กำเนิดลัทธิขงจื้อซึ่งแตกต่างและนับถือเต๋ามาก

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย นักพรตเหมา, 25 ตุลาคม 2008.

  1. นักพรตเหมา

    นักพรตเหมา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    528
    ค่าพลัง:
    +305
    ศาสตร์แห่ง ลัทธิหรูของขงจื๊อ
    รู้แจ้งในชีวิตของสังคมมนุษย์ กับกรอบศีลธรรมจรรยาที่เหมาะสม


    [​IMG]

    เค้าโครงเนื้อหาสำคัญ : ศาสตร์แห่ง ลัทธิหรูของขงจื๊อ เน้นความสำคัญในการแสวงหาความหมายของชีวิตกับมูลค่าทางจิตใจ ให้ความสำคัญในการสร้างสังคมที่มั่นคงกับความกลมกลืนของความสัมพันธ์แห่งมนุษยชาติ ซึ่งจิตใจสองประการนี้เชื่อมโยงกันอย่างแน่นแฟ้น เมตตาธรรมเป็นจิตสำนึกในคุณธรรมของหลักธรรมแห่งสวรรค์ อันหมายถึงจริยธรรมเป็นกฎเกณฑ์ศีลธรรมที่ดำรงอยู่ในทางภววิสัย ซึ่งเป็นการเคารพต่อธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของมนุษยชาติกับชีวิต และเป็นพื้นฐานของ ทฤษฎีแห่งจารีตประเพณี ซึ่งจารีตประเพณีเป็นมาตรฐานศีลธรรมในการจัดความสัมพันธ์ของมนุษยชาติให้เหมาะสม เป็นการปกป้องรักษาต่อปุถุชนและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน และก็เป็นการปฏิบัติทางเมตตาธรรม การเชิดชูเมตตาธรรมกับจารีตประเพณีพร้อมเพรียงกัน และเน้นการหล่อหลอมจิตภายในของคนให้ก่อเกิดเมตตาธรรม เหล่านี้เป็นแหล่งทรัพยากรทางความคิดกับที่พึ่งทางจิตใจที่มีความสำคัญยิ่งของสังคมเราตราบเท่าทุกวันนี้


    [​IMG]


    Keywords : ขงจื๊อ, ศาสตร์แห่งลัทธิหรู, ชีวิต, ความกลมกลืน

    หนทางแห่งศาสตร์ของลัทธิหรู เป็นหนทางแห่งการหล่อหลอมชีวิต จิตใจของปัจเจกชน ก็คือเมตตาธรรม กับจารีตประเพณี ซึ่งความคิดและมโนทัศน์นี้เกิดจากท่านขงจื๊อ (551-479 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กับหนังสือ "คัมภีร์จริยวัตร" ของท่านขงจื๊อ (หนังสือคัมภีร์ "ลุ่นหยวี่") เพราะฉะนั้น บทความฉบับนี้จะอาศัยข้อมูลในหนังสือ "คัมภีร์จริยวัตร" เป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาและ อธิบายความคิดของลัทธิหรูที่มีขงจื๊อเป็นตัวแทน

    1.มีจิตสำนึกของเมตตาธรรม : อารมณ์ความรู้สึกที่ยึดถือคนเป็นหลักและมองโลกในแง่ดี

    หนทางของศาสตร์แห่งลัทธิหรู เป็นหนทางที่ยึดถือคนเป็นหลัก และในความคิดของขงจื๊อนั้น ได้แสดงออกเป็นความรู้สึกในจิตใจที่มีลักษณะ เป็นจินตนิยม (romanticism) เขาไม่เพียงแต่ มองเห็นความสำคัญของชีวิต ช่วยให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ปลงตกในเรื่องการเกิด การตาย ให้ชีวิตเป็นไปตามพรหมลิขิต หากยังมองโลกในแง่ดี แม้ยากจนแต่ไม่มีคำพูดที่แค้นเคือง พอใจใน ความสุขที่มีอยู่จนลืมความทุกข์ มีความมั่นใจ และอิสระในตัวเอง และชื่นอกชื่นใจกับชีวิต ความเป็นอยู่ของตนเอง

    มีจิตสำนึกที่ให้ความสำคัญกับชีวิตและการหล่อหลอมจิตภายใน คำว่า "เมตตาธรรม" ในหนังสือ "คัมภีร์จริยวัตร" ได้ปรากฏให้เห็น 109 ครั้ง ถือเป็นแกนสำคัญของความคิดขงจื๊อ "เมตตาธรรม" ในหนังสือ "คัมภีร์จริยวัตร" บรรยายถึงนั้น เกี่ยวเนื่องถึงความหมายครอบคลุมภายในของมูลค่ารูปแบบการแสดงออกกับมูลค่าการปฏิบัติอีกหลายๆ ด้าน ซึ่งหลายด้าน หลายส่วนนี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน และรวมเป็นหนึ่งที่ "รักผู้อื่น" เมื่อฝันฉือถามว่า อะไรคือ "เมตตาธรรม" ? ท่านขงจื๊อ ตอบว่า "รักผู้อื่น" ("The Analects, Yanyuan") ซึ่งความรักนี้เป็นความรักแท้ที่มีต่อผู้อื่น และก็เป็นการอบรมบ่มเพาะคนให้มีศีลธรรมจรรยาอันสูงส่ง

    ประการแรก จิตใจรักของเมตตาธรรมนี้ได้แสดงออกโดยจิตสำนึกการให้ความสำคัญต่อชีวิตปัจเจกชน "เมื่อคอกม้าถูกไฟไหม้ ตอนที่ท่านขงจื๊อกลับจากการเข้าเฝ้าอ๋องแห่งรัฐแล้ว ท่านถามว่า : มีคนได้รับบาดเจ็บหรือเปล่า ? แต่ไม่ถามถึงม้าเลย" ("The Analects, Xiang-Dang") ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ท่านขงจื๊อมองเห็นความสำคัญของชีวิตผู้คน อันเป็นสัญลักษณ์การตื่นตัวในเรื่องจิตสำนึกที่มีต่อชีวิตผู้คน

