เรื่องเด่น วิธีเจริญสมาธิภาวนา "ดูจิต" โดยหลวงปู่ดูลย์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย picko, 26 สิงหาคม 2017.

  1. picko

    picko เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มกราคม 2014
    โพสต์:
    635
    กระทู้เรื่องเด่น:
    97
    ค่าพลัง:
    +2,133
    Untitled-1nn.jpg

    วิธีเจริญสมาธิภาวนาตามแนวการสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มีดังต่อไปนี้


    ๑. เริ่มต้นด้วยอิริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก

    ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัว หรือรู้ “ตัว” อย่างเดียว


    รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ “รู้อยู่เฉยๆ” ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม


    เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ โดยไม่มีทางรู้ทันก่อน เป็นธรรมดาสำหรับผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบสภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่ และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ

    จากนั้นค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป ครั้นพลั้งเผลอรักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีกจนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณาและรักษาจิตต่อไป

    ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้และบรรลุสมาธิในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน “พฤติแห่งจิต” โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร


    ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการ เจริญจิตครั้งต่อๆ ไป

    ในกรณีที่ไม่สามารทำเช่นนี้ได้ ให้ลองนึกคำว่า “พุทโธ” หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต

    พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง


    ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้น จะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว

    เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึกชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้

    ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นไปสู่อารมณ์ทันที

    เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเอง ก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง


    ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ในอันที่จะเจริญจิตให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ

    เจตจำนงนี้ คือ ตัว “ศีล”

    การบริกรรม “พุทโธ” เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆ ไป

    แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้ง ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

    ดังนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่องถึงความชัดเจนและความไม่ขาดสายของพุทโธจะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ

    เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคยเปรียบไว้ว่ามีลักษณาการประหนึ่งบุรุษผู้หนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบที่ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขน พร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีอยู่ว่าถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย

    เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลาและบั่นทอนความศรัทธาของตนเองเลย

    เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อยๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ก็ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าวก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเอง เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบและคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึก และ “พฤติแห่งจิต” ที่ฐานนั้นๆ

    บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ

    ๒. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไป มาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจกิริยาหรือพฤติแห่งจิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือกิเลสปรุงจิต)

    ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ทั้งสามคือ ราคะ โทสะ โมหะ

    ๓. อย่าส่งจิตออกนอก กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก เมื่อจิตเผลอคิดไป ก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิต ให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลายอย่าได้ใส่ใจกับมัน)

    ระวังจิตไม่ให้คิดถึงเรื่องภายนอก สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทาง
    อายตนะ ๖


    ๔. จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป เมื่อเราสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อยๆ จนเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อยๆ รู้เท่าทันการเกิดของอารมณ์ต่างๆ อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ จนจิตว่างจากอารมณ์ แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย อยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ

    คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้ แต่ต้องอาศัยคิด

    ๕. แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิต กับ กาย อยู่คนละส่วนได้แล้ว ให้ดูที่จิตต่อไปว่า ยังมีอะไรหลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนด (จิต) อีกหรือไม่ พยายามใช้สติ สังเกตดูที่จิต ทำความสงบอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจ พฤติแห่งจิต ได้อย่างละเอียดละออตามขั้นตอน เข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลกันว่าเกิดจากความคิดนั่นเอง และความคิดมันออกไปจากจิตนี่เอง ไปหาปรุงหาแต่งหาก่อหาเกิดไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นมายาหลอกลวงให้คนหลง แล้วจิตก็จะเพิกถอนสิ่งที่มีอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนหมด หมายถึงเจริญจิตจนสามารถเพิกรูปปรมาณูวิญญาณที่เล็กที่สุดภายในจิตได้

    คำว่า แยกรูปถอด นั้น หมายความถึง แยกรูปวิญญาณ นั่นเอง

    ๖. เหตุต้องละ ผลต้องละ เมื่อเจริญจิตจนปราศจากความคิดปรุงแต่งได้แล้ว (ว่าง) ก็ไม่ต้องอิงอาศัยกับกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ ทั้งสิ้น จิตก็จะอยู่เหนือภาวะแห่งคลองความคิดนึกต่างๆ อยู่เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งใดๆ ครอบงำอำพรางทั้งสิ้น

    เรียกว่า “สมุจเฉทธรรมทั้งปวง”

