใช่ไหม”
    “ผมเคยมีลูกผู้ชายคนหนึ่งใช่ไหม”
    คนชอบพอกันที่ถูกถามเช่นนั้นก็พากันสงสัยและเป็นห่วงสามีภรรยาคู่นี้กันทั่วไป
    “สงสัยอยากจะมีลูกจนเพ้อคลั่ง...ไม่เคยมีใครเคยเห็นแกมีลูกสักที อยู่ดีๆ มาถามเราได้ว่าฉันเคยมีลูกผู้ชายคนหนึ่งใช่ไหม ผมเคยมีลูกผู้ชายคนหนึ่งใช่ไหม”
    ทุกคนก็ลงความเห็นไปในทำนองนั้น

    สองสามีภรรยาก็ชักจะรู้สึกว่าพรรคพวกที่เคยชอบพอกันกลับมองเขาทั้งสองด้วยสายตาแปลกๆ และไม่ค่อยมาคบค้าสมาคมด้วยเหมือนเช่นก่อนๆ

    “ก็จริงสินะ ลูกเราแท้ๆ ถ้ามีแล้วกลับไปถามชาวบ้านเขาเช่นนั้น เป็นเราบ้าง ถ้าใครมาถามอย่างนั้นเราก็ต้องคิดเหมือนกับที่เขาคิดกับเราอยู่นี่แหละ”
    พ่อใหญ่ให้เหตุผล
    “เขาว่าเราบ้าเพราะความอยากมีลูก”
    แม่มีคล้อยตามในเหตุผลที่เป็นจริง

    แล้ววันดีคืนดีเมื่อชักจะไม่ค่อยแน่ใจในตัวเอง ทั้งสองก็พากันแอบชาวบ้านเข้าไปที่โรงพยาบาลประสาทในกรุงเทพฯ ให้หมอช่วยตรวจประสาทให้ทีเถอะว่ามันผิดปกติหรือเปล่าทั้งคู่
    “ไม่มีอะไรผิดปกติเลยครับ”
    ผลการตรวจกี่ครั้งกี่ครั้งทุกโรงพยาบาลก็ยืนยันเช่นนั้นตรงกัน
    “เอ...หรือจะเป็นลูกเมื่อชาติก่อนกระมัง”
    เมื่อมีเวลาว่างก็คิดถึงเรื่องนี้อีก สามีหาเหตุผลใหม่ยกขึ้นมา
    “ก็แสดงว่าฉันก็เป็นเมียพี่มาตั้งแต่ชาติก่อนน่ะซี”
    แม่มีก็คล้อยตาม
    “ชาตินี้ก็ตามมาเป็นผัวเมียกันอีก นี่แหละเขาเรียกว่าเนื้อคู่กัน”
    แล้วทั้งสองก็ชวนกันเข้ามุ้งนอนแต่หัวค่ำกว่าปกติ
    “เผื่อว่าเทวดาน้อยองค์นั้นจะติดตามมาเป็นลูกเราเมื่อตอนใกล้จะแก่ก็ได้”
    เสียงพึมพำๆ ทั้งของผู้หญิงผู้ชายเรียกร้องคร่ำครวญออกมาเมื่อแสงไฟดับลงแล้ว

    ถึงอย่างไรสองสามีภรรยาชาวนาก็ทำนาประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงตนเอง พอมีอยู่มีกินไปวันหนึ่งๆ ใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่เป็นหนี้ใคร มีเหลือบ้างก็ทำบุญทำทานตามสมควร ประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรมตามที่เทวดาน้อยในฝันเสริมกำลังใจให้ไว้ทุกประการ

    แม้ความรู้สึกตามความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ว่าไม่เคยมีลูกมาก่อน แต่ความรู้สึกในส่วนลึกของทั้งสองกลับมีความผูกพันอยู่กับสามเณรเทวดาในฝันอย่างมั่นคงว่านั่นคือลูกชายของตนไม่ชาตินี้หรืออดีตชาติอย่างแน่นอน ทั้งสองจึงมีความอบอุ่นใจอีกครั้งหนึ่งเหมือนครอบครัวที่สมบูรณ์ด้วยพ่อแม่ลูกอยู่พร้อมเพรียงกัน และเขาจะพากันนึกกระหยิ่มกันอยู่สองคนเสมอๆ ว่า ลูกของเขาเป็นเทวดา และตัวเขาก็จะไปเป็นเทวดาอยู่ในวิมานที่เห็นแล้วเมื่อถึงเวลานั้น ทั้งสองจึงอยู่กันอย่างมีความสุขตามอัตภาพ

    อีกครั้งหนึ่ง พ่อใหญ่และแม่มี สองสามีภรรยาได้ฝันถึงสามเณรเทวดาน้อยนั้นอีกตรงกัน...
    ...ในความฝันเมื่อค่อนคืนเช่นเคย...
    ทั้งสองฝันว่าได้ล่องเรือมาทางทะเลจากปากน้ำปราณสู่เกาะโครำเกาะนมสาว ได้ขึ้นไปกราบไหว้เจ้าแม่นมสาวที่ศาลริมหาดทราย พบผู้ชายคนหนึ่งและพรรคพวกกำลังสร้างสระบัวอยู่ที่หน้าศาลเจ้าแม่ เสร็จแล้วนำดอกบัวตูมมาปลูกในสระนั้น ทั้งสองแวะเข้าไปทักทายและเรียกชายผู้นั้นว่า “คุณดอกบัวตูม” ตามดอกบัวที่เอามาปลูก สักครู่ชายดังกล่าวและพรรคพวกหายไปปรากฏสามเณรเทวดานั่งอยู่บนแท่นหินทองคำเหนือสระบัวที่เพิ่งเสร็จ และปรากฏร่างเจ้าแม่นมสาวสวยสดงดงามแบบเทพธิดานั่งฟังธรรมจากสามเณรอยู่ที่แท่นหินทองคำลดหลั่นลงมา สองสามีภรรยาได้ก้มลงกราบสามเณรแล้วหันมากราบเจ้าแม่ สามเณรเทวดาได้ทักทายว่า เจริญกุศลโยมพ่อโยมแม่แล้วหันไปแนะนำเจ้าแม่นมสาวว่านี่คือโยมพ่อโยมแม่ของอาตมา และแนะนำโยมพ่อโยมแม่ว่านั่นคือเทพธิดายมโดย เจ้าแม่นมสาว สามเณรยังบอกต่อไปว่าสามเณรอาศัยเกาะแก้วรัตนะของเจ้าแม่นมสาวสถิตอยู่ และโยมดอกบัวตูมที่โยมพ่อโยมแม่ทักทายเมื่อครู่นี้เป็นเจ้าของกระท่อมยมโดยอยู่ฝั่งตรงข้ามเกาะแก้วนี้ ถ้าโยมทั้งสองอยากจะทราบความจริงบางประการที่สงสัยอยู่เกี่ยวกับอาตมาให้มาติดต่อสอบถามได้ที่โยมดอกบัวตูมที่กระท่อมยมโดยนั้น...บางที...บางที...โยมจะได้เข้าใจบางสิ่งบางอย่างกระจ่างขึ้น...

    แล้วทั้งสองสามีภรรยาก็ตื่นขึ้นพร้อมกัน ต่างอุทานด้วยความดีใจเหมือนครั้งแรก
    “พ่อใหญ่ ฉันฝันดี”
    “แม่มี เราฝันดี”
    ละล่ำละลักบอกกล่าวขึ้นพร้อมๆ กันอีก

    แล้วพ่อใหญ่ก็ถูกบังคับกลายๆ ให้เป็นผู้นั่งฟังก่อนเหมือนเช่นเคย ทุกอย่างก็ฝันตรงกันอีกโดยที่พ่อใหญ่ไม่จำเป็นต้องเล่าซ้ำเพราะแม่มีได้เล่าละเอียดลออแล้วนั่นเอง
    “แปลกอีกแล้ว...ฝันเหมือนกันอีกแล้ว เกี่ยวกับลูกชายของเราอีกแล้ว”

    ทั้งคู่ดีใจมากขึ้นเพราะคราวนี้ฝันเห็นทั้งลูกชายเทวดา เจ้าแม่นมสาวผู้เป็นเทพธิดายมโดย แล้วก็ชายผู้นั้นที่ชื่อดอกบัวตูม เจ้าของกระท่อมยมโดยตรงข้ามเกาะเจ้าแม่ และที่สำคัญที่สุดที่สามเณรเทวดาสั่งไว้ว่าถ้าอยากทราบความจริงเกี่ยวกับสามเณรเทวดา ให้ไปติดต่อสอบถามชายผู้นั้นที่ชื่อโยมดอกบัวตูม

    “ช่างตรงกันทุกประโยคคำพูดจริงๆ”
    พ่อใหญ่ผู้เป็นสามียืนยันเพราะตนก็จำความฝันได้อย่างแม่นยำสุดๆ
    “มันต้องเป็นความจริงเสียแล้ว ถ้าไม่เช่นนั้นฝันกันคนละคนมันจะตรงกันเหมือนเช่นนี้ไม่ได้”
    ยืนยันมั่นเหมาะขึ้นไปอีกเพราะจำภาพในความฝันได้ชัดแจ้งเหมือนเห็นมากับตาจริงๆ

    “พิสูจน์ดูก็ได้...ตั้งแต่เราเกิดมาจนป่านนี้ยังไม่เคยไปเที่ยวที่เกาะเจ้าแม่นมสาวเลยสักครั้งเดียว ลองไปดูกันก็ได้ว่าสถานที่ที่เราฝันเห็นนั้นจะตรงกับสถานที่จริงๆ บ้างไหม เช่น ศาลเจ้าแม่นมสาว สระบัวเล็กๆ และคุณดอกบัวตูมที่ว่าเป็นเจ้าของกระท่อมยมโดยบนฝั่งตรงข้ามเกาะเจ้าแม่จะมีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า เราไม่เคยทราบมาก่อน ลองไปพิสูจน์กันดูก็ได้ว่าความฝันของเราจะเป็นความจริงไหม ถ้ามีจริงอย่างว่าก็แน่นอนล่ะว่าไม่เป็นเรื่องเพ้อเจ้อเหลวไหล...”