    ให้ความสำคัญต่อชีวิตธรรมชาติ ย่อมจะต้องเกี่ยวข้องถึงปัญหาการเกิดและการตาย เกิดและตายเป็นพี่น้องฝาแฝดเชื่อมโยงกัน เมื่อตรึกตรองถวิลคิดถึงความตายจะสามารถทำให้เข้าใจความหมายกับคุณค่าของชีวิตมากยิ่งขึ้น และจะทะนุถนอมความรู้สึกต่อชีวิตอันแสนสั้นที่สวยงามดั่งการพรรณนาในกาพย์กลอน ฉะนั้นศาสตร์ แห่งลัทธิหรูให้ความสำคัญในการศึกษาเรื่อง ความตาย เมื่ออ่านจากหนังสือ "คัมภีร์จริยวัตร" แล้ว จะเห็นว่าท่านขงจื๊อพูดถึงเรื่องความตายน้อยมาก เมื่อมีคนขอคำชี้แนะจากท่านเกี่ยวกับปัญหาความตาย ท่านขงจื๊อให้คำตอบว่า : "แม้การมีชีวิตอยู่ ยังไม่รู้ความหมายของชีวิตนั้นแล้ว จะไปพูดถึงความตายทำไมเล่า ?" ("The Analects, Xian-Jin") ซึ่งท่านมีการปล่อยวางในเรื่อง ความตายและให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ("The Analects, Tai-Po") แต่ว่าท่านก็มีความคิดที่ว่าบนพื้นฐานระยะเวลาที่มีอายุขัยของชีวิตดำเนินการอยู่ มาทบทวนและเน้นความหมายของ "การดำรงชีวิตอยู่" เจิงจื่อซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านขงจื๊อป่วยหนัก เจิงจื่อได้สั่งให้ลูกศิษย์ของตนเองมาชุมนุมกันและพูดกับศิษย์ทั้งหลายว่า : ข้าได้รักษามือและขาของข้าให้มีครบถ้วนอย่างระมัดระวังแล้ว ต่อจากนี้ไปข้ารู้ว่าข้าจะพ้นจากการเป็นคนที่อกตัญญูแล้ว ("The Analects, Tai-Po") ตัวอย่างเหล่านี้พอที่จะเป็นตัวแทนความคิดของท่านขงจื๊อได้ แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าท่านไม่ให้ความสำคัญกับความตาย ท่านขงจื๊อกล่าวว่า : "การดำรงชีวิตตามจารีตประเพณี เมื่อตายจัดพิธีศพตามจารีตประเพณี และเซ่นไหว้ผู้ล่วงลับตามจารีตประเพณี" ("The Analects, Wei-Zheng") จึงกล่าวได้ว่าให้ความสำคัญต่อชีวิตปัจจุบัน ถือทัศนคติการดำรงชีวิตมาเผชิญหน้ากับความตายและจากการเปรียบเทียบเผชิญปัญหาความตายมาเชิดชูคุณค่าของการดำรงชีวิตกับการมีชีวิตอยู่ นี่ก็คือความหมายของทัศนคติต่อการเกิดและการตายของท่านขงจื๊อ

    เมื่ออภิปรายถึงทัศนคติการเกิดและการตายของท่านขงจื๊อ มีปัญหาหนึ่งย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับ "ชะตาชีวิต" ของท่านขงจื๊อ จื่อเซี่ย ลูกศิษย์ของท่านขงจื๊อเคยพูด ว่า "การเกิดและการตายเป็นพรหมลิขิต" ("The Analects, Yan-Yuan") และเมื่อท่านขงจื๊อกล่าวสรุปชีวิตของตนก็เคยพูดว่า "ข้ารู้ภาระหน้าที่ที่สวรรค์บัญชาให้เมื่ออายุ 50 ปี" ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคำพูดดังกล่าวมีปัจจัยที่ว่าดวงชะตาเป็นพรหมลิขิตรวมอยู่ แต่ว่าพวกเราเห็นว่าตามปกติแล้วท่านขงจื๊อ น้อยมากที่จะพูดถึงเรื่อง "ผลประโยชน์" ท่านมีแต่ความเห็นที่เห็นชอบ "ชะตาชีวิตกับเมตตาธรรม" ("The Analects, Zi-Han") ถ้าพิจารณาจากส่วนนี้ ความคิดที่มีต่อ "ชะตาชีวิต" ของท่านจึงไม่ควรอธิบายเป็นลักษณะแน่นอนและก็ไม่ควรอธิบายเป็นลักษณะบังเอิญ หากแต่ว่าควรจะอธิบายเป็นมีจิตสำนึกในการดำรงชีวิตตามขอบเขตอายุขัยกับการเสริมสร้างศีลธรรมจรรยา ทั้งนี้ก็เป็นการเสริมสร้างจิตสำนึกสำหรับความหมายการดำรงชีวิตกับอาณาจักรของจิตแห่งศีลธรรมจรรยา ซึ่งแฝงไว้ด้วยความหมายและรสชาติที่ว่าพอใจในความสุขที่มีอยู่จนลืมความทุกข์ ธาตุแท้ของความเมตตาธรรมมิได้อยู่ที่ว่า เมตตาธรรมนั้นเป็นอะไร หรือเราจะไปทำความรู้จักมันอย่างไร หากแต่อยู่ที่ว่ามีจิตสำนึกต่อหลักธรรมแห่งสวรรค์ หรือกฎเกณฑ์ของสวรรค์ อันหมายความว่าขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้คนไปทำความรู้จักกับชีวิตธรรมชาติหรือกฎเกณฑ์ธรรมชาติอย่างไร ซึ่งแสดงออกจิตสำนึกในการแสวงหาความหมายของชีวิต

    ทั้งนี้จากทัศนคติเกี่ยวกับผีสางเทวดา และการเซ่นไหว้บรรพบุรุษของท่านขงจื๊อสามารถพิสูจน์ถึงข้อนี้ ท่านขงจื๊อยอมรับในเรื่องผีสางเทวดา แต่ไม่ไปกล่าวถึงมัน ท่านมีท่าทีว่า "เคารพผีสางเทวดา แต่เดินห่างไกลจากมัน" ("The Analects, Yong-Ye") จนกระทั่งท่านยังมีความคิดว่า ควรจะปฏิบัติต่อผีสางเทวดาเยี่ยงอย่างปฏิบัติต่อชีวิตที่กำลังดำรงอยู่ ท่านกล่าวว่า "เซ่นไหว้ผีสาง เซ่นไหว้เทวดา ควรเซ่นไหว้เหมือนอย่างผีสางเทวดามีชีวิตอยู่" ("The Analects, Ba-Yi ") ท่านขงจื๊อกับลูกศิษย์ล้วนเห็นว่า จากการจัดพิธีศพและการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับอย่างระมัดระวังและเยือกเย็นสุขุมเป็นโอกาสที่ดีในการฝึกฝนและขัดเกลาจิตภายในของประชาราษฎร์ให้มีคุณธรรมอันดีงาม

    ประการที่สอง เมตตาธรรม ของขงจื๊อไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญและยอมรับในความหมายกับคุณค่าของชีวิตธรรมชาติแห่งมนุษยชาติ หากยิ่งให้ความสำคัญกับ "การสร้างคนที่สมบูรณ์" นั่นก็คือการสร้างและพัฒนาอาณาจักรของจิตแห่งศีลธรรมจรรยา

