เรื่องเด่น ใช้"ยา" อย่างไรให้ถูกวิธี

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 22 มกราคม 2011.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,877
    [​IMG]


    ยาเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งยาแต่ละชนิดก็มีวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน เช่น ยาทา ยาฉีด ยากิน เป็นต้น หากเราใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือใช้โดยไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เกิดโรคอื่นแทรกซ้อนและทำให้เกิดอันตรายได้

    เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา เราจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา ทั้งในเรื่องของการใช้ยาที่ถูกต้อง รู้จักวิธีการเก็บรักษายาไม่ให้เสื่อมสภาพเร็ว และรู้จักสังเกตว่ายานั้นเสื่อมสภาพหรือยัง ดังนี้

    1. ใช้ให้ถูกโรค คือ ใช้ยาให้ตรงกับโรคที่เป็น เราไม่ควรซื้อยาหรือใช้ยาตามคำบอกเล่าของคนอื่น หรือหลงเชื่อคำโฆษณา ควรจะให้แพทย์ หรือเภสัชกรเป็นคนจัดให้ เพราะหากใช้ยาไม่ถูกกับโรค อาจทำให้ได้รับอันตรายจากยานั้นได้ หรือไม่ได้ผลในการรักษา และยังอาจเกิดโรคอื่นแทรกซ้อนได้ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะทั้งๆที่โรคที่เป็นไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อเลย ซึ่งทำให้เชื้อโรคเกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะได้ในภายหลัง

    2. ใช้ยาให้ถูกกับคน คือ ต้องดูให้ละเอียดก่อนใช้ว่า ยาชนิดใดใช้กับใคร เพศใด และ อายุเท่าใด เพราะอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของคนแต่ละเพศแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน เช่น ในเด็กการตอบสนองต่อยาจะเร็วกว่าผู้ใหญ่มาก ในสตรีมีครรภ์ยาหลายชนิดมีผลทำให้ทารกพิการได้ ในสตรีที่ให้นมบุตรก็ต้องระวัง เพราะยาอาจถูกขับทางน้ำนม ซึ่งจะส่งผลต่อทารกได้ ในผู้สูงอายุการทำลายยาโดยตับและไตจะช้ากว่าคนหนุ่มสาว

    3. ใช้ยาให้ถูกกับเวลา ควรปฏิบัติดังนี้
    • การรับประทานยาก่อนอาหาร
    ต้องรับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ถึงหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาถูกดูดซึมได้ดี ถ้าลืมกินยาในช่วงดังกล่าวก็ให้รับประทานเมื่ออาหารมื้อนั้นผ่านไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ยาถูกดูดซึมได้ดี

    • การรับประทานยาหลังอาหาร โดยทั่วไปจะให้รับประทานยาหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วประมาณ 15 - 30 นาที

    • การรับประทานยาหลังอาหารทันที หรือพร้อม อาหาร ให้รับประทานยาทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว หรือจะรับประทานยาในระหว่างที่รับประทานอาหารก็ได้ เพราะยาประเภทนี้จะระคายเคืองต่อกระเพาะมาก หากรับประทานยาในช่วงที่ท้องว่าง อาจทำให้กระเพาะเป็นแผลได้

    • การรับประทานยาก่อนนอน ให้รับประทานยาก่อนเข้านอนตอนกลางคืนประมาณ 15-30 นาที

    • การรับประทานยาเมื่อมีอาการ ให้รับประทานยาเมื่อมีอาการของโรค เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ และยาลดไข้ แก้ปวด

    4. ใช้ยาให้ถูกขนาด ควรรับประทานให้ถูกขนาดตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ จึงจะให้ผลดีในการรักษา และควรใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยา ไม่ใช้ช้อนทานข้าวหรือช้อนชงกาแฟ เพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาที่ไม่ถูกต้อง แต่หากต้องใช้ สามารถเปรียบเทียบหน่วยมาตรฐานดังนี้

    1 ช้อนชา (มาตรฐาน) = 5 มิลลิลิตร = 2 ช้อนกาแฟ (ในครัว) = 1 ช้อนกินข้าว
    1 ช้อนโต๊ะ (มาตรฐาน) = 15 มิลลิลิตร = 6 ช้อนกาแฟ (ในครัว) = 3 ช้อนกินข้าว