    “เตรียมตัวให้พร้อม...พรุ่งนี้เราจะไปเที่ยวเกาะเจ้าแม่นมสาวกัน”
    พ่อใหญ่ แม่มี ตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยเพื่อจะตามไปพิสูจน์ความฝันของทั้งสอง


    ขึ้นสวรรค์ตามรอยพระพุทธเจ้า หน้า 114 – 120
    โดย...บัญช์ บงกช
     
  17. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    นายดอกบัวตูม

    เกาะนมสาวยังคงทอดตัวสงบนิ่งอยู่บนแผ่นน้ำทะเลเรียบสีมรกตกระจ่างใสราวแผ่นกระจกเงาเมื่อยามเช้า ดวงอาทิตย์สีแดงชาดดวงโตต้นฤดูหนาวค่อยๆ โผล่ขึ้นจากผิวน้ำระหว่างช่องเกาะนั้นและเกาะระวิงระหว่างเกาะหินเล็กๆ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ด้านทิศใต้ เงาเกาะนมสาวทอดมาจนถึงหาดทรายฝั่งแผ่นดินหน้ากระท่อมยมโดย เนื่องจากตัวเกาะอยู่ใกล้ฝั่งเพียงประมาณห้าหกร้อยเมตร

    ด้านซ้ายมือขึ้นไปทางทิศเหนือเป็นเกาะยาวสูงกว่าเล็กน้อยคือเกาะโครำอยู่ใกล้กัน เว้นช่องทะเลเป็นประตูไว้ในระยะพอเหมาะ ถัดขึ้นไปเป็นอ่าวใหญ่สามร้อยยอด มีเขารูปรองเท้าบู๊ทซึ่งชาวบ้านเรียกเขากะโหลก (กะลา) อยู่ที่ปากอ่าวด้านเหนือ ส่วนกลุ่มเกาะโครำ นมสาว ระวิง ระวาง รับทอดกับเขาตาโลที่บนบกอยู่ที่ท้ายอ่าวด้านใต้หาดทรายขาวสะอาดริมฝั่งหน้ากระท่อมยมโดยจึงเป็นหัวแหลมที่ยื่นออกไปรับตรงด้านหน้าของเกาะนมสาวใกล้สุดพอดี เป็นมุมท่องเที่ยวชายหาดที่งดงามที่สุดในแถบทะเลละแวกนั้น เมื่อยามน้ำลงหาดจะกว้างออกไปเกือบถึงตัวเกาะ แต่ในยามน้ำขึ้นเช่นเช้าวันนี้ก็จะดูเป็นส่วนของทะเลกว้างยื่นเข้ามาในแผ่นดิน เปรียบเสมือนลากูนเล็กๆ ในบริเวณกลุ่มเกาะทั้งสี่อันเชื่อมโยงประดุจเป็นอาณาเขตในบริเวณเดียวกันกับแผ่นดินบนฝั่งซึ่งเป็นส่วนที่ตั้งกระท่อมต้นตาลหลังใหญ่ แล้วโอบล้อมด้วยขุนเขาสามร้อยยอดเป็นปราการยักษ์กั้นแดนจากโลกภายนอกไว้บนแผ่นดินใหญ่ด้านทิศตะวันตกของอ่าว

    บริเวณนี้จึงดูสงบเหมือนแดนลับแลเป็นเอกเทศจากภพหยาบในชมพูทวีป
    สมัยก่อนยังไม่มีถนนตัดเข้ามา คงมาได้ทางเดียวคือทางเรือฟากทะเลอ่าวไทยเท่านั้น ปัจจุบันมีถนนลาดยางสะดวกตัดผ่านเลียบเทือกเขาสามร้อยยอดแล้วมีทางแยกเข้ามายังกระท่อมยมโดยตรงช่องประตูทะเลระหว่างเกาะโครำและนมสาวพอดี

    สองสามีภรรยาผู้ตามมาพิสูจน์ความจริงจากความฝันจึงเลือกเหมาเช่ารถยนต์มา มิได้ล่องเรือทางทะเลเหมือนในความฝัน เมื่อรถผ่านเข้ามาในถนนลูกรังบริเวณใกล้ทะเลมีป้ายเล็กๆ เขียนไว้ว่า...
    “กระท่อมยมโดย”
    ผัวเมียอ่านป้ายแล้วต่างมองตากันเป็นเชิงรับรู้
    “หนึ่งละ...กระท่อมยมโดย มีอยู่จริงๆ ตามความฝัน”
    ทั้งคู่สบตากันอีกครั้งและพยักหน้ารับรองซึ่งกันและกัน

    เมื่อมาถึงสุดถนนที่ผ่านข้างกระท่อมก็ถึงหาดอันงดงามนั้นพอดี มีเรือเล็กลำหนึ่งจอดรออยู่แล้วเหมือนรู้ใจ ทั้งคู่จึงบอกให้รถรออยู่แล้วมุ่งตรงไปว่าจ้างเรือ
    “เจ๊...เจ๊...จะไปขอลูกกับเจ้าแม่หรือ เจ้าแม่ท่านศักดิ์สิทธิ์นะ ให้หวยก็แม่นด้วย อย่าลืมขอหวยมาเผื่อฉันบ้างนะ”

    เจ้าของรถที่จ้างมาเป็นคนรู้จักกัน กระเซ้าเย้าแหย่ด้วยเคยรู้เรื่องราวของสองผัวเมียและกิตติศัพท์เจ้าแม่
    “ฉันจะมาไหว้เจ้าแม่...แล้วก็...มาหาลูกชายฉันที่บนเกาะนี้หรอกจ้ะ”
    แม่มีตอบทีเล่นทีจริงด้วยรอยยิ้มที่กระหยิ่มอยู่ในใจด้วยเริ่มเห็นความสมหวัง

    เรือแจวคู่ลำเล็กพาสองผัวเมียไปสู่เกาะนมสาวด้วยแรงแจวสองแขน เรือวิ่งเฉื่อยฉิวไปบนน้ำเรียบเพราะคลื่นลมยังสงบ ระหว่างทางอันใกล้นั้นเมื่อออกไปจากฝั่งก็ดูเป็นเวิ้งน้ำกว้างเพลิดเพลินตา เห็นเกาะแก่ง โขดเขาทั้งในทะเลและบนฝั่งเลื่อนลับสลับกันไปช้าๆ น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก ปลากระเบนตัวแบน กระทุงเหวตัวยาวปากแหลมแฉลบกระโดดล้อเล่นกับคลื่นเรือที่แล่นไป โลมาเผือก โลมาเทา หลายตัวแหวกว่ายเล่นอยู่หน้าเกาะ ยางดำคู่หนึ่งจากเกาะบินผ่านศีรษะตรงไปยังคลองเล็กๆ ที่ข้างกระท่อมด้านโน้น

    เป็นประสบการณ์ใหม่เอี่ยมของสองสามีภรรยาที่ไม่เคยสัมผัสความงดงามแปลกตาเช่นนี้เลย ทั้งสองเหลียวซ้ายทีขวาทีด้วยความสดชื่นหฤหรรษ์ยิ่งนัก ใกล้จะถึงเกาะเข้ามาเห็นศาลไม้และอิฐบางส่วนสองสามหลังเล็กๆ ใหญ่ขึ้น ผู้ภรรยาประนมมือไหว้ไกลๆ ผู้สามีก็ไหว้ตาม

    “ถ้าเป็นศาลเจ้าแม่ก็ไม่เหมือนที่เห็นในฝัน เพราะในฝันนั้นสดสวยเป็นวิมานปราสาท”
    ทั้งคู่คิดอยู่ในใจตรงกัน
    เห็นคนสามสี่คนอยู่ที่หน้าศาลหลังกลางนั้น
    “ผู้ชายเหล่านั้นกำลังทำอะไรกันอยู่นะ”
    คิดในใจตรงกันอีก
    เมื่อถึงเกาะ เรือจอดเกยหาดทรายเล็กๆ ที่หน้าศาล ทั้งสองก็ค่อยๆ ก้าวขึ้นไปอย่างระมัดระวัง
    “ศาลหลังกลางที่เป็นปูนนั่นแหละศาลเจ้าแม่นมสาว”
    เจ้าของเรือแนะนำพร้อมกับชี้ไปที่ศาลนั้น