    จื่อลู่ถามท่านขงจื๊อว่า "คนแบบไหน คือคนที่สมบูรณ์ ?" ท่านขงจื๊อตอบว่า "ต้องเป็นคนที่มีสติปัญญาเหมือนอย่างท่านอู่จ้ง เป็นคนที่ไม่ค่อยมีกิเลสตัณหาเหมือนอย่างกงจ๋อ เป็นคนที่มีความองอาจ กล้าหาญเหมือนอย่างท่านจวงจื่อ เป็นคนที่มีความสามารถทางศิลปะเหมือนอย่างหย่านฉิว และยังต้องขัดเกลา หล่อหลอมด้วยจารีตประเพณีกับเสียงดนตรี คนแบบนี้ถึงจะเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ !" ("The Analects, Xian-Wen") ท่านขงจื๊อยังกล่าวอีกว่า : "คนที่สมบูรณ์ในวันนี้ ไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติทั้ง 4 ประการดังกล่าว แต่ว่าเขาต้องเป็นคนที่เมื่อเห็นผลประโยชน์จะต้องคำนึงถึงคุณธรรม และในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนสามารถที่จะมีการฝากฝังได้ อีกทั้งรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับคนอื่น คนแบบนี้ก็ถือเป็นคนที่สมบูรณ์แบบได้ !" ("The Analects, Xian-Wen")

    ซึ่งตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบดังกล่าว ในมุมมองของท่านขงจื๊อ ก็ถือว่าเป็นสุภาพชน ในที่นี้เกี่ยวโยงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรมจรรยากับ ผลประโยชน์ตัณหา ชีวิตธรรมชาติกับจิตใจที่ หล่อหลอมด้วยศีลธรรมจรรยาอีกหลายๆ ปัญหา


    [​IMG]

    ท่านขงจื๊อพยายามรวมชีวิตธรรมชาติ ของคนกับชีวิตที่มีศีลธรรมจรรยา เข้าไว้ด้วยกัน แต่เมื่อเกิดมีความขัดแย้งไม่สามารถรวมเข้าไว้ด้วยกันแล้ว ท่านเห็นว่าคุณค่าของคุณธรรม คุณค่าของความเป็นคน จะสำคัญกว่าคุณค่าของชีวิต ไม่ควรเที่ยวเอ้อระเหยเอาตัวรอดไปวันๆ ท่านขงจื๊อกล่าวว่า : "กองทัพสามารถสูญเสียแม่ทัพได้ แต่คนเรา จะสูญเสียความมุ่งมั่นปณิธานอันแรงกล้ามิได้" ("The Analects, Zi-Han")

    "zhi" คือ ปณิธานอันแรงกล้า ไม่ว่าใน สถานการณ์หรือสภาพใดล้วนต้องรักษาจิตใจที่เป็นอิสระแน่วแน่ และหลักการคุณธรรมของความเป็นคน เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นคน ในยามที่คุณค่าชีวิตกับคุณค่าของคุณธรรมเกิดความขัดแย้งกัน "เราควรจะต้องสละชีพเพื่อศีลธรรมและเมตตาธรรม" ("The Analects, Wei-Linggong") บนพื้นฐานของประเด็นนี้ ท่านขงจื๊อจึงแบ่งคนในสังคมออกมาเป็น 3 ชนิด คือ คนถ่อย สุภาพชน และบุคคลที่มีคุณธรรมอันสูงส่ง (นักปราชญ์)

    ท่านขงจื๊อมิได้ลดคุณค่าความต้องการ ทางวัตถุกับความต้องการอาหารกามารมณ์ ของมนุษย์ให้ต่ำลง เพียงแต่เห็นว่าเมื่อคุณธรรมกับผลประโยชน์ตัณหาเกิดมีความขัดแย้งกัน ต้องแสวงหาสิ่งเหล่านี้มาด้วยคุณธรรม

    ท่านขงจื๊อพูดว่า : เราสามารถหาทรัพย์สินเงินทองได้ด้วยวิธีสุจริต ถึงแม้จะมีอาชีพเป็นคนควบคุมดูแลรถม้า ข้าก็ยินดีที่จะประกอบอาชีพนี้ ("The Analects, Shu-Er")

    ทั้งนี้ได้แสดงออกถึงความคิดที่เปี่ยมไปด้วยจินตนิยม (romantism) ทางเมตตาธรรมของขงจื๊อ เมื่อไม่สามารถใช้วิธีสุจริตไปหาทรัพย์สิน เงินทอง นั่นก็คือเมื่อเป็นการฝ่าฝืนเมตตาธรรมแล้ว ข้ายินดีไปทำในสิ่งที่ข้าชอบมากกว่า

    ท่านกล่าวว่า "เงินทองและยศถาบรรดาศักดิ์ มนุษย์ทุกรูปนามต่างปรารถนา หากมิได้มาด้วยคุณธรรม มิควรครอบครอง ความยากจนและต่ำต้อย ไม่ว่าผู้ใดล้วนชิงชังรังเกียจ หากไม่ขจัดความยากไร้นี้ด้วยคุณธรรม ย่อมเป็นการกระทำ ที่มิชอบ ถ้าหากฝ่าฝืนเมตตาธรรม ให้ได้มาซึ่ง ชื่อเสียงเกียรติยศ สุภาพชนละอายใจที่จะทำ เรื่องแบบนี้" ("The Analects, Li-Ren")

    สุภาพชนไม่ควรละทิ้งเมตตาธรรมแม้เป็นช่วงเวลาอันสั้นที่กินอาหารหนึ่งมื้อ ถึงแม้ในยามที่เร่งรีบด่วน ระเหเร่ร่อนก็ควรรักษาเมตตาธรรมและจรรยาไว้เต็มดวงกมล เพราะฉะนั้นในความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตทางวัตถุกับชีวิตทางจิตใจนั้น ท่านขงจื๊อได้ขอร้องสุภาพชนทั้งหลายว่า "สุภาพชนทานไม่ขออิ่มสุด อยู่ไม่เกี่ยงความสบาย" ("The Analects, Xue-Er") ในระหว่างอาหารการกินกับคุณธรรม ความยากจนกับคุณธรรม ท่านเห็นว่า "ควรให้ความสำคัญกับคุณธรรม ไม่ควรเกี่ยงอาหารการกินกับเรื่องการสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์"