    5. ใช้ยาให้ถูกวิธี มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
    ยาที่ใช้ภายนอก
    ได้แก่ ขี้ผึ้ง ครีม ยาผง ยาเหน็บ ยาหยอด มีข้อดี คือ มีผลเฉพาะบริเวณที่ให้ยาเท่านั้น และมีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย จึงไม่ค่อยมีผลอื่นต่อระบบในร่างกาย ข้อเสีย คือ ใช้ได้ดีกับโรคที่เกิดบริเวณ พื้นผิวร่างกายเท่านั้น และฤทธิ์ของยาอยู่ได้ไม่นาน โดยมีวิธีการใช้ดังนี้

    • ยาใช้ทา ให้ทาเพียงบางๆ เฉพาะบริเวณที่เป็นหรือบริเวณที่มีอาการ ระวังอย่าให้ถูกน้ำล้างออกหรือถูกเสื้อผ้าเช็ดออก

    • ยาใช้ถูนวด ก็ให้ทาและถูบริเวณที่มีอาการเบาๆ

    • ยาใช้โรย ก่อนที่จะโรยยาควรทำความสะอาดแผล และเช็ดบริเวณที่จะโรยให้แห้งเสียก่อน ไม่ควรโรยยาที่แผลสด หรือแผลมีน้ำเหลือง เพราะผงยาจะเกาะกันแข็งและปิดแผล อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคภายในแผลได้

    • ยาใช้หยอด จะมีทั้งยาหยอดตา หยอดหู หยอดจมูกหรือพ่นจมูก

    ยาที่ใช้ภายใน ได้แก่ ยาเม็ดยาผง ยาน้ำ ข้อดี คือ สะดวก ปลอดภัย และใช้ได้กับยาส่วนใหญ่ แต่มีข้อเสียคือ ออกฤทธิ์ได้ช้าและปริมาณยาที่เข้าสู่กระแสเลือดอาจแตกต่างกันตามสภาพการดูดซึม โดยมีวิธีการใช้ดังนี้

    • ยาเม็ดที่ให้เคี้ยวก่อนรับประทาน ได้แก่ ยาลดกรด และยาขับลมชนิดเม็ดทั้งนี้เพื่อให้เม็ดยาแตกเป็นชิ้นเล็ก จะได้มีผิวสัมผัสกับกรดหรือฟองอากาศในกระเพาะอาหารได้มากขึ้น

    • ยาที่ห้ามเคี้ยว ให้กลืนลงไปเลย ได้แก่ ยาชนิดที่เคลือบน้ำตาล และชนิดที่เคลือบฟิล์มบางๆจับดูจะรู้สึกลื่น ยาดังกล่าวเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์เนิ่นนาน ต้องการให้ยาเม็ดค่อยๆละลายทีละน้อย

    • ยาแคปซูล เป็นยาที่ห้ามเคี้ยว ให้กลืนลงไปเลย ข้อ ดีคือรับประทานง่าย เพราะกลบรสและกลิ่นของยาได้ดี

    • ยาผง มีอยู่หลายชนิด และใช้แตกต่างกัน เช่น ตวงใส่ช้อนรับประทานแล้วดื่มน้ำตาม หรือชนิดตวงมาละลาย น้ำก่อน และยาผงที่ต้องละลายน้ำในขวดให้ได้ปริมาตรที่กำหนดไว้ก่อนที่จะใช้รับประทาน เช่น ยาปฏิชีวนะชนิดผงสำหรับเด็ก โดยน้ำที่นำมาผสมต้องเป็นน้ำดื่มที่ต้มสุกและทิ้งให้เย็น ต้องเก็บในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง และหากใช้ไม่หมดใน 7 วันหลังจากที่ผสมน้ำแล้วให้ทิ้งเสีย

    • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension) เช่น ยาลดกรด ต้องเขย่าขวดให้ผงยาที่ตกตะกอนกระจายเป็นเนื้อเดียวกัน จึงรินยารับประทาน ถ้าเขย่าแล้วตะกอนยังไม่กระจายตัว แสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว

    • ยาน้ำใส เช่น ยาน้ำเชื่อม ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ ถ้าเกิดผลึกขึ้น หรือเขย่าแล้วไม่ละลาย ไม่ควรนำมารับประทาน

    • ยาน้ำแขวนละออง (Emulsion) เช่น น้ำมันตับปลา ยาอาจจะแยกออกให้เห็นเป็นของเหลว 2 ชั้น เวลาจะใช้ให้เขย่าจนของเหลวเป็นชั้นเดียวกันก่อน จึงรินมารับประทาน ถ้าเขย่าแล้วยาไม่รวมตัวกันแสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว

    การเก็บรักษายา

    1. ควรตั้งให้พ้นจากมือเด็ก เพราะยาบางชนิดมีสีสวย เช่น ยาบำรุงเลือดที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ

    2. ไม่ตั้งตู้ยาในที่ชื้น ควรตั้งอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ควรเก็บยาให้ห่างจากห้องครัว ห้องน้ำ และต้นไม้

    3. ควรจัดตู้ยาให้เป็นระเบียบ โดยแยกยา ใช้ภายนอก ยาใช้ภาย ใน และเวชภัณฑ์ เพื่อป้องกันอันตรายจากการหยิบยาผิด

    • ยาใช้ภายใน ให้ใส่ขวดสีชามีฝาปิดสนิท เขียนฉลากว่า “ยารับประทาน” โดยใช้ฉลากสีน้ำเงิน หรือตัวอักษรสีน้ำเงิน หรือสีดำ พร้อมกับระบุชื่อยา สรรพคุณ ขนาด และวิธีรับประทาน ติดไว้ให้เรียบร้อย ถ้าเป็นยาน้ำแขวนตะกอน ที่ฉลากจะต้องมีคำว่า “เขย่าขวดก่อนใช้ยา”

    • ยาใช้ภายนอก ให้ติดฉลากสีแดง มีข้อความว่า “ยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน” ในฉลากต้องระบุชื่อยา สรรพคุณ ขนาดและวิธีใช้ให้เรียบร้อย

    4. เก็บรักษายาไม่ให้ถูกแสงสว่าง เพราะยาบางชนิดหากถูกแสงแดดจะเสื่อมคุณภาพ จึงต้องเก็บในขวดทึบแสง มักเป็นขวดสีชา เช่น ยาหยอดตา ยาวิตามิน ยาปฏิชีวนะ และยาแอดรีนาลิน ที่สำคัญควรเก็บยาตามที่ฉลากกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด แต่ถ้าฉลากไม่ได้บ่งไว้ก็เป็นที่เข้าใจว่า ให้เก็บในที่ซึ่งป้องกันความชื้นได้ดี

    วิธีสังเกตยาเสื่อมคุณภาพ

    ยาเสื่อมคุณภาพ เป็นยาที่เปลี่ยนสภาพไป ทำให้ไม่ให้ผลในการรักษาหรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ การเปลี่ยนสภาพของยาอาจเปลี่ยนจากลักษณะภายนอก ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัด หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของตัวยา ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น

    • ยาน้ำ จะมีการเปลี่ยนสี กลิ่น หรือมีตะกอนผิดไปจากเดิม

    • ยาหยอดตา จะมีลักษณะขุ่น หรือตกตะกอนของตัวยา เปลี่ยนสี

    • ยาเม็ด จะมีลักษณะเยิ้มเม็ดแตก ชื้น บิ่น แตก เปลี่ยนสี

    • ยาแคปซูล จะมีลักษณะแตกออกจากกัน บวม ชื้น หรือสีของยาที่อยู่ภายในแคปซูลเปลี่ยนไป หรือมีสีเข้มขึ้น

    • ยาขี้ผึ้ง ยาครีม จะมีลักษณะเนื้อยาเยิ้มเหลว แยกชั้น กลิ่น สีเปลี่ยนไปจากเดิม

    • สำหรับยาแผนปัจจุบันทุกชนิด กฎหมายกำหนดให้ระบุวันสิ้นอายุไว้ในฉลาก โดยผู้รับอนุญาตผลิต หรือนำ หรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้าในราชอาณาจักร ต้องแสดง วัน เดือน ปีที่ยาสิ้นอายุไว้ในฉลาก

    • สำหรับยาแผนโบราณ หากเป็นยาแผนโบราณที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน ต้องระบุวันสิ้นอายุของยาดังกล่าวด้วย โดยยาแผนโบราณที่เป็นยาสามัญประจำบ้านที่เป็นยาน้ำ จะมีอายุการใช้ 2 ปีนับจากวันที่ผลิต หากอยู่ในรูปอื่นที่มิใช่ยาน้ำจะมีอายุการใช้ 3 ปีนับจากวันที่ผลิต ส่วนยาแผนโบราณที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ฉลากยาจะต้องระบุวันที่ผลิต แต่จะกำหนดวันหมดอายุหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากยาแผนโบราณส่วนใหญ่ได้จากสมุนไพร มักมีการสลายตัวง่าย จึงควรเลือกที่ผลิตมาใหม่ๆ