    เห็นแผ่นหินและรูปจำลองเจ้าแม่ตั้งเป็นที่สักการะอยู่ด้านในถัดจากกระถางธูปราวเทียน ตรงระเบียงหน้ามีราวเชือกห้อยเสื้อยกทรงทั้งสองข้างเป็นจำนวนมาก เมื่อเดินขึ้นไปใกล้จึงเห็นชายกลางคนกำลังชี้แนะให้ชายอีกสามคนตกแต่งสระบัวที่ทำใหม่ด้วยปูนซีเมนต์โบกเป็นรูปเว้าแหว่งคล้ายธรรมชาติซึ่งใกล้เสร็จเพราะแห้งแล้ว เห็นกำลังเอาน้ำจืดจากบนฝั่งซึ่งใส่ถังแกลลอนมาหลายถังเทใส่ในสระเล็กนั้นแล้วเอาเหง้าบัวซึ่งกำลังมีดอกตูมๆ หลายดอกฝังปลูกในโคลนที่ก้นสระ ชายกลางคนผู้นั้นก้มลงปลูกด้วยมือตนเอง เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วเงยหน้าขึ้นมองมายังสองสามีภรรยาด้วยรอยยิ้ม

    สองผัวเมียผงะหยุดยืนอยู่ พลางจ้องหน้าชายกลางคนที่ยิ้มทักทายอยู่ก่อน
    “คุณดอกบัวตูม...เหมือนในฝันไม่มีผิดเพี้ยนเลยจริงๆ”
    ต่างกระซิบกระซาบกันเบาๆ แล้วพนมมือไหว้ชายผู้นั้นขณะเอ่ยเรียกเหมือนละเมอว่า...
    “คุณดอกบัวตูม...หรือครับ”
    ชายวัยกลางคนรับไหว้แล้วทำสีหน้างงๆ เมื่อได้ยินคำทักทาย
    “ดอกบัวอีกแล้ว...ดอกบัวอีกแล้ว...แต่คราวนี้เป็นดอกบัวตูม”
    ชายผู้นั้นเอ่ยตอบเบาๆ เหมือนละเมอเช่นกัน
    “คุณรู้จักผมหรือ”
    ชายผู้นั้นเอ่ยถามสองสามีภรรยาด้วยรอยยิ้มเช่นเคย
    “ปละ...เปล่าหรอกครับ...อ้า...อ้า...ผมฝันไปน่ะครับ”
    พ่อใหญ่ผู้เป็นสามีตอบอ้อมแอ้มและจ้องหน้าอีก
    “สองละ...สองละ ตรงตามความฝัน”
    “ความฝัน”
    คุณดอกบัวตูมรำพึงแผ่วเบา ดูนัยน์ตาเหม่อลอยเหมือนกำลังจะคิดอะไรอยู่
    “คุณเป็นเจ้าของกระท่อมยมโดยบนฝั่งโน้นหรือจ๊ะ”
    แม่มีกล่าวบ้าง
    “ความฝัน”
    คุณดอกบัวทวนคำอีกแล้วย้ำตอบคำถามของหญิงผู้นั้น
    “ใช่แล้วจ้ะ...ผมเป็นเจ้าของกระท่อมยมโดยบนฝั่งโน้น...ก่อนที่ผมจะมาเป็นเจ้าของที่ดินแสนสวยตรงนั้นผมก็ฝันไปเช่นกัน”
    ชายกลางคนผู้นั้นบอกเป็นจริงเป็นจังเกี่ยวกับความฝัน เมื่อได้มาพบคนช่างฝันด้วยกันอีกสองคน
    “คุณฝันเห็นสามเณรเทวดาและเจ้าแม่นมสาวแสนสวยหรือเปล่าครับ...คะ”
    สองสามีภรรยาถามขึ้นพร้อมกัน
    คุณดอกบัวหันมาจ้องตาทั้งสองพลางยิ้มแล้วพยักหน้าช้าๆ
    “ผมฝันเห็นเจ้าแม่นมสาวเป็นเทพธิดาแสนสวย แต่ไม่ได้ฝันเห็นสามเณรเทวดานั่น”
    “คุณฝันว่ายังไงคะ”
    ฝ่ายหญิงละล่ำละลักถามต่อ

    “ผมฝันว่าศาลเจ้าแม่บนเกาะนี้เป็นวิมานปราสาทแสนงดงาม เป็นวิมานแก้วแกมทอง เจ้าแม่เป็นเทพธิดาผู้ถือปัญจศีล เจ้าแม่มีดอกบัวเจ็ดสีอยู่ดอกหนึ่งเป็นสีรุ้งงดงามมากอยู่ในสระโบกขรณีหน้าวิมานตรงนี้ ผมจึงมาสร้างสระปูนเล็กๆ จำลองที่นี่แล้วนำดอกบัวมาปลูกดังที่เธอทั้งสองเห็นอยู่นี่แหละ ในฝันครั้งแรกก่อนที่ผมจะมาเป็นเจ้าของที่ดินที่สร้างกระท่อม ผมเคยมาเที่ยวที่ชายหาดหน้ากระท่อม เอาเสื่อมาปู เอาอาหารมากินกันตอนเย็น ผมเห็นที่ตรงนั้นสวยงามมากและอยู่ตรงเกาะหน้าศาลเจ้าแม่นมสาวพอดี ผมพนมมือไหว้เจ้าแม่จากฝั่ง อธิษฐานเล่นๆ ว่า ผมเคยได้ยินกิตติศัพท์เจ้าแม่มาตั้งแต่เล็กๆ นับถือและศรัทธาเจ้าแม่มาตลอด ผมมีความรู้สึกว่าเจ้าแม่มีองค์เป็นเทพอยู่จริงๆ ในศาลนั้น ถ้าเจ้าแม่มีองค์อยู่จริงๆ ขอได้โปรดไปเข้าฝันผมด้วย และถ้าผมเคยได้ทำบุญทำทานเกี่ยวกับแผ่นดินไว้บ้างในชาติปางก่อน ถ้าเจ้าแม่กรุณาให้ผมได้มีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินบนฝั่งตรงหน้าเกาะหน้าศาลนี้สักนิดหน่อยก็จะเป็นความกรุณาอย่างที่สุด...

    คืนนั้นเมื่อผมกลับไปนอนที่บ้านแม่ในเมืองก็ฝันจริงๆ ฝันเห็นเจ้าแม่และวิมานแสนสวยดังกล่าว แล้วเจ้าแม่กล่าวกับผมว่าชาติหนึ่งเมื่อประมาณ 200 ปีเศษมาแล้ว ผมเคยร่วมกับพระโพธิสัตว์ทำคุณกับแผ่นดินสยามประเทศไว้ ณ ที่ตรงนี้ผมก็เคยร่วมขบวนพยุหยาตราชลมารคกับพระโพธิสัตว์องค์นั้นมาพักเรือตรงเวิ้งอ่าวหน้าเกาะเจ้าแม่นมสาวนี้ และพระโพธิสัตว์พระองค์นั้นก็เคยพระราชทานแผ่นดินตรงนั้นให้ผมมาครั้งหนึ่งแล้ว มาในชาตินี้จึงหวนกลับมาปฏิพัทธ์สมบัติเดิมอีก อีกไม่นานหรอกผมจะได้เป็นเจ้าของแผ่นดินตรงนี้ เพราะเคยเป็นสมบัติเดิมของผม...

    นั่นเป็นความฝัน ซึ่งต่อมาก็เป็นความจริง ผมไม่ค่อยจะได้เล่าให้ใครฟังนักหรอกกลัวคนเขาหาว่าเพ้อเจ้อ แต่นี่คุณทั้งสอง ทั้งเธอและสามีเธอได้กล่าวถึงความฝัน...ความฝัน...และรู้สึกว่าต้องการให้ผมเล่าความฝันของผมอย่างจริงจัง ผมก็เล่าให้ฟังนี่แหละ”


    ขึ้นสวรรค์ตามรอยพระพุทธเจ้า หน้า 121 – 126
    โดย...บัญช์ บงกช
     
  18. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    ผู้ถ่ายทอด

    “แล้วคุณไม่รู้จักสามเณรเทวดาหรือจ๊ะ”
    ผู้เป็นภรรยายังติดใจเรื่องสามเณรเทวดา
    “สามเณรเทวดา...”
    คุณดอกบัวตูมทวนคำแล้วนิ่งอยู่เหมือนจะคิดคำนึงถึงอะไรบางอย่าง
    “สามเณร...สามเณรเทวดา...ก็พอจะคลับคล้ายคลับคลาอยู่เหมือนกันนะ แต่ท่านไม่เกี่ยวกับความฝันหรือเกี่ยวกับเกาะเจ้าแม่นี่...”
    เปรยๆ เป็นคำปรารภ
    “สามเณรเทวดาอยู่บนเกาะนี้ ท่านอาศัยเกาะเจ้าแม่นมสาวหรือเทพธิดายมโดยอยู่ สามเณรเทวดาบอกว่ารู้จักท่านซึ่งเป็นเจ้าของกระท่อมยมโดย”
    แม่มีรีบยืนยันเร็วปรื๋อเพราะเข้าถูกจุดแล้ว
    คุณดอกบัวส่ายหน้าช้าๆ
    “ผมยังไม่ทราบเรื่องนั้นที่นี่...”