    ("The Analects, Wei-Linggong") ท่านขงจื๊อกล่าวว่า "ผู้ซึ่งศึกษาและสรรหาคุณธรรม ิ สัจธรรม แต่กลับเห็นว่าความยากจนเป็นสิ่งที่น่าละอายนั้น ไม่คู่ควรที่เราจะร่วมอภิปรายคุณธรรม สัจธรรมกับเขา" ("The Analects, Li-Ren") เพราะฉะนั้น เมตตาธรรม เป็นวิญญาณและมิ่งขวัญของชีวิตแห่งมนุษยชาติ ก็เหมือนดั่งที่ ท่านขงจื๊อได้ยืนหยัดไม่เปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ของตนที่ว่า "ถ้าตอนเช้าได้เรียนรู้คุณธรรมและ สัจธรรม คืนวันนั้นหากว่าตายก็นอนตาหลับแล้ว" ("The Analects, Li-Ren") จุดยืนนี้สวยงามเต็มไปด้วยสีสันแห่งจินตนิยม

    ชีวิตที่เรียบง่ายและมีความสุข : ศาสตร์ แห่งลัทธิหรูไม่เพียงแต่เป็นคำพูดที่ให้คติเตือนใจของภาวะจิตสำนึก ชนิดหนึ่ง หากยังเป็นเข็มทิศ ในการชี้นำการปฏิบัติ ปรัชญาชนิดนี้ได้แสดงให้เห็นภาพการดำรงชีวิตที่มองโลกในแง่ดี

    ประการแรก ท่านขงจื๊อชื่นชมปณิธานที่เจิงจื่อตั้งไว้ เจิงจื่อเป็นลูกศิษย์ของท่านขงจื๊อ ภาพการดำรงชีวิตที่เรียบง่ายและเปี่ยมไปด้วยความสุขที่เจิงจื่อได้พรรณนาไว้ มีดังนี้ :

    "เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึง สวมใส่เสื้อตามฤดูกาล ผู้ใหญ่ห้าหกคน และเด็กเล็กหกเจ็ดคน รวมกลุ่มไปชำระล้างเรือนร่างที่ Yi และไปนั่งตากลมบนแท่นหิน และกลับบ้านพร้อมกันด้วยการร้องรำทำเพลง" ("The Analects, Xian-Jin")

    การชำระล้างเรือนร่างทำให้มีการคลายเส้นเอ็น ขณะเดียวกันบรรยากาศของสายน้ำลำธาร สายลมและเสียงเพลงก็ได้ชำระล้างดวงวิญญาณของผู้คน ได้รับประโยชน์ทั้งร่างกายและจิตใจนี่เป็นภาพที่อาณาจักรของจิตเดินอยู่บนสายกลาง ไหลเวียนเชื่อมโยงกับฟ้า สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกา

    ประการที่สอง ท่านขงจื๊อชื่นชมเหยียนหุยที่พึงพอใจกับความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย "แม้พำนักอาศัยอยู่ในซอยทั้งเล็กและเก่า มีชีวิตที่เรียบง่าย คนอื่นไม่สามารถอดทนต่อความยากจนข้นแค้นนี้ แต่เหยียนหุยกลับมีความสุขที่หาคำเปรียบเทียบมิได้" ("The Analects, Yong-Ye") ทั้งนี้แสดง ให้เห็นว่าท่านขงจื๊อมีจิตใจที่กว้างให้คำอบรมสั่งสอน สนับสนุนและปลุกเร้าจิตใจลูกศิษย์ที่ยากจน เพื่อให้พวกเขาฝึกฝนจิตใจให้มีคุณธรรมจรรยา

    ชีวิตที่เรียบง่ายและมีความสุขนี้ ยังแสดงออกในยามที่ตกทุกข์ได้ยาก ยังยืนหยัดรักษาคุณธรรม ไม่โทษฟ้าไม่โทษผู้คน เช่น "เมื่อท่านขงจื๊อกับลูกศิษย์ที่ติดตามเดินทางถึงรัฐเฉิน อาหารขาดแคลนแล้ว ผู้ติดตามก็ล้มป่วย ทุกคนไม่มีกำลังใจ จื่อลู่ได้พูดแบบไม่พอใจว่า : สุภาพชนก็มียาม ที่จะต้องตกทุกข์ได้ยากหรือ ?" ท่านขงจื๊อตอบว่า : "สุภาพชนตกทุกข์ได้ยากก็ไม่เป็นอะไร แต่คนถ่อยตกทุกข์ได้ยากก็จบเห่ ลงแน่นอน" ("The Analects, Wei -Linggong") ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ท่านขงจื๊อมีจิตสำนึกในเมตตาธรรมและมีความเชื่อมั่นอย่างสูง

    ประการที่สาม ในการดำรงชีวิตนั้น การมองโลกในแง่ดี ความคิดนี้ในบางครั้งยังแสดงออกด้วยโฉมหน้าที่หยิ่งยโส อย่างเช่นมีครั้งหนึ่ง เมื่อท่านขงจื๊อเดินทางผ่านรัฐซ่ง เนื่องจากท่านมีหน้าตาคล้ายคลึงกับ Yang Hu คนนี้ จึงถูก Huan Tui จับกุมไว้และขู่ว่าจะฆ่าท่านขงจื๊อ ซึ่งในตอนนั้น ท่านขงจื๊อได้พูดประโยคหนึ่งว่า : "ในตัวข้า มีคุณธรรมจรรยา Huan Tui ผู้นี้จะมา เปรียบเทียบกับตัวข้าได้อย่างไร ?" ("The Analects, Shu-Er")

    เมื่อท่านขงจื๊อถูกคุมขังในท้องถิ่น Kuang ท่านยังกล่าวอย่างสงบใจว่า : "หลังจากที่ กษัตริย์เหวินอ๋องสวรรคตแล้ว ในตัวข้าก็ไม่มี จารีตประเพณีกับดนตรีแล้วหรือยังไง ? ถ้าฟ้าบัญชาจะยกเลิกจารีตประเพณีกับดนตรี งั้นข้าก็มิสามารถได้รับจารีตประเพณีกับดนตรี แต่ฟ้าไม่ได้บัญชายกเลิกมัน ผู้คนในท้องถิ่น Kuang นี้จะจัดการกับตัวข้าได้อย่างไร ?" ("The Analects, Zi-Han")

    เมื่อกงโปเหลียวยุแหย่จี้ซุน ไปใส่ร้ายป้ายสี จื่อ ลู่ ท่านขงจื๊อกล่าวด้วยจิตใจเยือกเย็นว่า : "ถ้าคุณธรรมจรรยาต้องพัฒนาต่อไป ย่อมมีกฎเกณฑ์ของมัน ถ้าคุณธรรมจรรยาจะเลิกล้มไป ก็ย่อมมีกฎเกณฑ์ของมัน กงโปเหลียวจะจัดการ กับกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้อย่างไร ?" ("The Analects, Xian-Wen")