    ๗. ใช้หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด เมื่อเพิกรูปปรมาณูที่เล็กที่สุดเสียได้ กรรมชั่วที่ประทับ บรรจุ บันทึกถ่ายภาพ ติดอยู่กับรูปปรมาณูนั้นก็หมดโอกาสที่จะให้ผลต่อไปในเบื้องหน้า การเพิ่มหนี้ก็เป็นอันสะดุดหยุดลง เหตุปัจจัยภายนอกภายในที่มากระทบ ก็เป็นสักแต่ว่ามากระทบ ไม่มีผลสืบเนื่องต่อไป หนี้กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ชาติแรก ก็เป็นอันได้รับการชดใช้หมดสิ้น หมดเรื่องหมดราวหมดพันธะผูกพันที่จะต้องเกิดมาใช้หนี้กรรมกันอีก เพราะ กรรมชั่วอันเป็นเหตุให้ต้องเกิดอีกไม่อาจให้ผลต่อไปได้ เรียกว่า “พ้นเหตุเกิด”

    ๘. ผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดหรอกว่า เขารู้อะไร

    เมื่อธรรมทั้งหลายได้ถูกถ่ายทอดไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่าธรรม จะเป็นธรรมไปได้อย่างไร สิ่งที่ว่าไม่มีธรรมนั่นแหละ มันเป็นธรรมของมันในตัว (ผู้รู้น่ะจริง แต่สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลายนั้นไม่จริง)

    เมื่อจิตว่างจาก “พฤติ” ต่างๆ แล้ว จิตก็จะถึง ความว่างที่แท้จริง ไม่มีอะไรให้สังเกตได้อีกต่อไป จึงทราบได้ว่า
    แท้ที่จริงแล้ว จิตนั้นไม่มีรูปร่าง มันรวมอยู่กับความว่าง ในความว่างนั้น ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ซึมซาบอยู่ในสิ่งทุกๆ สิ่ง และจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน

    เมื่อจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งสิ่งเดียวกัน และเป็นความว่าง ก็ย่อมไม่มีอะไรที่จะให้อะไรหรือให้ใครรู้ถึง ไม่มีความเป็นอะไรจะไปรู้สภาวะของอะไร ไม่มีสภาวะของใครจะไปรู้ความมีความเป็นของอะไร


    เมื่อเจริญจิตจนเข้าถึงสภาวะเดิมแท้ของมันได้ดังนี้แล้ว “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง” จิตก็จะอยู่เหนือสภาวะสมมติบัญญัติทั้งปวง เหนือความมีความเป็นทั้งปวง มันอยู่เหนือคำพูด และพ้นไปจากการกล่าวอ้างใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์และสว่าง รวมกันเข้ากับความว่างอันบริสุทธิ์และสว่างของจักรวาลเดิม เข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า “นิพพาน”

    โดยปกติ คำสอนธรรมะของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล นั้นเป็นแบบ “ปริศนาธรรม” มิใช่เป็นการบรรยายธรรม ฉะนั้นคำสอนของท่านจึงสั้น จำกัดในความหมายของธรรม เพื่อไม่ให้เฝือหรือฟุ่มเฟือยมากนัก เพราะจะทำให้สับสน เมื่อผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เขาย่อมเข้าใจได้เองว่า กิริยาอาการของจิตที่เกิดขึ้นนั้น มีมากมายหลายอย่าง ยากที่จะอธิบายให้ได้หมด ด้วยเหตุนั้น หลวงปู่ท่านจึงใช้คำว่า “พฤติของจิต” แทนกิริยาทั้งหลายเหล่านั้น

    คำว่า “ดูจิต อย่าส่งจิตออกนอก ทำญาณให้เห็นจิต” เหล่านี้ย่อมมีความหมายครอบคลุมไปทั้งหมดตลอดองค์ภาวนา แต่เพื่ออธิบายให้เป็นขั้นตอน จึงจัดเรียงให้ดูง่าย เข้าใจง่ายเท่านั้น หาได้จัดเรียงไปตามลำดับกระแสการเจริญจิตแต่อย่างใดไม่

    ท่านผู้มีจิตศรัทธาในทางปฏิบัติ เมื่อเจริญจิตภาวนาตามคำสอนแล้ว ตามธรรมดาการปฏิบัติในแนวนี้ ผู้ปฏิบัติจะค่อยๆ มีความรู้ความเข้าใจได้ด้วยตนเองเป็นลำดับๆ ไป เพราะมีการใส่ใจสังเกตและกำหนดรู้ “พฤติแห่งจิต” อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าหากเกิดปัญหาในระหว่างการ ปฏิบัติ ควรรีบเข้าหาครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระโดยเร็ว หากประมาทแล้วอาจผิดพลาดเป็นปัญหาตามมาภายหลังเพราะคำว่า “มรรคปฏิปทา” นั้น จะต้องอยู่ใน “มรรคจิต” เท่านั้น มิใช่มรรคภายนอกต่างๆ นานาเลย