    แล้วเจ้าของกระท่อมยมโดยก็ขอตัวกลับขึ้นฝั่งก่อนเพราะคนงานที่มาด้วยรออยู่บนเรืออีกลำริมเกาะนั้น ก่อนจะเดินจากกันได้ชักชวนสองสามีภรรยาให้แวะเยี่ยมเยียนที่กระท่อมถ้าเสร็จกิจธุระบนเกาะแล้ว
    “แต่เอ้อ...ถ้าวันนี้ไม่พบผมก็ขอเชิญวันหลังเข้ามาคุยกันที่กระท่อมก็ได้ เพราะประเดี๋ยวผมจะต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ แล้ว”
    คุณดอกบัวนึกขึ้นได้หันมาบอกในประโยคสุดท้ายก่อนจะขึ้นเรือกลับ

    “สามละ...เจ้าแม่เป็นเทพธิดาแสนสวยและมีวิมานปราสาทงดงามเหมือนในความฝันของเรา อย่างน้อยคุณดอกบัวตูมอีกคนหนึ่งก็ฝันตรงกันกับเรา”
    พ่อใหญ่นับนิ้วที่สามยืนยันความฝันที่เป็นจริงเพิ่มขึ้นมาอีกข้อหนึ่ง

    “เอ...แล้วสามเณรเทวดาลูกชายของเรานั่น...ทำไม่คุณดอกบัวแกไม่ยืนยันนะ ดูแกลังเลๆ ยังไงชอบกล” แม่มีแสดงสีหน้าผิดหวังเล็กน้อย

    “แกอาจยังไม่ได้ฝันก็ได้นะ...อีกหน่อยเทวดาน้อยลูกเราก็ไปเข้าฝันเองน่ะแหละ”
    ผู้สามีปลอบใจแล้วจูงมือภรรยาขึ้นไปกราบไหว้เจ้าแม่นมสาวที่บนศาลซึ่งประดับด้วยยกทรงสองแถวที่ระเบียงศาลา

    ผัวเมียจุดธูปเทียนกราบไหว้เจ้าแม่ พึมพำทำปากขมุบขมิบอยู่พักใหญ่ๆ และประโยคสุดท้ายอดไม่ได้ที่จะอธิษฐานขอให้ได้พบเห็นสามเณรเทวดาสักครั้งเถิดเป็นบุญตาแล้วก้มลงกราบคนละ 3 ครั้ง
    เมื่อทั้งคู่หันกลับมาก็ต้องสะดุ้งสุดตัวเพราะลิงใหญ่เท่าสามเณรตัวหนึ่งขึ้นมานั่งอยู่ด้านหลังอย่างเงียบๆ ลิงตัวนั้นหน้าตาเจี๋ยมเจี้ยม ทำตาปริบๆ และเชื่องมาก แสดงนัยน์ตาเป็นมิตรอย่างน่าสงสาร ทั้งคู่ทักทายเมื่อคลานเข้าใกล้มันจึงถอยออกลงศาลาหายเข้าป่าละเมาะริมเกาะไป

    “ลิงเจ้าแม่มีอยู่ตัวเดียว มันมากินกล้วยที่เจ้าของกระท่อมยมโดยเอาขึ้นมาถวายเจ้าแม่”
    เจ้าของเรือซึ่งคอยอยู่อธิบายให้ฟังเมื่อพากันขึ้นเรือเรียบร้อยแล้ว

    “ขึ้นไปบนเกาะเสียนาน พบมั้ยล่ะลูกชายที่ว่าอยู่บนเกาะ”
    เจ้าของรถซึ่งจอดรออยู่กระเซ้าถามแม่มี เพราะคุ้นเคยกัน
    “พบกะลิงน่ะซี...ลิงเจ้าแม่ตัวโต๊โตเท่ากะลูกชายของฉันเลย”
    แล้วต่างฝ่ายต่างก็หัวเราะกันอย่างสนุกสนาน แต่ในส่วนลึกของสองผัวเมียยิ่งกระหยิ่มในใจมากขึ้นเพราะการมาพิสูจน์คราวนี้ได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อเจ้าของรถบอกว่าเห็นเจ้าของกระท่อมขับรถออกไปก่อนแล้วทั้งสองจึงไม่แวะเข้าไปในกระท่อมยมโดยในวันนั้น แต่สั่งเจ้าของรถว่าวันหลังจะเช่ารถมาใหม่เพื่อมาหาลูกชายบนเกาะให้พบและจะมาคุยกับเจ้าของกระท่อมด้วย

    เมื่อกลับมาถึงบ้านดงตาลจ่ายค่าเช่ารถเรียบร้อยก่อนเจ้าของรถจะถอยรถกลับไปจึงนึกขึ้นได้รีบตะโกนถามสองผัวเมีย
    “หวยล่ะ...เจ้าแม่ให้หวยมารึเปล่า...เลขอะไรงวดนี้”
    “เอ้อ...นั่นน่ะซี...ฉันเกือบลืมบอกไป เจ้าแม่ให้เลขเด็ดมา แกเอาไปเถอะ...เอ้าจดให้ดีเจ้าแม่ให้ตรงๆ สามตัวข้างบน เอาไปซื้อให้รวยเลย ฉันไม่เล่นหรอกเพราะลูกชายฉันบอกเอาไว้ว่ามันเป็นกิเลส”

    เจ้าของรถหัวเราะชอบใจพลางจดเลขใส่ฝ่ามือไว้แล้วก็ขับรถออกไปทันที
    “ตาใหญ่กับยายมี ถ้าจะเพ้อเข้าขั้นจริงๆ คำหนึ่งก็ลูกชาย สองคำก็ลูกชาย อยากมีลูกเสียจนบ้าๆ บอๆ ไปเลย น่าสงสาร”
    พูดเบาๆ กับตนเองคนเดียวขณะขับรถออกจากบ้านดงตาลไปยังเจ้ามือหวยอย่างเร่งรีบเพราะเย็นวันนี้หวยจะออกพอดี

    วันรุ่งขึ้นแต่เช้าเจ้าของรถคันดังกล่าวขับรถตามผัวเมียทั้งสองไปถึงที่หัวคันนาตะโกนโหวกเหวกด้วยความดีใจ
    “ตาใหญ่ แม่มี...เร็วเข้า มานี่เร็ว...ฉันถูกหวยที่แม่มีให้ไปได้ตั้งสี่แสนบาท”
    “อะไรนะ...”
    แม่มีป้องปากตะโกนถามเพราะได้ยินไม่ถนัด พร้อมกับเดินมาที่หัวคันนาทั้งสองคนตามที่เจ้าของรถเช่ากวักมือเรียก
    “อย่าเอ็ดไป...อย่าเอ็ดไป...ฉันถูกหวยเจ้าแม่สี่แสนบาท”
    ปากป้องว่าอย่าเอ็ดไป แต่ก็ตะโกนลั่นว่าถูกหวยสี่แสนบาท
    “เอ้อ...ดีแล้ว นายโชคดี เราดีใจด้วย”
    พ่อใหญ่กล่าวเรียบๆ แสดงความดีใจด้วย
    เจ้าของรถยังคงเต้นแร้งเต้นกาด้วยความดีใจ ก่อนจะควักเงินจากกระเป๋าออกมาปึกหนึ่งถ้าจะเป็นหมื่นทีเดียว
    “เอ้าแบ่งกันตาใหญ่แม่มี ที่ฉันถูกก็เพราะพ่อใหญ่แม่มีเป็นคนนำโชคมาให้แท้ๆ”

    ผู้มีโชคหวยสามตัวยื่นเงินปึกใหญ่ไปตรงหน้าสองผัวเมียเป็นการตอบแทนด้วยน้ำใจ แต่ทั้งคู่ผลักมือของผู้มีน้ำใจนั้นเสีย
    “นายเก็บไว้ทำบุญทำทานเถิด และสร้างอะไรให้เจ้าแม่ท่านบ้าง สำหรับเราและฉันไม่เอาหรอก ลูกชายฉันบอกไว้ว่าอย่ารับเงินกิเลส”

    สองผัวเมียชาวนาแม้จะยากจนพอมีกินไปวันหนึ่งๆ แต่มั่นคงอยู่ในสันโดษ สมถะ ทั้งสองรำลึกถึงความฝันที่สามเณรเทวดาบอกไว้ว่า...
    “โยมแม่ โยมพ่อ...หมั่นประกอบอาชีพสุจริต คือการทำนาเลี้ยงตนต่อไปตามอัตภาพเถิด จัดสรรปันส่วนให้ทานทำบุญตามสมควรโดยสม่ำเสมอ กำหนดจิตให้อยู่ในศีลในธรรมเป็นประจำเช่นที่ประพฤติอยู่นั้นดีแล้ว อีกไม่นานนักหรอกสำหรับชีวิตมนุษย์ โยมพ่อ โยมแม่ จะได้ขึ้นมาเสวยสุขอยู่ในวิมานอันแสนงดงามบนสวรรค์...”