    ท่านขงจื๊อมีจิตสำนึกและภารกิจในการรับ และถ่ายทอดจารีตประเพณี ตัวท่านเองเกี่ยวเนื่องถึงความปลอดภัย ของวัฒนธรรมแห่งชาติจีน เพราะฉะนั้นฟ้าจะไม่บัญชาให้ยกเลิกระบบจารีตประเพณีง่ายๆ หรอก

    2.การปฏิบัติของเมตตาธรรม : ความกลมกลืนและมีระเบียบของความสัมพันธ์แห่งมนุษยชาติกับการรวมเป็นหนึ่งเดียวในเรื่องของความซื่อสัตย์ และการให้อภัย

    อุดมการณ์อันสูงส่งของลัทธิหรู คือแสวงหาการฝึกฝนหล่อหลอมจิตใจภายในของตนเอง กับความเป็นหนึ่งเดียวในเรื่องความสามารถ การปกครองสังคม ใช้เมตตาธรรมมาบรรลุ เป้าหมายการหล่อหลอมจิตใจภายในของตน และใช้จารีตประเพณีมาทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวของความสามารถในการปกครองสังคม ซึ่งเมตตาธรรม เป็นทฤษฎีพื้นฐานของจารีตประเพณี และจารีตประเพณีเป็นเป้าหมายที่ ทางเมตตาธรรมต้องการบรรลุถึงศาสตร์ของเมตตาธรรมของท่านขงจื๊อไม่เพียงแต่แสดง ให้เห็นถึงการหล่อหลอมจิตใจภายในของปัจเจกชน หากยังแสดงให้เห็นความกลมกลืนและมีระเบียบของความสัมพันธ์แห่งมนุษยชาติ

    เมตตาธรรมไม่เพียงอยู่ภายนอกความสัมพันธ์ของมนุษยชาติ แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างความสัมพันธ์ของมนุษยชาติ ซึ่งในชีวิตความเป็นจริงนั้นไม่เพียงต้องการให้ปัจเจกชนฝึกฝนหล่อหลอมจิตใจภายในของตน หากยังต้องจัดความสัมพันธ์ของมนุษยชาติในสังคมให้มีความกลมกลืน

    ใช้เมตตาธรรมมาอธิบายจารีตประเพณี และใช้ความกลมกลืนมาสร้างเสริมจารีตประเพณี เมตตาธรรมทั้งอยู่นอกความสัมพันธ์ของมนุษยชาติและก็อยู่ในระหว่างความสัมพันธ์ ของมนุษยชาติ คุณสมบัติของอัตถนิยม (realism) นี้ ไม่เพียงแต่ต้องการเคารพชีวิตธรรมชาติของคนกับพัฒนาจิตใจของตนแล้ว ยังต้องการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ ที่กลมกลืนระหว่างผู้คนด้วยกัน ซึ่งมาตรฐาน ของความกลมกลืนนี้ก็คือ จารีตประเพณี

    ประการแรก ความกลมกลืน มั่นคงของสังคมต้องมีกฎระเบียบที่แน่นอนมาเป็นหลักประกัน มูลค่าของจารีตประเพณีอยู่ที่ทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบ : "จงสร้างจารีตประเพณีระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง พ่อกับลูก สามีกับภรรยา และพี่กับน้อง" ("The record of the grand historian, the author preface") ดังนั้น สร้างระเบียบให้กับระบบจารีตประเพณี จากนั้นทำให้คนในสังคมมีคุณธรรมจรรยาอันดีงาม สังคมแบบนี้เป็นสังคม ในอุดมการณ์ของ ท่านขงจื๊อ

    "เหยียนหยวนถามเรื่องจริยธรรม ท่านขงจื๊อตอบว่า ควบคุมวาจาและความประพฤติของตน ให้สอดคล้องกับมารยาทก็คือ จริยธรรม เมื่อสามารถปฏิบัติได้เช่นนี้ ผู้คนก็จะยอมรับท่านว่าเป็นบุคคลที่มีจริยธรรม" ("The Analects, Yan-Yuan") จะเห็นได้ว่า เพียงแต่ผ่านการ จำกัดตนเองด้วยคุณธรรมจรรยา ถึงจะสามารถบรรลุถึงความกลมกลืนของความสัมพันธ์แห่งมนุษยชาติ "การควบคุมจำกัดประชาชนด้วยการออกคำสั่งและการลงทัณฑ์ ประชาชนรู้แต่ว่า ต้องหลีกเลี่ยงการก่ออาชญากรรม แต่ไม่มี ความละอายและ หวั่นเกรงต่อการทำความชั่ว หรือความเลว หากชี้นำประชาชนด้วยคุณธรรมและศีลธรรมจรรยา พวกเขาไม่เพียงรู้ว่าการก่ออาชญากรรมเป็นเรื่องอัปยศ อีกทั้งยังแก้ไขความผิดพลาดของตนเองได้" ("The Analects, Wei-Zheng") เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมทำให้สังคม มีความกลมกลืนสมานฉันท์

    แต่ว่าในตอนนั้น จารีตประเพณีกับดนตรี ล้วนถูกทำลาย ฉะนั้นในมุมมองของขงจื๊อ จารีตประเพณีที่สามารถเป็นตัวแทนของระเบียบสังคมดังกล่าว ก็คือจารีตประเพณีของราชวงศ์โจว ที่ท่านขงจื๊อให้ความสำคัญกับ "จารีตประเพณี" เป็นการสืบทอดและเผยแพร่ผลงานทาง วัฒนธรรมจีนก่อนยุคสมัยชุนชิว และรวมทั้ง สมัยชุนชิวด้วย


    [​IMG]

    จารีตประเพณีนี้เป็นกฎระเบียบมาตรฐานของสังคม ซึ่งแบ่งออกเป็นชั้น ระดับ เป็นตัวแทนความเป็นระเบียบของสังคมกล่าวคือ สูงศักดิ์และต่ำต้อย ผู้อาวุโสกับเด็กเล็กล้วนแตกต่างกัน ลักษณะชั้น ระดับ ของจารีตประเพณีมาจากลักษณะ ชั้น ระดับ ของเมตตาธรรมของขงจื๊อ ซึ่งท่านเห็นว่าความรักของผู้คนที่มีต่อพ่อ แม่ กับที่มีต่อธรรมชาติ มีความแตกต่างกัน ดังนั้นจารีตประเพณีนั่นก็คือ ระเบียบของความสัมพันธ์มนุษยชาติที่พัฒนาขึ้นมาบนพื้นฐานของเมตตาธรรมนั้น ก็แบ่งเป็นชั้น ระดับ อย่างไรก็ตามจารีตประเพณีเนื่องจากมีลักษณะแบ่งเป็นชั้น ระดับถึงจะได้กลายเป็นหลักการ มาตรฐานของความสัมพันธ์ของมนุษยชาติ