    ทั้งนี้ยาทุกชนิด หากการเก็บรักษายาไม่ถูกต้องอาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพก่อนวันที่กำหนดไว้ได้

    7 ข้อควรปฏิบัติในการใช้ยาของผู้สูงอายุ

    เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้สูงอายุและผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุควรปฏิบัติดังนี้

    1. แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่ ยิ่งถ้าผู้สูงอายุนั้นไม่มีแพทย์ประจำตัวหรือเปลี่ยนแพทย์บ่อยๆ จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์แต่ละคนทราบถึงยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือนำยาที่ รับประทานอยู่ประจำไปด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาการจ่ายยาของแพทย์

    2. แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับอาการผิดปกติ ที่เกิดขึ้น เพราะอาการนั้นอาจจะเป็นอาการที่เกิดจากยาที่ผู้สูงอายุใช้อยู่ เช่น ใช้ยาไปแล้วมีอาการหูตึง ได้ยินเสียงไม่ชัดเจน เป็นต้น

    3. ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อแพทย์จะได้เลือกชนิดยาที่เหมาะสม เช่น ให้ยาน้ำแทนยาเม็ด เป็นต้น

    4. สอบถามแพทย์เกี่ยวกับข้อบ่งชี้และผลข้างเคียงของยาแต่ละชนิดให้ชัดเจน เช่น จะหยุดยานี้ได้เมื่อใด ขณะทำงานจะรับประทานยานี้ได้หรือไม่

    5. สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับอาหารที่รับประทานว่า มีผลต่อการใช้ยาหรือไม่ อย่างไร

    6. อ่านฉลากยา และปฏิบัติตามคำแนะนำทุกขั้นตอน ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

    7. รับประทานยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด ในรายที่มีอาการหลงลืม ควรใช้สิ่งช่วยจดจำ เช่น ปฏิทิน หรือกล่องใส่ยาชนิดที่รับประทานช่องละหนึ่งครั้ง หรือให้ผู้ดูแลคอยจดจำแทนเพื่อจะได้ไม่ลืมรับประทานยา และป้องกันการรับประทานยาซ้ำซ้อน

    (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 122 มกราคม 2554 โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)

    <table border="0" cellpadding="4" cellspacing="0"><tbody><tr><td class="body" valign="center" align="left">โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์</td><td class="date" valign="center" align="left">4 มกราคม 2554 14:11 น.</td></tr></tbody></table>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 23 มกราคม 2011
  2. ติงติง

    ติงติง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    38,272
    ค่าพลัง:
    +82,730
    ผู้สูงอายุ มักรับประทานยาผิดขนาด เพราะลืมว่ารับประทานยาไปแล้ว จึงรับประทานซ้ำอีก ญาติๆต้องดูแลเป็นพิเศษนะคะ
     
  3. พระเมตตาธัมโม

    พระเมตตาธัมโม สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    31
    ค่าพลัง:
    +20
    พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระภิกษุให้ฉันยาขนานหนึ่งคือ
    ปูติมุตตเภสัช คือ ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
    โดยใช้มะขามป้อม หรือลูกสมอ ดองกับน้ำปัสสาวะ
    จัดเป็นยาขนานวิเศษ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยโดยง่ายนัก
    ปัจจุบันมักตัดขั้นตอนการดองลงไป
    ดื่มน้ำปัสสาวะกันสด ๆ เลยทีเดียว
    จัดว่าเป็นยาธรรมชาติที่ร่างกายของเราผลิตขึ้นมาได้เอง ไม่ต้องลงทุนซื้อหาให้ลำบาก
    สามารถป้องกันและรักษาโรคได้เช่นเดียวกัน
    ไม่ต้องกังวลด้วยว่าจะกินยาเกินขนาด เพราะกินยากอยู่แล้ว
    ในบรรดาลาภทั้งหลาย ความไม่มีโรคจัดว่าเป็นลาภอันประเสริฐยิ่ง
    ดังคำพระพุทธพจน์ที่ว่า
    อาโรคฺยา ปรมา ลาภา.
    ขอความเป็นผู้ไม่มีโรคภัย พึงบังเกิดแก่สมาชิกพลังจิตทุกท่านเทอญ
     

แชร์หน้านี้

Loading...