    ด้วยความมั่นคง ทั้งสองสามีภรรยาต่างปฏิเสธเป็นมั่นเหมาะไม่รับเงินที่เจ้าของรถมีน้ำใจนำมาแบ่งให้ ได้แต่กล่าวสรรเสริญความมีน้ำใจและแนะนำให้นำไปทำบุญทำทานดังกล่าว

    “คนบ้าอย่างนี้ก็มีด้วย...”
    เจ้าของรถเช่าพูดเบาๆ คนเดียวขณะขับรถออกจากหัวคันนาเพื่อจะไปหาซื้อยกทรงสักสามโหลนำไปถวายเจ้าแม่นมสาว

    สามสี่วันต่อมา เมื่อพ่อใหญ่แม่มีทราบข่าวว่าคุณดอกบัวตูมเจ้าของกระท่อมยมโดยกลับมาที่กระท่อมแล้วจึงว่าเช่ารถยนต์คันเดิมไปหาเจ้าของกระท่อมและถือโอกาสไปไหว้เจ้าแม่นมสาวอีกครั้ง
    คราวนี้เจ้าของรถยินดีบริการฟรีให้เต็มที่ไม่คิดค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้นด้วยความเด็ดเดี่ยวมั่นคงที่จะตอบแทนบุญคุณสองสามีภรรยาอย่างจริงใจ และตั้งใจที่จะนำของที่ซื้อไว้ไปถวายเจ้าแม่ด้วย จึงถือโอกาสไปพร้อมกันครั้งนี้เลย สองผัวเมียจึงต้องยอมรับบริการของเจ้าของรถผู้มีโชคตามที่ได้ตั้งใจตอบแทนบุญคุณในครั้งนี้

    นอกจากสิ่งของต่างๆ เครื่องบูชาเครื่องประดับพร้อมยกทรงที่คิดว่าเป็นของโปรดของเจ้าแม่นมสาวที่เจ้าของรถเช่าเตรียมไปถวายเต็มที่ ส่วนพ่อใหญ่แม่มีตัดกล้วยน้ำว้าจากหลังบ้านเครือใหญ่นำไปถวายเจ้าแม่ก่อนแล้วตั้งใจแขวนไว้ให้เป็นอาหารเจ้าลิงทโมนตัวโตที่น่าสงสารตัวนั้นด้วย

    เมื่อเสร็จจากบนเกาะนมสาวแล้วทั้งหมดก็กลับขึ้นฝั่งแวะเยี่ยมเยียนคุณดอกบัวตูม เจ้าของกระท่อมยมโดยตามที่ได้เชิญชวนไว้ตั้งแต่คราวที่แล้ว
    คุณดอกบัวตูมดีใจที่เห็นสองสามีภรรยาสนใจกลับมาหาตามคำชักชวน เพราะคุณดอกบัวเองก็ยังติดใจเกี่ยวกับเรื่องสามเณรเทวดาอยู่

    โดยเฉพาะเมื่อกลับไปทบทวนเหตุการณ์เกี่ยวกับสามเณรองค์หนึ่งที่มีปรากฏอยู่ในบันทึกเรื่องราวอย่างหนึ่งของเขาเมื่อไม่นานมานี้ยิ่งเพิ่มความสนใจให้เขามากขึ้น เขาได้ตั้งใจไว้แล้วว่า ถ้ากลับจากกรุงเทพฯ มาที่กระท่อมคราวนี้ ถ้าสองสามีภรรยายังไม่มาหา เขาจะเป็นผู้ไปติดตามหาผัวเมียคู่นั้นเอง

    ทั้งสองฝ่ายทักทายกันด้วยอัธยาศัย แม่มีก็แนะนำเจ้าของรถเช่าผู้โชคดีให้คุณดอกบัวทราบถึงเรื่องเจ้าแม่ให้หวย แล้วเจ้าของรถนำไปซื้อถูกได้เงินมาถึงสี่แสนบาทจึงกลับมาถวายของเจ้าแม่ในครั้งนี้

    คุณดอกบัวตูมยินดีด้วยความจริงใจ และเชื่ออย่างไม่มีข้อกังขาเพราะเท่าที่มาพักอยู่ที่กระท่อมตามสมควรเคยเห็นคนมาแก้บนและนำข้าวของมาถวายเจ้าแม่อยู่เนืองๆ คุณดอกบัวตูมเคยสอบถามดูจึงได้ความว่าถูกล็อตเตอรี่บ้าง ถูกหวยบ้าง สำเร็จในกิจการที่ขอไปบ้างได้ผลสมความประสงค์ตามที่ได้บนบานเจ้าแม่ไว้บ้าง เป็นเช่นนี้เป็นประจำจนดูเป็นเรื่องปกติ นับว่าเจ้าแม่นมสาวเป็นเทพธิดาผู้อารีช่วยเหลือผู้ซึ่งเคยมีบุญเก่าหนุนอยู่ให้ได้รับความสำเร็จในกิจการที่ขอตามสมควรแทบทุกราย

    นายดอกบัวตูมเชื่อมั่นเช่นนั้น ยืนยันประสบการณ์ด้วยตนเองเช่นนี้
    “และนายดอกบัวตูม...ก็คือข้าพเจ้าผู้เขียนเรื่องนี้นี่เอง”




    ขึ้นสวรรค์ตามรอยพระพุทธเจ้า หน้า 127 - 132
    โดย...บัญช์ บงกช
     
  19. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    คลับคล้ายคลับคลา

    นับจากวันที่สองสามีภรรยาคู่นั้นคาดคั้นถามถึงสามเณรเทวดา ทำให้ข้าพเจ้าคลับคล้ายคลับคลาหวนระลึกถึงสามเณรองค์หนึ่งซึ่งความรู้สึกบอกว่าเหมือนกับจะอยู่ในความทรงจำหรือไม่ก็อยู่ในบันทึกเรื่องราวเมื่อคราวประสบเหตุการณ์ประหลาดเกี่ยวกับสามเณรในป่าช้าครั้งที่ไปงานศพพันโทจำนวน จันทรี พี่เขยที่วัดเมืองปราณคราวนั้น

    เมื่อกลับไปบ้านที่กรุงเทพฯ ได้พลิกต้นฉบับทิพยนิยายทิพยสถานมหาราชิกา ซึ่งข้าพเจ้าได้นำไปถ่ายทอดเป็นบทประพันธ์ลงในหนังสือรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง เป็นทิพยนิยายจรรโลงธรรมะขนาดยาวติดต่อกันเรื่อยมา ในตอนท้ายของเรื่องได้มีบันทึกว่า ข้าพเจ้าได้เดินเข้าไปในป่าช้าพร้อมด้วยดอกบัวตูมสีขาวดอกหนึ่งเมื่อตอนเย็น โดยบอกกล่าวกับเพื่อนว่าจะเอาดอกบัวไปถวายเทวดาในป่าช้า แล้วกลับออกมาเมื่อพลบค่ำ มีกระดาษปึกใหญ่ซึ่งข้าพเจ้าถือออกมาด้วย กระดาษปึกนั้นเป็นบันทึกเรื่องราวละเอียดของสามเณรน้อยซึ่งในบันทึกอ้างว่าข้าพเจ้าเข้าไปพบในป่าช้าเย็นวันนั้น

    เมื่อพลิกย้อนอ่านขึ้นไปเกี่ยวกับสามเณรน้อยก็ได้พบว่าเป็นลูกชายคนเดียวของชาวนาอยู่บ้านดงตาล พ่อชื่อใหญ่ แม่ชื่อมี เมื่อสามเณรพร้อมด้วยหลวงพ่อพระครูจิตตัง และแม่ชีสุดคนึง ได้ทำอภิญญาสมาบัติหลีกเร้นออกไปจากภพหยาบเข้าสู่อุตตรกุรุทวีปและลบเลือนเหตุการณ์ทั้งสิ้นในส่วนนั้นให้พ้นออกจากความทรงจำของผู้เกี่ยวข้องทั้งสิ้น ทุกคนที่เคยผูกพันอยู่กับสามเณร หลวงพ่อ แม่ชี ก็มีความรู้สึกว่าไม่เคยมีเหตุการณ์และบุคคลสามท่านนี้อยู่เลย

    “แม้กระทั่งข้าพเจ้าเองก็เป็นเพียงคลับคล้ายคลับคลาอยู่กับเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งยังไม่เชื่อใจตนเองจนกระทั่งทุกวันนี้ว่าจะเป็นผู้เขียนทิพยนิยายทิพยสถานมหาราชิกาภาคแรกนั้นด้วยอารมณ์อิสระของตนเองจริงๆ หรือ...”