    "เมตตาธรรม" เป็นธาตุแท้ของมนุษยชาติ เป็นจิตสำนึกทางคุณธรรมที่มีจุดเริ่มต้นจาก ความรักที่มีต่อญาติพี่น้อง "คุณธรรม" เป็นความสมควรและเหมาะสมในขอบเขตของศีลธรรมจรรยา ให้ความเคารพต่อบุคคลผู้มีคุณธรรม เป็นเนื้อหาสาระสำคัญของคุณธรรมแห่งสังคม

    แต่ท่านขงจื๊อเห็นว่า ความหมายครอบคลุมภายในของชั้น ระดับ มีลักษณะการเปิด ท่านขงจื๊อกล่าวว่า "การเลือกบุคลากรถือว่าได้รับการศึกษาเกี่ยวกับจารีตประเพณีและดนตรีหรือไม่เป็นมาตรฐาน ข้ายินดีเลือกชาวบ้านที่ต่ำต้อย แต่ได้รับการศึกษาเกี่ยวกับจารีตประเพณีและดนตรีมาแล้ว แต่ไม่คัดสรรสุภาพชนที่เพิ่งได้รับการศึกษาดังกล่าว" ("The Analects, Xian-Jin") จะเห็นได้ว่า ระเบียบของชั้น ระดับ ชนิดนี้ก็ยังยอมรับว่า คนต่ำต้อยเมื่อมีคุณธรรมจรรยาก็สามารถถูกเลื่อนให้เป็นสุภาพชน อีกทั้งยังมีความถูกต้องด้วย

    ประการที่สอง จะสร้างจารีตประเพณีอย่างไร? ท่านขงจื๊อเห็นว่า เมตตาธรรมเป็นหลักการภายในที่สูงที่สุด ในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน และจารีตประเพณีเป็นมาตรฐานภายนอกที่สูงที่สุดในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน

    ท่านขงจื่อใช้เมตตาธรรมมาเสริมสร้างจารีตประเพณีกับดนตรี ฉะนั้น จารีตประเพณีต้องสะท้อนจิตใจเมตตาธรรม ท่านขงจื๊อกล่าวว่า :

    "เกิดเป็นคนถ้าไม่มีจิตเมตตาธรรม แล้วยังกล่าวถึงมารยาทและความประพฤติ ได้อีกหรือ ? เกิดเป็นคนถ้าไม่มีจิตเมตตาธรรม แล้วยังพูดถึงดนตรีได้อีกหรือ?" ("The Analects, Ba-Yi")

    "เมตตาธรรม" เป็นแกนสำคัญของจารีตประเพณีและดนตรี จารีตประเพณีและดนตรี ที่ขาดเมตตาธรรม ก็เป็นเพียงรูปแบบเปลือกนอกที่ว่างเปล่า แต่ว่าถ้าไม่มีจารีตประเพณี ก็เป็นการทำลายเมตตาธรรมเช่นกัน

    สาเหตุที่ชื่อเสียงและเครื่องภาชนะที่ใช้เซ่นไหว้บรรพชนที่ไม่สามารถยืมให้ผู้อื่นนั้น ก็เนื่องจาก ชื่อเสียงและเครื่องภาชนะที่ใช้เซ่นไหว้บรรพชน ถือเป็นตัวแทนของระเบียบความสัมพันธ์ของมนุษยชาติในสังคมโบราณ การล้ำอำนาจของชื่อเสียงกับเครื่องภาชนะที่ใช้เซ่นไหว้บรรพชน เป็นการฝ่าฝืนเมตตาธรรม ซึ่งการฝ่าฝืนแบบนี้ เป็นการทำลายจารีตประเพณี ยิ่งเป็นการทำลายเมตตาธรรม

    ประการที่สาม จารีตประเพณี มีบทบาทในการปรับการกระทำภายนอก ดังนั้น ท่านขงจื๊อเห็นว่า คุณค่าของพิธีรีตองคือ ความปรองดอง การมีมารยาท คุณค่าอยู่ที่เยือกเย็นสุขุมเมื่อประสบปัญหา

    ถ้าพูดในแง่การหล่อหลอมจิตภายในของคนแล้ว สภาพการสนิทสนมกลมกลืนกันสูงสุดของความต้องการภายในจิตใจกับจารีตประเพณีที่อยู่ภายนอกเป็นอาณาจักรของจิตแห่งศีลธรรมจรรยาที่สูงส่ง

    กรอบกติกาก็คือ มาตรฐานภายนอก ก็คือจารีตประเพณี จากการตั้งปณิธานมุ่งมั่นศึกษาและสรรหาสัจธรรม จนกระทั่งเป็นผู้มีสัจธรรมและรู้อิสระในการปฏิบัติตนโดยไม่ออกนอกกรอบกติกา ทั้งนี้ได้ผ่านขั้นตอนและรู้แจ้งใน "สิ่งที่ผิดมารยาทและศีลธรรมจรรยา จงอย่ามองดู สิ่งที่ผิดมารยาทและศีลธรรมจรรยา จงอย่าพูดกล่าว สิ่งที่ผิดมารยาทและศีลธรรมจรรยา จงอย่ารับฟัง สิ่งที่ผิดมารยาทและศีลธรรมจรรยา จงอย่าแตะต้องสัมผัส" ("The Analects, Yan-Yuan") ทั้งนี้เป็นผลแห่งการหล่อหลอมจิตภายในกับบทบาทของการปรับภายนอก

    หากพูดในแง่ความมีระเบียบกลมกลืนของความสัมพันธ์ของมนุษยชาติแล้ว การรวมเป็นหนึ่งเดียวของเมตตาธรรมที่อยู่ภายใน กับจารีตประเพณีที่อยู่ภายนอกก็เป็นภาพสังคมในอุดมการณ์ที่ท่านขงจื๊อใฝ่ฝัน

    ท่านขงจื๊อเสนอควรให้ความสำคัญแก่ทั้งเมตตาธรรมและทั้งจารีตประเพณี ทั้งนี้ต้องการผ่านรูปแบบของจารีตประเพณีมาฟื้นฟูอุดมการณ์ คุณค่า วัฒนธรรมที่แฝงไว้ภายใน

    "คุณค่าของมารยาทและพิธีรีตองคือ ความปรองดอง" ("The Analects, Xue-Er") ได้เน้นความสำคัญการปรับความสัมพันธ์ ระหว่างคนกับคนให้กลมเกลียวกัน แสวงหาทิศทางมูลค่าการพัฒนาของสังคมที่กลมกลืน และมีระเบียบ

    ท่านปรารถนาที่จะเห็น "คนแก่ได้รับความ สงบสุข เพื่อนฝูงเชื่อถือซึ่งกันและกัน เด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่" เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมย่อมมีระเบียบตามธรรมชาติ