    การเจริญจิตเข้าสู่ที่สุดแห่งทุกข์นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วยวิสุทธิศีล วิสุทธิมรรค พร้อมทั้ง ๓ ทวาร คือ กาย วาจา ใจ จึงจะยังกิจให้ลุล่วงถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้


    อเหตุกจิต ๓ ประการ

    ๑. ปัญจทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ตามอายตนะหรือ ทวารทั้ง ๕ มีดังนี้

    ตา ไปกระทบกับรูป เกิด จักษุวิญญาณ คือ การเห็น จะห้าม ไม่ให้ตาเห็นรูปไม่ได้


    หู ไปกระทบกับเสียง เกิด โสตวิญญาณ คือ การได้ยิน จะห้าม ไม่ให้หูได้ยินเสียงไม่ได้


    จมูก ไปกระทบกับกลิ่น เกิด ฆานวิญญาณ คือ การได้กลิ่น จะห้ามไม่ให้จมูกรับกลิ่นไม่ได้


    ลิ้น ไปกระทบกับรส เกิด ชิวหาวิญญาณ คือ การได้รส จะห้าม ไม่ให้ลิ้นรับรู้รสไม่ได้


    กาย ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิด กายวิญญาณ คือ กายสัมผัส จะห้ามไม่ให้กายรับสัมผัสไม่ได้


    วิญญาณทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นกิริยาแฝงอยู่ในกายตามทวาร ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบ เป็นสภาวะแห่งธรรมชาติของมันเป็นอยู่เช่นนั้น

    ก็แต่ว่า เมื่อจิตอาศัยทวารทั้ง ๕ เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยังสำนักงานจิตกลางเพื่อรับรู้ เราจะห้ามมิให้เกิด มี เป็น เช่นนั้น ย่อมกระทำไม่ได้


    การป้องกันทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง ๕ นั้น เราจะต้องสำรวมอินทรีย์ ทั้ง ๕ ไม่เพลิดเพลินในอายตนะเหล่านั้น หากจำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๕ นั้น ประกอบการงานทางกาย ก็ควรจะกำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต เช่นเมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ไม่คิดปรุง ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่คิดปรุง ดังนี้เป็นต้น

    (ไม่คิดปรุงหมายความว่า ไม่ให้จิตเอนเอียงไปในความเห็นดีชั่ว)

    ๒. มโนทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ที่มโนทวาร มีหน้าที่ผลิตความคิดนึกต่างๆ นานา คอยรับเหตุการณ์ภายในภายนอกที่มากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเอาไว้ จะห้ามจิตไม่ให้คิดในทุกๆ กรณีย่อมไม่ได้

    ก็แต่ว่าเมื่อจิตคิดปรุงไปในเรื่องราวใดๆ ถึงวัตถุ สิ่งของ บุคคลอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ว่าจิตคิดถึงเรื่องเหล่านั้น ก็สักแต่ว่าความคิด ไม่ใช่ สัตว์บุคคล เราเขา ไม่ยึดถือวิจารณ์ความคิดเหล่านั้น

    ทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น จิตย่อมไม่ไหลตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น ไม่เป็นทุกข์


    ๓. หสิตุปบาท คือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม หมายความว่าไม่อยากยิ้มมันก็ยิ้มของมันเอง กิริยาจิตอันนี้มีเฉพาะ เหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี

    สำหรับ อเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) มีเท่ากันในพระอริยเจ้าและในสามัญชน นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อตั้งใจปฏิบัติตนออกจากกองทุกข์ ควรพิจารณา อเหตุกจิตนี้ให้เข้าใจด้วย เพื่อความไม่ผิดพลาดในการ บำเพ็ญปฏิบัติธรรม

    อเหตุกจิตนี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรทำความเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะพยายามบังคับสังขารไปหมด ซึ่งเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมมาก เพราะความไม่เข้าใจในอเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) นี้เอง

    อเหตุกจิต ข้อ (๓) เป็นกิริยาจิตที่ยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี เพราะกิริยาจิตนี้ เป็นผลของการเจริญจิตจนอยู่เหนือมายาสังขารได้แล้ว จิตไม่ต้องติดข้อง ในโลกมายา เพราะความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งได้แล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง
     
  2. ครึ่งชีวิต

    ครึ่งชีวิต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    4,178
    ค่าพลัง:
    +15,103
    สาธุๆๆ ขอรับ
     
  3. นรวร มั่นมโนธรรม

    นรวร มั่นมโนธรรม สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 ตุลาคม 2017
    โพสต์:
    188
    ค่าพลัง:
    +113
    สาธุคับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...