    ข้าพเจ้าก็ได้แต่คลับคล้ายคลับคลาอยู่เช่นนั้นจริงๆ

    เมื่อได้ค้นบันทึกและอ่านต้นฉบับดังกล่าวแล้วก็นึกถึงบิดามารดาของสามเณรน้อยที่ชื่อพ่อใหญ่แม่มี ทำให้นึกถึงสองสามีภรรยาที่คาดคั้นถามเรื่องสามเณรเทวดาเมื่อพบกันบนเกาะนมสาววันนั้นซึ่งยังไม่ได้ถามชื่อเสียงเรียงนามกันเลย จะเป็นคู่เดียวกันกับในทิพยนิยายหรือเปล่าก็ยังไม่ทราบ ทำให้ข้าพเจ้าสนใจที่จะติดตามหาสามีภรรยาคู่นั้น เมื่อกลับมากระท่อมยมโดยครั้งนี้ตามที่ตั้งใจเอาไว้เมื่อสองสามีภรรยากลับมาเยี่ยมข้าพเจ้าอีก ข้าพเจ้าจึงยินดียิ่งนัก

    “อ้อ...แล้วคุณทั้งสองเคยรู้จักสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ชื่อ พ่อใหญ่และแม่มีบ้างไหม”
    ข้าพเจ้าหยั่งเชิงถาม
    สามีภรรยานิ่งเงียบ เหลียวมองหน้ากันงงๆ แล้วหันกลับมามองหน้าข้าพเจ้าอีก
    “แล้วคุณดอกบัวตูมรู้จักผัวเมียคู่นั้นได้ยังไง”
    ผู้เป็นภรรยาย้อนถามข้าพเจ้า
    “เอ้อ...จะว่าฝันไปก็ไม่ใช่ จะว่าจริงๆ ก็ไม่เชิง มันคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเคยได้ยินมายังงั้นแหละ”
    “ไม่รู้จักตัวเขาใช่ไหม”
    เธอถามต่อด้วยเสียงปนหัวเราะ
    “อาจเคยรู้จักตัวเขาแล้วแต่ไม่รู้จักชื่อก็ได้”
    ข้าพเจ้าก็ตอบปนหัวเราะเช่นกัน เพราะมั่นใจว่าใช่แน่แล้ว
    “นั่นไงพ่อใหญ่แห่งบ้านดงตาล...”
    เธอชี้ไปที่สามีซึ่งนั่งยิ้มเผล่อยู่ใกล้ๆ
    “งั้นเธอก็แม่มีน่ะซี”
    เมื่อจุดไต้ตำตอเข้าเช่นนี้ก็โล่งใจที่คาดไว้ไม่ผิด แต่ก็ต้องประหลาดใจเมื่อคิดทบทวนถึงเรื่องบันทึกนั่น
    “สามีภรรยาที่ปรากฏชื่อในนิยายของเราก็มีตัวตนอยู่จริงอีก”
    ข้าพเจ้ารำพึงในใจ
    “แล้วถ้าข้าพเจ้าเป็นคนเดียวเองจริงๆ ทั้งเรื่องแล้ว...ทำไมข้าพเจ้าจึงไม่รู้จักสามีภรรยาคู่นี้มาก่อนเล่า”
    ถามตนเองอีกและยังตอบไม่ได้เช่นเคย
    “แล้วลูกชายของพ่อใหญ่แม่มีที่บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดเมืองยังบวชอยู่หรือสึกแล้ว”
    ข้าพเจ้าหยั่งถามต่อไปอีก
    คราวนี้เจ้าของรถผู้มีโชคดีที่มาด้วยหันมาจ้องหน้าข้าพเจ้าด้วยอีกคนหนึ่งด้วยนัยน์ตาแปลกๆ
    “ลูกชายที่บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดเมือง...”
    ทั้งสองคนพึมพำเหมือนละเมอและครุ่นคิดงงๆ
    “คุณพี่ครับ ผัวเมียคู่นี้ยังไม่เคยมีลูก อยากได้ลูกสักคนจึงมาขอให้เจ้าแม่ช่วยนี่แหละครับ”
    เจ้าของรถเช่าช่วยอธิบายตามที่เขาเข้าใจ
    “เฮ่ย...ฉันไม่ได้มาขอลูกเจ้าแม่นะ...ฉันมาหาลูกฉันต่างหาก”
    แม่มีทักท้วงและยืนยัน
    “เอ้า...มาหาลูกชายก็มาหาลูกชาย เจ๊เขาคิดว่าลูกชายเขาอยู่บนเกาะเจ้าแม่นั่น”
    เจ้าของรถตัดความรำคาญจึงเออออห่อหมกกับแม่มี และหันมาบอกข้าพเจ้าในประโยคหลัง
    “มันชักจะเข้าเค้าอีกแล้ว...”
    ข้าพเจ้าคิดและชักรู้สึกสับสนตัวเองอีก
    “สับสนว่าเรื่องทิพยสถานมหาราชิกาภาคแรกนั้นดูทำท่าจะเป็นปรากฏการณ์ของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์พระเถระผู้มีปฏิสัมภิทาจริงๆ”
    ข้าพเจ้าจ้องหน้าสองสามีภรรยาอีกและทบทวนถึงวันที่ได้พบกันครั้งแรกเมื่อสองสามวันก่อน
    “ทำไมแม่มีและพ่อใหญ่จึงคิดว่ามีลูกชายอยู่บนเกาะเจ้าแม่นั่นล่ะ”
    ข้าพเจ้าซักต่อไปบ้าง
    “ก็ฉันฝันไปน่ะซี”
    ผู้เป็นภรรยาตอบยืนยันอย่างไม่ปิดบัง

    “จริงสินะ คุณทั้งสองก็บอกผมตั้งแต่วันนั้นแล้วว่าฝันไป แต่ผมกลับไปชิงเล่าความฝันของผมเสียก่อนเลยยังไม่ได้ถามความฝันของคุณทั้งสอง ดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ นั่นเสียก่อนซี แล้วลองเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม ความฝันของคุณน่ะ”

    แม่มียกแก้วเครื่องดื่มขึ้นดื่มอึกใหญ่แล้วเล่าความฝันซึ่งอยากเล่ามาแต่วันแรกแล้ว
    “ฉันก็ฝันเกี่ยวกับสามเณรเทวดาและเจ้าแม่มาสองครั้งเช่นกัน...
    คราวแรกฝันว่าทั้งฉันและพี่ใหญ่ได้เหาะลอยละลิ่วขึ้นไปใกล้เชิงเขาพระสุเมรุบนสวรรค์ ได้พบเทวดาน้อยในรูปสามเณรท่านหนึ่งที่เชิงผาหน้าถ้ำเชิงเขานั้น สามเณรเทวดางดงามมาก มีรัศมีเปล่งปลั่งเรืองรองร้องทักว่าเจริญกุศลเถิดโยมแม่ โยมพ่อ...หมั่นประกอบอาชีพสุจริต คือการทำนาเลี้ยงตนต่อไปตามอัตภาพเถิด จัดสรรปันส่วนให้ทานทำบุญตามสมควรโดยสม่ำเสมอ กำหนดจิตให้อยู่ในศีลในธรรมเป็นประจำเช่นที่ประพฤติอยู่นั้นดีแล้ว อีกไม่นานนักหรอกสำหรับชีวิตมนุษย์ โยมพ่อโยมแม่จะได้ขึ้นมาเสวยสุขอยู่ในวิมานอันแสนงดงามบนสวรรค์...แล้วสามเณรเทวดาก็ชี้วิมานทองคำอร่ามเรืองงดงามมากเบื้องใกล้เชิงเขานั้นให้ดูคนละวิมาน แล้วฉันก็ตกใจตื่นขึ้น”

    แม่มีเล่าอย่างแม่นยำทุกขั้นตอนไม่ขาดตกบกพร่องเลยเพราะเป็นความฝันที่ประทับใจที่สุด
    “อีกครั้งหนึ่งในเวลาห่างกันไม่กี่วัน...ฉันก็ฝันอีก ฝันว่าทั้งฉันและพี่ใหญ่อีกน่ะแหละได้ล่องเรือมาทางทะเลจากปากน้ำปราณสู่เกาะโครำเกาะนมสาวนี่ ได้ขึ้นไปกราบไหว้เจ้าแม่นมสาวที่ศาลริมหาดทรายนั่น พบผู้ชายคนหนึ่งและพรรคพวกกำลังสร้างสระบัวอยู่ที่หน้าศาลเจ้าแม่ เสร็จแล้วนำดอกบัวตูมมาปลูกในสระนั้น ฉันและพี่ใหญ่แวะเข้าไปทักทายและเรียกชายผู้นั้นว่าคุณดอกบัวตูม ตามดอกบัวที่เอามาปลูก สักครู่ชายดังกล่าวและพรรคพวกหายไป ปรากฏสามเณรเทวดานั่งอยู่บนแท่นหินทองคำเหนือสระบัวที่เพิ่งเสร็จและปรากฏร่างเจ้าแม่นมสาวสวยสดงดงามแบบเทพธิดานั่งฟังธรรมจากสามเณรอยู่ที่แท่นหินทองคำลดหลั่นลงมา ฉันและพี่ใหญ่ก้มลงกราบสามเณรแล้วหันมากราบเจ้าแม่ สามเณรเทวดาทักทายและแนะนำโยมพ่อโยมแม่ว่านั่นคือเทพธิดายมโดยเจ้าแม่นมสาว สามเณรยังบอกต่อไปว่าสามเณรอาศัยเกาะแก้วรัตนะของเจ้าแม่นมสาวสถิตอยู่ ถ้าโยมทั้งสองอยากจะทราบความจริงบางประการที่สงสัยอยู่เกี่ยวกับอาตมาให้มาติดต่อสอบถามได้ที่โยมดอกบัวตูมที่กระท่อมยมโดยนั้น...บางที...บางที โยมจะได้เข้าใจบางสิ่งบางอย่างกระจ่างขึ้น”

    แม่มีเล่าจบพลางยกน้ำขึ้นดื่มจนหมดแก้ว
    “แล้วคุณใหญ่ล่ะ ฝันเหมือนกันหรือ ฝันยังไงล่ะ”
    ข้าพเจ้าถามเพื่อให้เขาได้พูดบ้าง
    “ฝันทั้งสองครั้งเหมือนกับที่แม่มีฝันนั่นแหละ”
    พ่อใหญ่กล่าวตอบ
    “ฝันคนละคนจะเหมือนกันได้ยังไงกัน”
    ข้าพเจ้าท้วงติงบ้าง
    “เหมือนกันจริงๆ ทุกอย่างเลย และก็ฝันพร้อมกันทุกที ตื่นก็ตื่นพร้อมกันทั้งสองครั้ง”
    ทั้งสองผัวเมียต่างยืนยันมั่นเหมาะเป็นปี่เป็นขลุ่ยเข้าด้วยกัน

