เรื่องเด่น เกิดเป็นชาวทิเบต

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 3 ธันวาคม 2019.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,221
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,601
    ค่าพลัง:
    +26,453
    lp004.jpg

    เกิดเป็นชาวทิเบต


    ดูพวกชาวทิเบตเขากราบพระเป็นหมื่น ๆ ครั้ง เขาสวดมนต์กันทั้งวัน เห็นแล้วเสียดายกำลังใจ กำลังใจแบบนั้นถ้าตัดเข้าหาความเป็นพระอริยเจ้านี่ สงสัยว่าจะไปพระนิพพานกันแทบยกประเทศ แต่ว่าของทิเบตเขามาสายพระโพธิสัตว์ มหายานนี่เน้นความเป็นพระโพธิสัตว์ เขาถือว่าหินยานหรือเถรวาทของเราเป็นการคับแคบ ไปแต่ตัว แต่ของเขาที่เรียกว่ามหายานเพราะว่าสามารถขนถ่ายสัตว์โลกข้ามวัฏสงสารได้มากต่อมาก ฉะนั้นกำลังใจเลยมุ่งไปทางด้านนั้น

    ถาม : แล้วอย่างนี้ส่วนใหญ่คนที่อยู่ก็เป็นพุทธภูมิสิคะ ?
    ตอบ : ต่อให้ไม่ใช่พุทธภูมิ ก็ต้องโดนบังคับจนใช่ เพราะว่าเขานิยมกันอย่างนั้น ในเมื่อทุกคนไปทางนั้นกันหมดเขาก็ต้องตาม

    ถาม : อย่างนี้ก็เท่ากับว่าไม่ได้เป็นคนคิดเอง ?
    ตอบ : สิ่งแวดล้อมพาไป ของเดิมมาก็มี

    แต่ว่าการบวชพระ บวชเณรที่ทิเบตนั้นดีอยู่ตรงที่ว่าได้เรียนความรู้ใหม่ ๆ เพราะทันทีที่จะเข้าไปบวช อาจารย์จะตรวจดูแล้วว่า อดีตชาติคุณเป็นใคร ศึกษามาถึงไหนแล้ว เขาจะทวนของเก่าให้ แล้วหลังจากนั้นก็จะส่งไปให้อาจารย์ระดับนั้นที่เราจะต้องศึกษาสั่งสอนต่อไปอีก เป็นการสั่งสมความรู้ชาติแล้วชาติเล่า เพิ่มขึ้นไปเรื่อย เขาถามว่ามีพลาดไหม...มี แม้กระทั่งการคัดเลือกตัวดาไลลามะก็มีพลาดเหมือนกัน แต่ว่าพลาดน้อย ก็เลยยังเป็นที่เชื่อถือกันอยู่ หลายต่อหลายคนเมื่อสั่งสมกำลังสมาธิจนถึงระดับหนึ่งแล้วของเดิมกลับมา ก็ระลึกชาติได้ เห็นกายสังขารของตนเองชาติที่แล้ว ๆ ก็จำได้ว่า อ้อ..นี่ตัวเราเอง

    อาตมาเคยไปเกิดที่นั่นหลายหน ตอนที่เกิดที่นั่นส่วนใหญ่แล้วตามหลวงปู่ครูบาวงศ์ อาหารทางด้านนั้นก็ไม่มีอะไร มีซัมปา เป็นแป้งผสมน้ำชานม ปั้น ๆ หน่อยแล้วก็กิน ชานมนี่ไม่ใช่นมเฉย ๆ แต่มีเนยด้วย ต้องบอกว่าอยู่ได้เพราะชามากกว่า แป้งมีส่วนน้อยเพราะว่าอากาศหนาวจัดจริง ๆ ชาเขาใส่นมใส่เนย กินกันเช้ายันค่ำเลย

    ในครอบครัวถ้ามีลูกชายต้องส่งไปบวชหนึ่งคน ถ้าไม่มีลูกชายแล้ว เมื่อลูกสาวแต่งงานแล้ว พ่อนั่นแหละต้องไปบวช เท่ากับบังคับเลย แล้วบ้านเขาคณะรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีจะเป็นพระเสียครึ่งหนึ่ง ส่วนผู้นำสูงสุดเป็นพระ เป็นดาไลลามะ คำว่า ดาไล แปลว่า มหาสมุทร หมายถึง มหาสมุทรแห่งปัญญา สั่งสมความรู้มากขึ้น ๆ คำว่าลามะ คือ พระอาจารย์ผู้ใหญ่

    เมื่อนิมิตเกิด เวลาเห็นนี่ไม่ทราบคนอื่นเป็นหรือเปล่า คือเหมือนกับตัวเราอยู่ตรงนั้นจริง ๆ นิมิตตอนไปนั่งกินแป้งซัมปา กลืนลงไปติดคอ ยังรู้สึกเหมือนกับว่าติดคอเราอยู่ตอนนี้ พอติดคอก็ต้องกรอกน้ำชาตามไป

