คัมภีร์ใบลาน ของขวัญล้ำค่าจากอดีต

ในห้อง 'บทสวดมนต์ - คาถา' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 12 กรกฎาคม 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,489
    [​IMG]



    ปัจจุบันนี้การจด การเขียน การบันทึก มีความสะดวกสบายหลายประการ ทั้งอุปกรณ์การเขียนและวัสดุรองรับการเขียน ไม่ว่าจะเป็นดินสอ ปากกา และกระดาษ มีแบบใหม่ๆ ใช้คล่องๆ ให้เลือกมากมาย รวมไปถึงการบันทึกด้วยการพิมพ์ข้อมูลเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์
    ย้อนไปในอดีตบรรพบุรุษส่งต่อเรื่องราวความเป็นไปในอดีตมาด้วยความห่วงใยลูกหลานของตัวเองด้วยกรรมวิธีในยุคสมัยนั้น มีทั้งแบบจารึก ที่ปรากฏทั้งบนก้อนหิน แผ่นโลหะ และบนคัมภีร์ใบลานที่บรรพบุรุษของเราบรรจงใช้เหล็กแหลมกรีดใบลานให้เกิดเป็นร่องรอยตัวอักษร ส่วนที่ปรากฏบนกระดาษที่ทำจากเปลือกไม้นั้นเรียกว่าสมุดไทยหรือสมุดข่อย
    เมื่อเร็วๆ นี้ทางสำนักหอสมุดแห่งชาติ โครงการส่งเสริมปัญญาเวลาบ่าย จัดอบรมการจารใบลาน เป็นการสาธิตถึงขั้นตอนการจารใบลานให้แก่เยาวชนและคนทั่วไป ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการเขียนดั้งเดิมของคนไทยและได้เห็นตัวหนังสือที่เคยใช้ในอดีต
    บรรพบุรุษของเราทิ้งมรดกจำนวนมหาศาลผ่านวัฒนธรรมการเขียน หากเด็กๆ ได้มีโอกาสได้พบได้สัมผัส ก็จะได้ทั้งความรู้ผ่านตัวอักษรเหล่านั้น และยังจะได้มีโอกาสภาคภูมิใจในของขวัญล้ำค่าจากอดีต
    พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ จากกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ เล่าย้อนความเกี่ยวกับคัมภีร์ใบลานไว้ว่า ไทยรับวัฒนธรรมการเขียนการบันทึกบนใบลานมาพร้อมกับศาสนาพุทธจากอินเดีย และที่ใช้ใบลานเป็นวัสดุรองรับการเขียนนั้น ก็เพราะใบลานเป็นพืชในภูมิภาคนี้ และน่าจะมีการทดลองแล้วว่าสามารถเก็บได้เป็นร้อยๆ ปี จึงได้พบคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ที่มีอายุร่วมสมัยกรุงสุโขทัย อายุถึง 700 ปีที่จังหวัดลำปาง
    ภาษาที่ใช้เขียนบนใบลาน มักเป็นภาษาบาลี ส่วนตัวอักษรที่ใช้รุ่นแรกๆ คืออักษรที่รับมาจากอินเดียคือ อักษรปัลลวะ ก่อนจะมีพัฒนาการเรื่อยมาเป็นอักษรขอมโบราณจนถึงอักษรขอมปัจจุบัน เพื่อใช้สื่อความหมายสร้างความเข้าใจให้แก่คนทั่วไป นอกจากนั้นในท้องถิ่นภูมิภาคต่างๆ ก็มีอักษรของตัวเองใช้จารบนใบลานด้วยเช่นกัน ภาคเหนือก็ใช้ตัวอักษรธรรมล้านนา ภาคอีสานก็ใช้อักษรธรรมอีสาน
    เนื้อหาสาระคัมภีร์ใบลาน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องในพุทธศาสนาเและมีความเชื่อว่าใบลานเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ห้ามเขียนเรื่องทางโลก แม้บางฉบับจะมีบ้างแต่ก็มีการโยงใยเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ชาดก เนื้อเรื่องต้องสามารถสะท้อนเรื่องการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หากต้องการบันทึกเรื่องทางโลกล้วนๆ ก็จะเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นแทน เช่น ไม้ไผ่
    พิมพ์พรรณ เล่าถึงเหตุที่ทำให้การจดจารบนใบลานใช้อย่างแพร่หลายว่า ในยุคหนึ่งเรามีความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะมีอายุแค่ 5,000 ปีเท่านั้น บรรพบุรุษก็ห่วงว่าลูกหลานจะไม่ได้พบกับพุทธศาสนา
    "คนไทยยุคนั้นทุกคนต่างก็คิดจะต่ออายุพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างถาวรวัตถุถวายวัด บ้างสร้างพระพิมพ์ใส่กรุ บ้างก็จารคัมภีร์ใบลานถวายวัด เพื่ออย่างน้อยพระไตรปิฎกก็ยังอยู่ นอกจากนั้นพระมหากษัตริย์ไทยที่เป็นพุทธมามกะ มักจะสร้างคัมภีร์ใบลาน อาจจะสร้างชุดใหม่เพิ่มเติม หรือสร้างของเก่าที่ขาดชำรุด เป็นวัฒนธรรมที่ชนชั้นสูงทำก็ได้ ชาวบ้านทำก็ได้ ชาวบ้านทั่วไปเขียนหนังสือไม่ได้ ก็จะจ้างคนที่เคยบวชเป็นพระมีความรู้เขียนให้"