    เจ้าของรถที่นั่งฟังอยู่ด้วยความสนใจหัวเราะอย่างไม่เชื่อเพราะคิดตามธรรมดาเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ว่าคนละคนจะมาฝันเหมือนกันและตรงกันและพร้อมกันได้อย่างไร

    แต่ข้าพเจ้าเชื่อตามที่สองผัวเมียยืนยัน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันได้เกิดขึ้นเกี่ยวกับข้าพเจ้าด้วยแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดา จึงจะต้องวิเคราะห์กันต่อไป



    ขึ้นสวรรค์ตามรอยพระพุทธเจ้า หน้า 133 – 138
    โดย...บัญช์ บงกช
     
  20. เกตุวดี

    เกตุวดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    10,518
    ค่าพลัง:
    +18,696
    สู่กระแสสัมผัส

    “แม่มีและพ่อใหญ่ เคยอ่านทิพยนิยายเรื่องทิพยสถานมหาราชิกาจากหนังสือบ้างหรือเปล่า”
    ข้าพเจ้าถามเผื่อว่าเป็นเพราะทั้งสองอาจทราบเรื่องสามเณรมาจากทิพยนิยายของข้าพเจ้าก็ได้
    “ที่บ้านไม่เคยซื้อหนังสืออ่านนอกจากฟังนิยายทางวิทยุเวลาไปนา”
    แม่มีเป็นผู้ตอบเช่นเคย พ่อใหญ่ก็ได้แต่นั่งพยักพเยิดเออออเช่นเดิม
    ส่วนเจ้าของรถเช่าคงจะเบื่อนิทานซึ่งคิดว่าเพ้อเจ้อจึงเดินออกไปเที่ยวที่ชายหาดเสีย
    “คนพวกนั้นเขาหาว่าฉันและพี่ใหญ่อยากมีลูกจนเพ้อคลั่ง”
    เธออธิบายต่ออย่างไม่ปิดบัง
    “ถามคุณดอกบัวตูมจริงๆ เถอะ ฉันเคยมีลูกชายบวชเป็นสามเณรจริงๆ หรือ”
    แม่มีอดรนทนไม่ได้จึงถามขึ้นดื้อๆ พ่อใหญ่ผู้เป็นสามีต้องสะกิดสีข้างเพราะเป็นคำถามอย่างเดียวกับที่คนเขาว่าอยากมีลูกเสียจนบ้าๆ บอๆ มาแล้ว

    ข้าพเจ้าจะตอบอย่างไรดี เห็นใจก็เห็นใจ สงสารก็สงสาร ที่แท้ตัวข้าพเจ้าเองก็ยังคลับคล้ายคลับคลาๆ เหมือนสองผัวเมียเช่นกัน แม้จะทึ่งอยู่ในส่วนลึกว่ามันน่าจะมีความจริงบางอย่างแฝงอยู่แต่ก็ยืนยันแก่ตัวเองยังไม่ได้ทั้งๆ ที่เหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นกับข้าพเจ้าเอง

    “มันเป็นเพียงนิยายหรอกกระมัง”
    “นิยาย...นิยาย นิยายเรื่องอะไรคุณ มีออกวิทยุหรือยัง”
    ผู้ภรรยาหูผึ่งขึ้นทันทีเมื่อเอ่ยคำว่านิยาย เธอนึกถึงนิยายวิทยุที่ฟังเป็นประจำ

    “นิยายที่ผมเขียนขึ้นเล่นๆ เผอิญมีสามเณร มีพ่อแม่ชื่อนายใหญ่นางมี...เผอิญไปตรงกันเข้าโดยไม่ตั้งใจเท่านั้น”

    ข้าพเจ้าพยายามตอบให้ห่างไกลจากบันทึกหลักฐานอันเป็นต้นฉบับที่ข้าพเจ้านำเป็นข้อมูลเขียนนิยายนั้นเสีย เพราะจะทำให้ทั้งสองเกิดความสับสนมากขึ้นไปอีกได้ถ้าบอกกล่าวเล่าถึงบันทึกมหัศจรรย์จากสามเณรในป่าช้านั้น

    “นั่นเป็นเรื่องของคุณดอกบัวซึ่งฉันไม่เคยรู้ไม่เคยอ่านมาก่อน แต่ที่ฉันถามอยู่นี่ฉันถามตามความฝันของฉัน เพราะสามเณรเทวดาบอกไว้ให้มาถามคุณดอกบัวตูมบางทีจะรู้เรื่องกระจ่างขึ้น”

    แม่มีผู้มีความฉลาดรอบคอบยกเหตุผลตามความจริงที่ข้าพเจ้าจะตอบแก้ให้ห่างออกไปแสนจะยากลำบาก ข้าพเจ้าครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งว่าจะตอบอย่างไรดีถึงจะบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น
    “มันเป็นเรื่องบังเอิญไปได้เหมือนกันนะ บางทีความฝันของคนคนหนึ่งบังเอิญไปตรงกับเรื่องของคนอีกคนหนึ่งโดยที่ไม่รู้กันมาก่อนเป็นเรื่องบังเอิญที่เป็นไปได้”

    ข้าพเจ้าตอบเลี่ยงๆ ไว้ก่อน ขณะที่คิดอยู่ในใจว่าอาจต้องค้นหาคำตอบในสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกันโดยไม่บังเอิญเช่นนี้มาตอบสองสามีภรรยาในภายหลัง ถ้าเป็นคำตอบที่ไม่เป็นอกุศลและเลื่อนลอยเกินไปดังเช่นในขณะนี้
    “บางที...บางที...สามเณรเทวดาอาจดลใจให้ข้าพเจ้าได้เขียนทิพยสถานมหาราชิกา ภาค 2 ต่อไปอีกก็ได้”

    ข้าพเจ้าคิดอยู่ในความรู้สึกและมีสิ่งบอกเหตุว่าข้าพเจ้าอาจต้องเป็นผู้ถ่ายทอดทิพยสถานตามสัจธรรมของพระพุทธองค์ต่อไปอีก

    “เอาไว้ถ้าเรื่องที่ผมเขียนได้พิมพ์เป็นเล่มเมื่อไหร่ผมจะเอามาให้คุณทั้งสองไว้อ่านเล่นที่อยู่ดีๆ ได้ไปเป็นตัวละครในนิยายด้วยทั้งสองคน เป็นหนังสือธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ ถ้าพ่อใหญ่แม่มีได้อ่านคงชอบเพราะมีสวรรค์วิมานปรากฏในเรื่องนั้น”
    ข้าพเจ้าพยายามเบี่ยงเบนความจริงจังไปสู่เรื่องนิยายเสีย และรู้สึกได้ผลขึ้น

    “เมื่อไหร่จะพิมพ์เป็นเล่มล่ะ ถ้าเรื่องวิมานปราสาทบนสวรรค์ล่ะฉันขอจองไว้เล่มหนึ่งเลย” เธอกล่าวจริงจังด้วยความสนใจ

    “ยังหรอก คงอีกนาน เมื่อได้พิมพ์เป็นเล่มผมเอามาให้ฟรีไม่ต้องจองไม่ต้องซื้อหรอกคิดว่าเป็นค่าที่เอาชื่อไปเป็นตัวละครก็แล้วกัน”

    แล้วทั้งหมดก็หัวเราะขึ้นพร้อมๆ กัน บรรยากาศค่อยคลายเครียดลง แม้ทั้งสองฝ่ายคือสามีภรรยาฝ่ายหนึ่งและข้าพเจ้าฝ่ายหนึ่งจะยังมีเรื่องดังกล่าวค้างอยู่ในความรู้สึกด้วยกันก็ตามแต่ก็มีความรู้สึกตรงกันว่าควรระงับไว้เท่านั้นก่อน ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าอยากจะถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้กับผัวเมียคู่นี้อีกมาก และในทางกลับกันทั้งสองก็คงอยากจะถามข้าพเจ้าอีกหลายอย่างเช่นกัน

    เมื่อสามีภรรยาลากลับไปแล้วในตอนบ่ายวันนั้น ข้าพเจ้าได้นั่งทบทวนเหตุการณ์ในเรื่องทิพยสถานมหาราชิกาที่ได้เขียนจบไปแล้ว

    “ทำไมสามเณรน้อยมาอยู่ที่เกาะเจ้าแม่นมสาว...ในเรื่องตอนจบทั้งหลวงพ่อจิตตัง แม่ชีสุดคนึง และสามเณร ทำอภิญญาล่วงภพเข้าไปอยู่ในอุตตรกุรุทวีปตามที่หลวงพ่อบอกไว้...แต่...เอ...จริงสินะ เจ้าแม่นมสาวเคยแจ้งว่าเป็นเทพธิดาอยู่ในอุตตรกุรุทวีปตอนที่นำกลุ่มหนุ่มเข้าไปในแดนลับแลแล้วก็ย้อนไปต้นๆ เรื่อง หลวงพ่อจิตตังเคยนำดอกบัวทะเลสีรุ้งจากบาดาลพิภพมาเป็นของกำนัลเจ้าแม่เมื่อครั้งขึ้นไปที่นาคพิภพในมหาราชิกา