    ของประจำตัวของคนทิเบต ส่วนใหญ่เขาใส่ไว้ในอกเสื้อ ก็จะมีพระพุทธรูป ถ้าหากว่าไม่ใช่แกะสลักจากพวกหินพวกแร่ ก็จะแกะจากไม้หรือไม่ก็ปั้นจากดิน หรือไม่ก็ภาพที่เขียนอยู่บนแผ่นผ้า ที่เขาเรียกว่าพระบฎ อย่างที่สองก็จะเป็นชามที่สารพัดประโยชน์ ส่วนใหญ่ก็ทำจากไม้เพราะว่าพวกชามอื่น ๆ นั้นแตกง่าย สมัยนี้น่าจะมีสเตนเลสแล้วนะ ทั้งใช้เป็นขันล้างหน้า ใช้เป็นชาม เป็นภาชนะบรรจุของ รวม ๆ ทั้งบรรจุพระหรือแผ่นพระบฎด้วย ถึงเวลาใส่เข้าไปในชาม ยัดเข้าไปในอกเสื้อ แล้วอย่างสุดท้ายก็คือผ้าขาว ที่เขาเรียกว่าผ้าขะตะ เอาไว้ทำความเคารพ อย่างเช่นแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย ต่อพระสงฆ์หรือผู้ใหญ่

    ชาติหนึ่งที่เกิดที่นั่น หลวงปู่ครูบาวงศ์ท่านเป็นพ่อ ที่นั่นการทำมาหากินถ้าหาได้พอกินชนปีก็ถือว่าเก่ง เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะหวังให้มีเงินเก็บนั้นน้อยมาก บรรดาการแสวงบุญต่าง ๆ ที่เราจะพึ่งพาหนะก็ยาก มีม้า มีลา มีวัว จามรีให้ขี่ ถือว่าดีแล้ว ที่เหลือก็คือเท้า เดินเอา เดินจนข้ามเดือนเลย ไม่ใช่ข้ามวัน ถ้าหากอยู่แคว้นคัม แคว้นโด จะห่างจากเมืองหลวงเยอะ แถว ๆ ชายแดนกว่าจะเดินทางถึงเมืองหลวง บางทีเป็นเดือน ๆ

    ในเมื่อไม่มีเงิน จากความที่ต้องการมีพระประจำตัว พ่อลูกก็ช่วยกันทำงาน ปลูกผักปลูกหญ้าบ้าง ใช้แรงงานบ้าง ได้เงินมานิดหน่อยก็เก็บ เมื่อได้เงินจำนวนหนึ่งก็ไปจ้างช่างเขาให้แกะพระ ช่างเขาก็บอกว่าเงินน้อยไป ถ้าหากทำพระด้วยวัสดุอย่างอื่น เงินจำนวนนี้ไม่พอ ก็เลยจะปั้นพระด้วยดินเหนียวให้ จึงไปขุดดินมาร่อน ก็คือเอาสิ่งสกปรกออกจนหมด ผสมน้ำนวด ย่ำแล้วย่ำอีก ทิ้งเอาไว้ หมักแล้วหมักอีก จนกระทั่งมั่นใจว่าดีแน่แล้วก็เชิญช่างเขามาปั้นให้

    ปรากฏว่าช่างเขาทำแบบเสียไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นว่าพอถึงเวลาตรวจดูงาน เนื้อดินไม่เข้ากัน มีรอยร้าวอยู่ ก็ขอให้ช่างเขาทำใหม่ ช่างก็บอกปัดว่า "ดินแห้ง แข็งแล้ว ทำไม่ได้หรอก" หลวงปู่ครูบาวงศ์ในชาตินั้นท่านก็ไปจับ ๆ คลำ ๆ ท่านฉลาดมากเลย ท่านถามว่า "ถ้าหากยังไม่แห้ง ก็ทำให้ได้ใช่ไหม" ช่างก็บอกว่า "ได้" หลวงปู่ท่านบอกว่า "ยังไม่แห้งหรอก ลองจับดูสิ" พอลองไปจับดูกลายเป็นนิ่มไปเลย ช่างก็เลยต้องทำให้ใหม่

    พอได้พระมาพ่อกับลูกก็กลับบ้าน ตั้งพระไว้บนหิ้งแล้วก็ปูแผ่นกระดาน ปูแผ่นหนัง แล้วก็กราบกันเป็นพัน ๆ ครั้ง กราบจนติดตาติดใจ ทุกวันนี้ยังทำได้เลย กราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ ปกติเบญจางคประดิษฐ์ เราจะกราบด้วยองค์ ๕ ส่วนอัษฎางคประดิษฐ์ จะกราบด้วยองค์ ๘ กราบแล้วก็ยืดราบไปกับพื้น

    พวกนักแสวงบุญนี่ถ้าเดินทางมาที่เมืองลาซา พอเริ่มเห็นพระราชวังโปตาลา ที่เป็นที่ประทับขององค์ดาไลลามะ เขาก็จะเริ่มกราบ กราบไปก็คืบไป จนกว่าจะถึง ระยะทางหลายกิโลเมตรเลยนะ แต่เขาก็ทำอย่างนั้นแหละ ศรัทธาขนาดนั้นน่าเสียดายมาก ถ้าหากเข้าถูกทางก็ไปพระนิพพานกันยกประเทศเลย

    เรื่องพวกนี้จริง ๆ แล้วก็เล่าสู่กันฟังเท่านั้น ถ้ามีโอกาสน่าจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนิมิต ไม่รู้ว่าจะมีเวลาหรือเปล่า เพราะว่าพวกเราเรื่องปกติไม่ค่อยจะฟังกันหรอก แต่ถ้าเรื่องพวกนี้จะสนใจกันมาก ...(หัวเราะ)...

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๒ ณ บ้านอนุสาวรีย์

    ที่มา : www.watthakhanun.com
    #๖๐ปีพระครูวิลาศกาญจนธรรม
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...