    มรดกที่คนรุ่นหลังได้รับจากคัมภีร์ใบลาน ก็คือ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอักษร ภาษา และประวัติศาสตร์ นอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา เรื่องราวที่บันทึก ยังสะท้อนสภาพแวดล้อมและแนวความคิดของคนในแต่ละยุคสมัย เช่นเดียวกันวรรณกรรมทั่วไปที่ผู้อ่านสามารถเรียนรู้คุณธรรม วัฒนธรรม จริยธรรม ที่ปรากฏอยู่ในนั้นได้
    ใบลานใช้จารหรือเขียนตัวอักษรได้ 2 ด้าน เมื่อจะทำใบลานให้เป็นเล่มหนังสือ ต้องร้อยเชือกเรียกว่า สายสนอง เข้าไปในรูที่เจาะไว้ทางด้านซ้าย เพื่อรวมเป็นผูก หลายๆ ผูกรวมเป็นคัมภีร์หนึ่ง แต่ละคัมภีร์จะมีไม้ประกับหัวท้ายแล้วมัดรวมกัน มีผ้าห่อรอบนอกกันฝุ่นกันแมลงอีกชั้นหนึ่ง แต่ละชุดจะมีฉลากเสียบไว้นอกผ้าห่อ เพื่อบอกชื่อคัมภีร์และรายละเอียดอื่นๆ
    พิมพ์พรรณ อธิบายว่า ตรงส่วนที่เป็นขอบคัมภีร์ ใบปกหน้า ปกหลัง และไม้ประกับ จะมีการตกแต่งให้งามไม่ซ้ำกัน และเป็นการจำแนกคัมภีร์แต่ละชุดได้อีกด้วย มองในแง่ศิลปะก็เป็นการสร้างสรรค์ ด้านขอบคัมภีร์แต่ละชุดจะทำสีทำลายไม่เหมือนกัน บางชุดเรียกว่าล่องชาด ตรงกลางเป็นสีแดงสองข้างเป็นสีทอง บ้างเป็นล่องรัก ตรงกลางสีดำซ้ายขวาปิดทอง บางชุดก็วิจิตรอย่างยิ่งเป็นลายกรวยเชิงแบบอยุธยา
    แม้กระทั่งเนื้อใบลานก็มีความแตกต่างกัน และบอกเล่าเรื่องราวได้ด้วย ถ้าเป็นคัมภีร์ใบลานจากสมัยอยุธยา จับเนื้อใบลานจะนิ่มละเอียด เพราะสมัยนั้นคนน้อยป่าเยอะ ตัวเลือกที่จะนำมาทำใบลานก็มีมาก หาได้ง่ายกว่า แต่ปัจจุบันคนเยอะ ป่าน้อย หาได้อย่างไรก็ต้องใช้อย่างนั้น แม้ว่าจะกรอบๆ แข็งๆ ก็ตาม
    สำหรับวิธีการเขียนหนังสือบนใบลานนั้นมีสองแบบด้วยกัน ส่วนใหญ่ที่พบเป็นแบบ 'เส้นจาร' ใช้เหล็กแหลมที่เรียกเหล็กจาร ขีดเป็นร่องรอยตัวหนังสือบนใบลาน จากนั้นใช้น้ำมันยางทาที่หน้าลาน น้ำมันยางทำจากเขม่าผสมกับยางไม้ทาหน้าใบลานให้ดำทั้งหมด จากนั้นใช้ทรายละเอียดตากแดดหรือคั่วให้ร้อนมาโรย แล้วขัดด้วยลูกประคบ เพื่อให้ความร้อนจากทรายทำให้น้ำมันยางจมลงในร่องตัวอักษร ขณะเดียวกันความหยาบของทรายก็ขัดพวกเสี้ยนของใบลานออกไปจนเกลี้ยง ก็จะทำให้เนียนมือ
    ส่วนแบบ 'เส้นชุบ' เป็นการเขียนด้วยพู่กัน อาจจะทำด้วยหนวดหนูหรือขนของม้า ชุบหมึกสีดำเขียนรูปตัวอักษร ตัวหนังสือที่ได้จะหนาให้เส้นที่ต่อเนื่อง แทบจะเป็นการวาดภาพอักษร และมีการวาดภาพประกอบที่มีสีสันงดงามด้วย เด็กๆ หรือคนทั่วไปที่สนใจเรียนรู้เรื่องการเขียนใบลาน หรือมีโอกาสแวะไปเยี่ยมชมได้ที่หอสมุดแห่งชาติ ชั้น 4 นอกจากจะได้นำความรู้การจารใบลานไปใช้ประดิษฐ์เป็นของที่ระลึกที่คั่นหนังสือแล้ว ยังได้ซึมซับความรู้สึกภูมิใจและซาบซึ้งใจที่บรรพบุรุษพยายามที่จะหาวิธีสื่อสารให้กับคนในอนาคตอีกด้วย

    ที่มา : [​IMG]
     
  2. minoru

    minoru Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    29
    ค่าพลัง:
    +51
    สาระล้วนๆเลยขรับ
     
  3. minoru

    minoru Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    29
    ค่าพลัง:
    +51
    สาระล้วนๆเลยขรับ
     
  4. LNS@BDZ

    LNS@BDZ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    419
    ค่าพลัง:
    +1,585
    ขนาดต้นฉบับรัฐธรรมนูญไทยทุกๆฉบับที่ต้องให้ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยเขาก็ยังจารเลยนะ(แต่เป็นในสมุดไทย)
     

แชร์หน้านี้

Loading...