    ...บัวเจ็ดสีที่เราฝันเห็นอยู่ในสระโบกขรณีหน้าวิมานเจ้าแม่นั่นเองคือดอกบัวทะเลดอกนั้น จึงมีเหตุผลที่เป็นไปได้ว่าสมณะทั้งสามได้หลีกเร้นล่วงภพเข้าไปอยู่ในอุตตรกุรุทวีปในสถานประณีตอันเป็นมิติละเอียดซ้อนอยู่ในบริเวณเกาะนมสาวซึ่งเจ้าแม่คุ้มครองปกปักรักษาอยู่ก็เป็นได้”
    ข้าพเจ้าชักจะเริ่มกระจ่างขึ้นมาบ้างในความรู้สึกที่นำมาปะติดปะต่อกัน

    “ถ้าหลวงพ่อจิตตัง สามเณรน้อย และแม่ชีสุดคนึง มีจริงๆ อยู่ซึ่งได้หลีกเร้นจากภพหยาบล่วงเข้าสู่ภพประณีตดังปรากฏในบันทึกตอนท้ายของเรื่องนี้ในภาคแรกนั้น ขณะนี้ผู้ทรงศีลทั้งสามก็คงจะกำลังบำเพ็ญกิจกุศลตามที่ได้ปวารณาไว้จากจาตุมหาราชิกาอยู่ในแดนอุตตรกุรุทวีป ถ้ากุศลผลบุญของเรามีอยู่บ้างซึ่งมีความปรารถนาจะนำสัจธรรมอันเร้นลับเหล่านี้ถ่ายทอดสู่มนุษยชาติเพื่อโน้มนำจิตของเขาให้คลายทิฏฐิในอกุศลลงบ้าง สามเณรน้อยผู้มีกิจปวารณาตรงกันน่าจะดลบันดาลให้เราสัมผัสประสบการณ์ในแดนลี้ลับที่พระคุณเจ้ากำลังบำเพ็ญกุศลอยู่”

    ข้าพเจ้าเริ่มมีอารมณ์คล้อยตามในความคลับคล้ายคลับคลาที่ฝังแน่นอยู่ในความรู้สึก
    “นั่นคือหมายความว่า ข้าพเจ้าอยากจะให้ทิพยสถานมหาราชิกาภาคแรกที่ได้นำออกถ่ายทอดสู่ท่านผู้อ่านบ้างแล้ว เป็นปรากฏการณ์ของท่านผู้ทรงศีลได้บันดาลให้ข้าพเจ้านำมาประพันธ์อีกต่อหนึ่งจริงๆ มิใช่เป็นเรื่องราวซึ่งเกิดขึ้นจากจินตนารมณ์โดยอิสระของข้าพเจ้าแต่ผู้เดียวเท่านั้น”

    แม้กระทั่งตัวของข้าพเจ้าซึ่งถือได้ว่าเป็นประจักษ์พยานจากต้นตอที่มาของเรื่อง ยังมีความสงสัยเคลือบแคลงว่าไม่น่าจะใช่ที่ข้าพเจ้าเป็นผู้เขียนเรื่องนั้นขึ้นมาเองด้วยจินตนาการของตนเอง จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตาติดตามดูต่อไปว่าเรื่องอันน้อมนำท่านผู้อ่านไปสู่กุศลเช่นนี้มีแนวโน้มอันเกิดมาจากสัจบารมีแห่งธรรมในพระพุทธองค์ก็เป็นไปได้มาก

    “นโม ตฺสส ภควโต อรหโต สฺมมาสมฺพุทฺธสฺส
    นโม ตฺสส ภควโต อรหโต สฺมมาสมฺพุทฺธสฺส
    นโม ตฺสส ภควโต อรหโต สฺมมาสมฺพุทฺธสฺส”
    ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
    ขอมั่นอยู่ในองค์ธรรมแห่งพระพุทธคุณเป็นสรณะ ที่จะน้อมนำจิตของข้าพเจ้าเข้าสู่จินตนารมณ์เพื่อสัมผัสภพภูมิมนุษย์ละเอียดแดนหนึ่งซึ่งมีกล่าวปรากฏไว้ในสัจธรรมของพระพุทธองค์ แดนนั้นคือ “อุตตรกุรุทวีป”

    ทิพยสถานมหาราชิกา ภาค 2 (ขึ้นสวรรค์ตามรอยพระพุทธเจ้า) ของข้าพเจ้าเพิ่งจะเริ่มขึ้น ณ บัดนี้นี่เอง

    ย้อนจิตกลับไปร่วมอารมณ์อยู่ในกาลเวลาใกล้สนธยา ณ อาศรมท้ายป่าช้ากับสามเณรน้อยในเย็นวันที่ได้พบกันเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย…
    ขณะนี้จิตของข้าพเจ้ายังวอกแวกไม่คงที่ เห็นไม่ชัดบ้าง ชัดมากจนจางไปบ้าง

    “โยมดอกบัว...ใช้ภูมิจิตอยู่ในวิเวกชาภูมิก็พอ คือทำจิตสงัดในสามประการ กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก วางจากกิเลสเสีย...แล้วปรับแปรความประณีตของจิตให้ละเอียดมากกว่าจิตในภพมนุษย์ที่โยมกำลังเป็นอยู่อีกหน่อยหนึ่ง อารมณ์ยึดอยู่ในปีติสุขภูมิแบบธรรมดาไม่ต้องประณีตเหมือนทิพยจิตในแดนสวรรค์ เพราะที่นี่เป็นภพภูมิมนุษย์เหมือนกันแต่เป็นมนุษย์ที่มีกุศลประณีตขึ้นเริ่มเข้าสู่ความประณีตเบื้องต้นของจาตุมหาราชิกาเท่านั้นเอง”

    ข้าพเจ้าจำได้ว่าเสียงแนะนำนั้นเป็นเสียงของสามเณรน้อย
    สักครู่หนึ่งภาพของสามเณรก็ชัดขึ้นในมโนภาพอันเป็นสมาธิของข้าพเจ้า ภาพนั้นชัดคงที่ ไม่เข้ม ไม่จาง ไม่เบลอ ไม่สั่นไหว...นอกจากสามเณรแล้วยังปรากฏหลวงพ่อจิตตัง และแม่ชีสุดคนึง กำลังนั่งประชุมกันอยู่

    “...กิจกุศลที่หมู่เราตั้งปณิธานจะปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างบารมีจะยังดำเนินต่อไป การนำสังขารหลีกเร้นล่วงภพหยาบเข้าไปอยู่ในภพที่ละเอียดประณีตที่หมู่เราจะไปพำนักชั่วคราวคืออุตตรกุรุทวีปอันซ้อนอยู่ในมิติละเอียด ณ สถานที่ที่เรากำลังประชุมอยู่นี่แหละ เราจะนำธรรมอันประณีตไปสู่แดนนั้นบ้างและเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ ก็จะนำมาปรากฏเฉพาะกาลในโลกภพเบื้องหยาบบ้างตามสมควร วิธีการที่เรารำลึกได้ด้วยบารมีแห่งพระพุทธองค์เช่นนี้ยังจะมีผู้ใดรำลึกวิธีที่ดีกว่านี้ขึ้นไปอีกหรือไม่...ถ้าไม่มีเราพร้อมที่จะทำสมาบัติเช่นนั้นหรือไม่...ถ้าพร้อมแล้วเราจงรำลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ขอบารมีแห่งพระพุทธองค์เป็นที่ตั้ง ทำสมาธิเข้าสู่จตุตถฌานอันมีอภิญญาเป็นบาทอธิษฐานด้วยอำนาจแห่งฌานสมาบัตินำสังขารหยาบจากภูมินี้เข้าสู่ภพภูมิที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้นเพียงอุตตรกุรุทวีป พร้อมทั้งลบเลือนเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายทั้งปวงอันเคยมีกับบุคคลทั่วไปทั้งสถานที่กาลเวลาที่เคยปรากฏขึ้นแล้วจงพ้นออกจากความทรงจำของบุคคลทั้งสิ้นเหมือนไม่เคยมีเหตุการณ์ในส่วนนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย คงปรากฏไว้แต่เหตุการณ์เบื้องปลายเช่นพระเยอรมันซึ่งถือวิเวกอยู่ในกุฏิท้ายป่าช้า และทิพยนิยายสถานมหาราชิกา ซึ่งผู้มีนามปากกาอันมีความหมายข้างท้ายหมายถึงดอกบัว ผู้รับสืบทอดในการเผยแพร่กิจกุศลนี้ต่อไปเป็นต้น...เทอญ”

    ข้าพเจ้าได้สัมผัสชัดในเหตุการณ์ซึ่งหลวงพ่อจิตตังเป็นองค์นำทำอภิญญาสมาบัติในกาลสนธยาบาตใกล้ค่ำวันนั้น



    ขึ้นสวรรค์ตามรอยพระพุทธเจ้า หน้า 139 – 145
    โดย...บัญช์ บงกช
     

แชร์หน้านี้

Loading...