    ช่วยผู้อื่นสร้างในสิ่งที่ตนเองปรารถนาจะ สร้าง ฟ้า ธรรมชาติ คน ดำรงอยู่ร่วมกัน ในมุมมองของท่านขงจื๊อ รูปร่างลักษณะของจารีตประเพณีเป็นเมตตาธรรม การปฏิบัติใช้จารีตประเพณี เป็นความกลมกลืน หนทางแห่งความซื่อสัตย์ สุจริต และการให้อภัย เป็นหนทางพัฒนาจากเมตตาธรรมที่อยู่ภายในจิตใจ ไปจน ถึงจารีตประเพณีที่อยู่ภายนอก เป็นสะพานที่เชื่อมโยง อันสำคัญของการบรรลุสังคมกลมกลืนและฟ้า ธรรมชาติ คน ดำรงอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว

    ประการแรก ในสังคมมนุษย์ ความซื่อสัตย์สุจริต การให้อภัยของขงจื๊อเป็นหนทางที่สำคัญจากเมตตาธรรมที่อยู่ภายในจิตใจ จนถึงจารีตประเพณีที่อยู่ภายนอก กระบวนการการปฏิบัติเมตตาธรรมก็เป็นกระบวนการจัดให้สังคมมีระเบียบให้เหมาะสม ซึ่งก็เป็นกระบวนการ ในการบรรลุจารีตประเพณี

    เกี่ยวกับหนทางแห่งความซื่อสัตย์สุจริต และการให้อภัย ท่านขงจื๊อได้อธิบายทั้งจากด้านหน้า และด้านกลับ ที่เกี่ยวกับด้านหน้ามีอยู่ดังนี้ : ท่านกล่าวว่า "ผู้มีเมตตาธรรม คือ ผู้ที่ช่วยผู้อื่นสร้างในสิ่งที่ตนเองปรารถนาจะสร้างและช่วยผู้อื่นบรรลุในสิ่งที่ตนเองใคร่จะบรรลุ" ("The Analects, Yong-Ye") และการบรรยายจาก ด้านกลับ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ :

    จื่อก้ง ถามขงจื๊อว่า : "มีคำพูดที่ยึดถือตลอดชีพได้ไหม ?"

    ท่านขงจื๊อ ตอบว่า : "คำพูดที่ยึดถือได้ตลอดชีพนั้น คือการให้อภัย สิ่งใดที่ตนเองไม่ปรารถนา จงอย่าได้กระทำต่อผู้อื่น" (" The Analects, Wei-Linggong") และทั้งสองด้านดังกล่าวควร จะรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เจิงจื่อ พูดว่า "ปรัชญาของท่านขงจื๊อ คือความซื่อสัตย์สุจริต กับการให้อภัยสองคำนี่เอง" ("The Analects, Li-Ren")

    ในความเป็นจริงนั้น ในความหมายของ "ความซื่อสัตย์สุจริต" ได้รวมความหมายของ "การให้อภัย" อยู่ด้วย และในความหมายของ "การให้อภัย" ก็มีความหมายของ "ความซื่อสัตย์สุจริต และภักดี" ดังนั้นเมื่อจิตใจของเมตตาธรรมได้หล่อหลอมและสร้างไว้แล้ว สังคมมนุษย์จึงจะสามารถบรรลุความกลมกลืนและมีระเบียบ

    ประการที่สอง หลักอ้างอิงของความซื่อสัตย์สุจริต และการให้อภัยมาจากจิตเมตตาธรรมของมนุษยชาติและมาจากหลักธรรมแห่งสวรรค์ (นั่นคือจริยธรรม เป็นกฎเกณฑ์ศีลธรรมที่ดำรง อยู่ในทางภววิสัย) ดังนั้น ปรัชญาของขงจื๊อที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและการให้อภัยก็สามารถปฏิบัติใช้ในอาณาจักรของธรรมชาติ ซึ่งเราต้องเคารพธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับมูลค่าที่ธรรมชาติมีอยู่ และให้ความสำคัญความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างคนกับธรรมชาติ พูดอีกนัยหนึ่งว่า ฟ้าและคนรวมเป็นหนึ่งเดียว

    "ฟ้าสร้างสรรพสิ่งในโลกหล้า แต่ฟ้าก็ไม่เคยพูดอะไร" ("The Analects, Yang-Huo") หลักธรรมแห่งสวรรค์เป็นหลักอ้างอิงของ เมตตาธรรม เพราะฉะนั้น นอกจากในระหว่างผู้คนด้วยกันต้องเคารพซึ่งกันและกันแล้ว ความหมายของ "เมตตาธรรม" ยังหมายถึงความรัก ที่มีต่อธรรมชาติ

    วัฒนธรรมที่ท่านขงจื๊อสร้างไว้ ก็คือต้องกล้าเผชิญหน้าชีวิตของธรรมชาติ ท่านเห็นว่า มูลค่ากับภาระหน้าที่ของมนุษยชาติ ก็คือต้องสำแดงออกมูลค่าที่ซ่อนแฝงอยู่ภายในของสิ่งธรรมชาติ ทั้งนี้ก็คือต้องเคารพและเข้าใกล้ธรรมชาติ อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว "เมื่อระเบียบของฟ้าและโลกเหมาะสมแล้ว ใต้ฟ้า สรรพสิ่งทั้งหลายก็จะเจริญงอกงามตามธรรมชาติ" ("Doctrine of the Mean")

    ประการที่สาม หนทางแห่งความซื่อสัตย์สุจริต และการให้อภัยเป็นหนทางพัฒนาจากเมตตาธรรมที่อยู่ภายในจิตใจไปจนถึงจารีตประเพณีที่อยู่ภายนอก ความกตัญญูและการเคารพพี่ชายถือเป็นทางลัดในการปฏิบัติความซื่อสัตย์สุจริต กับการให้อภัย

    จิตใจของจารีตประเพณีได้เชื่อมโยงกับจิตใจของเมตตาธรรม การปกครองโดยจริยธรรม ก็คือปกครองโดยธรรม และปกครองโดยเมตตาธรรม การสร้างระเบียบของจักรวาล และระเบียบของสังคม ซึ่งเริ่มจากเราเองจนถึง ผู้อื่น จากคน จนถึงฟ้า ควรมีจุดเริ่มต้นจากความกตัญญูและการเคารพพี่ชายของภายในครอบครัว แล้วค่อยขยายขอบเขตกระจายไปข้างนอก

    ท่านขงจื๊อเห็นว่า ความกตัญญูและเคารพพี่ชาย เป็นพื้นฐานของเมตตาธรรม กตัญญูต่อ บิดามารดา และเคารพพี่ชาย ถือได้ว่าเป็นรากฐานของเมตตาธรรมและการรักผู้อื่น เพียงแต่มีความซื่อสัตย์จริงใจที่เกิดจากจิตภายใน ภายในจิตใจของคนเราถึงจะเกิดความกตัญญู กับการเคารพพี่ชาย ซึ่งความกตัญญูและเคารพ พี่ชายที่เกิดจากจิตภายใน ที่กล่าวมานั้นพื้นฐานสำคัญในการจัดระเบียบของสังคมและระเบียบของความสัมพันธ์ของมนุษยชาติ

    จากจิตใจที่สัตย์ซื่อจนกระทั่งถึงความกตัญญู และเคารพพี่ชาย เมื่อมีความกตัญญูและเคารพ พี่ชายแล้ว จิตเมตตาธรรมก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศ ชนชาติกับชนชาติ วัฒนธรรมกับวัฒนธรรม และศาสนากับศาสนา อีกทั้งยังสามารถทำให้มนุษยชาติกับสัตว์และพืชพันธุ์นานาชนิด มนุษยชาติกับธรรมชาติต่างก็ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน และมีสันติสุข

    การรักผู้อื่น เคารพชีวิต และหล่อหลอมจิตภายในให้มีเมตตาธรรม เริ่มจากรักญาติพี่น้อง จนกระทั่งแผ่ขยายไปให้มีจิตรักผู้คนธรรมดา และรักผู้คนทั้งโลก ทั้งนี้จึงถือเป็นจารีตประเพณี กล่าวได้ว่า เมตตาธรรมเป็นจิตสัมผัสที่เชื่อมโยงระหว่าง "ฟ้า โลก คน สรรพสิ่ง และข้าพเจ้า" แล้วก็เป็นอุดมการณ์ในการสร้างสังคม

    "ผู้คนในใต้ฟ้าเดียวกันล้วนเป็นครอบครัวเดียวกัน" เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว โลกของมนุษยชาติ ก็จะเป็นโลกที่ผู้คนทั้งหลายอยู่อย่างกลมกลืนสมานฉันท์

    3.คำสรุปส่งท้าย

    ความคิดของขงจื๊อ เป็นกระแสหลักทางความคิดของจีน มานานกว่าสองพันกว่าปี มีอิทธิพลต่อจิตใจและวิญญาณของประชาชาติจีนเหมือน อย่างศาสนา ได้กลายเป็นจิตวิญญาณพื้นฐาน ของปัจเจกชน ซึ่งได้ทำให้สังคมและจักรวาลมีความกลมกลืนมั่นคง

    "การเกิด" (เกิดและพัฒนาเปลี่ยนแปลง) เป็นหัวข้อสำคัญของการศึกษาวิจัยของวงการปรัชญาจีน คัมภีร์ "Yijing" ได้ระบุไว้ว่า "คุณธรรมอันสูงส่งของฟ้า ดิน คือ ทำให้เกิดสรรพสิ่งทั้งหลาย" (The Book of Changes, Explanatory Texts") ความคิดเมตตาธรรม ของขงจื๊อก็เชื่อมโยงด้วยชีวิตจิตใจดังกล่าวนี้ และยังจะสืบทอดไปยังชาติอื่นๆ และพัฒนาก้าวหน้าพร้อมกับกาลเวลา เมตตาธรรมคือ "การเกิด" ถ้าพูดในความหมายกว้างๆ ก็คือ ต้องให้ความสำคัญกับมูลค่าของชีวิตและมูลค่าของสรรพสิ่งในจักรวาลนี้

    ท่านขงจื๊อไม่เพียงแต่เห็นความสำคัญของการฝึกฝนและหล่อหลอมจิตภายในของคน หากยังเห็นความสำคัญในการสร้างระเบียบของความสัมพันธ์ของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นที่พึ่งทางจิตและแหล่งทรัพยากรทางใจ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษยชาติในสังคมมีความกลมเกลียวและมั่นคง รวมทั้งฟ้า คน และธรรมชาติ ก็รวมเป็นหนึ่งเดียว

    ศาสตร์แห่งลัทธิหรู ที่มีขงจื๊อเป็นตัวแทนจนถึงทุกวันนี้ ยังมีความหมายทางอัตถนิยม (realism) :

    ประการแรก ขงจื๊อให้ความสำคัญในการหล่อหลอมจิตภายในของคน มีความหมายต่อสังคมปัจจุบันในการอบรมบ่มเพาะและผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม และการยกระดับมูลค่าชีวิตให้สูงยิ่งขึ้น

    ประการที่สอง ขงจื๊อเห็นว่า มนุษย์ทุกรูป ทุกนาม ล้วนควรปฏิบัติหน้าที่การงาน ด้วยความมุ่งมั่นและกระตือรือร้น และให้ความสำคัญกับบทบาทของการศึกษาในเรื่องศีลธรรมจรรยา และจารีตประเพณี ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างสรรค์สังคมที่กลมกลืน

    ประการที่สาม ศาสตร์แห่งลัทธิหรูซึ่งมีขงจื้อเป็นตัวแทน มีคุณค่าสำหรับชาวโลกทั้งปวง

    ทั้งนี้ มิได้เป็นการสรรเสริญบารมี ของ ท่านขงจื๊อมากจนเกินไป หรือเป็นการบูชาท่าน เป็นเทวดา หากแต่ว่าเป็นความต้องการในการทำความเข้าใจกับชีวิตของสังคมมนุษย์ และจัดความสัมพันธ์ของมนุษยชาติให้อยู่ในกรอบศีลธรรมจรรยาที่เหมาะสม

    แต่ละครั้งที่ผู้ได้รับรางวัลโนเบล จากทั่วโลกมาประชุมร่วมกันที่กรุงปารีส และได้ร่างแถลงการณ์ว่า หากมนุษยชาติจะดำรงชีวิตต่อไปในศตวรรษที่ 21 นี้ จำเป็นต้องกลับหลังหันไป 2,500 ปี ไปดูดซับสติปัญญาของท่านขงจื๊อ</SPAN> <STYLE type=text/css><!--td.attachrow { font: normal 11px Verdana, Arial, Helvetica, sans-serif; color : #000000; border: 0;}td.attachheader { font: normal 11px Verdana, Arial, Helvetica, sans-serif; color : #000000; border: 0; }table.attachtable { font: normal 12px Verdana, Arial, Helvetica, sans-serif; color : #000000; border: 0; }--></STYLE>
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 ตุลาคม 2008
  2. นาย 3

    นาย 3 สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    33
    ค่าพลัง:
    +10
    สุดยอดๆๆๆ
     

แชร์หน้านี้

Loading...